13 พ.ค. 2020 เวลา 10:55 • การศึกษา
ทำไม Libra เงิน digital ของ Facebook จึงไม่ได้แจ้งเกิด
เงินเข้ารหัสคืออะไร?
เงินเข้ารหัส ( Cryptocurrency ) คือ เงิน digital ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่มีตัวเงินจริงๆ ที่เป็นธนบัตรหรือเงินเหรียญ แต่เป็นตัวเลขจำนวนเงินอยู่ในกระเป๋าสตางค์ digital ของ app ต่างๆ ผู้ที่รู้รหัสก็คือเจ้าของเงินสามารถใช้ซื้อของต่างๆ online ได้กับสินค้าที่เจ้าของสินค้ายอมรับเงินเข้ารหัสนั้นๆ
เงินเข้ารหัส ที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ Bitcoin แต่บิทคอยน์ ไม่มีสินทรัพย์ที่แท้จริงอย่างเช่น ทองคำ หรือเงินตราสกุลต่างๆ หนุนหลัง มูลค่าของบิทคอยน์จึงขึ้นลงตามการเก็งกำไรล้วนๆ เมื่อใดมีคนเข้ามาซื้อบิทคอยน์มาก ราคาก็อาจขึ้นเป็นสิบๆ เท่าในเวลาไม่กี่เดือน แต่พอคนแห่ขายราคาก็อาจตกลงวูบวาบภายในไม่กี่วัน
Libra ของ Facebook
ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2562 บริษัท Facebook ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ตั้งใจจะออกเงิน digital ชื่อว่า Libra ในปี พ.ศ.2563 โดย Libra จะแตกต่างจากบิทคอยน์ คือ จะเป็นเงินที่มีมูลค่าค่อนข้างคงที่ (stable coin) เพราะเมื่อมีผู้มาซื้อเงิน Libra ทาง Facebook ก็จะนำเงินของผู้มาซื้อนั้นไปซื้อเงินสกุลหลักของโลก 5 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ (50%) ยูโร (14%) เยน (11%) ปอนด์ (11%) และดอลลาร์สิงคโปร์ (7%) เป็นตะกร้าเงิน เพราะฉะนั้นเงิน digital Libra ก็จะมีราคาค่อนข้างคงที่ตามค่าเฉลี่ยของเงิน 5 สกุลนี้ ราคาจะไม่วิ่งขึ้นวิ่งลงแบบบิทคอยน์
ผู้ใช้ Facebook หรือ WhatsApp รวมกว่า 3,000 ล้านรายทั่วโลก ก็สามารถซื้อเงิน digital Libra นี้เก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ digital ใน app. Facebook หรือ WhatsApp ใช้ซื้อของหรือโอนเงินให้กันได้
1
ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวในทางการเงินโลก
1
การประกาศสร้างเงิน Libra ของ Facebook สร้างความสะเทือนเลือนลั่นทางการเงินไปทั่วโลก ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องเรียกประชุมด่วนเตรียมรับมือ และแถลงไม่เห็นด้วยกับ Facebook
ทำไมธนาคารกลางชาติต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับ Facebook
การเกิดขึ้นของ Libra จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สูญเสียอำนาจการควบคุมเงินตราในประเทศของตน
ยกตัวอย่างเช่น
ในประเทศไทย ปกติเราก็ใช้เงินบาทในการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ แต่เมื่อ Libra เกิดขึ้น และเป็น stable coin ราคามีเสถียรภาพ มีเงินตราสกุลหลักของโลกหนุนหลัง คนทั่วไปก็สบายใจที่จะซื้อเงิน Libra เก็บไว้ใช้ในกระเป๋าสตางค์ digital ของตนใน app. Facebook หรือ WhatsApp
เนื่องจากผู้ใช้ Facebook และ WhatsApp ทั่วโลกมีมากถึงกว่า 3,000 ล้านคน เงิน Libra จึงมีโอกาสแพร่หลายได้อย่างรวดเร็ว ร้านค้าต่างๆ ก็จะติดป้ายสินค้าเป็นทั้งเงินบาทและเงิน Libra เพราะถ้าร้านไหนไม่รับเงิน Libra ก็อาจได้ลูกค้าน้อยลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ การใช้ Libra จึงมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนครอบคลุมเกือบทุกธุรกิจทั้งในไทยและยังสามารถใช้ซื้อข้าวของบริการต่างๆ ได้ทั่วโลก ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีเงิน Libra อยู่ใน app มือถือ ซื้อได้ทั้งตั๋วเครื่องบิน ขึ้น Uber แท็กซี่ ซื้อกาแฟ ทานอาหาร ช็อปปิ้ง หาหมอ จ่ายค่าที่พัก ฯลฯ
ในประเทศไทยก็จะมีเงินตรา 2 สกุลใช้คู่ขนานกันคือ เงินบาท กับ เงิน Libra ในประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงเงินตราของตนเองมีแนวโน้มลดค่า เช่น อาร์เจนตินา ตุรกี บราซิล ประชาชนและร้านค้าจะยินดีถือเงิน Libra มากกว่าเงินของประเทศตัวเอง จน Libra อาจกลายเป็นเงินสกุลหลักของประเทศนั้นไปเลย
ปัจจุบัน เวลาจะซื้อของออนไลน์ ก็จะต้องผูกการจ่ายเงินกับบัตรเครดิต ซึ่งเชื่อมโยมกับบัญชีธนาคาร คนไม่มีบัญชีธนาคารจะซื้อของออนไลน์ไม่ได้ แต่เงิน Libra ไม่ต้องมีบัญชีธนาคารก็ใช้ได้ รับจ่ายจากกระเป๋าสตางค์ digital ใน app ของตนเองได้โดยตรง การโอนเงินระหว่างประเทศใช้เวลาแค่เสี้ยววินาที และค่าใช้จ่ายถูกกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารแบบเทียบกันไม่ติด
การใช้ Libra จะแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ มีเงิน Libra จะใช้ซื้ออะไรที่ไหนก็ได้ในโลก สะดวกยิ่งกว่าเงินดอลลาร์ ต่อไปแม้การส่งออกนำเข้า ก็จะมีการซื้อขายด้วยเงิน Libra มากขึ้นๆ แม้สินค้าที่มีมูลค่าสูงมากๆ Libra จะกลายเป็นเงินตราสกุลหลักของโลกโดยสมบูรณ์ และทรงอิทธิพลยิ่งกว่าเงินดอลลาร์ เพราะเงินดอลลาร์ใช้เป็นเงินตราสำรองระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่ไม่ได้ใช้ในการค้าปลีก เช่น ในไทยเราจะเอาเงินดอลลาร์ไปช็อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า ซื้อกาแฟ ทานอาหาร จ่ายแท็กซี่ ไม่ได้ แต่ Libra จะทำได้
ต่อไปแม้รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็อาจถือเงิน Libra เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะมีเสถียรภาพมากกว่าเงินดอลลาร์ เพราะผูกกับเงินหลายสกุล
Facebook จะกลายเป็นผู้ควบคุมเงินตราสกุลหลักของโลก เมื่อมีผู้ถือ Libra มาก ปริมาณเงินสำรองที่ Facebook ดูแล จะมีจำนวนมหาศาลหลายล้านล้านดอลลาร์ หรือหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าเงินทุนสำรองต่างประเทศของจีนและญี่ปุ่นหลายเท่าตัว หากมีการบริหารเงินจำนวนนี้ให้ดีเช่น ถือ พันธบัตรรัฐบาลก็ได้ดอกเบี้ย ซื้อทองคำ ซื้อตราสารหนี้ ซื้อหุ้นบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้กำไรมาก กองทุนนี้ก็จะพอกพูนขึ้นมากกว่าเงินต้น Facebookก็สามารถออกนโยบายจูงใจให้คนถือ Libra มากขึ้น เช่น ให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ถือ Libra การขยับตัวของ Facebook แต่ละครั้ง เช่น เปลี่ยนแปลงสัดส่วนของปริมาณเงินสกุลหลักที่ถือ ย้ายจาก ดอลลาร์ ไปเยน หรือยูโร หรือปอนด์ เป็นต้น จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลักทั่วโลก หากไปซื้อทองคำ แค่ 10% ของเงินที่มี ราคาทองก็อาจขึ้นเป็นเท่าตัว
Facebook จะมีอำนาจมากกว่าธนาคารกลางของชาติต่างๆ มาร์ค ซัคเกอร์เบอร์ก จะเป็นเหมือนผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งโลก
และอย่าลืมว่า Libra เป็นเงินdigital ดังนั้นการซื้อขายเปลี่ยนมือ transaction ต่างๆ จะถูกบันทึกไว้หมด กลายเป็น big data ที่มีมูลค่ามหาศาล Facebook กลายเป็นธนาคารกลางของโลก ที่รู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวทางการเงินของประชากรโลกทุกคนที่ใช้เงิน Libra มาร์ค ซัคเกอร์เบอร์ก จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลก ยิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นผู้คุมทั้งข้อมูลข่าวสารและการเงินของโลก เงิน Libra จะหนุนส่งให้ผู้ใช้ Facebook และ WhatsApp เพิ่มขึ้นอีกมาก เป็นโซเซียลมีเดียที่ไร้เทียมทาน ไม่มีใครสามารถต่อกรได้ด้วย Facebook อาจขยายกิจการไปแข่งกับ Amazon ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะตนเป็นคนดูแลกระเป๋าสตางค์ของผู้ใช้ Libra ทั่วโลก เป็นแต้มต่ออยู่แล้ว และขยายธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมหาศาล
Libra Association
Facebook รู้ว่าการออกเงิน digital Libra นี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ลำพังตนทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่มีใครยอมให้ทำด้วย จึงประกาศว่า จะจัดตั้งสมาคม Libra เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้กำกับดูแลเงิน Libra นี้ โดยมีเป้าหมายรับสมาชิก 100 ราย เป็นบริษัทการจ่ายเงินออนไลน์ เช่น PayU บริษัทเทคโนโลยี และ marketplaces เช่น Uber , Lyft , Spotify , Shopify บริษัทโทรคมนาคม เช่น Iliad SA, นอกจากนี้ก็เป็นบริษัทเกี่ยวกับ Blockchain , Venture capital , สถาบันวิชาการ ฯลฯ โดยสมาชิกแต่ละรายจะต้องวางเงินลงขันก้อนแรกรายละ 320 ล้านบาท และมีสิทธิ์โหวตคนละ 1 เสียงในการลงมติเรื่องต่างๆ เท่ากัน
เดิมมีบริษัทต่างๆ อีกจำนวนมากเข้าร่วมด้วยเช่น eBay, Mastercard, Visa, Paypal, Stripe , Booking Holdings, Mercado Pago แต่เมื่อเห็นท่าทีการคัดค้านของธนาคารกลางชาติต่างๆ ดูแล้วแจ้งเกิดยากจึงได้ถอนตัว
แม้จะบอกว่าสมาชิก 100 ราย ทุกรายรวมถึง Facebook ต่างก็มีสิทธิ์ออกเสียง 1 เสียงเท่ากัน แต่เมื่อ Facebook เป็นคนริเริ่ม เป็นคนทำงาน ผู้ใช้ Libra ก็ใช้บนแพลตฟอร์ม Facebook และ WhatsApp เป็นหลัก Facebook ย่อมมีอิทธิพลในการตัดสินใจมากที่สุด
เหตุผลหลักในการคัดค้าน
1.การฟอกเงิน และการส่งเงินของเครือข่ายอาชญากรรม การก่อการร้ายจะทำได้ง่ายมากทั่วโลก
2.ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ข้อมูลการใช้จ่าย มีสิทธิรั่วไหล ถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ
3.ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงินทั่วโลก
การปรับตัวของ Facebook
วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาได้เรียกตัว มาร์ก ซัคเกอร์เบอร์ก เข้าให้การและขอให้ Facebook ระงับการพัฒนาเงิน Libra ไปก่อน จนทาง Facebook ต้องออกมาประกาศว่า จะยังไม่ผลิตเงิน Libra ออกมาจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทางการ
เมื่อเห็นว่าการสร้างเงิน Libra ในแนวคิดเดิม ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆไม่มีทางยอมแน่นอน Facebook ก็เริ่มปรับรูปแบบ โดยจะออกเป็นเงิน digital หลายๆ สกุล เช่น ในไทยก็เป็น digital Bath ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังสามารถควบคุมระบบการเงินของตนได้ และทาง Facebook จะสร้าง infrastructure สำหรับให้เงิน digital สกุลต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ง่าย จะไม่นำข้อมูลการใช้จ่ายเงินของผู้ใช้ Libra ไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต กระจายอำนาจการออกเงิน Libra ให้สมาชิกไปออกเอง เช่น บริษัทบัตรเครดิต ก็ออกเงิน Libra ของตนเอง และเก็บข้อมูลการใช้เงินของลูกค้าตัวเอง โดยสมาคม Libra ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ระบบการทำงานโดยรวมประสานสอดคล้องกัน
ก็ต้องดูต่อไปว่า สุดท้ายแล้วหน้าตาของเงิน digital Libra จะออกมาอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ คือ ผลจากการประกาศจะออกเงิน Libra ของ Facebook กระตุ้นให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องเงิน digital อย่างมาก ธนาคารกลางอังกฤษ, ยูโรโซน, ญี่ปุ่น, สวิสเซอร์แลนด์, สวีเดน และแคนาดา ได้ตกลงร่วมมือกันทำวิจัย เรื่องเงิน digital ธนาคารกลางของอเมริกา(เฟด) ก็ตั้งทีมวิจัยเรื่องเงิน digital ส่วนธนาคารกลางของจีนได้ตื่นตัวและทำวิจัยเรื่องเงิน digital มาล่วงหน้าแล้ว 7 ปี และออกใช้จริงในปีนี้แล้ว และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ Facebook ใช้ต่อรองกับทางการอเมริกา ว่ามีแต่ Facebook ที่จะสร้างเงิน digital และพัฒนาให้เร็วสู้กับ digital หยวนได้
การแข่งขันเรื่องเงิน digital ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิดเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกของเรากำลังอยู่ในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน การรู้เท่าทันของผู้บริหารประเทศและองค์กร จึงจะนำทางให้ประเทศชาติและองค์กรฝ่าพายุ ก้าวไปข้างหน้าได้
โฆษณา