15 พ.ค. 2020 เวลา 09:00 • ไลฟ์สไตล์
รู้ก่อนใช้ 'ไทยชนะ' แพลตฟอร์ท เช็คอินเข้าออกห้างร้าน มาตรการเฟส 2
แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" จาก ศบค. ซึ่งเป็นมาตรการเสริมเพื่อมารองรับการประกาศผ่อนคลายระยะที่ 2 ให้ห้างร้านกลับมาเปิดบริการได้ (17 พ.ค.นี้) ช่วยให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ราบรื่นพร้อมๆ กับควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำ
วานนี้ (14 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ชี้แจงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะผ่อนคลายต่อเนื่องในเฟสสอง (วันที่ 17 พ.ค. ที่จะถึงนี้)
ว่าได้มีการพัฒนาแพลฟอร์ม "ไทยชนะ" เพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยวิธีการเช็คอินและเช็คเอาท์ ทั้งนี้ประชาชนต้องปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อช่วยกันควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำได้อีก
ก่อนจะถึงวันใช้งานจริงในวันที่ 17 พ.ค. 2563 "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคุณมารู้จักแนวทางการทำงาน และวิธีใช้งานแพลฟอร์ม "ไทยชนะ" กันให้มากขึ้น ดังนี้
รู้ก่อนใช้ 'ไทยชนะ' แอปฯ เช็คอินเข้าออกห้างร้าน มาตรการเฟส 2
1. "ไทยชนะ" แอปฯ ติดตามตัวผ่านโทรศัพท์มือถือ
แอพพลิเคชั่น "ไทยชนะ" เป็นแพลตฟอร์มที่ทางทีมงาน ศบค. มีไอเดียจัดทำขึ้นมา เป็นแอพพลิเคชั่นติดตามตัวผ่านโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและสำหรับผู้ใช้บริการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนจับจ่ายซื้อของจากห้างร้านได้อย่างง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังปลอดภัยต่อการติดเชื้อเนื่องจากใช้แอปฯ แล้วจะช่วยลดการสัมผัสสิ่งของและธนบัตรได้
ขณะเดียวกันทาง ศบค. ก็ได้เชิญชวนให้ประชาชนปรับเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ไปด้วยกัน เนื่องจากประเทศไทยยังต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 นี้ไปอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" นี้ถูกตั้งชื่อดังกล่าวโดย ผอ.ศบค. ซึ่งมีความหมายดีและให้ความรู้สึกฮึกเหิม
2. ธนาคารกรุงไทย เจ้าภาพทำแอปฯ "ไทยชนะ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" ดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ต้องการให้แพลตฟอร์มนี้เสร็จก่อนการประกาศผ่อนปรนเฟสสองในวันที่ 17 พ.ค.นี้ คาดว่าธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าภาพผู้ดำเนินการแพลตฟอร์มดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการไม่ใช้เงินสด จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด โดยให้เช็คอินและเช็คเอาท์ในการใช้บริการ ประเมินร้านค้าและชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดโดยใช้ได้กับทุกธนาคาร
อีกทั้งในวันที่ 17 พ.ค. 2563 ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบลดเวลา "เคอร์ฟิว" จากเดิม 22.00 น. ถึง 04.00 น. มาเป็น 23.00 น. ถึง 04.00 น. ในส่วนของห้างสรรพสินค้า อาจจะต้องมีการปรับเวลาในการเปิดและปิด มาเป็น 10.00 น. ถึง 20.00 น. เพื่อให้พนักงานมีเวลาเตรียมตัว
3. แนวทางการใช้แอปฯ "ไทยชนะ" เบื้องต้น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันว่าเมื่อทาง ศบค. ประกาศผ่อนคลายระยะที่ 2 ให้ห้างสรรพสินค้า กลับมาเปิดให้บริการได้ ในวันที่ 17 พฤษภาคมนนี้ แอปพลิเคชันดังกล่าวจะพร้อมใช้งานได้ทันที อีกทั้งยังได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีใช้งานแอปฯ "ไทยชนะ" ในเบื้องต้นไว้ว่า
ขั้นแรก: ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ดังกล่าวใส่ในโทรศัพท์มือถือไว้ พร้อมทั้งลงทะเบียนออนไลน์เพื่อให้มีชื่ออยู่ในแพลตฟอร์ม แล้วก็จะได้รับคิวอาร์โค้ดของร้าน จากนั้นนำคิวอาร์โค้ดนั้นๆ มาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าร้านของตัวเอง
ขั้นที่สอง: สำหรับประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหรือร้านบริการต่างๆ (ร้านเสริมสวย ร้านทำผม ร้านตัดขนสุนัข ฯลฯ) ก็จะต้องโหลดแอปฯ เช่นกัน จากนั้นใช้แอปฯ ในการสแกนคิวอาร์โค้ด ณ ห้างฯ หรือร้านนั้นๆ ก่อนเข้าใช้บริการ เป็นการเช็คอินก่อนเข้าร้าน และต้องเช็คเอาท์ขณะที่กำลังจะออกจากร้านด้วย และไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์สำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น
ขั้นที่สาม: ระหว่างที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการในห้างร้าน แอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีฟังก์ชันการจ่ายเงินออนไลน์ติดตั้งไว้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินในการจ่ายชำระค่าสินค้า ก็จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจติดมาจากการรับเงินสดได้ ส่วนวิธีใช้งานจ่ายเงินออนไลน์นั้น ใช้งานง่ายไม่ต่างจากแอปพลิเคชันชำระเงินทั่วไป โดยต้องเติมเงินเข้าไปในระบบก่อนแล้วตามด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ
4. ประโยชน์และข้อดีของแอปฯ "ไทยชนะ"
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อธิบายถึงข้อดีและคุณสมบัติที่โดดเด่นของแพลตฟอร์มนี้ไว้ว่า ขณะที่ใช้งานแอปฯ "ไทยชนะ" จะทำให้ประชาชนรู้ว่าห้างสรรพสินค้าที่กำลังจะไปนั้นมีจำนวนคนอยู่หนาแน่นหรือยัง ถ้าหนาแน่นแล้วก็จะได้เลือกไปจับจ่ายที่อื่นได้ทันที ไม่ต้องเสี่ยงไปเจอผู้คนจำนวนมากและไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย
ส่วนร้านค้าหรือร้านที่ให้บริการอื่นๆ เช่น ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม หากใช้แอปฯ นี้ก็จะสามารถติดตามฟีดแบ็คจากลูกค้าได้ว่าประทับใจในการบริการหรือไม่ เพราะในตัวแอปฯ จะมีส่วนของการให้เรตติ้งร้านค้าต่างๆ ได้ด้วย เป็นการควบงคุมคุณภาพของการบริการไปในตัว หากเจ้าของกิจการบริการดี มีเรตติ้งสูงก็จะสามารถดึงลูกค้าให้กลับมาหาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์
โฆษณา