11 พ.ค. 2020 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
"มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้ถอนคำสาปของ สตาลิน"
ภาพจาก WordPress
ก่อนอื่น...ต้องขออธิบายนี๊สสสนึง...
หลายๆคนอาจจะงงว่า...ทำไมวันก่อนลง บอริส เยลต์ซิน ไปแล้ว วันนี้ถึงเพิ่งมาลง กอร์บาชอฟ?
จริงๆแล้วก็กะจะเขียน เรียงๆไปทีละคนน่ะแหละครับ แต่...พอไปถามเพื่อนๆว่า อยากให้ลงใครก่อน หวยดันไปออกที่ บอริส เยลต์ซิน เป็นคนแรก หลังจากนั้นจึงเป็น มิฮาอิล กอร์บาชอฟ แล้วตามด้วย ริชาร์ด นิกสัน และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ตามด้วย เลค วาเลนซา ตามลำดับ...
ด้วยจิตวิญญาณแห่งความที่เป็นนักเขียน(?) ประเภท อัพทูยู ก่อนเลยตามใจคุณๆท่านๆไปแหละครับ แหะๆ ^^"
อ่ะ...กลับเข้าเรื่องกันครับ...
นึกอะไรไม่ออกให้ใช้ภาพบ้านตัวเอง..."กระรอกน้อยบนสายไฟกลางป่าคอนกรีต"
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นสงครามร้อนที่รบกันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิดยุติลง โลกกถูกครอบคลุมด้วยสงครามชนิดใหม่ในขณะนั้น ที่เรียกกันว่า "สงครามเย็น"
ภาพจาก WordPress
ซึ่ง "สงครามเย็น" นั้น เปลี่ยนจากการใช้อาวุธทำสงครามกันอย่างเปิดเผย มาเป็นการสะสมแสนยานุภาพทางอาวุธและกำลังรบ พร้อมๆกับ การต่อสู้แข่งขันช่วงชิงอำนาจทางด้านลัทธิการเมือง การทูต การทหาร การโฆษณาชวนเชื่อ การค้นคว้าทางอวกาศ และการแสวงหาบริวาร
และอาวุธอย่างหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญยิ่งของคู่สงครามเย็นก็คือ "อาวุธนิวเคลียร์"
สงครามเย็น จึงเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวสำหรับมวลมนุษย์มากที่สุด เพราะเมื่อใดที่อุณหภูมิของสงครามเย็นสูงขึ้นจนถึงจุดเดือด ทำให้คู่สงครามทั้งสองต้องเปลี่ยนวิธีการสู้รบกลับไปสู่การใช้กำลังและอาวุธเข้าประหัตประหารกันอย่างเปิดเผย เมื่อนั้นโลกทั้งโลกก็คงจะต้องแหลกราญเป็นผุยผง เพราะสงครามครั้งใหม่นี้จะไม่ได้รบกันด้วยปืนและระเบิดอย่างที่เคยรบกันมาเหมือนก่อนๆ แต่จะเป็นการรบกันด้วยจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายสะสมใว้อย่างมากมาย
สงครามเย็น เป็นสงครามลัทธิที่ต้องการแย่งความเป็นใหญ่ในโลกของกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์ อันมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ กับกลุ่มโลกเสรีซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ เดิมเรียกกันว่าสงครามอุดมการณ์ ประมาณว่า...เริ่มมีตั้งแต่ ค.ศ. 1945 (พ ศ. 2488) หรือทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง
ภาพ ระเบิดปรมาณู Fat Man ที่สหรัฐ ทิ้งลงเมืองนางาซากิ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ความจริงแล้ว ระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังระอุอยู่นั้น โซเวียตเคยกอดคอรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐอเมริกาและประเทศสัมพันธมิตรมาก่อน จนกระทั่งนาซียอมวางอาวุธและประกาศรับความพ่ายแพ้ ท่าทีของสหภาพโซเวียตก็เปลี่ยนไป การเปลี่ยนโฉมหน้าจากมิตรกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจนี้เป็นการตัดสินใจของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตในเวลานั้นที่ต้องการแยกตนออกไปสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกเพียงผู้เดียว หรืออย่างน้อยก็เป็นใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศค่ายคอมมิวนิสต์
ความฝันในอันที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ของโซเวียตภายใต้การนำของสตาลินนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง หากแต่มันเปล่งประกายขึ้นในดวงตาของผู้นำหนวดดกแห่งหลังม่านเหล็กมาแล้วเป็นเวลานานถึง 18 ปี
ภาพ โจเซฟ สตาลิน จาก วิกิพีเดีย
มีเรื่องเล่ากันว่า สตาลิน เคยให้สัมภาษณ์ผู้นำกรรมกรอเมริกันคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) ว่าการปฏิวัติโลกจะทำให้เกิดศูนย์กลางขึ้นมา 2 แห่ง แห่งหนึ่งเป็นศูนย์กลางสังคมนิยมที่จะดูดประเทศทั้งหลายเข้าหาระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนอีกศูนย์กลางหนึ่งเป็นทุนนิยม ซึ่งจะดูดประเทศทั้งหลายเข้าระบอบนายทุน ทั้งสองศูนย์นี้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว
สตาลินไม่เคยลืมความฝันและคำพูดอันเปรียบเหมือนคำสาปของเขา แม้จะตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับประเทศสัมพันธมิตรในการต่อต้านและสู้รบกับกองทัพนาซี โดยเฉพาะทันทีที่สหรัฐอเมริกาโดดเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ สตาลินก็รู้ได้ทันทีว่า ใครจะเป็นผู้นำศูนย์แห่งโลกนายทุน อันจะต้องเป็นศัตรูตัวฉกาจของตน ยิ่งเมื่อประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส ทรูแมน บอกแก่เขาถึงความสำเร็จในการคิดค้นระเบิดปรมาณู อาวุธที่มีอานุภาพการฆ่าทำลายร้ายแรงมหาศาล สตาลินก็ยิ่งมั่นใจอย่างแน่วแน่ว่า สิ่งที่โซเวียตจะต้องทำเพื่อก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งของโลกคอมมิวนิสต์ก็คือ โค่นล้มอำนาจทุกอย่างของสหรัฐอเมริกา
วันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ก่อนที่ระเบิดปรมาณูลูกแรกซึ่งสหรัฐอเมริกาคิดค้นได้จะถูกนำไปหย่อนลงฮิโรชิมาไม่กี่วัน สตาลินก็ตัดสินใจสร้างฝันของตนให้เป็นจริงขึ้นมาทันที เขาเรียกนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูชั้นนำของโซเวียตจำนวน 5 คนมาประชุมเป็นการด่วนที่เครมลิน และออกคำสั่งลับให้นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นคิดค้นระเบิดปรมาณูบ้าง โดยเน้นให้ตามสหรัฐอเมริกาให้ทันอย่างไวที่สุด ไม่สนว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรไม่อั้น
ภาพ เศษซากผลงานจากระเบิดปรมาณู ที่ถล่มเมืองฮิโรชิม่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จาก WordPress
นอกจากนี้ สตาลินยังตั้งตำรวจลับขึ้นมาหน่วยหนึ่ง สำหรับทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างระเบิดปรมาณูโดยเฉพาะ เขาส่งตำรวจลับเข้าไปแทรกแซงยังศูนย์ปรมาณูของสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ที่ลอส อาลามอส เพื่อขัดขวางและบ่อนทำลายการทำงานของนักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่ทำงานอยู่ที่นั่น พร้อมๆกับจารกรรมโครงสร้างและแบบมูลฐานเกือบทั้งหมดในการสร้างระเบิดปรมาณูกลับไป
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) สตาลินก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เมื่อคณะนักวิทยาศาสตร์ของเขารายงานว่า สามารถสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรกได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าผิดความคาดหมายของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มจะรู้แกวแล้วว่า โซเวียตกำลังคิดและวางแผนการใหญ่อยู่
เหตุการณ์ในช่วงนี้นั้น ทั้งสองฝ่ายต่างส่งตำรวจลับของคนเข้าไปแทรกแซงและก่อการจารกรรม ล้วงความลับซึ่งกันและกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นการขับเคี่ยวซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำซึ่งไม่มีผู้ใดมองเห็น นอกเสียจากผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย และสำหรับใครที่เป็นคอภาพยนตร์ คงไม่ต้องอธิบายใดๆเกี่ยวกับเค้าโครงของภาพยนตร์หลายๆเรื่องที่นำมาจากการจารกรรมระดับประเทศเหล่านี้ ^^"
*** สำหรับคำว่า "สงครามเย็น" นั้น เชื่อว่าปรากฏครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) โดยนักหนังสือพิมพ์อเมริกันชื่อ เฮอร์เบิร์ต ไบยาร์ต สโวป (Herbert Bayard Swope) ซึ่งนำมาใช้หลังจากที่ เบอร์นาร์ด บารุก (Bernard Baruch) ที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) (ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา) นำมาใช้ในสุนทรพจน์ของเขา แล้วคำๆนี้ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ***
ภาพ Herbert Bayard Swope จาก วิกิพีเดีย
ภาพ ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ จาก วิกิพีเดีย
สงครามเย็นเขม็งตึงมากขึ้นภายหลังจากประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศช่วยเหลือทุกประเทศที่ถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม ซึ่งเป็นการหักหน้าและตั้งตัวเป็นอริกับโซเวียตที่พยายามวางตัวเหนือกว่าประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งปวง ดังนั้นสตาลินจึงแก้เผ็ดกลับด้วยการจัดตั้งสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์ขึ้นที่กรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย ในขณะนั้น ซ้ำยังประกาศเจตนารมณ์ในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังประเทศต่างๆอย่างเปิดเผย
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสงครามเย็นต่างลงความเห็นว่า บรรยากาศอึมครึมอันแสนอึดอัดในระหว่างที่สงครามเย็นแผ่ตัวครอบคลุมโลกอยู่นั้น ถึงจะยังไม่ส่งผลให้ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของทั้งสองฝ่ายกดปุ่มปล่อยจรวดติดหัวระเบิดปรมาณูเข้าใส่กันโดยตรง แต่ผลจากคำประกาศจากทั้งสองฝ่ายก็เป็นผลให้เกิดสงครามย่อยขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี คิวบา เวียดนาม
ถึงแม้ว่าอุณหภูมิของสงครามเย็นจะค่อยๆ คืนสู่ความอบอุ่นบ้าง หลังจากการจบชีวิตของสตาลิน แต่ก็ยังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าโลกกลับคืนสู่สภาวะแห่งความเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง บรรยากาศของสงครามเย็นยังคงอึมครึมเรื่อยมา
จนกระทั่ง ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) จึงทวีความรุนแรงอย่างสูงสุดขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ถึงกับมีการสร้างจรวดคิดหัวรบนิวเคลียร์กันเป็นการใหญ่ สำหรับสหรัฐอเมริกานั่นนอกจากการปกป้องภาคพื้นดินแล้ว ยังคิดระบบปกป้องทางอวกาศอีกด้วย โดยเรียกโครงการนี้ว่า "สตาร์วอร์"
ภาพ nike missile ระบบป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลีย์ของสหรัฐ ด้วยการยิงจรวดนิวเคลียร์ สมัยสงครามเย็น จาก Pantip
จากนั้นมา ทั้งสองค่ายก็หันหัวจรวดติดนิวเคลียร์จ่อหน้าผากกันและกันชนิดที่สามารถพูดได้ว่าพร้อมจะระเบิดตูมขึ้นมาทุกเมื่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมไม่ได้หมายความว่าประเทศคู่สงครามเย็นทั้งสองเท่านั้นที่จะย่อยยับลงในพริบตา แต่มันหมายถึงประเทศเล็กประเทศน้อยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ทั้งหลายในโลกนี้ด้วย ที่จะรับเคราะห์กรรมจากความร้ายแรงของอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ รวมทั้งไทยของเราด้วย จึงไม่แปลกเลยที่ผู้คนในทุกส่วนที่จับตามองดูความเคลื่อนไหวของสงครามเย็นอยู่ จะต้องรู้สึกอึดอัดและหวาดกลัวอย่างที่สุด
แต่เหมือนกับว่า...ชะตาของโลกยังไม่ถึงฆาต มวลมนุษย์ยังไม่ถึงการดับสูญจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ชนิดที่ทำให้ชาวโลกพากันถอยหายใจอย่างโล่งอกและสามารถหลับตาลงได้อย่างสบายใจ เมื่อมีประกาศอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตรัสเซีย (ในขณะนั้น) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ว่าสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว
นอกจากเสียงถอนหายใจอย่างโล่งอกที่ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งโลก อีกเสียงหนึ่งที่แซ่ซ้องขึ้นมาอย่างกึกก้องไม่ต่างไปกว่ากันก็คือ คำยกย่องสรรเสริญบุรุษผู้หนึ่งในฐานะผู้พิชิตสงครามเย็น เขาผู้นั้นก็คือ "มิฮาอิล กอร์บาชอฟ"
ภาพจาก Wikiwand
วีรบุรุษสงครามเย็นผู้นี้มีชื่อเต็มๆว่า มิฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachyov) แต่คนทั่วไปมักออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษว่า "มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) "
เขาเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถบสตาฟโรโปล (Stavropol) ซึ่งมีชื่อว่า ปรีโวลโนยี (Privolnoye) ตั้งอยู่ทางใต้ของสหภาพโซเวียต บิดาชื่อ เซอร์เก อังเดรเยวิช กสิกรเก่าแก่ซึ่งจัดว่ามีฐานะร่ำรวยในหมู่บ้าน ตอนเขาเกิดเป็นสมัยที่สตาลินยังเรืองอำนาจและดำเนินนโยบายนารวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะครอบครัวของกอร์บาชอฟมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ญาติพี่น้องของเขาไม่ค่อยจะชื่นชอบการปกครองของสตาลินเท่าใดนัก คาดว่าความรู้สึกนี้คงมีบางส่วนส่งผลโดยตรงมาถึงเด็กน้อยกอร์บาชอฟด้วย
ตำแหน่งของเมือง สตาฟโรโปล ในรัสเซีย จากวิกิพีเดีย
กอร์บาชอฟเรียนหนังสือระดับประถมและมัธยมที่โรงเรียนในหมู่บ้าน พออายุ 14 ปี ก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การเยาวชนคอมมิวนิสต์พร้อมกับช่วยพ่อทำไร่นาไปด้วย
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีบุกรัสเซีย ทำให้กอร์บาชอฟต้องชะงักการเรียนระดับมัธยมไป 1 ปี ความที่เป็นคนขยันและมีสติปัญญาดีเขาจึงได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมอสโก ในปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) ซึ่งเป็นหลังจากที่โซเวียตเพิ่งคิดค้นปรมาณูได้เพียงปีเดียว และสงครามเย็นได้อุบัติขึ้นมาแล้ว 5 ปี
เขาเลือกเรียนวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ได้รับการยกย่องมากในสมัยนั้น และในปีสุดท้ายของการเรียนที่มหาวิทยาลัยมอสโกนี่เอง กอร์บาชอฟก็ได้รู้จักกับนักศึกษาหญิงรุ่นน้องร่วมมหาวิทยาลัยคนหนึ่งชื่อว่า ไรซ่า แม็กซิมนอฟน่า ติโตเรนโก (Raisa Maximovna Titarenko) และได้เข้าพิธีแต่งงานกันในเวลาต่อมา
ภาพของนาง ไรซ่า กอร์บาชอฟ จาก Washington post (ปัจจุบันนางเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 1999 ด้วยวัย 67 ปี)
เมื่อจบการศึกษาในปีต่อมาด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม กอร์บาชอฟก็หอบหิ้วภรรยาคนสวยของเขากลับไปที่หมู่บ้านปรีโวลโนยีอีกครั้ง และได้เข้าทำงานในคอมโซโมลของเขตสตาฟโรโปล และใช้เวลาเพียง 5 ปี กอร์บาชอฟก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการอันดับหนึ่งของคณะกรรมการคอมโซโมลของเขตสตาฟโรโปล
ด้วยนิสัยรักความก้าวหน้า ต้องการหาความรู้ใส่ตัวมากๆ เขาได้สมัครเรียนวิชาเกษตรกรรมทางไปรษณีย์ควบคู่ไปกับการทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วย และความรู้ทางเกษตรกรรมนี่เอง ที่ส่งผลให้เขาเจริญก้าวหน้าอย่างสูงในเวลาต่อมา นั่นคือตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตอันดับ 1 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528)
ในช่วงสมัยที่กอร์บาชอฟขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟได้ผลักดันนโยบายที่เป็นปัจจัยที่สำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพลิกโฉมครั้งใหญ่ของสหภาพโซเวียต และประเทศโลกตะวันตกนั่นก็คือ "นโยบายกลาสนอสต์และเปเรสทรอยกา" (Glasnost-Perestroika)
ซึ่งนโยบายทั้งสองนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้สหภาพโซเวียตเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย นอกจากนั้นนโยบายทั้งสองยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศในโลกตะวันตกด้วยเช่นกัน มีรายละเอียดของนโยบาย ดังนี้...
ภาพจาก วิกิพีเดีย
1. นโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost)
นโยบายกลาสนอสต์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง โดยหลักสำคัญคือการสร้างสภาวะที่เปิดกว้างของสังคม โดยความประสงค์ของกอร์บาชอฟคือต้องการให้กิจกรรมต่างๆของรัฐบาลและองค์กรต่างๆได้รับการเปิดเผยมากขึ้น โดยมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
1.1 เปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสตาลินที่มีอิทธิพลต่อสหภาพโซเวียตในขณะนั้น โดยกอร์บาชอฟให้เหตุผลว่าการจะพัฒนาสหภาพโซเวียตให้พัฒนายิ่งขึ้นไปนั้น จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เพื่อเรียนรู้ถึงความผิดพลาดต่างๆที่เคยเกิดขึ้น
1.2 กำจัดเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ชนชั้นนำ รวมไปถึงข้าราชการที่กระทำการทุจริต และไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการทำงานให้พ้นออกจากตำแหน่ง นโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการที่จะปฏิรูปของกอร์บาชอฟ แต่ในขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวกลับเป็นการสร้างศัตรูทางเมือง และสร้างความไม่พอใจให้กับตัวนโยบายของกอร์บาชอฟ เพราะมีผู้ที่เสียผลประโยชน์เป็นจำนวนมากจากการปฏิรูปในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม ฯลฯ
1.3 เปิดพื้นที่และส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆของสภาพปัญหาและระบบโครงสร้างในสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ประกอบกับการอนุญาตให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน ปัญญาชน ในการสร้างพื้นที่ของการเสนอความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในทางการเมือง
1.4 การให้เสรีภาพและสิทธิบางประการกับพวกชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิในการเปิดศูนย์วัฒนธรรมสำหรับชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงการตั้งโรงเรียนสอนศาสนาและประวัติศาสตร์สำหรับชนกลุ่มน้อย นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากกับกลุ่มชาตินิยมรัสเซีย เพราะกลุ่มชาตินิยมรัสเซียเชื่อว่าการให้เสรีภาพและสิทธิกับพวกชนกลุ่มน้อยจะเป็นการบั่นทอนและสร้างความเสียหายให้กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของรัสเซีย
1.5 แก้ไขปัญหาการติดสุราของประชาชนในสหภาพโซเวียต โดยกอร์บาชอฟได้ออกกฎหมายห้ามดื่มสุราในเวลาทำงานและจำกัดจำนวนร้านขายสุราให้น้อยลง รวมไปถึงการขึ้นราคาสุราให้สูงขึ้นอีกด้วย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใดเพราะประชาชนหันไปซื้อสุราเถื่อน และสารเสพติดชนิดอื่นแทน
ภาพจาก วิกิพีเดีย
2. นโยบายเปเรสทรอยกา (Perestroika)
นโยบายเปเรสทรอยกาเป็นนโยบายในการปฏิรูปสหภาพโซเวียตในขั้นที่สอง โดยเบื้องต้นได้อาศัยการปูพื้นเตรียมสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จากนโยบายนโยบายกลาสนอสต์เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การปฏิรูปโครงสร้างใหม่ โดยนโยบายเปเรสทรอยกามีเป้าประสงค์หลักคือ การปฏิรูปและปรับปรุงโครงสร้างแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กับโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง การปฏิรูปโครงสร้างเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ.1987 เป็นต้นมา โดยแนวทางของการปฏิรูปโครงสร้างด้วยนโยบายเปเรสทรอยกา มีดังนี้
2.1 การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
กอร์บาชอฟเล็งเห็นถึงปัญหาที่สำคัญของโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่มีการผูกขาดและรวมศูนย์อยู่ที่รัฐส่วนกลางเพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้กอร์บาชอฟประกาศใช้แผนลดการผูกขาดควบคุมเศรษฐกิจโดยรัฐ ก่อให้เกิดหน่วยเศรษฐกิจขนาดย่อยซึ่งเป็นผลการจากการกระจายบทบาทหน้าที่ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ อาทิเช่น สหกรณ์การตลาดแบบสังคมนิยม และธุรกิจเอกชนระดับครอบครัว เป็นต้น อันส่งผลให้เกิดการผลักดันให้เกิดการทำงานของกลไกตลาดให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น
2.2 การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง
กอร์บาชอฟได้ทำการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคทั้งในสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐต่างๆ ของสหภาพโซเวียตสามารถลงเลือกตั้งแข่งขันกับสมาชิกพรรคได้ เพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติใหม่ที่มีชื่อว่า สภาผู้แทนราษฎร (Congress of People’s Deputy) เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดภายในรัฐ ซึ่งเข้ามาแทนที่สภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียตที่มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งมากกว่า 1 พรรค กล่าวคือเกิดการแข่งขันขึ้น และประชาชนมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น และผลการเลือกตั้งก็ปรากฏให้เห็นว่าประชาชนได้เลือกพรรคที่มีอุดมกาณ์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ รวมทั้งผู้สมัครที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของระบอบคอมมิวนิสต์เข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก และรัฐสภาได้ทำการเลือกให้กอร์บาชอฟดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสภาพโซเวียต ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวสหภาพโซเวียตขานรับการปฏิรูปทางด้านการเมืองของกอร์บาชอฟเป็นอย่างดี
และต่อมาเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี (ตามคาด)
ทันทีที่กอร์บาชอฟก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ สิ่งที่เขาทำก็คือปฏิรูปประเทศให้เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตย ปรับปรุงนโยบายต่างประเทศที่เคยเข้มงวดและปิดกั้นอย่างรุนแรงลง โดยเฉพาะความเข้าใจอันดีกับสหรัฐอเมริกา
เพียง 6 เดือนนับจากวันรับตำแหน่ง กอร์บาชอฟก็จัดให้มีการประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่างผู้นำประเทศมหาอำนาจขึ้นที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Geneva, Switzerland)
และเป็นครั้งแรกที่เขาซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ได้จับเข่าคุยกับประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำกลุ่มประเทศโลกเสรีนับตั้งแต่เกิดภาวะสงครามเย็น
ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐฯ "โรนัลด์ เรแกน" ภาพจาก วิกิพีเดีย
เรแกนและกอร์บาชอฟในการประชุมสุดยอดที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ปี 1985 จาก ประชาไท
เรแกน และ กอร์บาชอฟ พบกันถึง 3 ครั้ง ในที่สุดก็สามารถตกลงร่วมกันได้ว่า ทั้งสองประเทศจะจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ขนาดกลางลง นอกจากนั้นยังทำให้ผู้นำทั้งสองสนิทสนมกันขนาดเรียกชื่อเล่นกันได้
ความสนิทสนมกันของสองมหาบุรุษต่างขั้วอำนาจ เรแกน และ กอร์บาชอฟ จาก Medium
และในท้ายที่สุด สงครามเย็นที่ทำให้โลกร้อนรุ่มมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีก็ดับมอดลง ด้วยการจับมือเป็นมิตรกันของโซเวียตและอเมริกา
กอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดของเขาต่อไป แม้ว่าจะต้องพบอุปสรรคและปัญหามากมาย จนกระทั่งกลุ่มประเทศที่เคยสังกัดอยู่ในความปกครองของสหภาพโซเวียต 12 แห่งประกาศตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง ทำให้ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตต้องมีอันสลายตัวลง ส่งผลต่อไปให้ตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐหมดสิ้นลงไปด้วย
ดังนั้นกอร์บาชอฟจึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)
และปัจจุบันแม้ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ได้ห่างเหินไปจากวงการการเมืองรัสเซียไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม "โลก" ต้องจารึกและจดจำไปอีกนานว่าเขาคือ....
"บุรุษผู้ทำลายคำสาปของจอมเผด็จการสตาลินลงอย่างสิ้นเชิง"
ปล.เหนื่อยแท้ บทความนี้ใช้เวลาพิมพ์(ใหม่)และเรียบเรียงอีกครั้งจากเอกสารของตนเองในช่วงสมัยที่เรียนป.ตรี และนำมาเติมภาพและชื่อจากวิกิพีเดียอีกที โดยใช้เวลาพิมพ์ทั้งสิ้น....สองอาทิตย์!!! ส่งผลให้ไม่ได้อ่านบทความของเพื่อนๆคนใดในบล็อคดิทเลย...(เนื่องจากพอเข้าแอพปุ๊บมันจะถามแค่ว่า จะเขียนต่อ หรือ ละทิ้ง ทำให้เหมือนถูกบังคับให้เขียนต่อจนเสร็จจึงจะอ่านบทความของท่านอื่นได้กลายๆเลยเนอะ!)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา