14 พ.ค. 2020 เวลา 06:09 • กีฬา
ไขข้อข้องใจ : เหตุใดบุนเดสลีกาจึงเป็นลีกฟุตบอลที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมมากที่สุดในโลก
หากใครเป็นสาวกกีฬาฟุตบอล คงรู้กันดีว่า บุนเดสลีกา ลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศเยอรมัน เป็นลีกที่มีความโดดเด่น ในเรื่องของแฟนบอล ที่แน่นขนัดในทุกเกมการแข่งขัน จนเป็นลีกฟุตบอล ที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมสูงที่สุดในโลก
ทั้งที่มองตามความเป็นจริง บุนเดสลีกา ไม่ได้มีนักฟุตบอลซุเปอร์สตาร์ระดับโลก, ไม่ได้ทุ่มเงินซื้อนักเตะชื่อดังเข้าร่วมทีม, โค้ชส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่โค้ชมือทอง แถมยังถูกค่อนขอดจากแฟนลูกหนังบางส่วน ว่าเป็นลีกที่น่าเบื่อ จากการผูกขาดแชมป์ในประเทศ ของ บาเยิร์น มิวนิค
แม้จะมีคุณสมบัติเป็นรองหลายด้าน แต่เหตุใดบุนเดสลีกา จึงกลายเป็นลีกฟุตบอล ที่ได้รับความนิยมจากคนในประเทศ ตีตั๋วเข้าชมเกมการแข่งขันอย่าล้นหลาม จนกลายเป็นลีกที่ครองความเป็นหนึ่งเรื่องผู้ชม ของโลกลูกหนัง
ฟุตบอลสำหรับแฟนบอลท้องถิ่น
เราเริ่มต้นด้วยเหตุผล ที่ทางบุนเดสลีกา นิยมกล่าวถึงว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้มีแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามมากที่สุดในโลก คือ ค่าตั๋วถูก
Photo : talksport.com
วงการฟุตบอลเยอรมัน มีความคิดที่ชัดเจนว่า หากต้องการให้คนดูเข้าสนาม การกดราคาค่าตั๋วให้ถูกที่สุด เท่าที่จะทำได้ คือเรื่องสำคัญอย่างมาก พวกเขาเชื่อว่าฟุตบอลที่ดี ต้องมาพร้อมกับบรรยากาศในสนามที่ยอดเยี่ยม และทางที่จะสร้างสุดยอดบรรยากาศในสนามฟุตบอล คือการดึงแฟนบอล เข้าสู่สนามให้มากที่สุด
วิธีที่ง่ายๆ ที่จะทำให้แฟนบอลซื้อตั๋วเข้าสนาม คือราคาค่าตั๋วต้องถูก สามารถรองรับแฟนบอลได้ทุกชนชั้น จะรวยหรือจนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ที่จะซื้อตั๋วเข้าชมเกมในสนาม ไม่เป็นภาระของกระเป๋าเงิน
บุนเดสลีกา มีค่าเฉลี่ยราคาตั๋ว ต่อหนึ่งเกมอยู่ที่ 5.4 ยูโรเท่านั้น (ประมาณ 188 บาท) ในขณะที่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ มีค่าเฉลี่ยราคาตั๋วต่อเกมสูงถึง 36.4 ยูโรต่อเกม (ประมาณ 1,240 บาท) สูงกว่าถึง 6-7 เท่าโดยประมาณ
เพราะว่า สโมสรฟุตบอลในเยอรมัน ต้องการที่จะให้แฟนบอลกลุ่มหลัก ที่จะเข้ามาชมเกมในสนาม คือแฟนบอลท้องถิ่น ที่อาศัยอยู่ในเมืองของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน ค่าตั๋วจึงจำเป็นต้องถูก เพื่อให้แฟนบอล ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้จ่าย ยามเดินทางมาชมเกมการแข่งขัน
Photo : www.trover.com
หากใครเคยมีประสบการณ์ ชมเกมฟุตบอลในสนาม ย่อมรู้ดีว่า ค่าใช้จ่ายในการดูฟุตบอล ไม่ได้มีแค่ค่าตั๋ว แต่มีทั้งค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าเครื่องดื่ม, ค่าของที่ระลึก ... ฟุตบอลเยอรมันมองว่า การสร้างบรรยากาศที่ดี ณ สนามฟุตบอล ไม่ใช่แค่การให้คนเดินทางมาดูฟุตบอล แล้วกลับบ้าน แต่แฟนบอลต้องมีความสุข ในทุกกิจกรรมที่สนาม สิ่งสำคัญคือการได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนแฟนบอล กินข้าว ดื่มเบียร์ด้วยกัน
หากแฟนบอลมีความสุขกับการมาสนามฟุตบอล บรรยากาศของสนามฟุตบอล จะยอดเยี่ยมตามไปด้วย ดังนั้นการลดค่าตั๋ว นอกจากจะเป็นการดึงดูดให้แฟนบอล เดินทางมาดูบอลที่สนาม ยังช่วยให้แฟนบอลนำเงิน ไปใช้จ่ายซื้อความสุขด้านอื่นได้อย่างเต็มที่
ไม่เห็นแก่เงิน
อีกแง่หนึ่ง ต้องบอกว่า บุนเดสลีกา ไม่ได้พยายามทำฟุตบอล ให้เป็นธุรกิจทุนนิยมมากเกินไป หนึ่งในตัวอย่างที่พวกเขาเรียนรู้ คือลีกบ้านใกล้อย่าง พรีเมียร์ลีก
Photo : www.worldfootball.net
พรีเมียร์ลีก มีการขึ้นราคาค่าตั๋วอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษ ได้ปรับฟุตบอลให้เป็นธุรกิจ ดึงดูดให้คนต่างชาติเข้ามาชมเกมในสนาม และกลุ่มคนเหล่านี้ พร้อมจ่ายเงินไม่อั้น เพื่อจะได้ชมเกมฟุตบอลในฝัน
ดังนั้น ต่อให้ค่าตั๋วพรีเมียร์ลีก จะแพงทะลุเพดานไปไกล ทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ ยังคงมีแฟนบอลจำนวนมาก เข้าสู่สนามอยู่ดี แต่สิ่งที่หายไป คือบรรยากาศฟุตบอลที่ยอดเยี่ยม ไม่เหมือนในอดีต เพราะแฟนบอลแรงงานท้องถิ่น ไม่มีเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูฟุตบอล แฟนบอลที่คอยร้องเพลง ส่งเสียงเชียร์ทีม มีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเป็นปัญหาคาราคาซัง ของลีกฟุตบอลอังกฤษ
ฟุตบอลเยอรมัน ไม่ต้องการให้เรื่องแบบนั้น เกิดกับบุนเดสลีกา เพราะพวกเขาภูมิใจกับพลังของแฟนบอล (ดูพลังการเชียร์ของทีมอย่าง ดอร์ทมุนด์, ชาลเก้ 04 และ แฟรงค์เฟิร์ต เป็นตัวอย่าง) ดังนั้น ต่อให้ทีมจะเก่ง จนสามารถโก่งราคาค่าตั๋ว เพิ่มขึ้นได้สูงขนาดไหน พวกเขาก็จะไม่ทำ
ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ บาเยิร์น มิวนิค ที่มีราคาค่าตั๋วเฉลี่ยต่อเกมเพียง 8 ยูโร (ประมาณ 279 บาท) ซึ่งราคาตั๋วถูกกว่า ราคาตั๋วขั้นต่ำของทีมฟุตบอล ในลีก เดอะ แชมเปียนชิพ หรือลีกรองของอังกฤษทีมหนึ่ง ที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ซื้อตั๋วด้วยตัวเองมาแล้ว
สำหรับทีมระดับโลก ที่มีค่าตั๋วถูกขนาดนี้ ทำให้ทุกเกมการแข่งขัน ตั๋วของบาเยิร์นถูกขายจนหมดเกลี้ยง ผู้ชมแห่กันเข้าไป เต็มความจุร่วม 75,000 คน ของ อลิลันซ์ อารีนา รังเหย้าของบาเยิร์น มิวนิค
บ่อยครั้ง ที่เราจะได้เห็นข่าว การประท้วงค่าตั๋วแพงของแฟนบอลเยอรมัน ยามพวกเขาต้องไปเยือน ทีมฟุตบอลในอังกฤษ ด้วยการเขียนป้ายด่า, โยนเงินปลอมลงสนาม หรือประท้วงด้วยการซื้อตั๋ว แต่ไม่เข้าสนามบอล
พวกเขาทำแบบนั้น เพราะว่าสำหรับแฟนบอลชาวเยอรมัน พวกเขาไม่เห็นว่า การมีราคาค่าตั๋วแพง จะส่งผลดีอะไรกับแฟนบอล นอกจากทำให้แฟนบอลท้องถิ่น เข้าสนามฟุตบอลของทีมรักได้ยากขึ้น ... ในเมื่อที่เยอรมัน แฟนบอลสามารถเข้าไปหาความสุข กับเกมลูกหนัง ด้วยราคาตั๋วไม่ถึง 10 ยูโร
Photo : www.wiesbadener-kurier.de
ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่แฟนบอลชาวเยอรมัน ที่แห่ตีตั๋วเข้าไปชมบุนเดสลีกาทุกสัปดาห์ แต่ลีกแห่งนี้ ได้รับความนิยมสูงขึ้นในหมู่แฟนบอลชาวอังกฤษ ที่จ่ายค่าตั๋วดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไม่ไหว แล้วหันมาเป็นแฟนบอลทีมระดับรากหญ้าในเยอรมันแทน
ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต, เอฟซี โคโลญจน์, อูนิโอน เบอร์ลิน หรือ แฮร์ธา เบอร์ลิน กลายเป็นทีมขวัญใจ ชาวแดนผู้ดี ที่หันมาเป็นสมาชิกสโมสรในเยอรมัน แทนสโมสรในบ้านเกิด เพราะสามารถชมฟุตบอล ที่มีบรรยากาศ และคุณภาพระดับใกล้เคียงกัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า
“เราต้องการให้ทุกคน มีโอกาสเข้าชมเกมในสนาม มันเป็นเรื่องง่าย ที่จะขึ้นราคาค่าตั๋ว แล้วสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเอาเงินจากแฟนบอล แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีสโมสรไหนอยากทำแบบนั้น”
“ในแง่ของธุรกิจ คุณพูดได้ว่านี่คือเรื่องผิดพลาดอย่างมหาศาล (การไม่ขึ้นค่าตั๋ว) แต่ถ้ามองถึงภาพรวมของกีฬาฟุตบอล ผมว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง” คริสเตียน ซีเฟิร์ต ซีอีโอของลีกบุนเดสลีกา กล่าว
สโมสรของแฟนบอล
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่วงการฟุตบอลเยอรมัน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือเรื่องของ แฟนบอลท้องถิ่น ... หลายการตัดสินใจ ในวงการฟุตบอลเมืองเบียร์ ต้องใช้เรื่องของแฟนบอล เป็นตัวตั้ง ในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะแฟนบอลเหล่านี้ คือผู้ขับเคลื่อนวงการฟุตบอลเยอรมัน ในฐานะเจ้าของสโมสร
Photo : www.dw.com | S. El-Saqqa
เป็นเรื่องปกติของโลกฟุตบอล ในปัจจุบัน ที่สโมสรจะถูกถือครองโดยมหาเศรษฐีพันล้าน แต่ที่เยอรมันกลับแตกต่างออกไป พวกเขามีกฎ 50+1 กฎที่บังคับให้แฟนบอลต้องถือหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสร หรืออย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ และสโมสรส่วนใหญ่ในเยอรมัน อยู่ภายใต้กฎนี้
เมื่อสโมสรฟุตบอล เป็นของแฟนบอล ดังนั้นแฟนบอลย่อมมีสิทธิ์ ในการบริหารสโมสรเพื่อให้ตอบสนองต่อแฟนบอล เช่น การไม่ขึ้นราคาค่าตั๋วเป็นต้น
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า สำหรับแฟนบอลที่เยอรมัน คือความรู้สึกของการเป็นเจ้าของสโมสร ... เมื่อคุณถือหุ้นสมาชิกของสโมสรฟุตบอลสักทีม ความผูกพันระหว่างคุณกับสโมสร จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสโมสรกับแฟนบอล แต่เป็นสโมสรกับเจ้าของฟุตบอล
สำหรับคนเยอรมัน พวกเขามีความรู้สึกแบบนั้นกับทีมฟุตบอล ... คนเมืองดอร์ทมุนด์ ไม่ได้เชียร์ดอร์ทมุนด์ เพียงเพราะพวกเขาชอบ หรือเป็นแค่ทีมประจำเมือง แต่พวกเขาคือเจ้าของทีมแห่งนี้ อยากเห็นสโมสรแห่งนี้ ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน
2
ความรู้สึกเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล คือส่วนสำคัญที่ทำให้บุนเดสลีกา มีแฟนบอลคอยเข้าสนามจำนวนมาก เพราะความรู้สึกนี้มีความหมายอย่างมาก กับแฟนบอลทีมขนาดเล็ก
Photo : www.dw.com
พูดให้เห็นภาพคือ ต่อให้ผลงานของทีมจะห่วยแค่ไหน แฟนบอลส่วนใหญ่ยังคงเลือกเข้าสนาม เพราะพวกเขาคือหนึ่งในคน ที่เป็นเจ้าของสโมสร ... ต่อให้ทีมผลงานแย่ เล่นไม่เอาอ่าว แต่นี่คือทีมของเรา ถ้าเราไม่สนับสนุน ส่งเสียงเชียร์ทีมที่ของเรา เราจะไปเชียร์ทีมไหน
การมีแฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสร คือการรับประกันได้ว่า ทุกสโมสรจะมีแฟนบอลพันธ์ุแท้ ที่พร้อมร่วมหัวจมท้ายไปกับทีม ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ... ทำให้ ลีกา 2 อันเป็นลีกระดับสองของฟุตบอลเยอรมัน มีค่าเฉลี่ยผู้ชม เยอะกว่าลีกสูงสุดของประเทศ โปรตุเกส, รัสเซีย และ เนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ การมีแฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสร ช่วยสร้างคาแรคเตอร์ของสโมสร ที่พัฒนามาจากคาแรคเตอร์ของกลุ่มแฟนบอล นำไปสู่การเกิดอัตลักษณ์เฉพาะ แตกต่างไม่เหมือนใครของสโมสร ที่ดึงดูดให้แฟนบอลเข้ามา เป็นแฟนพันธุ์แท้ของสโมสร
ยกตัวอย่างเช่น เอฟซี ซังค์ เพาลี ที่มีคาแรคเตอร์สโมสรฝ่ายซ้ายต้านเผด็จการ หรือ อูนิโอน เบอร์ลิน สโมสรของชนชั้นแรงงาน ... อัตลักษณ์เหล่านี้ ช่วยให้สนามฟุตบอล ไม่เป็นเพียงสถานที่สำหรับชมกีฬาเพียงอย่างเดียว สำหรับแฟนบอล
Photo : www.theguardian.com
แต่ยังเป็นพื้นที่ แสดงออกทางความคิดต่างๆ ที่แฟนบอลไม่สามารถแสดงออกได้ในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งที่สโมสรฟุตบอลเยอรมัน ทำป้ายแบนเนอร์ เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีให้เห็น ตั้งแต่ทีมระดับ บาเยิร์น หรือ ดอร์ทมุนด์ จนถึงทีมลีกระดับล่าง
ท้ายที่สุด การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลโดยแฟนบอล ได้เพิ่มคุณค่า ความหมายให้กับทีมฟุตบอล ให้เป็นมากกว่าทีมกีฬา ทำให้แฟนบอลสามารถซื้อตั๋ว เข้าสนามฟุตบอล ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่มีผลต่อยอดคนดูของบุนเดสลีกา
มอบสิ่งที่ดีให้แฟนบอล
จุดสำคัญที่ทำให้บุนเดสลีกา ครองความเป็นเลิศด้านแฟนบอล ไม่ได้มาจากทีมหัวตาราง แต่มาจากจำนวนผู้ชมในทีมระดับกลางตาราง ที่มีแฟนบอลเข้าสนามไม่แพ้ทีมชั้นนำ
Photo : metro.co.uk
ฤดูกาล 2019-20 ก่อนที่ฟุตบอลยุโรปจะระงับการแข่งขันชั่วคราว มี 11 สโมสรในบุนเดสลีกา (จากทั้งหมด 18 ทีม) มีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยมากกว่า 40,000 คน ขณะที่พรีเมียร์ ลีก มีจำนวนเพียง 8 ทีม และลาลีกา สเปน มีเพียง 4 ทีมเท่านั้น ที่มียอดคนดูมากกว่า 40,000 คน
เป็นเรื่องปกติของทีมระดับกลางไปจนล่าง ที่จะไม่สามารถสร้างยอดผู้ชม ได้เท่ากับทีมหัวตาราง ด้วยเรื่องผลการแข่งขัน ที่ไม่สามารถมอบชัยชนะ หรือความสุขให้กับแฟนบอลได้บ่อยนัก และปฏิเสธไม่ได้ว่า หากทีมไม่ชนะเข้าบ่อยๆ การที่แฟนบอลจะไม่เข้าสนาม คงไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่สโมสรฟุตบอลเยอรมัน ทดแทนความสุขจากผลการแข่งขัน ด้วยการทำกิจกรรมกับคนในชุมชน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด คือการเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการซ้อมของทีม
ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ แทบไม่เปิดโอกาสให้แฟนบอล เข้าไปดูการซ้อมของทีม แต่ที่เยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นทีมระดับ บาเยิร์น จนถึงทีมระดับลีกล่าง ทุกทีมล้วนมีช่วงเวลาอนุญาต ให้แฟนบอลเข้ามาเกาะติดข้างสนามซ้อม เพื่อใกล้ชิดกับนักฟุตบอลในดวงใจ และได้โอกาสถ่ายรูป ขอลายเซ็นจากนักฟุตบอล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ทุกสโมสรประสบความสำเร็จ กับการเปิดให้แฟนบอลเข้าสู่สนามซ้อม มีแฟนจำนวนมาก เข้ามาชมทีมซ้อม แม้ไม่ใช่ในช่วงวันหยุด ... หากสโมสรสามารถดึงดูดให้แฟนบอล เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับทีม ได้ในวันปกติ การจะเรียกแฟนบอลเข้าสู่สนามแข่ง ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
Photo : www.bayernforum.com
นอกจากนี้ สโมสรฟุตบอลเยอรมัน มักทำกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลท้องถิ่น เช่น ในช่วงระบาดไวรัส โควิด-19 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปรับสนามเหย้าของทีม ให้กลายเป็นศูนย์รักษาผู้ติดเชื้อ โควิด-19 หรือ แวร์เดอร์ เบรเมน ทำอาหารแจกทุกวัน ให้กับคนไร้บ้านในเมือง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ ที่พบกับความลำบากช่วงโรคระบาด
เมื่อสโมสรในเยอรมัน มอบสิ่งดีๆ หลายอย่าง ให้กับชุมชน แฟนบอลจึงต้องการที่จะตอบแทน คืนให้กับสโมสรเช่นกัน ในฐานะแฟนบอล คงไม่มีวิธีใด ที่จะดีไปกว่า การซื้อตั๋วเข้าไปช่วยเชียร์ทีมในสนาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ กับค่าตั๋วราคาไม่กี่ยูโร
ทุกเรื่องราวความสัมพันธ์ ระหว่างสโมสรกับแฟนบอลที่เยอรมัน สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพยายามไม่ให้ความสำคัญ คือเรื่องของเงิน ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ... ไม่ได้หมายความว่า สโมสรฟุตบอลในเยอรมัน ไม่สนใจเรื่องเงิน ในทางกลับกัน พวกเขาใช้เงินอย่างประหยัด ในการซื้อขายนักเตะ เพราะหลายสโมสร มีประสบการณ์เฉียดล้มละลายมาแล้ว
แต่สโมสรเยอรมัน จะไม่ยอมให้ความสัมพันธ์กับแฟนบอล ว่าด้วยเรื่องของเงิน ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่มีการทุ่มเงินซื้อนักเตะ เพื่อเรียกสปอนเซอร์หรือแฟนบอลเข้ามาสนับสนุน ก่อนจะกลับมาขูดรีดแฟนบอล ด้วยค่าตั๋วราคาแพง
หากทำแบบนั้น สักวันหนึ่งที่ทีมเลิกทุ่มเงินหรือผลงานไม่ดี แฟนบอลที่เข้ามาเชียร์ตามกระแส หรือผลงานจะหายไป ... แต่สิ่งที่ทำให้แฟนบอลเยอรมัน ยังคงสนับสนุนทีมรักไม่ว่าจะขึ้นหรือลง คือความผูกพันที่ทั้งสองฝั่งสร้างขึ้น เมื่อสโมสรฟุตบอลถูกสร้างเพื่อผลประโยชน์ของแฟนบอล แฟนบอลก็พร้อมให้การสนับสนุนสโมสร
Photo : www.cbssports.com
แม้แต่ในวันที่โรค โควิด-19 ระบาด แฟนบอลสโมสร โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ได้ส่งทำคัตเอาต์ เป็นรูปหน้าของแฟนบอล นำไปตั้งไว้ในสนาม เพื่อให้นักบอลไม่รู้สึกเงียบเหงา และรับรู้ถึงความรู้สึกที่ยังมีแฟนบอลหนุนหลังอยู่ แม้ความจริงแฟนบอลจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนามก็ตาม
เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ลีกฟุตบอลบุนเดสลีกา กลับมาทำการแข่งขันอีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ต้องขาดเสน่ห์สำคัญ อย่างแฟนบอลที่คอยหนุนหลังทีม จนถึงวินาทีสุดท้าย ... อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่แฟนบอลได้กลับเข้าสู่สนามอีกครั้ง เราจะได้เห็นฟุตบอลบุนเดสลีกา ที่เต็มไปด้วยแฟนบอล อันมีจำนวนเป็นอันดับหนึ่งของโลก เหมือนเช่นวันวานที่ผ่านมา
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา