ชีวิตฆราวาส จะหาโอกาสว่างในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมีภารกิจการงานที่ต้องรับผิดชอบ โอกาสในการประกอบกุศลธรรม ก็ทำได้น้อยกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งนี้เพราะการดำรงชีวิตของฆราวาส ต้องใช้เวลาในวันหนึ่งๆ หมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ต่อสู้ดิ้นรนทั้งเพื่อตนเองและครอบครัว จนบางคนไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์ ไหว้พระ ในแต่ละวัน
ซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนไม่เคยมีเวลาศึกษาหาความรู้ในทางธรรม ทั้งๆที่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา จึงขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ขาดหลักของชีวิต คือ พระรัตนตรัย เมื่อขาดสิ่งนี้แล้ว ชีวิตย่อมจะไหลไปตามกระแสกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ต้องเสียเวลาไปกับกิจกรรมในทางโลก และยากที่จะมีโอกาสทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้เกิดขึ้น ยากที่จะมีเวลาในการประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ ผู้รู้จึงได้กล่าวว่า ฆราวาสเป็นทางคับแคบ มีแต่ความอึดอัดใจ คับแค้นใจตลอดเวลา
สภาพชีวิตของฆราวาสทุกระดับชั้นในทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับสูง ระดับผู้บริหารประเทศ ไปจนกระทั่งสังคมของบุคคลระดับหาเช้ากินค่ำ ถือว่าต่างดำเนินอยู่ในทางคับแคบเช่นเดียวกันหมด นอกจากนี้การอยู่ในสังคมที่มีทั้งคนดีและคนชั่ว บางครั้งก็เลี่ยงได้ บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ จึงมีโอกาสที่จะก่อกรรมทำเข็ญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีการเบียดเบียนกัน แก่งแย่งชิงดีกัน ให้ร้ายป้ายสีหรือประทุษร้ายกัน จนอาจถึงกับทำลายล้างผลาญชีวิตกันได้ สิ่งเหล่านี้ คือ ทางมาแห่งธุลีกิเลส
ตราบใดที่คนเรายังครองชีวิตอยู่ในฆราวาสวิสัย ย่อมยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อขัดเกลาตนเองให้หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้ นั่นหมายความว่า ตัวเราต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอีกไม่รู้จบสิ้น หากบุคคลใดพลาดพลั้งก่อกรรมทำเข็ญ บุคคลนั้นย่อมจะต้องเสวยผลกรรมอยู่ในนรก โดยไม่มีผู้ใดมาช่วยได้เลย
ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้ประพฤติธรรม ทั้งทรงชี้ให้เห็นคุณค่าอันประเสริฐของการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอย่างชัดเจนว่า บรรพชาหรือชีวิตนักบวชนั้น เป็นทางปลอดโปร่ง เพราะความเป็นอยู่ของพระภิกษุ ย่อมมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ง่าย เมื่อเทียบกับชีวิตของผู้ครองเรือน โดยพระวินัยแล้ว การเลี้ยงชีพของพระภิกษุต้องขึ้นอยู่กับฆราวาส พระภิกษุจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการทำมาหากินแบบฆราวาส ทำให้สามารถทุ่มเทเวลาและชีวิตเพื่อการศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้โดยสะดวก
อีกทั้งยังเป็นการเอื้ออำนวย ให้พระภิกษุห่างไกลจากกามคุณได้มาก ซึ่งจะยังผลให้การประพฤติพรหมจรรย์นั้น บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ชีวิตนักบวชมีโอกาสสร้างบุญกุศลทั้งปวง ได้สะดวกกว่าชีวิตฆราวาส
ดังเรื่องของ พระโสณโกฏิกัณณเถระ *ครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ในสมัยนั้นพระมหากัจจายนะพักอยู่ที่ปวัฏฏบรรพต มีอุบาสกชื่อว่า โสณโกฏิกัณณะ เป็นโยมอุปัฏฐาก พระเถระจะให้โอวาทแก่อุบาสกเสมอๆ ว่า "บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย พึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด"
อุบาสกนั้น เป็นผู้มีปัญญา ได้สั่งสมบารมีมาเต็มพร้อมบริบูรณ์ เมื่อฟังโอวาทนั้น ได้นำไปพินิจพิจารณาอยู่เนืองๆ จนโอวาทนั้นกึกก้องย้ำเตือนอยู่ในใจตลอดเวลา ทำให้ท่านเห็นโทษภัยในการครองเรือน เห็นอานิสงส์ในการออกบวช
วันหนึ่ง ท่านเข้าไปหาพระเถระ เมื่อแสดงความเคารพแล้ว ท่านได้เล่าเรื่องความตั้งใจที่จะบวชให้พระเถระฟัง เมื่อพระเถระเห็นความตั้งใจในการที่จะบวชของลูกศิษย์ และเพื่อเป็นการตอกย้ำมโนปณิธานอันแน่วแน่ของศิษย์ จึงกล่าวว่า "ดูก่อนโสณะ พรหมจรรย์มีภัตรหนเดียว ต้องนอนผู้เดียวตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเรือน จงหมั่นประกอบพรหมจรรย์อันมีภัตรหนเดียว นอนผู้เดียว ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด" แม้พระอาจารย์จะทักเช่นนี้ แต่ด้วยมโนปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบวชให้ได้ ท่านเพียรเข้าไปขออนุญาตพระเถระถึง ๓ ครั้ง