8 พ.ค. 2020 เวลา 02:23 • กีฬา
การปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกแห่งโลกลูกหนังสิ้นสุดลงแล้วงั้นหรือ (Part2/2)
ตั้งแต่เข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ1990 ทั้งโลกฟุตบอลได้พบกับแทคติกที่ถือว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการคว้าชัยชนะแต่มันกลับไม่ใช่ปรัชญาไหนเลยทั้งสิ้นแต่เป็นแทคติกฟุตบอลเน้นสมดุลที่ผสมผสานระหว่างเกมรุกและเกมรับอย่างลงตัว(Balanced tactic) ซึ่งแทคติกนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บผลการแข่งขันอีกทั้งยังขจัดจุดอ่อนออกไปได้ดียิ่งกว่าปรัชญาที่เน้นไปทางใดทางหนึ่งเสียอีก จึงทำให้เกมลูกหนัง ณ ขณะนั้นปราศจากปรัชญาใดๆทั้งสิ้นที่จะสามารถครองความยิ่งใหญ่ได้เหมือนแต่ก่อน
แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีกุนซือบางคนที่ยังคงเชื่อมั่นและมีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะพัฒนาปรัชญาเก่าแก่ที่เคยประสบความสำเร็จให้กลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งได้แก่ โชเซ่ มูรินโญ่ ผู้ที่เชื่อในปรัชญา Catenaccio, เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ผู้ที่เชื่อในปรัชญา Tiki Taka ซึ่งเป็นร่างวิวัฒนาการของ Total Football และเจอร์เก้น คล็อปป์ ผู้ที่เชื่อในปรัชญา Shadow Play ที่ต่อมาถูกเรียกว่า Counter Pressing (Gegenpressing ในภาษาเยอรมัน) ซึ่งมันส่งผลให้เกิดสงครามระหว่างแทกติกขึ้นอีกครั้งแต่คราวนี้แตกต่างจากสมัยก่อนตรงที่ดันอยู่ในยุคที่มีหลายต่อหลายก๊กที่ต่อสู้แย่งชิงดีชิงเด่นกันมากซะเหลือเกิน
(สามารถอ่านเนื้อหาในพาร์ทที่หนึ่งได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5eaf8454e94e060ca7f72bba/# )
เรื่องราวทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นที่ชายผู้หนึ่งที่มีชื่อว่าโชเซ่ มูรินโญ่ ซึ่งเขาได้นำพาปรัชญาฟุตบอลสายเกมรับ Catenaccio ที่ถูกดัดแปลงจนกลายเป็น Catenaccio สมัยใหม่ที่ต่างจากต้นตำรับไปอย่างสิ้นเชิงกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งโดยเขาได้ใช้ปรัชญานี้พาปอร์โต้ สโมสรจากโปรตุเกสซึ่งถือเป็นทีมเล็กในยุโรป คว้าแชมป์ยุโรปเหนือทีมใหญ่ในยุโรปได้ในฤดูกาล 2003–04 และพาอินเตอร์ มิลาน สโมสรยักษ์ใหญ่จากอิตาลี คว้าแชมป์ยุโรปได้ในฤดูกาล 2009-10 ซึ่งในฤดูกาลนั้นไฮไลท์สำคัญอยู่ตรงที่การถือกำเนิดของปรัชญา Park the Bus โดยบังเอิญจนมันได้ก่อให้เกิดเป็นร่างวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของ Catenaccio ขึ้นและผู้พัฒนาก็ไม่ใช่ใครอื่นซึ่งเขาคนนั้นก็คือโชเซ่ มูรินโญ่ นั่นเอง
จึงทำให้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ2000 เป็นต้นมา ด้วยอิทธิพลและความสำเร็จของมูรินโญ่ทำให้โลกฟุตบอลในตอนนั้นที่ไม่มีใครใช้ปรัชญาใดๆให้เริ่มหันกลับมาสนใจและให้ความสำคัญกับเกมรับมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
โชเซ่ มูรินโญ่ ผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Catenaccio
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของปรัชญา Park the Bus ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ea02499b8fbd952566f271e/# )
และอีกเรื่องราวที่ทับซ้อนอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันหลังจากมูรินโญ่พาปอร์โต้คว้าแชมป์ยุโรปนั่นก็คือการกลับมาอีกครั้งของปรัชญาสายเกมบุก Tiki Taka ที่เป็นร่างวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปรัชญา Total Football ซึ่งแต่เดิมได้ถูกพัฒนาไว้นานมากแล้วโดยโยฮัน ครัฟฟ์ ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 แต่ครัฟฟ์ก็ไม่อาจพาปรัชญาที่ยังไม่สมบูรณ์ครองความยิ่งใหญ่ได้
จนกระทั่งในที่สุดปรัชญานี้ได้ถูกนำกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งโดยเริ่มต้นที่แฟรงค์ ไรจ์การ์ด สามารถพาบาร์เซโลน่า สโมสรจากสเปน คว้าแชมป์ยุโรปที่รอคอยมามากกว่า 10 ปีในฤดูกาล 2005-06 ด้วยปรัชญา Tiki Taka ฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่สมบูรณ์และต่อมาไรจ์การ์ดจำต้องอำลาทีมไปเนื่องจากผลงานที่ตกฮวบลงอย่างน่าใจหายจึงทำให้ตำนานบทใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นและตำนานบทนั้นได้ถูกเขียนผ่านเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่มีชื่อว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่าที่ได้เข้ามากุมบังเหียนแทน เขาได้นำปรัชญาของโยฮัน ครัฟฟ์ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และกุนซือของเขาสมัยเป็นผู้เล่นมาขัดเกลาจนออกมาเป็น Tiki Taka ฉบับสมบูรณ์ และได้นำปรัชญานี้พาบาร์ซ่าครองความยิ่งใหญ่ได้สำเร็จโดยสามารถคว้าแชมป์ยุโรปเพิ่มอีก 2 สมัยในฤดูกาล 2008–09 และ 2010–11 ยิ่งไปกว่านั้นมันยังส่งผลโดยตรงไปสู่ทีมชาติสเปนอีกด้วยโดยทีมชาติสเปนสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2010 ด้วยปรัชญานี้เช่นกัน
ซึ่งทำให้พอเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2010 ด้วยอิทธิพลและความสำเร็จของเป๊ปทำให้โลกฟุตบอลในขณะนั้นเริ่มหันมาใช้ปรัชญานี้ที่มีสไตล์การเล่นที่นอกจากจะมีประสิทธิภาพแล้วยังมีความสวยงามที่ดึงดูดแฟนบอลได้มากกว่าสไตล์ Park the Bus ของมูรินโญ่เสียอีก
เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Total Football
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของปรัชญา Tiki Taka ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ea3e2f2c73f3b0c7b88b108/# )
และอีกเรื่องราวหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากที่ปรัชญา Tiki Taka ครองโลกอยู่ได้ไม่นานซึ่งเรื่องราวนี้เกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมันในช่วงต้นทศวรรษ2010 ได้มีชายธรรมดาคนหนึ่งที่มีชื่อว่า เจอร์เก้น คล็อปป์ ซึ่งเขาได้พัฒนาปรัชญาสายดุดัน Shadow Play หรือ Counter Pressing ขึ้นไปจนถึงขั้นสุดยอดและนำมาใช้กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ของเขาที่ไม่ได้มีงบประมานในการเสริมทัพมากเหมือนทีมยักษ์ใหญ่ในยุโรปจนสามารถโค่นราชันแห่งเยอรมัน อย่างบาเยิร์น มิวนิคโดยการคว้าแชมป์ลีกเยอรมันได้ถึง 2 สมัยติดต่อกันในฤดูกาล 2010–11และ2011–12 ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นความเข้มข้นทั้งเกมรุกและเกมรับ ซึ่งมันส่งผลให้ทั่วเยอรมันรวมถึงบาเยิร์นได้หันมาใช้ปรัชญาของคล็อปป์ไปตามๆกัน
เจอร์เก้น คล็อปป์ ผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Shadow Play
(สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของปรัชญา Counter Pressing ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ea8003ff6f4a710dd262ca4/# )
นอกจากนี้มันยังส่งผลกระทบโดยตรงไปสู่ปรัชญา Tiki Taka ที่ครองบัลลังก์อยู่ในขณะนั้นให้มิอาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจอย่างปรัชญา Counter Pressing ที่พร้อมจะขึ้นมาท้าทายพวกเขาอย่างเต็มตัวแล้ว และนี่ยังไม่รวมถึงปรัชญา Park the Bus ที่เปรียบเสมือนขวากหนามที่พร้อมทิ่มแทงอยู่ตลอดเวลาเพื่อขัดขวางความสำเร็จของพวกเขาอีกด้วยเช่นกัน
และหลังจากนั้นไม่นานด้วยความแข็งแกร่งที่ทวีคูณขึ้นมาเรื่อยๆของศัตรูที่ไม่เคยอยู่ในสายตาอย่างปรัชญา Park the Bus ที่ตอนนี้กลับอันตรายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยเหตุมาจากโรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ ได้ใช้ปรัชญานี้พาเชลซี สโมสรจากอังกฤษ คว้าแชมป์ยุโรปได้สำเร็จในฤดูกาล2011-12 และศัตรูตัวฉกาจอย่างปรัชญา Counter Pressing ที่นำโดยราชันแห่งเยอรมันอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ที่สามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้สำเร็จในฤดูกาล 2012–13 อีกทั้งยังสามารถทวงบัลลังก์แห่งเยอรมันคืนมาจากดอร์ทมุนด์ได้สำเร็จอีกด้วย และที่ยิ่งไปกว่านั้นทั้งเชลซีและบาเยิร์นสามารถคว้ำบาร์ซ่าที่เป็นเหมือนตัวแทนของปรัชญาTiki Taka จนตกรอบรองชนะเลิศไปทั้งสองฤดูกาลจึงทำให้ทั้งสองปรัชญาสามารถขึ้นมาทัดเทียมกับปรัชญาที่ครองความยิ่งใหญ่ในยุคนั้นอย่าง Tiki Taka ได้สำเร็จ
ดังนั้นเห็นได้ชัดว่าโลกฟุตบอล ณ ขณะนั้นได้เข้าสู่ยุคสงครามแห่งปรัชญาที่แตกต่างจากในอดีตอย่างมากเพราะคราวนี้ทุกปรัชญาได้ถูกพัฒนาขึ้นจนถึงขีดสุดอีกทั้งยังอยู่ในสนามรบเดียวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาโดยมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวนั่นก็คือการครอบครองบัลลังก์แห่งโลกฟุตบอลแต่เพียงผู้เดียว
สงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอล
การกลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่นใหม่ของปรัชญาที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตที่ถูกลืมเลือนไปแล้วได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทีมที่ใช้ Balanced tactic ที่ครองยุคอยู่ก่อนหน้านั้นและเป็นแทคติกที่ถือว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการคว้าชัยชนะในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ โดยผลกระทบนั้นส่งผลให้แทคติกนี้ค่อยๆทยอยถูกละทิ้งไป ซึ่งสาเหตุหลักๆมาจากตัวแผน Balanced tactic เองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดสมดุลของเกมจึงทำให้แทคติกนี้ไม่อาจเป็นเลิศสักทางได้
ยกตัวอย่างเช่น
กรณีที่อยากลงมาตั้งรับลึกก็มิอาจทำได้ดีเหมือนปรัชญา Park the Bus เนื่องจากการต้องลงมาตั้งรับในแดนตัวเองของผู้เล่นตัวรุกบางคนที่อ่อนในการเล่นเกมรับจะคอยถ่วงทำให้เกมรับนั้นเสื่อมประสิทธิภาพลง
กรณีที่อยากขึ้นไปเพรซซิ่งกดดันในแดนคู่ต่อสู้ก็มิอาจทำได้ดีเหมือนปรัชญา Counter Pressing เนื่องจากผู้เล่นตัวรุกที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์เกมและทำประตูนั้นไร้ซึ่งพลังความอึดในการไล่บอลอย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งผู้เล่นตัวรับที่ขาดความเร็วเมื่อต้องยืนไลน์กองหลังสูงๆก็อาจโดนโต้กลับได้ง่ายเช่นกัน
กรณีที่อยากครองบอลนานๆเพื่อควบคุมเกมอย่างใจเย็นด้วยการค่อยๆต่อบอลเข้าไปทำประตูก็มิอาจทำได้ดีเหมือนปรัชญา Tiki Taka เนื่องจากผู้เล่นตัวรับที่ขาดทักษะการครอบครองบอลและการจ่ายบอลที่ดีจึงทำให้เสี่ยงต่อการเสียบอลได้ง่าย
เพราะเหตุนี้เมื่อต้องเผชิญกับปรัชญาที่ถูกอัพเกรดจนถึงขั้นสุดที่มีสไตล์การเล่นชัดเจนบวกกับมีผู้เล่นที่เหมาะสมกับสไตล์นั้นๆอีกด้วยจึงทำให้Balanced tactic ค่อยๆหมดความนิยมลงไปในที่สุด
ต่อมาสงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอลระหว่าง Tiki Taka, Counter Pressing และ Park the Bus ที่ถูกปะทุขึ้นอย่างเต็มตัวตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2010 ก็ต้องพบกับจุดจบไวกว่าที่พวกเราจะคาดคิดนัก ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นที่การเข้ามากุมบังเหียนที่เรอัล มาดริด ของคาร์โล อันเชล็อตติ ซึ่งเขาถือเป็นหนึ่งในกุนซือที่เคยประสบความสำเร็จในการใช้ Balanced tactic กับเอซี มิลานชุดยุคทองแห่งช่วงทศวรรษ 2000
และการมาของอันเชล็อตติในคราวนี้ เขาได้พัฒนาแทคติกเดิมของเขาขึ้นไปอีกระดับโดยการปรับให้ Balanced tactic แบบดั้งเดิมที่ไม่อาจไปสุดได้สักทางจนสามารถไปสุดได้ถึงสองปรัชญาในคราวเดียวเพื่อที่จะสามารถนำมาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างได้
และสองปรัชญาที่เขาเลือกมาใช้ก็คือ Park the Bus ซึ่งเป็นปรัชญาที่ถูกวิวัฒนาการมาจาก Catenaccio ที่เขาคุ้นเคยดีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยคุมทีมในประเทศอิตาลีบ้านเกิดของเขาเนื่องจากทีมในอิตาลีนั้นยังคงนิยมใช้ปรัชญานี้อยู่ไม่น้อยและ Counter Pressing หรือ Shadow play ที่แต่เดิมอันเชล็อตติได้เคยถูกปลูกฝังโดยอาร์ริโก้ ซาคคี่ ปรมาจารณ์ผู้คิดค้นปรัชญานี้เนื่องในฐานะที่เป็นทั้งลูกศิษย์และอดีตผู้เล่น
ซึ่งมันส่งผลให้ช่วงต้นอาชีพกุนซือของอันเชล็อตติ เขาได้เลือกที่จะสานปรัชญาของอาจารย์ของเขาต่อแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จใดๆจนต้องเปลี่ยนวิธีการไปอย่างที่พวกเราเห็นกันในปัจจุบัน ด้วย Balanced tactic ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาระดับหนึ่งทำให้อันเชล็อตติสามารถพาเรอัล มาดริดคว้าแชมป์ยุโรปตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาคุมในฤดูกาล 2013–14
เรอัล มาดริดในยามใช้ปรัชญา Park the Bus (ตั้งรับลึกแล้วรอสวนกลับเร็ว)
เรอัล มาดริดในยามใช้ปรัชญา Counter Pressing (ไล่เพรซซิ่งเพื่อแย่งบอลมาจู่โจมในทันที)
อันเชล็อตติกับแชมป์ยุโรปในฤดูกาล 2013/14
แต่อย่างไรก็ตามอันเชล็อตติก็ต้องถูกปลดลงจากตำแหน่งเนื่องจากผลงานที่ไม่ดีนักในฤดูกาลถัดมาที่ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้เลย ถึงแม้เรื่องราวของอันเชล็อตติที่เรอัล มาดริดจะจบลงแต่เพียงเท่านี้แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่เขาทิ้งไว้นั้นกำลังจะออกผลในไม่ช้า
ในฤดูกาลต่อมา เรอัล มาดริดได้แต่งตั้งราฟาเอล เบนิเตสขึ้นมาคุมทีมแทนแต่กลับมีผลงานที่แย่ลงกว่าเดิมเสียอีก จึงทำให้เขาต้องถูกปลดลงไปกลางคันระหว่างฤดูกาลนั้นและผู้ที่เข้ามารับเผือกร้อนในตอนนั้นก็คือซีเนดีน ซีดาน อดีตตำนานสุดยอดผู้เล่นของเรอัล มาดริดอีกทั้งเขายังเป็นถึงผู้ช่วยของคาร์โล อันเชล็อตติในชุดคว้าแชมป์ยุโรปอีกด้วยซึ่งนั่นทำให้เขาได้ซึมซับวิชามาจากอันเชล็อตติมาพอสมควร
แต่ทว่าสถานการณ์ในตอนนั้นของซีดานที่ไม่มีประสบการณ์ในการคุมทีมแต่อย่างใดมันช่างเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายซะเหลือเกินสำหรับเขา แต่ในทางกลับกันมันก็เป็นบททดสอบที่เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับเขาอย่างมากเช่นกัน
ย่างก้าวที่ท้าทายของซีเนดีน ซีดาน
และในที่สุดสิ่งที่อันเชล็อตติได้เริ่มต้นเอาไว้ก็ได้ออกผลออกดอกเสียทีและยิ่งไปกว่านั้นมันดันล้ำไปไกลกว่าสิ่งที่อันเชล็อตติเคยทำไว้เสียอีกเมื่อซีดานสามารถพิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จโดยการพาเรอัล มาดริดซึ่งนำทีมโดย คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ลูก้า โมดริช, โทนี่ โครส และเซร์คิโอ รามอส กลับมาครองความยิ่งใหญ่อีกครั้งจนกลายเป็นมหาอำนาจแห่งช่วงปลายทศวรรษ 2010 ด้วยการคว้าแชมป์ยุโรปสามสมัยติดต่อกันในฤดูกาล2015–16, 2016–17 และ2017–18 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีตั้งแต่ที่บาเยิร์นเคยทำไว้ครั้งสุดท้ายในฤดูกาล1973-74, 1974-75 และ 1975-76
เรอัล มาดริด มหาอำนาจแห่งช่วงปลายทศวรรษ 2010
ซีนาดีน ซีดาน หนึ่งในกุนซือที่สามารถคว้าแชมป์ยุโรปมากที่สุดได้ถึงสามสมัย
ทุกความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากการใช้ Balanced tactic ที่ผสมสองปรัชญาเข้าด้วยกันในคราวเดียวของอันเชล็อตติที่ซีดานได้เคยซึมซับมาตั้งแต่สมัยเป็นผู้ช่วย แต่อย่างไรก็ดีซีดานกลับพัฒนามันขึ้นไปอีกขั้นจนเหนือกว่าอันเชล็อตติเสียอีก ด้วยการเพิ่มปรัชญา Tiki Taka เข้ามาด้วยจนเกิดเป็น Balanced tactic ที่ผสมผสานทุกปรัชญาเข้าด้วยกันในคราวเดียว
เรอัล มาดริดในยามใช้ปรัชญา Tiki Taka (ควบคุมเกมด้วยการครองบอลต่อบอลสั้นไปมา)
ซึ่งเปรียบได้ว่าซีดานได้นำก๊กทั้งสามปรัชญามารวมกันเป็นหนึ่งได้สำเร็จในทีมๆเดียว จึงทำให้ซีดานกลายเป็นกุนซือคนแรกที่ถูกยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์แห่งทุกปรัชญา (Master of Every Tactics) ผู้ที่สามารถยุติสงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอลให้จบลงอย่างสมบูรณ์
บทสรุปของสงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอล
ด้วยอิทธิพลและความสำเร็จของซีดานส่งผลให้โลกฟุตบอลได้วนกลับเข้าสู่ลูปเดิมอีกครั้งซึ่งได้กลับมาเป็นเหมือนยุคก่อนที่ไร้ซึ่งปรัชญาใดๆทั้งสิ้นที่จะสามารถครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปได้แต่ที่ต่างออกไปคือในคราวนี้บุรุษที่ชื่อว่า ซีเนดีน ซีดาน ได้ทำให้โลกฟุตบอลในปัจจุบันได้ประจักษ์ว่าการยึดติดอยู่แค่ปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งนั้นอาจทำให้ประสบความสำเร็จได้ก็จริงแต่มันก็ไม่มากพอที่จะครองความยิ่งใหญ่เป็นระยะเวลายาวนานได้อีกทั้งแต่ละปรัชญาก็มีจุดอ่อนที่ชัดเจนอยู่กันทั้งนั้น ดังนั้นการนำทุกปรัชญามาใช้ในรูปแบบยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะเป็นหนึ่งในใต้หล้าแห่งวงการลูกหนังได้
ซีเนดีน ซีดาน ปรมาจารย์แห่งทุกปรัชญา
ต่อจากนั้นมากุนซือหลายต่อหลายคนก็หันมาใช้มากกว่าปรัชญาเดียวในการทำทีมมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเพิ่มเติมเพียงแค่หนึ่งปรัชญาเท่านั้นเพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขจัดจุดอ่อนของปรัชญาหลัก แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงยึดมั่นในปรัชญาหลักของพวกเขาก่อนปรัชญาที่เสริมเข้ามาอยู่ดีซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกุนซืออย่างอันเชล็อตติและซีดานที่ไม่เคยยึดติดกับปรัชญาไหนแต่แรกเลยและตัวอย่างของกุนซือเหล่านั้นมีดังต่อไปนี้
โชเซ่ มูรินโญ่ได้เสริมปรัชญา Counter Pressing เข้ากับปรัชญาหลักของเขาอย่าง Park the Bus ที่สเปอร์ในปัจจุบันซึ่งเขาเองก็ได้เคยใช้อยู่พักหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้วกับเรอัล มาดริดเพียงสโมสรเดียวเท่านั้น ซึ่งทำให้เรอัล มาดริดในเวลานั้นที่นอกจากจะมีเกมรับที่ยอดเยี่ยมแล้วยังมีเกมรุกที่รวดเร็วและดุดันที่สุดในยุโรปเลยทีเดียว
โชเซ่ มูรินโญ่กับสเปอร์ในปัจจุบัน
การเพรซซิ่งไล่บอลอย่างดุเดือดของสเปอร์ที่เพิ่มเข้ามา
เป๊ป กวาร์ดิโอล่าได้เสริมปรัชญา Counter Pressing เข้ากับปรัชญาหลักของเขาอย่าง Tiki Taka ที่แมน ซิตี้ในปัจจุบันเพื่อปรับตัวเข้ากับเกมที่มีสปีดสูงมากของฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งทำให้แมน ซิตี้ในเวลานั้นนอกจากจะครองบอลบุกได้ดีแล้วยังทำเกมบุกในจังหวะเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
เป๊ป กวาร์ดิโอล่ากับแมน ซิตี้ในปัจจุบัน
การทำเกมบุกในจังหวะเร็วของแมนซิตี้ที่เพิ่มเข้ามา
เจอร์เก้น คล็อปป์ได้เสริมปรัชญา Park the Bus เข้ากับปรัชญาหลักของเขาอย่าง Counter Pressing ที่ลิเวอร์พูลเนื่องจากการใช้พละกำลังที่มากจนเกินไปของปรัชญานี้ส่งผลให้ช่วงท้ายเกมลิเวอร์พูลมักจะทำแต้มหล่นอยู่ตลอด ซึ่งมันได้เข้ามาช่วยให้ลิเวอร์พูลสามารถรักษาสกอร์ที่นำอยู่เอาไว้ได้จนสำเร็จอีกทั้งมันยังช่วยให้ลิเวอร์พูลสามารถกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ยุโรปในฤดูกาล 2018-19
เจอร์เก้น คล็อปป์กับลิเวอร์พูลในปัจจุบัน
การตั้งรับลึกเพื่อรอสวนกลับของลิเวอร์พูลที่เพิ่มเข้ามา
ลิเวอร์พูล แชมป์ยุโรปในฤดูกาล2018-19
โยอาคิม เลิฟได้เสริมปรัชญา Tiki Taka เข้ากับปรัชญาหลักของเขาอย่าง Counter Pressing ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของฟุตบอลเยอรมัน ซึ่งทำให้ทีมชาติเยอรมันของเขามีเกมรุกที่ค่อนข้างหลากหลายเพื่อสามารถนำมาพลิกแพลงไปตามคู่ต่อสู้จึงทำให้ทีมชาติเยอรมันชุดนี้ยากที่จะหาทีมใดมารับมือ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นทีมชาติเยอรมันกลายเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ได้ไม่ยากนัก
โยอาคิม เลิฟกับทีมชาติเยอรมันชุดฟุตบอลโลก 2014
การต่อบอลไปมาเพื่อควบคุมเกมของทีมชาติเยอรมันที่เพิ่มเข้ามา
ทีมชาติเยอรมัน แชมป์ฟุตบอลโลก 2014
จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยที่จะมีทีมใดที่สามารถเป็นที่สุดทุกปรัชญาได้อย่างที่ซีดานทำเอาไว้กับเรอัล มาดริด ซึ่งปัจจัยสำคัญในการนำทุกปรัชญามาไว้ในทีมๆเดียวนั้นมีดังต่อไปนี้
ปัจจัยแรกซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้าขาดไปแล้วจะส่งผลเสียต่อปัจจัยอื่นๆนั่นก็คือทัศนคติของกุนซือ สิ่งที่กุนซืออย่างอันเชล็อตติกับซีดานมีนั่นคือการไม่ยึดติดกับปรัชญาใดๆแต่โฟกัสไปที่ผลลัพท์ซะมากกว่าโดยการเลือกใช้ผู้เล่นที่มีอยู่ในทีมให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อคว้าชัยชนะมาครอง ซึ่งกุนซือจะต้องมีความรู้ทางด้านแทคติกเป็นอย่างมากเพื่อนำมันมาตัดสินใจในการเลือกใช้กลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง
อันเชล็อตติและซีดาน สองกุนซือผู้ไม่เคยยึดติดกับปรัชญาไหน
ปัจจัยที่สองซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นจนถึงขีดสุดของ Balanced tactic ในอดีตที่แต่เดิมจะเป็นการผสมผสานระหว่างการนำผู้เล่นแนวรุกจอมเทคนิคพรสวรรค์สูงสักสามถึงสี่คนที่มีการสร้างสรรค์เกมที่ดีมารับผิดชอบในการทำเกมรุกร่วมกันและการใช้ผู้เล่นแนวรับที่เชี่ยวชาญในการเล่นเกมรับเฉพาะทางมารับผิดชอบในการเล่นเกมรับ รวมถึงการผนวกเข้ากับฟันเฟืองชิ้นสำคัญอย่างผู้เล่นที่มีความสามารถเชิงสมดุลที่สามารถเล่นได้ดีทั้งรุกและรับอย่างฟูลแบ๊คจอมบุกและกองกลางไดนาโม(Box to Box) แต่แค่เพียงองค์ประกอบเดิมไม่อาจเพียงพอที่จะใช้ทุกปรัชญาในคราวเดียวอย่างมีประสิทธิภาพได้
ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้มันทรงประสิทธิภาพองค์ประกอบเดิมก็จำเป็นจะต้องถูกอัพเกรดขึ้นจนถึงขีดสุดโดยผู้เล่นในแนวรุกจะต้องพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นผู้เล่นที่นอกจากจะมีทักษะพรสรรค์สูงแล้วยังต้องมีความรวดเร็วและความอึดที่มากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการเพรซซิ่งกดดันตั้งแต่ในแดนของอีกฝ่ายอีกทั้งเมื่อแย่งบอลกลับมาได้ก็สามารถจู่โจมโต้กลับสายฟ้าแลบได้ในทันทีเหมือนกับแนวรุกของปรัชญา Counter Pressing
และไม่พอยังส่งผลให้แนวรุกบางคนที่ต้องลงมาช่วยเกมรับในแดนตัวเองนั้นมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีกอีกทั้งแนวรุกที่ห้อยอยู่ข้างหน้าก็สามารถใช้ประโยชน์จากความเร็วในการสวนกลับอีกด้วยเหมือนกับแนวรุกของปรัชญา Park the Bus ซึ่งผู้เล่นแนวรุกตัวหลักของเรอัล มาดริดที่รับบทบาทนี้ก็คือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้และแกเร็ธ เบล
ซึ่งส่วนใหญ่ในยามต้องตั้งรับลึก(Park the Bus)จะเป็นทางเบลซะมากกว่าที่จะต้องลงมาช่วยเล่นเกมรับเนื่องจากเบลเคยเป็นฟูคแบ๊คมาก่อนจึงทำให้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเบลที่จะช่วยเล่นเกมรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่โรนัลโด้ส่วนใหญ่จะยืนปักหลักอยู่ข้างหน้าเพื่อรอสวนกลับเร็ว แต่ถ้าในกรณีต้องเพรซซิ่งสูงในแดนคู่ต่อสู้(Counter Pressing)ทั้งสองคนก็จะต้องวิ่งไล่บอลอย่างเต็มที่ไม่ต่างกัน
แกเร็ธ เบล(ซ้าย)และคริสเตียโน่ โรนัลโด้(ขวา) แนวรุกตัวหลักของเรอัลมาดริด
และในส่วนของผู้เล่นในแนวรับจะต้องพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นผู้เล่นที่นอกจากจะเล่นเกมรับได้อย่างดีเยี่ยมแล้วยังต้องมีความเร็วและทักษะในการครอบครองบอลรวมถึงการจ่ายบอลที่ดีอีกด้วยเพื่อนำมาใช้ในยามต้องดันไลน์กองหลังขึ้นสูงเพื่อเพรซซิ่งกดดันอีกฝ่ายดังนั้นความเร็วนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการรับมือกับการสวนกลับเร็วของอีกฝ่ายเหมือนกับแนวรับของปรัชญา Counter Pressing และนอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในยามต้องการครอบครองบอลนานๆเพื่อควบคุมเกมที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครทำเสียบอลง่ายเหมือนกับแนวรับของปรัชญา Tiki Taka ซึ่งผู้เล่นแนวรับของเรอัล มาดริดที่รับบทบาทนี้ก็คือ เซร์คิโอ รามอสและราฟาเอล วาราน
เซร์คิโอ รามอส(ซ้าย)และราฟาเอล วาราน(ขวา) แนวรับตัวหลักของเรอัล มาดริด
และในส่วนของฟันเฟืองชิ้นสำคัญก็จำเป็นจะต้องพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกันโดยฟูลแบ็คจอมบุกนอกจากจะมีความสามารถดั้งเดิมที่ดีอยู่แล้วยังจะต้องมีทักษะในการจ่ายบอลที่ดีขึ้นอีกด้วยเพื่อช่วยในการลำเลียงบอลขึ้นหน้าในยามถูกเพรซซิ่งกดดันจากอีกฝ่ายและช่วยในการครอบครองบอลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งผู้เล่นที่เป็นฟันเฟืองสำคัญชิ้นนี้ของเรอัล มาดริดที่รับบทบาทนี้ก็คือมาร์เซโล่และดานี่ การ์บาฆาล
มาร์เซโล่(ซ้าย)และดานี่ การ์บาฆาล(ขวา) หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเรอัลมาดริด
และกองกลางไดนาโมนอกจากจะมีความครบเครื่องในการเล่นเกมรุกและเกมรับแล้วยังจะต้องมีเทคนิคการเลี้ยงบอลและความคิดสร้างสรรค์ที่ใกล้เคียงกับเพลย์เมกเกอร์เบอร์10 อีกด้วยเพื่อช่วยให้ทีมสามารถใช้ทุกปรัชญาได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เล่นที่เป็นฟันเฟืองสำคัญชิ้นนี้ของเรอัล มาดริดที่รับบทบาทนี้ก็คือ ลูก้า โมดริชและโทนี่ โครส ถึงแม้สองคนนี้อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้นเพราะยังมีจุดอ่อนอยู่เล็กน้อยในเรื่องของเกมรับที่อาจไม่ดีเท่ากองกลางไดนาโมแบบดั้งเดิมแต่ทั้งคู่ก็ถือเป็นสองสุดยอดกองกลางที่มีความสามารถที่จัดว่าหาได้ยากเลยก็ว่าได้
ลูก้า โมดริช(ซ้าย)และโทนี่ โครส(ขวา) หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเรอัลมาดริด
และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาซึ่งนั่นก็คือสองบทบาทสำคัญที่คอยปิดทองหลังพระของทีมที่เปรียบได้ดั่งฟันเฟืองชิ้นเล็กๆที่เล็กมากซะจนมองไม่เห็นแต่กลับดันเป็นสิ่งที่สำคัญมากซะจนขาดไม่ได้
โดยบทบาทแรกนั้นคือกองหน้าตัวหลอก( False 9) ฉบับครบเครื่องที่สามารถเล่นเกมรุกได้ดีและยังมีความขยันในการไล่บอลในเกมรับอีกด้วยและหน้าที่หลักของบทบาทนี้นั่นก็คือการช่วยสนับสนุนผู้เล่นแนวรุกตัวหลักทั้งเกมรุกและเกมรับ โดยในเกมรุกพวกเขาจะคอยจ่ายบอลสร้างสรรค์เกมให้ผู้เล่นแนวรุกตัวหลักให้ทำประตูได้ง่ายอย่างเป็นก่อเป็นกำและในเกมรับพวกเขาจะเป็นแนวรุกที่เป็นตัวหลักในการเล่นเกมรับที่จะคอยวิ่งไล่แย่งบอลฝ่ายตรงข้ามในยามต้องเพรซซิ่งสูงแต่ถ้าในยามต้องลงมาตั้งรับลึกพวกเขาก็จะถอยลงต่ำมาช่วยเล่นเกมรับได้ดีเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้เล่นที่เป็นฟันเฟือนชิ้นเล็กๆชิ้นนี้ของเรอัล มาดริดที่รับบทบาทนี้ก็คือ คาริม เบนเซม่า ผู้อุทิศตนเพื่อทีมที่เปรียบดั่งเงาของคริสเตียโน่ โรนัลโด้และแกเร็ธ เบล
คาริม เบนเซม่า หนึ่งในฟันเฟือนชิ้นเล็กๆของเรอัล มาดริด
และบทบาทที่สองนั้นคือ กองกลางตัวรับฉบับสมบูรณ์ที่นอกจากจะเล่นเกมรับได้อย่างโดดเด่นอยู่หน้าแผงกองหลังแล้วยังสามารถจ่ายบอลและควบคุมจังหวะของเกมได้ดีไม่แพ้กองกลางอีกด้วยและหน้าที่หลักของบทบาทนี้นั้นนอกจากจะเป็นด่านแรกในการป้องกันหน้าแผงหลังแล้วยังต้องสามารถควบคุมจังหวะจากแนวลึกเพื่อแบ่งเบาหน้าที่ของกองกลางที่มีภาระมากมายก่ายกองจึงส่งผลให้ทีมสามารถครอบครองบอลได้นานขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งผู้เล่นที่เป็นฟันเฟือนชิ้นเล็กๆชิ้นนี้ของเรอัล มาดริดที่รับบทบาทนี้ก็คือ คาเซมิโร่ ผู้อุทิศตนเพื่อทีมที่เปรียบดั่งกระดูกสันหลังของเรอัล มาดริด
คาเซมิโร่ หนึ่งในฟันเฟือนชิ้นเล็กๆของเรอัล มาดริด
แผนการเล่น4-3-3 ของเรอัลมาดริด (Balance tactic ขั้นสมบูรณ์)
ปัจจัยสุดท้ายซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยแรกนั่นก็คือการเปลี่ยนตัวสำรองเพื่อแก้เกม กุนซือที่เก่งๆมักจะสามารถแก้เกมที่หืดจับจนสามารถพลิกคว้าชัยชนะมาได้และศักยภาพของผู้เล่นตัวสำรองก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้เกม ดังนั้นตัวสำรองที่เหมาะสมกับBalanced tactic เวอร์ชั่นสมบูรณ์ควรเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าผู้เล่นที่เป็นตัวจริงในปัจจัยที่สองและเป็นตำแหน่งที่มีความสามารถเฉพาะทางอย่างเช่น กองหน้าแท้ๆที่เด่นในเรื่องการจบสกอร์, ปีกแท้ๆที่เด่นในเรื่องการครอสเปิดบอลจากด้านข้าง, เพลย์เมกเกอร์เบอร์10 ที่เด่นในเรื่องของเทคนิคและการสร้างสรรค์เกม, กองกลางตัวรับแท้ๆที่เด่นแต่แค่การเล่นเกมรับ, กองหลังแท้ๆที่เด่นเรื่องของพละกำลังในการเล่นลูกกลางอากาศและการตั้งรับต่ำในกรอบเขตโทษ
ซึ่งตำแหน่งบทบาทเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ในการลงมาพลิกเกมเพื่อเจาะจุดอ่อนของคู่ต่อสู้อีกทั้งยังคอยเสริมตัวปรัชญาที่ต้องการเน้นให้ทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้แผนการเล่นของเรอัล มาดริดที่ถึงแม้จะมีแผนหลักเป็น4-3-3 แต่ก็สามารถยืดหยุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนไปได้ตามผู้เล่นที่ต้องการใช้ได้ตลอดเวลา
เหล่าตัวสำรองคุณภาพของเรอัล มาดริด
เมื่อรวมสามปัจจัยเข้าด้วยกันมันจึงก่อให้เกิดเป็น Master of Every Tactics ซึ่งเป็น Balanced tactic ที่ถูกวิวัฒนาการจนถึงขั้นสมบูรณ์และทำให้เรอัล มาดริดชุดนั้นสามารถตั้งรับลึกอย่างแน่นหนาและเพรซซิ่งสูงอย่างดุดันไปพร้อมๆกันได้อย่างไม่น่าเชื่อและในขณะเดียวกันก็สามารถครองบอลควบคุมเกมด้วยความใจเย็นและเล่นจังหวะโต้กลับเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งคู่ ดังนั้นนี่จึงเป็นแทคติกที่น่ากลัวซะจนมิอาจมีปรัชญาไหนล้มได้ซึ่งถึงแม้ปรัชญานั้นๆจะถูกอัพเกรดขึ้นถึงขีดสุดแล้วก็ตาม
เกมรับและเกมรุกที่หลากหลายในเกมเดียว (เรอัล มาดริด เสื้อสีฟ้า)
จากเรื่องราวทั้งหมดเห็นได้ชัดเจนว่าในปัจจุบันแทคติกส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการนำแทคติกที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตมาต่อยอดและสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้นั่นก็คือการเรียนรู้จากอดีตก็อาจนำพาบางสิ่งที่ไม่น่าเชื่อมาสู่ปัจจุบันก็เป็นได้
ไม่ว่าจะเป็นแผนการเล่นยอดนิยมอย่าง 4-3-3, 4-2-3-1, 3-4-3 และ3-5-2, บทบาทกองหน้าตัวหลอก (False 9) อย่างลิโอเนล เมสซี่ และโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้เล่นที่เป็นกองหน้าแท้ๆอย่างมาก, ปรัชญายอดนิยมอย่าง Tiki Taka, Counter Pressing และ Park the Bus และรวมถึงการที่มีกุนซือบางคนนำนวัตกรรมในอดีตมาผสมผสานเข้ากับแทคติกเวอร์ชั่นใหม่อย่างการนำแผนการเล่นยอดนิยมแห่งยุคโบราณอย่าง 2-3-5 หรือ พีระมิด มาประยุกษ์ใช้ในปรัชญาแห่งยุคสมัยใหม่ของตนเพื่อเพิ่มจำนวนตัวรุกในการเจาะเกมรับสไตล์ Park the Bus หรือจะเป็นการนำสไตล์ Long Ball มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในปรัชญาต่างๆในปัจจุบันเพื่อสร้างความได้เปรียบในเรื่องส่วนสูง ซึ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลกลูกหนังไปก่อนแล้วทั้งนั้น
ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยหรือแปลกใจเลยว่าการปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกแห่งโลกลูกหนังได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ไปนานแล้วตั้งแต่ปรัชญา Shadow Play ซึ่งเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกครั้งที่8 และถึงแม้จะมีนวัตกรรมใหม่อย่างบทบาท Inverted Full Back ที่ถูกคิดค้นขึ้นในปัจจุบันโดยเป๊ป กวาร์ดิโอล่า แต่นวัตกรรมนี้ก็ยังไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักอยู่ดีจึงไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมใดๆทั้งสิ้นซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงกับคำว่าจุดจบได้เลย แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งคำว่าจุดจบอาจไม่เป็นจริงเสมอไปก็ได้และไม่แน่สักวันหนึ่งเราอาจได้เห็นการปฏิวัตินวัตกรรมแทคติกแปลกๆที่จะเข้ามาเขย่าวงการลูกหนังอีกครั้งก็เป็นได้
ขอขอบคุณผู้คิดค้นนวัตกรรมแทคติกต่างๆที่เข้ามาปฏิวัติวงการลูกหนังจนกลายเป็นเกมฟุตบอลที่สนุกและน่าตื่นเต้นในทุกวันนี้
และรูปภาพโดย
โฆษณา