12 พ.ค. 2020 เวลา 08:04 • การศึกษา
อุดมการณ์ของความเป็นครู
อุดมการณ์ ประกอบด้วย คำว่า อุดม กับคำว่า การณ์ อุดม แปลว่า สูงสุด ยิ่ง เลิศ การณ์ แปลว่า เหตุ เค้ามูล สิ่งที่กระทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อุดมการณ์ แปลว่า เรื่องที่สูงสุดหมายถึง หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
2
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความหมายและคุณลักษณะของครูพระราชทานแก่ครูอาวุโส เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2523 ดังนี้
ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทนและอดกลั้น สำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลางไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ
ครูเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในวงการการศึกษา เพราะเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและโลก นอกจากนั้นยังเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการสร้างบัณฑิตอย่างมาก บัณฑิตจะมีความคิดที่ดี มีวิธีการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และมีระบบระเบียบในการปฏิบัติงานตลอดจนการพัฒนาบุคลิกภาพเชิงวิชาการ เชิงวิชาชีพ ซึ่งควรได้รับการปลูกฝังอบรมจากครูผู้สอนและบุคลิกภาพของครูย่อมส่งผลไปสู่บัณฑิตดังคำกล่าวที่ว่า
อยากรู้ตัวครูเป็นฉันใด จงดูได้จากศิษย์ที่สอนมา
(หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)
3
ครูจึงจำเป็นต้องพัฒนาจิตสำนึกของความเป็นครูเพราะครูหรืออาจารย์ จำเป็นต้องมีข้อกำหนดอยู่ในใจ เพื่อให้มีหลักในการดำรงตนให้เป็นครู
สิ่งแรกที่ครูควรจะพัฒนาก็คือ การสร้างคุณธรรมหรือครุธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งความเป็นจริงนั้น ครุธรรม คือธรรมสำหรับครู เป็นสิ่งที่ครูหลายท่านทราบและได้ปฏิบัติแล้ว แต่มีอีกหลายท่านที่ยังไม่ทราบและไม่ปฏิบัติ
ครุธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการดำเนินอาชีพครูอันเป็นอาชีพที่มีเกียรติเป็นอาชีพที่คนทั่วไปยกย่อง และถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญในการพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติ ครูที่ขาดครุธรรมจะเปรียบเสมือนเรือที่ขาดหางเสือ ดังนั้น การจะพาศิษย์ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างถูกต้องย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างแน่นอน
ท่านพุทธทาสกล่าวอยู่เสมอว่า ธรรม คือหน้าที่ ผู้ที่มีธรรมะคือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีแล้วครุธรรมจึงเป็น หน้าที่สำหรับครู ซึ่งครูส่วนใหญ่ทุกคนย่อมทราบดีว่าหน้าที่ของครูก็คือ การอบรมสั่งสอนศิษย์ แต่การอบรมสั่งสอนศิษย์ของครูแต่ละคนก็มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ครูบางคนก็อาจจะคิดว่าหน้าที่ของครูคือ สอนวิชาการที่ตนได้รับมอบหมาย แต่อีกหลายๆคนก็คิดว่า ครูควรทำหน้าที่สอนคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์นอกเหนือจากการสอนวิชาการ ความคิดที่แตกต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องพิจารณาเลือกหน้าที่ ที่ตนเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดของการมีอาชีพครู เพราะความเป็นจริงนั้นครูไม่ได้สอนแต่หนังสืออย่างเดียวแต่ต้องสอนคนให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ด้วย
การที่ครูจะปฏิบัติหน้าที่ของครูอย่างเต็มศักดิ์ศรีและเต็มความภาคภูมิ ได้นั้น ครูจำเป็นต้องมีหลักยึดเพื่อนำตนไปสู่สิ่งที่สูงสุด หรือเป็นอุดมคติของอาชีพนั่นก็คือ การมีอุดมการณ์ครู
อุดมการณ์ครูมีหลักการที่จะยึดไว้ประจำใจทุกขณะที่ประกอบภารกิจของครูมีอยู่ 5 ประการดังนี้
1 เต็มรู้ 2 เต็มใจ 3 เต็มเวลา 4 เต็มคน 5 เต็มพลัง
1 เต็มรู้ คือ มีความรู้บริบูรณ์ ประกอบด้วยความรู้ 3 ประการ คือ 1.1 ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ แสวงหาความรู้รวบรวมข้อมูล ประสบการณ์ใหม่ๆเพื่อมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนของตน ได้เกิดความรู้ที่ทันสมัย 1.2 ความรู้เรื่องโลก ครูควรมีความรู้และประสบการณ์ชีวิตอย่างเพียงพอ นอกเหนือจากตำราวิชาการ ครูแสวงหาความรู้รอบตัวด้านอื่นๆให้บริบูรณ์โดยเฉพาะความเป็นไปของระเบียบประเพณีสังคมวัฒนธรรม 1.3 ความรู้เรื่องธรรมะ เพื่อที่จะสามารถอบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีความคิดที่ดีมีความประพฤติที่ดี ไม่ว่าครูจะนับถือศาสนาใดก็ตามสามารถหยิบยกเรื่องธรรมะมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับสั่งสอนศิษย์ได้
1
2 เต็มใจ คือ ความมีใจเป็นครู พุทธศาสนาถือว่า ใจนั้นแหละ เป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากใจทั้งนั้น ดังนั้นคนที่จะเป็นครูที่มีอุดมการณ์จำเป็นต้องสร้างใจให้เป็นใจที่เต็มบริบูรณ์ด้วยการมีใจเป็นครูการทำใจให้เต็มนั้นมีความหมาย 2 ประการคือ 2.1 ใจครู จะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ ดังนี้ รักอาชีพ ครูต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเห็นว่าอาชีพครูมีประโยชน์มีเกียรติมีกุศลได้บุญได้ความภูมิใจ และพอใจจะสอนอยู่เสมอ พยายามที่จะแสวงหาวิธีสอนที่ดีเพื่อศิษย์ รักศิษย์ มีใจคิดอยากให้สิทธิ์พ้นจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา อยากให้ทุกคนมีความสุข ชี้แนะนำทางสู่ความสำเร็จและความสุขให้แก่ศิษย์ 2.2 ใจสูง ครูควรพยายามทำใจให้สูงส่งมีจิตใจที่ดีงาม การจะวัดใจเราว่าสูงหรือไม่ มีข้อที่รองถามตัวเองหลายประการ เช่น ทำงานอยู่ที่ใด ท่านมักจะด่าว่านินทาเจ้านายแห่งนั้นหรือดูถูกสถาบันหรือเปล่า ท่านมักจะคิดว่าเพื่อนร่วมงานของท่านนิสัยไม่ดีส่วนใหญ่หรือเปล่า ทำไมท่านก็ทำดีแต่เจ้านายไม่เห็น เป็นต้น การทำจิตใจให้สูง ก็คือการที่มองเห็นคุณค่าของมนุษย์โลกและการคิดที่จะสร้างสรรค์ให้โลกมีแต่สิ่งที่ดีงาม มองโลกและคนในแง่ดี ใจกว้าง ยอมรับข้อดีและข้อเสียของตนเองและผู้อื่น
2
3 เต็มเวลา คือ การรับผิดชอบการทุ่มเทเพื่อการสอน ครูที่มีอุดมการณ์จะต้องใช้ชีวิตครูอย่างเต็มเวลาทั้ง 3 ส่วนคือ 3.1 งานสอน ครูต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนอย่างเต็มที่วางแผนการสอนค้นคว้าหาวิธีการที่จะสอนศิษย์ในรูปแบบต่างๆ สอนให้ครบตามเวลาเข้าสอนตรงเวลา เลิกสอนให้ตรงเวลา 3.2 งานครู นอกเหนือไปจากการสอนครูต้องให้เวลาแก้งานด้านต่างๆเช่นงานธุรการ งานบริหาร บริการและงานที่จะทำให้สถาบันก้าวหน้า 3.3 งานนักศึกษา ให้เวลา ให้การอบรม แนะนำสั่งสอนศิษย์ เมื่อฉันต้องการคำแนะนำหรือต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน
2
4 เต็มคน คือการพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนที่ดีมีความคิดที่ถูกต้องเห็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง มีการพูดที่ดี มีการงานที่ดี มีการดำเนินชีวิตที่ดี ปฏิบัติงานถูกต้อง มันคิด พิจารณาตนเอง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงตนเองให้มีความบริบูรณ์อยู่เสมอ
5 เต็มพลัง คือการทุ่มเทพลังสติปัญญาและความสามารถเพื่อการสอน เพื่อผลงานที่สมบูรณ์ คือการปั้นศิษย์ให้มีความรู้ความประพฤติงดงามเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม
ครูที่มีหลักยึดครบเต็ม 5 ประการนี้ย่อมเป็นครูที่มีครุธรรม ที่พร้อมจะเป็นผู้ชี้ทางแห่งปัญญา ชี้ทางแห่งชีวิต และชี้ทางแห่งสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นครูควรสร้างอุดมการณ์ครูเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทยและการพัฒนาวิชาชีพครู
คุณลักษณะของครูที่ดี หมายถึง เครื่องหมายหรือสิ่งที่ชี้ให้เห็นความดี หรือลักษณะที่ดีของครู และเป็นลักษณะที่ต้องการของสังคม
ลักษณะครูที่ดี ควรมีความรักและความเมตตาต่อศิษย์ มีความเสียสละ หมั่นเพียรศึกษา ปรับปรุงวิธีการสอน เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ต้องมีความเข้าใจและเอาใจใส่ตัวศิษย์ทุกคน เป็นกำลังใจและช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิษย์เพื่อ ให้เขาเป็นคนใฝ่เรียนรู้ เป็นแบบอย่างที่ดีมีจรรยาบรรณในวิชาชีพครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีวิธีการสอนที่หลากหลาย มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความยุติธรรม ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงยอมรับและเข้าใจความแตกต่างของเด็ก แต่ละคนด้วย
คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ>>>>>
โฆษณา