8 พ.ค. 2020 เวลา 06:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คืนชีพเชื้อปริศนาฆ่าล้างโลก
ตอนที่ 5: ไข้หวัดใหญ่ 1918 กับปริศนาทั้งเจ็ด
ต้นปี 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังจะจบลง สวนทางกับไข้หวัดใหญ่ 1918 ที่กำลังกระจายติดไปกับเหล่าทหารหาญที่แยกย้ายกันกลับไปแพร่เชื้อมรณะให้ประเทศมาตุภูมิทั่วทุกมุมโลก
แผนที่คาดการณ์เส้นทางการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 1918 จุดแดงคือตำแหน่งระบาดเริ่มต้นของระลอกแรก จุดม่วงคือตำแหน่งเริ่มต้นของการระบาดระลอกสอง เส้นประสีม่วงคือเส้นทางการระบาดของระลอกแรก เส้นทึบสีแดงคือเส้นทางการระบาดของระลอกสอง. Nickol et al. BMC Infect Dis 19, 117 (2019). ที่มา: https://doi.org/10.1186/s12879-019-3750-8
การระบาดระลอกแรกเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ (spring wave) จนถึงช่วงต้นฤดูร้อน จากเคสแรกที่รายงานอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 มีนาคม 1918 ที่อเมริกา โดยเริ่มต้นจากค่ายทหาร (อ่านเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 3) จนมีทหารในค่ายติดเชื้อต้องนอนโรงพยาบาลนับพัน
2
การระบาดในยุโรปเริ่มที่ฝรั่งเศสลามไปอังกฤษ อิตาลี สเปน บางค่ายทหารมีผู้ติดเชื้อมากถึง 3 ใน 4 การระบาดได้แพร่ออกนอกยุโรปเรียงไปยังที่ต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้
เดือน พ.ค. แอฟริกาตอนบนและอินเดีย
1
เดือน มิ.ย. จีน
เดือน ก.ค. ออสเตรเลีย
ระลอกแรกนี้ยังไม่รุนแรงนัก ผู้ติดเชื้อทั้งหมดไม่มาก ผู้เสียชีวิตยังจัดว่าน้อย ไม่ค่อยต่างจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเพียงแต่มันมานอกฤดู แล้วการระบาดก็หายไปเฉย ๆ ในฤดูร้อน
1
จู่ ๆ มันก็กลับมาแบบสีนามิในระลอกที่ 2 ช่วงฤดูใบไม้ร่วง (fall wave) จนถึงฤดูหนาว ซัดกวาดผู้คนลงยมโลกเป็นใบไม้ร่วงสมชื่อ
เดือน ส.ค. จากอังกฤษตอนตะวันตกเฉียงใต้ กระจายทางเรือมายัง อเมริกาเหนือ และ ทางตะวันตกของแอฟริกา
จากอเมริกาเหนือแพร่ลงอเมริกากลางและอเมริกาใต้
จากทางตะวันตกของแอฟริกา ลามไปตามแอฟริกาตะวันตก จนถึงแอฟริกาใต้ในเดือน ก.ย. และไปถึงทางตะวันออกของแอฟริกา (Horn of Africa) ในเดือน พ.ย.
การระบาดครอบคลุมทั่วทั้งยุโรปภายในเดือน ก.ย. จากรัสเซียลงมาเอเชียตอนบน เข้าสู่อินเดียในช่วง ก.ย. และถึงจีนในเดือน ต.ค.
รอบนี้มีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงเป็นจำนวนมาก ไข้สูง ปวดเมื่อย เจ็บคอ น้ำมูก ไอ ตามลักษณะของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แล้วยังมีท้องเสีย ปัสสาวะเป็นเลือด หอบเหนื่อย
ผู้ป่วยที่อาการหนัก ทางเดินหายใจเต็มไปด้วยของเหลว ไม่ว่าจะน้ำมูก เลือดกำเดา เสมหะ อาเจียน น้ำในถุงลมปอด จนคนไข้ไอสำลัก ประหนึ่งคนจมน้ำอยู่ในกองสารคัดหลั่งของตัวเอง (drowning in their own fluids)
เมื่อใกล้ตายใบหน้าผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำเหมือนดอกทานตะวันม่วง (heliotrope, อ่านเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 3)
ช่วงต้นปี 1919 ได้มีการระบาดระลอกสาม ทั้งที่ออสเตรเลีย อเมริกา และยุโรป ความรุนแรงมากกว่าระลอกแรก แต่ไม่เท่าระลอกสอง การระบาดในซีกโลกเหนือสิ้นสุดลงในเดือน พ.ค. 1919 ยกเว้นญี่ปุ่นที่ระลอกสามจบลงต้นปี 1920
สำหรับบางประเทศทหารที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 1918 มีจำนวนมากกว่าที่เสียชีวิตจากสงครามโลกเสียอีก เช่น ทหารอเมริกา ทหารไทย
1
ช่วงปี 1918-1919 ไข้หวัดใหญ่ 1918 ก็เข้ามาระบาดในไทย คาดว่ามาจากทหารที่กลับมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1
ยุคนั้นประชากรไทย มี 8 ล้านกว่าคน ติดเชื้อนี้ ประมาณ 36.6% ตาย 1% จากประชากรทั้งหมด (อัตราตายจากโรค 3.6%) คิดเป็นผู้ติดเชื้อ 2 ล้านกว่า ๆ เสียชีวิต 8 หมื่นกว่าคน หรือตายถึง 7 แสนคนหากเทียบกับประชากรไทย 70 ล้านคนในปัจจุบัน
1
มีผู้ติดเชื้อโดยรวมทั้งโลกประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก หรือประมาณ 500 ล้านคน
ค่า R0 ของไข้หวัดใหญ่ 1918 อยู่ที่ประมาณ 1.8 (คนไข้ 1 คน แพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อได้เกือบ 2 คน) ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล R0 ประมาณ 1.3 ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ 2009 R0 ประมาณ 1.5 (ส่วนโควิด-19 R0 มากกว่า 2)
อัตราตายจากโรค (case-fatality rate) มากกว่า 2.5% ในบางกรณีเช่น ที่อลาสก้า บางหมู่บ้านมีอัตราตายจากโรคสูงถึง 90%
ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ในการระบาดใหญ่ (pandemic) ครั้งอื่น ๆ มีอัตราตายจากโรคที่น้อยกว่า 0.1% ตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 อัตราตายประมาณ 0.007-0.048% (ตาย 7 ในแสน ถึง 1 ในสองพัน)
ประมาณการเสียชีวิตทั่วโลก 50-100 ล้านคน มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (ตายประมาณ 20 ล้านคน) หรือพอ ๆ กับสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตายประมาณ 80 ล้านคน)
ไข้หวัดใหญ่ 1918 พรากชีวิตคนหนุ่มสาวที่เป็นเสาหลักของครอบครัวไปมากมาย จึงเหลือไว้แต่เด็กกำพร้า กับเศรษฐกิจที่พังพินาศ
ในชนบทห่างไกลบางแห่ง บางหมู่บ้านก็รอดพ้นหายนะได้ ด้วยการปิดหมู่บ้าน ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ในขณะที่บางหมู่บ้านพลาดท่า ปล่อยเชื้อเล็ดลอดเข้ามาได้ จนทั้งหมู่บ้านถูกลบออกไปจากโลกใบนี้ตลอดกาล
แม้จะผ่านไปหนึ่งศตวรรษแล้ว ไข้หวัดใหญ่ 1918 ได้ทิ้งปริศนาไว้มากมายดังนี้
1. ปริศนาเชื้อก่อโรค
ปัจจุบันทุกคนรู้ดีว่าไข้หวัดใหญ่ (influenza) เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) แต่ในยุคนั้นหมอและนักวิชาการเชื่อว่ามันเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ยังไม่มีใครรู้จักไวรัสที่มองไม่เห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ทั่วไป เราจะย้อนเวลากลับไปดูการค้นพบไวรัสด้วยกันในตอนต่อไป
2. ปริศนาร่างจริงเชื้อ
เมื่อยุคนั้นไม่มีใครรู้จักไวรัส ย่อมไม่มีใครเพาะเชื้อเก็บไว้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ 1918 จึงสูญพันธุ์ไปจากโลกไปโดยปริยาย เมื่อไม่มีใครรู้จักหน้าตาที่แท้จริงของมัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ไขปริศนาที่เหลือ
หรือเราจะต้องอาศัยร่างทรงแบบเรื่องราโชมอนเพื่อเรียกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 กลับมาจากขุมนรกเพื่อมาเป็นจำเลยในคดีสังหารหมู่ทั่วโลก ที่มีเหล่าเด็กกำพร้าเป็นโจทก์
1
ภาพยนตร์เรื่องราโชมอน ที่มา: https://raremeat.blog/rashomon/
ในอีกเกือบร้อยปีถัดมา หีบแพนโดร่าแช่แข็งจะถูกเปิดขึ้น เราจะได้เห็นการเล่นบทพระเจ้าของมนุษย์ และการสำแดงเดชอีกครั้งของไวรัสที่สาบสูญ
3. ปริศนาต้นกำเนิดเชื้อ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 1918 มาจากไหน สัตว์ใดเป็นต้นตอของโรค เรามาร่วมเรียนรู้ความพิเศษของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้มันสามารถผสมพันธุ์ได้ใกล้เคียงกับการมีเพศสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูง
4. ปริศนาความหฤโหด
1
เชื้อไข้หวัดใหญ่ 1918 ไม่ใช่เชื้อที่ติดง่ายที่สุด โรคหัดติดง่ายกว่ามาก (R0 = 15) และมันก็ไม่ใช่โรคที่อัตราตายสูงสุด ยังเทียบไม่ติดกับโรคพิษสุนัขบ้าที่อัตราตาย 100%
แต่มันเป็นส่วนผสมอย่างลงตัวระหว่างความสามารถในการแพร่เชื้อ (R0) กับอัตราตายจากโรค (case-fatality rate) ทั้งคู่ไม่มากไป ไม่น้อยไป (คล้ายโควิด-19) อยู่ในจุดกลมกล่อม (sweet spot) ที่สามารถก่อความเสียหายได้มากสุด
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal flu) ติดง่าย แต่อัตราตายต่ำมาก
ไข้หวัดนก (avian flu) อัตราตายสูงมาก (50%) แต่ติดยากมาก
โดยปกติอัตราตายมักแปรผกผันกับความสามารถในการแพร่เชื้อ นั่นทำให้ทั้ง 2 โรคนี้ไม่ได้ก่อปัญหาที่รุนแรงนัก
แล้วเหตุใดไข้หวัดใหญ่ 1918 จึงติดง่าย และอัตราตายสูงพอสมควรไปพร้อมกันในแบบที่ไข้หวัดใหญ่อื่น ๆ ทำไม่ได้
5. ปริศนา W แห่งความตาย
โรคติดเชื้อแต่ละโรคอาจมีช่วงอายุอันตรายที่มีโอกาสตายสูงเมื่อติดเชื้อนั้น ๆ
สำหรับไข้หวัดใหญ่ โดยปกติอัตราตายจะสูงในเด็กเล็กและคนชรา เพื่อพล็อตกราฟอายุ (แกน X) กับการเสียชีวิต (แกน Y) จึงเห็นเป็นรูปตัว U
แต่ไข้หวัดใหญ่ 1918 นอกจากจะสังหารทารกและคนชราแล้ว มันยังชื่นชอบวัยหนุ่มสาวมากเป็นพิเศษ ซึ่งไม่พบในไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ทำให้มีพีค (peak) ของผู้เสียชีวิตในวัยหนุ่มสาวแทรกขึ้นมาตรงกลาง จนกราพกลายเป็นรูปตัว W
1
อัตราตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่อเมริกา (per 100,000) เมื่อเทียบกับอายุ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปี 1911-1917 (เส้นประ) มีลักษณะเป็นรูปตัว U ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ 1918 (เส้นทึบ) เป็นรูปตัว W คือมีคนหนุ่มสาวตายมากเป็นพิเศษ. Taubenberger et al. Emerg Infect Dis. 2006 Jan; 12(1): 15–22. ที่มา: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3291398/#R3
โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 28-30 ปีจะตายจากไข้หวัดใหญ่ 1918 มากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดที่อัตราตายจะสูงจำเพาะกับช่วงอายุแคบ ๆ เช่นนี้ หนุ่มสาวเหล่านี้เคยทำอะไรผิดในตอนที่พวกเขาเกิดเช่นนั้นหรือ
หรือจะเป็นการลงโทษที่ทำ "บาปแต่กำเนิด" (original sin) ถ้าเช่นนั้นตอนเด็ก หนุ่มสาวผู้โชคร้ายเหล่านี้ยั้งใจไม่ไหวไปแอบทานผลอะไร จากต้นไม้แห่งความรู้ (Tree of Knowledge) จึงต้องมาตายในอีก 30 ปีให้หลัง
6. ปริศนาคลื่นมรณะ
เหตุใดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 1918 จึงจู่โจมมนุษย์เป็นระลอกคลื่น (wave) 2-3 ระลอก ทำไมระลอกที่สองจึงรุนแรงขึ้นมาก และช่วงสงบระหว่างระลอกคลื่น เชื้อมันไปมุดหัวหลบอยู่ที่ไหน
1
คลื่นระบาด 3 ระลอก ปี 1918-1919 United Kingdom ซึ่งระลอกสองโหดร้ายที่สุด. Taubenberger et al. Emerg Infect Dis. 2006 Jan; 12(1): 15–22. ที่มา: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3291398/#R3
สำหรับโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าคลื่นฤดูใบไม้ผลิ (ฤดูร้อนของไทย) ใกล้จะเลยจุดสูงสุดไปแล้ว และอาจสิ้นสุดลงในเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ หรือนี่จะเป็นเพียงแค่การโหมโรง
คลื่นฤดูใบไม้ร่วง (ฤดูฝนในไทย) เริ่มช่วง ส.ค.-ก.ย. ที่หฤโหดกว่าคลื่นระลอกแรกแบบเทียบไม่ติด จะเกิดขึ้นในโควิด-19 เหมือนในไข้หวัดใหญ่ 1918 หรือไม่
7. ปริศนาทายาทอสูร
ไข้หวัดใหญ่ 1918 หายไปไหน เหตุใดเราจึงขนานนามมันว่า "มารดาแห่งการระบาดใหญ่ทั้งปวง" (The Mother of all Pandemics) และถ้าคุณอายุเกิน 10 ปี ก็น่าจะได้ทักทายกับเชื้อนี้ที่เดินทางข้ามกาลเวลามาแล้ว
ไข้หวัดใหญ่ 1918 ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้มนุษยชาติบ้าง ทายาทผู้สืบสันดานของมันคือใคร
ปริศนาบางข้อกระจ่างแล้ว ในขณะที่บางข้อยังไม่มีคำตอบที่หนักแน่น ขอเชิญทุกท่านร่วมเดินทางไขปริศนาทีละข้อไปด้วยกัน มาเรียนรู้กันว่าคำตอบที่ได้จะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดในยุคปัจจุบัน
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ 6: ไขปริศนาเชื้อก่อโรค
เอกสารอ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา