10 พ.ค. 2020 เวลา 10:10
ประวัติศาสตร์ใน “หลวงปู่ทวดฯ” (๓)
.
สำหรับเมืองไทรบุรี คือเมืองท่าเรือด้านฝั่งทะเลตะวันออกของอดีตปาตานีหรือลังกาสุกะ ซึ่งกาลต่อมากลายเป็นเรื่องเล่ากล่าวขานกันว่าเป็นสถานที่ปรากฏตัวของ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” หลังโละหายไปจากวัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา ในรูปพระภิกษุชรารูปหนึ่งที่เป็นปราชญ์ทางธรรม และเชี่ยวชาญทางอิทธิพลอภินิหารเป็นยอดเยี่ยม ชาวเมืองไทรบุรีมีความเคารพเลื่อมใสมากและพากันขนานนามเรียกกันว่า “ท่านลังกา องค์ท่านดำ” ทั้งนี้ท่านลังกานั้นเมื่อมีส่วนเกี่ยวพันทั้งวัดในเมืองไทรบุรีและ “วัดช้างให้” จึงมีนามเรียกขานเป็น ๒ นาม คือ เมื่ออยู่เมืองไทรบุรีชาวบ้านเรียกกันว่า “ท่านลังกา” และเมื่อมาอยู่วัดช้างให้ ชาวบ้านกลับเรียก “ท่านช้างให้”
วัดช้างให้
นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ระยะทางจากวัดที่ท่านลังกาพำนักอาศัยอยู่ถึงเมืองไทรบุรี กับวัดช้างให้นั้นอยู่ไกลกันมาก ทางเดินมีแต่ป่าและภูเขาแสนจะทุรกันดาร ท่านลังกามีวัยชราภาพมาแล้วจะเดินไปมาไหวหรือ
“แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านลังกาเดินทางไปมาระหว่างวัดทั้งสองนี้ เดินทางเวลาแรมเดือนแบบธุดงค์ ขณะที่ท่านเดินทางนั้นพบที่ใดเหมาะก็พักแรมหาความวิเวกเพื่อทำสมาธิภาวนาใช้เวลาพักนานๆ เช่นภูเขาถ้ำหลอดในเขตอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ปรากฏว่ามีสิ่งที่ควรเชื่อถือไว้ว่าท่านเป็นผู้ทำไว้แต่ครั้งเดินทางพักแรม จากนั้นก็ปรากฏอยู่บนเพิงหินบนภูเขาตังเกียบ บริเวณน้ำตกทรายขาว ทางทิศตะวันออกของลำธารน้ำตกมีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้ตำเสาแลพระยืนสององค์ ชาวบ้านตำบลทรายขาวเรียกพระพุทธรูปนี้ว่าหลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด”
สถานที่บนเส้นทางเดินจาริกโปรดเวไนยสัตว์ไปและกลับระหว่างวัดช้างให้และเมืองไทรบุรี ที่สงบเงียบเหมาะแก่การทำวิปัสสนา ไม่ว่าจะเป็นถ้ำวิปัสสนาเขาหินช้าง ถ้ำวิปัสสนาเขารัง สถานที่ประดิษฐานพระพุทธไม้แก่นลั่นทมแกะสององค์ เชื่อกันว่าท่านหลวงปู่ทวดได้สร้างไว้เมื่อครั้งที่ได้ขึ้นมานั่งสมาธิวิปัสสนาบนหน้าผาแห่งนี้ ล้วนกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านได้กราบไหว้เคารพบูชาต่อเนื่องกันมานับเป็นร้อยๆ ปี
ไม่ว่าตำนานท่านลังกาจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่กาลต่อมาเล่ากันว่า นอกจาก “เมืองไทรบุรี” หรือ “เคดะห์” และ “เปรัค” รัฐตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย จะเป็นสถานที่สำคัญอีกมิติหนึ่งในฐานะเป็นสถานที่ปรากฏตัวของ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” หรือ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” แล้ว ยังนับเป็นสถานที่สำคัญในฐานะเป็น “มรณสถาน” ของท่านอีกด้วย โดยในประเทศมาเลเซียประชาชนเรียกชื่อท่านแตกต่างหลายชื่อ เช่น ท่านลังกา โต๊ะกงเซียม สะมี มาตี สะมี ฮูยัน เป็นต้น
วัดช้างให้ และหลวงปู่ทวด
ทั้งนี้ขณะหลวงปู่ทวดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ก็ได้สร้างวัดและเป็นเจ้าอาวาสวัดโกร๊ะใน รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องเดินทางระหว่างวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี กับ วัดโกร๊ะ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย อยู่เสมอ ผ่านเส้นทางโบราณที่เชื่อมการค้าระหว่างพ่อค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับฝั่งอ่าวไทย ทั้งพ่อค้าอินเดีย อาหรับ และจีน ด้วย ตามประวัติศาสตร์ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเก่าๆ ทั้งปัตตานีกับเคดาห์ ศรีวิชัย มัชปาหิต และสยาม มาเนิ่นนาน
สำหรับรัฐเคดาห์และลังกาสุกะ (ปัตตานี) มีเส้นทางติดต่อกันทั้งทางบกและทางน้ำ ที่ตั้งเมืองท่าทั้งสองฝั่งสามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสุไหงปัตตานี ต่างมีต้นน้ำร่วมกันบริเวณเขตแดนประเทศไทยและมาเลเซียปัจจุบัน ส่วนการเดินทางทางบกสมัยโบราณนิยมใช้ช้างเป็นพาหนะ ต้องใช้เวลานานนับเดือน หรือไม่ก็ด้วยการเดินเท้า ผ่านเส้นทางติดต่อระหว่างปัตตานี-เคดาห์โบราณ หรือไม่ก็เส้นทางตามลำน้ำเปรัคเชื่อมต่อกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานี
แผนที่แสดงที่ตั้งอาณาจักรลังกาสุกะ และเส้นทางการค้าโบราณข้ามคาบสมุทร
ดังกล่าวมาแล้วว่า ประวัติศาสตร์สัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างรัฐเคดาห์ มาเลเซีย และลังกาสุกะ ปาตานี-ปัตตานี มีเส้นทางติดต่อกันทั้งทางบกและทางน้ำ ที่ตั้งเมืองท่าทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อถึงกันด้วยแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสุไหงปัตตานี ต่างมีต้นน้ำร่วมกันบริเวณเขตแดนประเทศไทยและมาเลเซียปัจจุบัน นอกจากนี้ การเดินทางบกสมัยโบราณ ไม่ว่าใช้ช้างเป็นพาหนะหรือด้วยการเดินเท้า สามารถผ่านเส้นทางระหว่างปัตตานี-เคดาห์โบราณ หรือไม่ก็เส้นทางตามลำน้ำเปรัคเชื่อมต่อกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานี
เมืองโบราณยะรัง-ปัตตานี ที่ตั้งของอดีตอาณาจักรลังกาสุกะ
โฆษณา