11 พ.ค. 2020 เวลา 18:40 • สุขภาพ
[Food for Thought] เมื่ออาหารสุขภาพทำร้ายโลก: อัลมอนด์ ตลาดแสนล้าน สาเหตุของภัยแล้ง และการหายไปของผึ้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย
อัลมอนด์พืชเศรษฐกิจที่ทำเงินให้กับรัฐแคลิฟอร์เนียกว่าแสนล้านบาทต่อปี กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของภัยแล้งที่ยาวนานระหว่างช่วงปี 2011-2017 แถมยังทำให้ประชากรของผึ้งหายไปเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และผลสรุปสุดท้ายคืออย่างไร วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกัน
2
Source: gresei/Shutterstock
กล่าวกันว่าต้นกำเนิดของอัลมอนด์คือดินแดนแถบอิหร่าน และเอเชีกลาง และถูกนำเข้ามาสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือและยุโรปผ่านเส้นทางสายไหม ในคัมภีร์ไบเบิลได้เอ่ยถึงอัลมอนด์ และมีการนำเมล็ดอัลมอนด์มาทำขนมปังถวายแก่ฟาโรห์ในอียิปต์ ชาวยุโรปมักเรียกชาวเอเชียว่าผู้ที่มีนัยตาเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ หรือตาตีนั่นเอง มีการนำเมล็ดอัลมอนด์ไปใช้ทำขนม และถือเป็นขนมมงคลในงานแต่งงานอีกด้วย
อัลมอนด์ในแคลิฟอร์เนีย
สำหรับอัลมอนด์ที่ปลูกในอเมริกาถูกนำมาทดลองปลูกจากสเปนโดยบาทหลวงนิกายเซนต์ฟรานซิส ในสมัยคริสศตวรรษที่ 17แต่ว่าการปลูกในระยะแรกยังไม่ประสบความสำเร็จดีนัก ในปี 1870 ได้เริมมีการค้นคว้าพันธุ์อัลมอนด์ และสำรวจแหล่งปลูกอย่างจริงจัง และพบว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของ Great Central Valley ในบริเวณเมือง Sacramento และ San Joaquin ที่แคลิฟอร์เนียมีความเหมาะสมต่อการปลูกเป็นอย่างมาก (https://www.waterfordnut.com/history.html)
ในปัจจุบันมีการปลูกอัลมอนด์อย่างแพร่หลายในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศออสเตรเลีย และตอนใต้ของยุโรป ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการปลูกอัลมอนด์ขยายตัวขี้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อินเดีย จีน และเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอัลมอนด์เป็นอันดับต้นๆของโลกในปัจจุบัน
Source: almond.com
ถึงแม้แคลิฟอร์เนียจะไม่ใด้เป็นแหล่งปลูกอัลมอนด์แห่งเดียวในโลก แต่ก็เป็นผู้นำการผลิตและส่งออก โดยรัฐแคลิฟอร์เนียรัฐเดียวสามารถผลิตอัลมอนด์ได้มากถึง 81% ของผลผลิตทั้งหมดในโลก เมื่อความต้องการในตลาดโลกสูงเนื่องด้วยรสนิยมของผู้บริโภคในแถบเอเชียที่มีความสามารถนการจับจ่ายสูงขี้น ประกอบกับเทรนด์อาหารสุขภาพขาขึ้นโดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ราคาของอัลมอนด์ในตลาดโลกจึงสูงขี้นมากขี้น ส่งผลให้เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่ในการปลูกอัลมอนด์เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดโลก
งานวิจัยพบว่าในระหว่างปี1998 ถึงปี2020 รัฐแคลิฟอร์เนียส่งออกอัลมอนด์เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า ขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกอัลมอนด์ก็เพิ่มขี้นจาก 500,000 เอเคอร์ ในปี 2000 เป็นมากกว่า 1,000,000 เอเคอร์ในปี 2018 โดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันบริโภคอัลมอนด์คนละ 900 กรัม ต่อปี และอุตสาหกรรมนมอัลมอนด์ก็เติบโตขึ้นกว่าสองเท่าในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (สูงกว่านมจากพืชประเภทอื่นๆ มากกว่า 4 เท่า)
การขยายตัวของฟาร์มอัลมอนด์อย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจท้องถิ่นในชุมชนอย่างช่วยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความแห้งแล้ง การเปลี่ยนภูมิเศรษฐศาสตร์ของรัฐ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีจำนวนมาก
ปัญหาความแห้งแล้ง
อัลมอนด์เป็นพืชหิวน้ำ การวิจัยพบว่าเม็ดอัลมอนด์แต่ละเม็ดต้องใช้น้ำมากถึง 3.8 ลิตร ( 1 แกลอน) ในการปลูก หากต้นอัลมอนด์แต่ละให้ผลผลิต 1000 เม็ดต่อต้น ก็จำเป็นต้องใช้น้ำมากถึง 1000 แกลอน (3800 ลิตร)ต่อต้นต่อปีเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันผิดกับพืชประเภทอื่นที่ต้องการน้ำเป็นบางฤดูเท่านั้น ต้นอัลมอนด์ต้องการน้ำอยู่ตลอดเวลาไม่เช่นนั้นจะต้นจะค่อยๆตาย ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงไม่สามารถพึ่งพาเพียงน้ำประปาจากทางรัฐได้ และต้องปั้มน้ำบาดาลขี้นมาใช้และส่งน้ำไปตามท่อรดน้ำอัตโนมัติ ในปี 2013 นักธรนีวิทยาพบว่าพื้นที่กว่า 1200 ตารางไมล์บริเวณ Central Valley แหล่งปลูกอัลมอนด์สำคัญเกิดการทรุดตัวถึงปีละ 11 นิ้ว เนื้องมาจากแหล่งน้ำใต้ดินถูกสูบไปใช้จนหมด มีการประมาณกันว่าปริมาณน้ำที่ใช้ในการปลูกอัลมอนด์ในแคลิฟอร์เนีย สูงกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ในการรดน้ำต้นไม้และอุปโภคบริโภคของประชากรทั้งรัฐรวมกันเสียอีก อุตสาหกรรมอัลมอนด์จึงกลายเป็ฯผู้ร้ายที่ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียเกิดความแห้งแล้งตามมา
4
Sources: Almond Board of California, USDA
ปัญหาการใช้สารเคมี
เช่นเดียวกันกับพืชชนิดอื่นๆ อัลมอนด์เองก็ใช้ผึ้งในการผสมเกสร ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเกษตรกรเลี้ยงผึ้งจะพาฝูงผึ้งเข้าไปยังไร่อัลมอนด์เพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมาเกษตรกรเริ่มพบว่าหลายครั้งผึ้งที่พาไปช่วยไร่อัลมอนด์มักไม่เหลือม่ชีวิตรอดกลับมา(Colony Collapse Disorder) และปริมาณการตายของผึ้งหลังจากกลับมาจากไร่อัลมอนด์ก็สูงขี้นเรื่อยๆ หนึ่งในสาเหตุหลักคือการใช้สารเคมีในไร่อัลมอนด์ที่สูงถึงปีละ 35ล้านปอนด์ (ในปี 2014-2016)ซึ่งถือว่าอัลมอนด์เป็นพืชที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
Source: California Department of Pesticide Regulation
หลักๆแล้วสารเคมีเหล่านี้ ไกลโฟเซต (Roundup) ซึ่งไม่เพียงทำให้ผึ้งตายเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดมะเร็งในคนอีกด้วย (แม้ว่าบริษัทมอนซานโตผู้ผลิตสารเคมีนี้จะออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องของ Roundup กับมะเร็ง แต่พบว่าเกษตรกรที่ใช้ไกลโฟเซตมักมีอาการของมะเร็งในเม็ดเลือด) รวมไปถึงสารปิโตรเคมี และสารอื่นๆซึ่งไม่ได้รับการยืนยันว่าก่อนให้เกิดผลเสียต่อผึ่งหรือไม่ ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่ทำสัญญาพาผึ้งมาผสมเกสรกับไร่ทุกปีก็จำเป็นต้องซื้อผึ้งรังใหม่มาจากยุโรปเพื่อให้มีสายพันธุ์ผึ้งต่อไป
Photograph: Caitlin O’Hara/The Guardian
เกษตรกรรายย่อยได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมอัลมอนด์หรือไม่
แทนที่ความต้องการอัลมอนด์ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขี้นจะทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลประโยชน์ ความจริงกลับเป็นผู้เล่นรายใหญ่ไที่ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ รายงานพบว่าฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดสามรายแรกกลับเป็นของบริษัทลงทุนแนวหน้าของโลก ไม่่าจะเป็นบริษัท Terrapin Fabbri Management ซึ่งเป็นบริษัทดูแลสินทรัพย์ และการลงทุนให้กับมหาเศรษฐี ซึ่งกุมอำนาจการจัดการไร่อัลมอนด์มูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญไว้ในมือ นิตยสาร The Economist เปิดเผยว่า บริษัทนี้ยังได้กว้านซื้อไร่องุ่น ไร่มะเขือเทศ และฟาร์มเลียงวัว เพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นไร่อัลมอนด์ พืชที่ทำให้ก่อให้เกิดรายได้สูงกว่าอีกด้วย หรืบริษัท TIAA-CREF ซึ่งดูแลกองทุนการเกษียณอายุก็เป็นเจ้าของพื้นที่ปลูกอัลมอนด์กว่า 37000 เอเคอร์ ขณะเดียวกัน บริษัท Hancock Agricultural Investment Group ซึ่งเป็นของ Manulife Financial บริษัทประกันรายใหญ่ของแคนาดาก็เป็นเจ้าของพื้นที่ปลูกอัลมอนด พิสตาชิโอ และวอลนัทกว่า 24000 เอเคอร์ อำนาจเงินลงทุนเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกษตรกรรายย่อยไม่มีวันเข้าถึง
Overview of Crabtree Farm near Modesto Reservoir. The pollination of California’s almonds is the largest annual managed-pollination event in the world. Source: Bloomberg.com
จริงอยู่ว่าในเชิงสุขภาพแล้วอัลมอนด์ดูจะเป็นเมล็ดที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางอาหาร (ขอไม่เอ่ยถึงเพราะมีคนพูดถึงเยอะแล้ว) แต่ในทางกลับกันเราเองเคยนึกมั้ยว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของเหยื่อโฆษณาที่ถูกกระแสสุขภาพเข้ามาทักทายทำให้ไม่ทันได้เสพข้อมูลด้านอื่นประกอบด้วย แล้วหากเอาเข้าจริงๆถ้าอัลมอนด์ต้องใช้สารเคมีมากขนาดนั้นเพื่อปลูก เราเองก็อยากรู้ว่าสารเคมีที่ตกค้างจำนวนมากอาจส่งผลกับสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งชื่อเสียงของอัลมอนด์อาจกลายเป็นชื่อเสียก็ได้
ผลกระทบของอุตสาหกรรมอัลมอนด์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวแคลิฟอร์เนียอาจเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ยินนัก แต่พล็อตเรื่องนี้ก็ฟังดูคุ้นหูสำหรับใครหลายๆคน เพราะปัญหาเดียวกันก็เกิดขี้นกับพืชเศรษฐกิจหลายๆอย่างเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน ข้าว มันสำปะหลัง กล้วย อ้อย หรือแม้แต่ซุปเปอร์ฟู๊ดเช่น ควินัว มันคงไม่มีประโยชน์ที่จะมาชี้นิ้วหาว่าใครคือคนผิด เพราะเราเองก็ต้องยอมรับว่าการบริโภคอัลมอนด์ของเราเองก็มีส่วนของปัญหาเหล่านี้ตามมาด้วย การเกษตรที่ยั่งยืนควรอยู่ตรงไหน การพัฒนาอย่างไหนที่เราอยากเห็น ชุมชน สังคม ที่เราอยากสร้างควรเป็นอย่างไร มันถึงจุดที่เรามานั่งคิดได้แล้วหรือยังว่าวัฒนธรรมแดกด่วนของเราส่งผลอย่างไรบ้างต่อสุขภาพ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
คงไม่มีใครตอบเราได้นอกจากตัวเราเอง
Food for Thought ครั้งหน้าจะนำเสนอเรื่องอะไรไว้รออ่านกันครั้งหน้าคะ แล้วอย่าลืม อ่านแล้วโปรดใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจกิน :)
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา