1 พ.ค. 2020 เวลา 14:26 • ประวัติศาสตร์
"บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย"
ภาพจากวิกิพีเดีย
ออกตัวก่อนว่า...เนื่องด้วยวันนี้จะเบี้ยวบทความจิตวิทยาอีกรอบเนื่องจากความหุดหิดๆสะสมจากการงดดื่มมาหลายวัน... แต่ก็แบบ...จะหายไปเลยก็คงไม่ดี...งั้นเอางี้ละกัน...เอาเรื่องอื่นมาแทนไปพลางๆ แต่ก็ลังเลๆคิดไม่ตกว่าเอาใครดี เลยลิสท์ไป 10 ชื่อ ให้คนบางคนเลือกให้ และสุดท้ายหวยก็มาลงที่...."บอริส เยลต์ซิน"
อ่อ...ขอออกตัวเพิ่มอีกว่า ข้อมูลนี้และอีกราวๆ 20 คนที่เหลือ ผมเคยรวบรวมใว้เมื่อราวๆ สิบปีที่แล้ว บางอย่างอาจจะไม่ได้อัพเดท หรือขาดตกบกพร่องสิ่งใดไปก็ขออภัยท่านผู้อ่านใว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ^^
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) ไม่เพียงแต่เป็นเหตุให้สาธารณรัฐต่างๆ ที่เคยรวมตัวกันสังกัดกับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ทั้ง 15 ประเทศ อันได้แก่
- สหพันธรัฐรัสเซีย
- ยูเครน
- สาธารณรัฐเบลารุส
- สาธารณรัฐอาร์เมเนีย
- สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
- สาธารณรัฐคาซัคสถาน
- สาธารณรัฐคีร์กีซ
- สาธารณรัฐมอลโดวา
- สาธารณรัฐเอสโตเนีย
- สาธารณรัฐลัตเวีย
- สาธารณรัฐลิทัวเนีย
- สาธารณรัฐทาจิกิสถาน
- เติร์กเมนิสถาน
- สาธารณรัฐอุสเบกิสถาน
- สาธารณรัฐจอร์เจีย
พากันแยกตัวเป็นอิสระ แล้วยังทำให้สหภาพโซเวียตที่เคยรุ่งโรจน์ในฐานะมหาอำนาจสังคมนิยมมาเป็นเวลาเกือบ 80 ปีล่มสลายลง
ภาพธงของสหภาพโซเวียต จากวิกิพีเดีย
จนปัจจุบันยามใดที่เอ่ยถึงเรื่องราวในอดีตของผู้นำการปกครองระบอบสังคมนิยมแห่งนี้ขึ้นมา ก็จะมีเพียงสหพันธรัฐรัสเซียเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแข็งขันอยู่
สาเหตุที่รัสเซียยังคงรักษาภาพพจน์ของการเป็นประเทศมหาอำนาจสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอยู่ก็เพราะ สหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่โตกว่าประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ ที่เคยรวมเป็นสหภาพเดียวกัน ว่ากันว่า ในขณะนั้นเฉพาะประชาชนชาวรัสเซียเพียงชาติเดียวก็มีถึง 150 ล้านคนเข้าไปแล้ว ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 140 ล้านคนก็กระจัดกระจายกันไปเป็นประชาชนของประเทศต่างๆในเครือ
นอกจากนั้น ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ศูนย์กลางของสหภาพก็ตั้งอยู่ที่รัสเซียตลอดมา ดังนั้นแม้ในความเป็นจริงสหภาพโซเวียตจะล่มสลายแล้วก็ตาม แต่ยังมีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นตัวแทนอยู่ ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง และอื่นๆ
ในความเป็นจริงมหาอำนาจสังคมนิยมจึงยังไม่ได้หมดสิ้นไป หากแต่เพียงลดกำลังคนลงไปครึ่งหนึ่งเท่านั้น สงครามเย็นที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจโลกเสรีอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับมหาอำนาจสังคมนิยมอันมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ซึ่งจดจ้องที่จะยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้าใส่กันนั้นมอดดับลงแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ลึกๆลงไปมันก็ยังคุกรุ่นอยู่ และอาจมีโอกาสหวนกลับลุกโชนขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้ หากเกมส์การเมืองโลกเดินไปอย่างผิดพลาด
สิ่งที่ยืนยันความคิดนี้ก็คือ คำกล่าวของประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งพยายามดำรงตำแหน่งพี่เบิ้มใหญ่ในโลกสังคมนิยม เมื่อปี ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) ในการประชุมโอเอสซีอีที่กรุงบูดาเปสต์ว่า หากนาโต้ซึ่งใครๆก็รู้ว่ามีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่อยู่เบื้องหลัง ดึงเอากลุ่มประเทศที่เคยเป็นสมาชิกของสังคมนิยมโดยเฉพาะบรรดาประเทศเล็กประเทศน้อยที่เคยสังกัดอยู่ในสหภาพโซเวียตเข้ามาเป็นสมาชิกอันถือได้ว่า เป็นการจงใจขยายปีกของพญาอินทรีอเมริกาต่อไปอีกล่ะก็ โลกที่ก้าวพ้นยุคสงครามเย็นมาแล้วจะก้าวต่อไปสู่ยุคสันติภาพเย็น
นอกจากนั้น เมื่อปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็ยังย้ำขึ้นมาอีกว่า หากสหรัฐอเมริกายังใช้นาโต้เป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายอำนาจกับประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรของรัสเซียต่อไปอีก รัสเซียจะถือว่าสหรัฐผลักดันให้รัสเซียแสวงหาพันธมิตรใหม่ เป็นการบีบบังคับให้รัฐบาลมอสโกต้องหยิบนโยบายเรื่องลัทธิทหารขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซ้ำร้ายยังจะส่งผลต่อการเจรจาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ที่ดำเนินอยู่ด้วย
อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับรัสเซียคงต้องจำใจเล็งเป้าหมายขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์เข้าใส่หัวเมืองสำคัญๆ ในยุโรปและอเมริกา นั่นก็หมายความว่า ศักราชของสันติภาพเย็นได้เปิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งเราคงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพิษสงของมันจะร้ายกาจเพียงใด
คำว่า "สันติภาพเย็น" ได้กลายเป็นคำใหม่ที่ทรงอานุภาพทางการเมืองในขณะนั้น โดยเฉพาะสำหรับประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในขณะนั้นว่าจะผลักดันให้คำพูดคำนี้มีความหมายเป็นจริงขึ้นมาหรือไม่?
แต่...สำหรับเขาแล้ว...ประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน แห่งสหพันธรัฐรัสเซียผู้กล่าวคำอันทรงอานุภาพและความหมายนี้ออกมา ได้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดตลอดเวลาแล้วว่ามิตรภาพอันตั้งอยู่บนความไม่จริงใจของสหรัฐอเมริกานั้น ควรได้รับการตอบแทนด้วยความมึนตึง
ภาพจากกูเกิ้ล
บอริส เยลต์ซิน มีชื่อเต็มว่า บอริส นิโคลาเยวิช เยลต์ซิน (Boris Nikolayevich Yeltsin) เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ที่หมู่บ้านชาเวิร์ดลอฟสค์ ในเมืองเอกาเตอรินเบิร์ก บริเวณเทือกเขายูรัล ซึ่งเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณภาคกลางของทวีปเอเซีย
***หมายเหตุ: ชื่อหมู่บ้านและชื่อเมืองอาจอ่าน/เขียนผิดได้นะครับ พยายามที่สุดแล้วจริงๆ***
เมืองเกิดของเยลต์ซินนับเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์รัสเซียอย่างมาก เพราะก่อนที่เขาจะเกิดประมาณ 13 ปี ที่แห่งนี้เคยใช้เป็นที่คุมขังพระเจ้าชาร์นิโคลัสที่ 2 พระมเหสี และพระราชวงศ์ ซึ่งเล่ากันว่าหลังจากเกิดการปฏิวัติในรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ซึ่งอยู่ในสมัยพระเจ้าชาร์นิโคลัส ที่ 2 ฝ่ายปฏิวัติได้จับกุมตัวพระเจ้าชาร์ พระมเหสี พระเจ้าลูกเธอทั้ง 5 พระองค์ และ ข้าทาสบริวารคนสนิทจำนวนหนึ่งคุมขังใว้ และถูกปลงพระชนม์โดยน้ำมือของเหล่าตำรวจลับเชก้า นับเป็นการจบสิ้นการปกครองแบบกษัตริย์ในรัสเซียอย่างสิ้นเชิง
ภาพพระเจ้าชาร์นิโคลัสที่ 2 จาก The People
จากนั้น วลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ขึ้นมากุมอำนาจบริหารประเทศ และหลังจากการมรณกรรมของ วลาดิมีร์ เลนิน อำนาจทั้งหมดของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ก็ตกไปอยู่ในมือของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ต่อ
จึงนับได้ว่า บอริส เยลต์ซิน เกิดและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางกระแสและบรรยากาศของการปกครองในระบอบสังคมนิยมอย่างเข้มข้นเลยทีเดียว
เมื่อ เยลต์ซิน มีอายุได้ 3 ขวบ เกิดเหตุการณ์รุนแรงทั่วไปในรัสเซีย นั่นคือมีการกวาดล้างผู้มีแนวความคิดขัดแย้งกับ สตาลิน คนเหล่านั้นส่วนหนึ่งถูกส่งไปคุมขังที่ไซบีเรีย อีกส่วนหนึ่งถูกประหาร อีกส่วนหนึ่งถูกฆ่าโดยตำรวจลับ และเป็นช่วงนี้นี่เองที่ สตาลิน เกิดความคิดขึ้นมาว่า เขาจะทำให้รัสเซียเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยการรวบรวมชาติต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกคอมมิวนิสต์ให้หมด แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาเสียก่อน สตาลินจึงเลือกอยู่ข้างฝ่ายพันธมิตรและสามารถอยู่ข้างฝ่ายชนะได้
ภาพโจเซฟ สตาลิน จากกูเกิ้ล
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สตาลินเริ่มทำตามความมุ่งหวังของตนอย่างจริงจัง ด้วยการทุ่มทุนสร้างระเบิดปรมาณูขึ้นมา แบะภายในเวลาอันรวดเร็วรัสเซียก็มีแสนยานุภาพนิวเคลียร์เทียบเท่าสหรัฐอเมริกา เมื่อทางสหรัฐอเมริการู้ตัวแล้วว่า สตาลิน คิดอะไรอยู่ จึงเริ่มแผนถ่วงดุลอำนาจของรัสเซีย พร้อมกับการเกิดของคำว่า...."สงครามเย็น"
บอริส เยลต์ซิน เรียนหนังสือที่บ้านเกิดจนจบระดับมัธยมศึกษา จากนั้นจึงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมก่อสร้างที่ สถาบันยูรัล โปลีเทคนิค จนจบเมื่ออายุ 24 ปี และอีก 6 ปีต่อมา เขาก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคประจำท้องถิ่นในเวลาต่อมา
หลังจากที่เยลต์ซินจบการศึกษาเพียง 2 ปี เวลาแห่งความยิ่งใหญ่ของสตาลินก็จบลง นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ในขณะนั้นบรรยากาศของสงครามเย็นก็ยิ่งขมึงเกลียวแน่นยิ่งขึ้นถึงขนาดมีการติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์เข้าใส่กันอย่างเปิดเผย รัสเซียนั้นใช้คิวบาเป็นฐานสำคัญ แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ถึงจุดเดือด ทำให้ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือว่ารัสเซียก็ยังไม่กดปุ่มปล่อยจรวดของตนเองออกมา...
ในขณะที่นักการเมืองในมอสโกสับเปลี่ยนเวียนกันขึ้นมานั่งอยู่ในทำเนียบ นักการเมืองท้องถิ่นอย่างบอริส เยลต์ซิน ก็ขยันก้มหน้าก้มตาสร้างผลงานและชื่อเสียงต่อไป เพราะความที่เขามีพรสวรรค์ทางการพูดและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆได้อย่างดี ทำให้เขามีชื่อเสียงขจรขจายมากขึ้น แต่คนที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นความจริงขึ้นมาก็คือนักการเมืองที่ชื่อ..."มิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachyov)"
ภาพมิฮาอิล กอร์บาชอฟ จากกูเกิ้ล
หลังจากที่ นิกิตา ครุชชอฟ ถูกปลด เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) ก็ขึ้นมากุมอำนาจแทน และเมื่อยุคสมัยของ เบรจเนฟหมดสิ้นลง... ก็ถึงเวลาที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และเขาได้เอ่ยปากชักชวนให้ บอริส เยลต์ซิน ้ข้ามาเล่นการเมืองในมอสโก และเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินนโยบาย "เปเรสตรอยกา (Perestroika) ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
*** "เปเรสตรอยกา (Perestroika)" มีความหมายตามอักษรว่า "การปรับโครงสร้าง" คือ การ "ปรับ" สภาพเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพโซเวียตให้คลายจากความชะงักงัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนชาวโซเวียตให้ดีขึ้นกว่าเดิม และมักถูกจับคู่กับคำว่า กลัสนอสต์ (Glasnost) คือ การ "เปิด" ประเทศให้กว้างขึ้น ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้ประชาชนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นของตน***
ภาพ เปเรสตรอยกา จากวิกิพีเดีย
ปรากฏว่า เยลต์ซิน ทำงานได้ดีจนได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลในด้านการปราบปรามคอรัปชั่นอีกอย่างหนึ่งและได้รับสนับสนุนอย่างดี
จนวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) เยลต์ซินก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ตามกฏหมายเลือกตั้งที่ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟเป็นผู้ผลักดันให้ออกมา และถือได้ว่าเขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) เกิดการกบฏขึ้นในสหภาพโซเวียตรัสเซีย ฝ่ายกบฏมีตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี เก็นนาดี ยานาเยฟ (Gennady Yanayev) เป็นผู้นำ และได้จับกุมตัวกอร์บาชอฟไปกักขังใว้ที่บ้านพัก ณ แหลมไครเมีย บอริส เยลต์ซิน ปลุกระดมประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน และจับตัวผู้ก่อกบฏได้หมด
ภาพ เยลต์ซิน และ กอร์บาชอฟ จาก Schkola4
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขากลายเป็นที่นิยมของชาวรัสเซียเยี่ยงวีรบุรุษ การปฏิวัติและการปราบปรามครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสหภาพโซเวียตรัสเซีย นั่นคือ ประเทศเล็กๆที่เคยสังกัดอยู่ในสหภาพโซเวียตได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช เป็นผลให้สหภาพโซเวียตมีอันล่มสลายลงพร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ
ทันทีที่สิ้นสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐรัสเซียก็ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่แทนที่ แต่ปัญหาที่เยลต์ซินต้องเผชิญอย่างหนักคือเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างหนักกับการปราบปรามประเทศต่างๆ ที่พยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ โดยเฉพาะสาธารณรัฐเชชเนีย ซึ่งมีการสู้รบติดต่อกันเป็นเวลานาน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองและกำลังทหารชาวรัสเซียไปมากมาย ทำให้ในเวลานั้นคะแนนนิยมในตัวเยลต์ซินกลับลดฮวบฮาบลงอย่างน่าตกใจ
และเมื่อครบวาระแรกของการดำรงตำแหน่ง เยลต์ซินก็ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้เขาก็ได้ชัยชนะอีกครั้ง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากจากการหาเสียงจนล้มป่วยด้วยโรคหัวใจซึ่งเป็นมาก่อนหน้านั้นแล้ว และหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระที่ 2 ได้ไม่นาน เขาก็ถูกหามส่งตัวเข้าพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน
และหลังจากออกจากโรงพยาบาลครั้งแรกได้ไม่นานก็ต้องกลับเข้าไปอีก และหลังจากนั้นก็ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดตลอดมา..
ภาพ เยลต์ซินและครอบครัวจาก Amika Moda
ในด้านชีวิตส่วนตัว ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน มีภรรยาชื่อ ไนนา (Naina Yeltsin) และมีบุตรสาวสองคน ชื่อ เยเลน่า และ ทัตยาน่า (Yelena Yeltsin & Tatyana Yeltsin)
เยลต์ซินลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) และเสียชีวิตในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2007 (พ.ศ.2550) ด้วยวัย 76 ปี
Cr: ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากชีทที่ผมรวบรวมเองเมื่อสมัยก่อน + ชื่อภาษาอังกฤษจาก Wikipedia ครับ ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา