11 พ.ค. 2020 เวลา 12:27
ประวัติศาสตร์ใน “หลวงปู่ทวดฯ” (๔ มรณภาพ)
.
ดังกล่าวมาแล้วว่า ประวัติศาสตร์สัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างรัฐเคดาห์ มาเลเซีย และลังกาสุกะ ปาตานี-ปัตตานี มีเส้นทางติดต่อกันทั้งทางบกและทางน้ำ ที่ตั้งเมืองท่าทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อถึงกันด้วยแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสุไหงปัตตานี ต่างมีต้นน้ำร่วมกันบริเวณเขตแดนประเทศไทยและมาเลเซียปัจจุบัน นอกจากนี้ การเดินทางบกสมัยโบราณ ไม่ว่าใช้ช้างเป็นพาหนะหรือด้วยการเดินเท้า สามารถผ่านเส้นทางระหว่างปัตตานี-เคดาห์โบราณ หรือไม่ก็เส้นทางตามลำน้ำเปรัคเชื่อมต่อกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานี
"แม่น้ำสายบุรี" หนึ่งในเส้นทางการค้าโบราณ
ด้วยเส้นทางโบราณเหล่านี้ถูกสันนิษฐานว่า ต่อมาคือเส้นทางที่ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเมื่อต้องรับบทบาทเป็นเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ และเจ้าอาวาสวัดโกร๊ะใน รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ตราบกระทั่งเป็นเส้นทางลำเลียงศพเมื่อท่านได้ถึงแก่กาลมรณภาพในเวลาต่อมา โดยมีเรื่องเล่าขานว่าขณะพำนักที่วัดในเมืองไทรบุรี วันหนึ่ง อุบาสก อุบาสิกา และลูกศิษย์อยู่พร้อมหน้า ท่านลังกาได้พูดขึ้นกลางชุมนุมนั้นว่า หากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย และขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองจากร่างกายไหลลงสู่พื้นดินที่ตรงไหน ก็จงเอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ ต่อไปข้างหน้าจะเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์
 
อยู่มาไม่นานด้วยความชราภาพ ท่านได้มรณภาพลง คณะศิษย์ผู้เคารพจึงได้จัดการตามที่ท่านสั่งโดยพร้อมเพรียงกัน เล่าขานกันว่าห้วงเวลาที่หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมรณภาพนั้นคือวันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๒๕ พรรษา ๘๐ สิริอายุรวม ๑๐๐ ปี
ว่ากันว่าจุดที่หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมรณภาพ คือ บริเวณริมฝั่งน้ำสุไหงบ๊ะบรรจบกับลำน้ำสุไหงเกอร์นาริงค์ ก่อนเคลื่อนศพไปยังวัดช้างให้ ระหว่างทางต้องมีการพักศพเป็นระยะ ต่อมากลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่กราบไหว้บูชาของประชาชนทั่วไป ที่พักศพแต่ละแห่งพอสรุปได้ดังนี้ ๑.สถานที่มรณภาพริมฝั่งแม่น้ำสุไหงบ๊ะ และสุไหงเกอร์นาริงค์ รัฐเปรัค ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า “สะมี มาตี” หรือที่ตายของพระสงฆ์ ชาวจีนเรียก “โต๊ะกงเซียม” หมายถึงเจ้าที่หรือพระสยาม เดิมบริเวณนี้มีสถูปหรือบัวเก็บอัฐิและต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ต่อมาน้ำได้กัดเซาะตลิ่งพังทลาย ทำให้สถูปถูกกระแสน้ำพัดพาและต้นโพธิ์ล้มลงในแม่น้ำ ปัจจุบันมีการสร้างบัวหรือสถูปขึ้นใหม่ ๒.สถานที่พักศพบ้านปง รัฐเคดะห์ ๓.สถานที่พักศพบ้านทุ่งควาย หรือกำปงจีนา รัฐเคดะห์ ตั้งอยู่บนควนหรือเนินสูงเรียกว่า ควนกันข้าวเสีย หรือ ควนกันข้าวแห้ง บนยอดเนินมีการนำหินมาก่อเรียงกัน ๔ กองแบบทรงจอมปลวก กองหินขนาดใหญ่เรียกว่าทวดชีขาว ตรงซุ้มด้านหน้าประดิษฐานรูปหลวงปู่ทวด เชื่อกันว่าเป็นสถานที่พักศพ
"แม่น้ำสมีมาตี" สถานที่ละสังขารของหลวงปู่ทวด ฝั่งมาเลเซีย
๔.สถานที่พักศพบ้านปาดังเปรียง หรือปาดังแปลง รัฐเคดะห์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเทพสุวรรณาราม หรือวัดนาแปลง รัฐเคดะห์ ที่พักศพเป็นเนินดินสูง เดิมมีหลักไม้แก่นทรงบัวตูมปักไว้บนเนิน แต่ปัจจุบันหักชำรุดหมดแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ มีการนำรูปหลวงปู่ทวดหล่อโลหะประดิษฐานไว้บนเนินดินหนึ่งองค์ ๕.สถานที่พักศพบ้านทุ่งควาย หรือกำปงจีนา รัฐเคดะห์ ตั้งอยู่บริเวณวัดโพธิเจติยาราม หรือวัดทุ่งควาย ที่พักศพเป็นเนินดินสูง สร้างเป็นสถูปเจดีย์ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจดีย์สร้างขึ้นบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่แบ่งมาจากวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี ๖.สถานที่พักศพบ้านปลักคล้า รัฐเคดะห์ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดปลักคล้า (ร้าง) ที่พักศพเป็นเนินดินสูง สร้างเป็นศาลาคลุมเนินดิน ปักไม้แก่นทรงบัวตูม เสาไม้จารึกเป็นภาษาไทยไว้ว่า พ.ศ. ๒๔๘๗ ๗.สถานที่พักศพบ้านบางฉมัก รัฐเคดะห์ ตั้งอยู่ใกล้วัดประดู่ บริเวณสวนยางพาราเอกชน เป็นเนินดินรูปทรงจอมปลวก มีศาลาครอบ บนเนินดินมีเสาไม้แก่นรูปทรงบัวตูม ปลวกขึ้นปกคลุมเกือบหมดแล้ว ๘.สถานที่พักศพบ้านท่าดินแดง รัฐเคดะห์ เป็นเนินดินตั้งอยู่ภายในวัดท่าดินแดง มีหลักไม้แก่นรูปบัวตูมปักไว้ ๙.สถานที่พักศพบ้านปาดังสะไหน รัฐเคดะห์ ตั้งอยู่ภายในวัดไทยประดิษฐาราม หรือวัดปาดังสะไหน ชาวบ้านนิยมเรียก วัดไทรบนตอ ๑๐.สถานที่พักศพบ้านนาข่า รัฐเคดะห์ บ้านนาข่าหรือนาคา ใกล้วัดเทพชุมนุมนาคา หรือวัดนาคา บริเวณที่พักศพปัจจุบันเป็นสวนยางพาราของเอกชน
สำหรับพื้นที่ฝั่งเขตแดนประเทศไทย นอกจากจุดผ่านสำคัญ คือ บริเวณด่านพรมแดนบ้านประกอบ ซึ่งนับเป็นประตูเชื่อมโยงสำคัญระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะพื้นที่สะมี มาตี ในรัฐเปรัค ยังประกอบไปด้วย ๑.สถานที่พักศพบ้านถ้ำตลอด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ริมคลองสวนบริเวณวังปลักกระทะ เดิมมีศาลา มีหลักไม้แก่นปักไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาได้หักพัง จึงมีการสร้างหลักปูนขึ้นมาใหม่ และมีวัดถ้ำตลอดซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ทวด หรือท่านลังกาองค์ดำ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่หลวงปู่ทวดใช้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และใช้เป็นสถานที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วย ด้วยการบดและปรุงยารักษาโรคไปพร้อมกับการเผยแผ่ธรรม คือ โบราณสถาน “บ้านถ้ำครก” หมู่ที่ ๒ ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปโบราณประดิษฐานติดผนังถ้ำ คาดว่าน่าจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยา และพบร่องรอยภาพวาดโบราณบริเวณผนังถ้ำหลายจุด ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ๒.บริเวณที่เชื่อว่าเป็นจุดพักศพจุดแรกที่อยู่ในเขตประเทศไทย คือ บ้านปลักทะ ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ห่างจากวัดถ้ำตลอด ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของเอกชน แต่ได้ถวายให้ พระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ครั้งท่านออกธุดงค์เพื่อตามรอยจุดพักศพหลวงปู่ทวด ๓.สถานที่พักศพบ้านช้างให้ตก หมู่ที่ ๓ ตำบลช้างให้ตก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณวัดบรรลือคชาวาส เนินดินและหลักไม้เดิมตั้งอยู่หน้าโรงเรียน ต่อมาพัฒนาสถานที่เป็นสนามกีฬา จึงได้ย้ายสถูปหรือเขื่อนหลวงปู่ทวดมาตั้งในสถานที่ปัจจุบัน มีการสร้างหลักไม้แก่นขึ้นใหม่ และสร้างรูปหลวงปู่ทวดหล่อด้วยโลหะประดิษฐานไว้ในมณฑป บริเวณนี้ถือเป็นจุดพักศพสุดท้าย มีการตั้งสวดศพ ก่อนเคลื่อนขบวนไปฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ ตามคำสั่งเสียของหลวงปู่ทวด
สถูปหรือเขื่อนหลวงปู่ทวดที่วัดช้างให้
นอกจากนี้ ว่ากันว่ายังมีจุดพักศพอีกหลายแห่งที่มีคนพยายามตามรอยเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เช่น สถานที่พักศพบ้านกั๊วลั๊ว หรือวัดโกร๊ะใน รัฐเปรัค จากริมฝั่งแม่น้ำสุไหงบ๊ะ และสุไหงเกอร์นาริงค์ มีการเคลื่อนศพหลวงปู่ทวดไปพักที่วัดโกร๊ะใน ปัจจุบันเป็นเนินดินสูง มีป่ารกขึ้นปกคลุม ชาวบ้านเรียก “สะมีฮูยัน” หมายถึง พระขอฝน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านไปบนบานขอให้ฝนตก และเชื่อกันว่าเดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดโกร๊ะใน ทั้งนี้ท้ายที่สุดนับว่าบริเวณหมู่ ๒ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดช้างให้ คือสถานที่สุดท้ายที่ศพหลวงปู่ทวดถูกเคลื่อนย้ายมาจากริมน้ำสุไหงบ๊ะ และสุไหงเกอร์นาริงค์ ระยะทางไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินประมาณ ๓๐ วันเพื่อทำพิธีฌาปนกิจและเก็บเถ้าอัฐิของหลวงปู่ทวดประดิษฐานไว้ ณ วัดช้างให้ มีหลักไม้แก่นและเนินดินแบบจอมปลวกแบบเดียวกันสถูปหรือเขื่อนในเขตแดนประเทศมาเลเซีย
ความต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน
เหล่านี้นับเป็น “ประวัติศาสตร์สัมพันธ์” เชิง “ตำนาน” และ “พื้นที่” ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์อรรถาธิบายความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตผู้คนห้วงเวลาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันอย่างงดงาม ผ่านวิถีชีวิตผู้คน ๒ แผ่นดินในแต่ละกาลสมัย แลยังผูกพันแน่นแฟ้นตราบกระทั่งปัจจุบัน
หลวงพ่อทวด หรือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
โฆษณา