7 พ.ค. 2020 เวลา 03:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คืนชีพเชื้อปริศนาฆ่าล้างโลก
1
ตอนที่ 4: จุมพิตปลิดชีพจากสาวสเปน
เชื้อที่ได้ชื่อว่าเป็นมารดาของการระบาดใหญ่ทั้งปวง (Mother of all pandemics) กำลังจะได้รับการขนานนามที่โด่งดังข้ามศตวรรษ
22 พ.ค. 1918
หนังสือพิมพ์เอบีซี (ABC) เมืองมาดริด (Madrid) ประเทศสเปน (Spain) รายงานข่าวการระบาดของอาการไข้ ปวดเมื่อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่เริ่มพบในเดือนพฤษภาคม ซึ่งในช่วงกลางเดือนพึ่งมีงานเทศกาลประจำปีที่มาดริด (Fiesta de San Isidro) ซึ่งมีคนมาชุมนุมกันจำนวนมาก
หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ ก็มีข่าวกษัตริย์ อัลฟองโซ ที่ 13 (King Alfonso XIII) นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พากันล้มป่วยลักษณะเดียวกัน
ด้วยเหตุที่โรคระบาดนี้เกิดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมสงครามไม่ว่าจะฝ่ายสัมพันธมิตรหรือมหาอำนาจกลางต่างปิดข่าวเรื่องการระบาดในประเทศตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดการเสียขวัญและกำลังใจ
แต่ตอนนั้นสเปนเป็นกลางไม่ได้เข้าร่วมฝ่ายใด ข่าวการระบาดจึงถูกรายงานอย่างค่อนข้างอิสระ นั่นจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการระบาดเริ่มต้นขึ้นที่สเปน
3
มันจึงได้รับการขนานนามโดยประเทศอื่นที่ตามข่าวในสเปนว่า "Spanish Lady" หรือ "Spanish Flu" ไข้หวัดใหญ่สเปน นั่นเอง
Spanish Lady ถ้าแปลตรงตัวกลายเป็นโรค "สาวสเปน" ฟังดูจั๊กจี้ เวลาโรคนี้มาเยือนบางข่าวหรือบทความจะพาดหัวอย่างโรแมนติกว่า "A Kiss from Spanish Lady"
2
รูปโปสเตอร์ที่สื่อถึงไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Lady) แสดงผู้หญิงผอมกะหร่องถือพัดฟลาเมงโก้แบบสเปน กับผ้าเช็ดหน้าสำหรับซับน้ำมูกเสมหะ สื่อว่าเป็นโสเภณีสเปนที่แพร่เชื้อไปทั่วโลก
1
Spanish Lady overtakes the angel of peace เครดิตภาพ: Mary Evans Picture Library ที่มา: https://fineartamerica.com/featured/the-spanish-flu-epidemic-overtakes-mary-evans-picture-library.html
หรือบางที lady อาจจะมาจาก malady ที่หมายถึงความเจ็บป่วย
ทั้งนี้ นักไวรัสวิทยา นักระบาดวิทยา นักประวัติศาสตร์ อาจเห็นขัดแย้งกันว่าจุดกำเนิดของการระบาดมาจากที่ไหนกันแน่ (อ่านเพิ่มได้ในตอนที่แล้ว) แต่นักวิชาการทุกแขนงเห็นพ้องต้องกันว่ามันไม่ได้เริ่มที่สเปนแน่ ๆ
การตั้งชื่อโรคตามประเทศ เชื้อชาติ หรือ สถานที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ เช่น
Russian Flu, Spanish Flu, Asian Flu, Hong Kong Flu
Japanese encephalitis
Zika fever (ชื่อป่า)
West Nile fever (แม่น้ำไนล์)
Thai tick typhus
Rocky Mountain spotted fever (ชื่อภูเขา)
Middle East respiratory syndrome (MERS)
New Delhi metallo-betalactamase (NDM) คือสุดยอดเอนไซม์สำหรับทำลายยาคาร์บาพีเนม (carbapenem) ที่เป็นยาปฏิชีวนะด่านสุดท้าย ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในเชื้อแบคทีเรียดื้อยาซึ่งแยกได้จากผู้ป่วยชาวสวีเดนที่รับเชื้อนี้มาตอนเดินทางไปเมืองนิวเดลี (New Delhi) ประเทศอินเดีย
เอนไซม์ดื้อยานี้จัดเป็นฝันร้ายของวงการแพทย์ ซึ่งมันได้แพร่กระจายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้ค้นพบดันไปตั้งชื่อตามชื่อเมืองหลวงเขา ทางอินเดียก็ออกมาโวยวาย จนต้องมีการขอโทษขอโพย
ชื่อนั้นสำคัญไฉน?
จริง ๆ แล้วตั้งชื่อตามสถานที่ สำหรับหมอก็ดีจำง่าย ข้อสอบชอบถามว่าคนไข้ไปประเทศนั้นนี้กลับมามีไข้บวกอาการอื่น ๆ สงสัยโรคอะไร
ถ้าเป็นโรคทางพันธุกรรม โรคไม่ติดต่อ โรคติดต่อประจำถิ่นที่ไม่เคยไประบาดที่อื่น หรือโรคติดต่อที่พบน้อยมาก ๆ ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
แต่พอเป็นโรคติดต่อที่อันตรายและระบาดไปได้ทั่ว ก็จะมีปัญหาขึ้นมาทันที ถ้าดันตั้งชื่อที่ระบุสถานที่หรือเชื้อชาติ เพราะมันทำให้เกิดการรังเกียจแบ่งแยก โทษกันไปมาว่าใครแพร่ให้ใคร
ฟังดูคุ้น ๆ กับมหาสงครามน้ำลาย สาดโคลนโยนกลอง "โควิด-19" ที่ประเทศมหาอำนาจพากันปัดสวะเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่สนว่ามันเป็นการเสี้ยมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างชนชาติ
ถ้าใครอายุเกิน 100 ปี เกิดทันยุคไข้หวัดใหญ่สเปน (1918-1919) อาจรู้สึกเดจาวูกับเหตุการณ์ในปัจจุบันว่ามุกนี้คุ้น ๆ นะ
สเปนประท้วงไม่พอใจการใช้ชื่อ Spanish Flu (ไข้หวัดใหญ่สเปน) และเรียกมันว่า French Flu (ไข้หวัดใหญ่ฝรั่งเศส)
เยอรมันเรียก Russian Pest (โรคร้ายจากรัสเซีย)
รัสเซียเรียก Chinese Flu (ไข้หวัดใหญ่จีน)
แต่ละประเทศก็ตั้งชื่อโรคตามประเทศที่เชื่อว่าเป็นแหล่งนำโรคเข้ามา
ส่วนกองทัพอเมริกาบอกสายลับเยอรมันเอาเชื้อมาแพร่
1
มีกระทั่งข่าวลือว่าเชื้อถูกซ่อนในเม็ดยาแอสไพริน
ชื่อโรคระบาดใหญ่ที่อิงชื่อประเทศหรือเมืองทั้งหลาย มักเป็นการยัดเยียดจากประเทศอื่น โดยที่เจ้าของประเทศไม่เต็มใจ กลายเป็นตราบาป (stigma) ของประเทศนั้น ๆ
1
ประเทศหรือเมืองที่เป็นจุดกำเนิดบ่อยครั้งก็ไม่ชัดเจน การจะบอกว่าต้นกำเนิดโรคระบาดอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่มุมมอง
1
สัตว์ที่เป็นรังของเชื้อ สัตว์ที่เป็นตัวกลาง คนแรกที่ไปรับเชื้อจากสัตว์ คนแรกที่รับเชื้อจากคนด้วยกัน คนแรกที่เชื้อปรับตัวจนแพร่ระบาดต่อได้ดีขึ้น การระบาดขนาดเล็กครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ มา ที่ยังไม่มีใครผิดสังเกต หรือการระบาดที่เริ่มชัดเจนและมีการสืบสวนโรคเป็นครั้งแรก
1
ส่วนใหญ่เราจะรู้แต่อันหลังสุดว่าเกิดขึ้นที่ไหน แต่มันยุติธรรมหรือไม่ที่จะกล่าวโทษว่ามันคือจุดกำเนิดของเชื้อ
1
ตัวละครในห่วงโซ่การระบาดนี้มักจะอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ในยุคที่การเดินทางข้ามประเทศหรือทวีปเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับทั้งคนและสัตว์
ตัวละครแต่ละตัวอาจมาจากคนละแห่ง ไปสัมผัสโรคกันคนละที่ เกิดการระบาดกันคนละจุด หรืออาจจะเป็นเชื้อลูกผสม (hybrid) ที่มีที่มาจากหลายแหล่งก็ยังได้
ต่อให้มันถือกำเนิดที่ประเทศนั้นจริง ๆ ทุกขั้นตอน การตีตราว่าเป็นโรคระบาดจากประเทศนั้น ๆ เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่
ประเทศไทยเองก็เจอ ไข้หวัดนก (avian flu) ได้บ้าง ถ้าวันหนึ่งมันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ (pandemic) แล้วทั่วโลกเรียกว่าไข้หวัดใหญ่ไทย หรือถ้าเอาให้เว่อร์หน่อย ก็อาจจะเป็น โรคห่าสยาม หรือ ไข้หวัดมรณะกรุงเทพ เราจะรู้สึกอย่างไร
1
ในปี 2015 องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับต้องออกแนวปฏิบัติในการตั้งชื่อโรค ไม่ให้อิงกับวัฒนธรรม, สังคม, ประเทศ, บริเวณ, อาชีพ, เผ่าพันธุ์, ฯลฯ
ดังนั้นต่อไปนี้ผมขอเรียกไข้หวัดใหญ่สเปนว่า ไข้หวัดใหญ่ 1918 แทน
สำหรับโควิด-19 การเน้นย้ำว่ามัน ระบาดเพราะจีน มันจะจริงหรือไม่ก็ช่าง แต่สิ่งที่ปรากฏในข่าว คือชาวยุโรปและอเมริกาบางคนแสดงความรังเกียจเหยียดหยามจนถึงขั้นทำร้ายชาวเอเชียอื่น ๆ ไปด้วย
ประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า หลายประเทศต้องล่มสลายหรือเสียเอกราชก็เมื่อมีการแบ่งแยกตีกันภายในเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แล้วประเทศมหาอำนาจจากภายนอกจึงเข้ามาแทรกแซง ครอบงำ กดขี่ ตักตวงผลประโยชน์ได้สำเร็จ
เผอิญว่าไวรัสกับความตายคือของจริง มันไม่สนของสมมุติอย่างเส้นเขตแดนหรือความขัดแย้งของมนุษย์ ตอนนี้มันโจมตีทั้งโลก มนุษย์ก็ดันแบ่งพรรคแบ่งพวกตั้งแต่ระดับประเทศไปจนระดับปัจเจกบุคคลหาเรื่องทะเลาะกันเองไม่เลิก ถ้ามันมีปากไวรัสมฤตยูคงหัวเราะร่าด้วยความสะใจ
กลับมาที่ไข้หวัดใหญ่ 1918 ในสเปน ช่วงแรกการระบาดยังไม่ค่อยรุนแรง ไม่ค่อยมีผู้เสียชีวิต ผู้คนในมาดริด เรียกโรคนี้อย่างมีอารมณ์ขันว่า Soldado de Napoles หรือ Naples Soldier (เนเปิล หรือ นาโปลี คือชื่อเมืองในอิตาลี) ซึ่งคือชื่อเพลงสุดฮิตที่ใช้แสดงในโรงละครของเมืองมาดริดในช่วงเวลานั้น
1
ประมาณว่าโรคระบาดนี้ติดต่อง่ายเหมือนเพลงนี้ที่ฮิตติดหูลามไปทั่วบ้านทั่วเมือง
แต่หลังจากนั้นไม่นานจะไม่มีใครในโลกนี้ขำออกอีกต่อไป
ในตอนหน้าเราจะได้เห็นถึงรอยแผลเป็นและปริศนาที่ไข้หวัดใหญ่ 1918 ทิ้งไว้ให้กับมวลมนุษยชาติ
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ 5: ไข้หวัดใหญ่ 1918 กับปริศนาทั้งเจ็ด
เอกสารอ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา