16 พ.ค. 2020 เวลา 06:45 • ธุรกิจ
ถอดบทสนทนา 'เจ้าสัวซีพี' วิธีเตรียมคนบุกทุกทวีป สร้างความมั่นคงอาหาร
ในยุคหลังจากโควิด-19 พฤติกรรมมนุษย์จะเปลี่ยนไปและไม่กลับมาเหมือนเดิม การใส่ใจเรื่องอาหาร สุขภาพและความปลอดภัยจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ วันนี้หากถามถึงบริษัทไทยที่มีบทบาทสำคัญเรื่องความมั่นคงอาหารและปัจจุบันนำธงชาติไทยไปอยู่บนยอดเสาในกว่า22 ประเทศที่ไปลงลงทุนก็คงต้องพูดถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร (world food security) ซึ่งเจ้าสัวสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณ์ (ซีพี) ได้มาตอบคำถามอย่างละเอียด ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน
บทความโดย ทีมข่าวโต๊ะธุรกิจ I กรุงเทพธุรกิจ
ถอดบทสนทนา 'เจ้าสัวซีพี' วิธีเตรียมคนบุกทุกทวีป สร้างความมั่นคงอาหาร I กราฟิกโดย วิบูลย์ ดีเอี่ยม
หลังโควิด-19 โลกของเราจะขาดแคลนอาหารหรือไม่?
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าโควิด-19 จะทำให้หลายประเทศต้องหยุดชะงัก หลายประเทศประสบปัญหาต้องปิดโรงงาน ทำให้อาหารขาดแคลนมาก แต่ผมมองโลกในแง่ดี ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้น สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร เมื่อปัญหาคลี่คลาย ยุคต่อไปอาหารมีแต่จะเกิน เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยี และมีการผลิตอาหารที่ทันสมัย
ยิ่งประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ การขาดแคลนอาหารคงไม่เกิด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ สินค้าเกษตรบางตัวล้นตลาด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนั้น การบริหารกลไกตลาดจึงมีควาสำคัญ และ หากแก้ปัญหาชลประทานได้ด้วย เกษตรกรจะมีตัวเลือกในการเพาะปลูก เลือกพืชราคาสูงเพิ่มมากขึ้น และจะมีรายได้ดีขึ้น แต่ต้องสมดุลกับความต้องการตลาดด้วย
วันนี้ซีพีขยายไปหลายประเทศ จะถือว่าเป็นบริษัทระดับโลกแล้วหรือไม่?
ก่อนอื่นต้องบอกว่าซีพีเป็นบริษัทของคนไทย ถึงแม้ว่าเราขยายไปหลายประเทศในโลก แต่ผมภูมิใจเสมอที่เราเป็นบริษัทไทยที่ออกไปแข่งขันในระดับโลกอย่างทัดเทียม ทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจ เราไปพร้อมธงชาติไทยประดับขึ้นบนยอดเสาในทุกโรงงาน ทุกสำนักงาน ในทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจ
1
และมีพระบรมฉายาลักษณ์ที่แสดงถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทำให้บริษัทคนไทยมาได้ถึงทุกวันนี้ กลับมาที่คำถามว่า เราเป็นบริษัทระดับโลก (International Company) แล้วหรือไม่ ผมอาจสรุปว่า วันนี้รายได้ของเครือซีพีกว่า60% มาจากต่างประเทศ ลงทุนกว่า22 ประเทศทั่วโลก และ ขายสินค้าให้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ก็นับได้ว่า เราเป็นบริษัทที่แข่งขันในเวทีโลกมาหลายสิบปีแล้ว
โควิดกระทบซีพีในประเทศใดมากที่สุด?
ซีพีทำธุรกิจเกษตรและอาหาร ทำให้เราต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ หากบริหารไม่ดีแล้วปิดโรงงานก็จะกระทบหนัก แต่จนถึงวันนี้ยังถือว่าเราเตรียมความพร้อมได้ดี ทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจ เรายังทำธุรกิจได้ต่อเนื่อง ไม่ถูกปิดโรงงาน เพราะเราเรียนรู้ และมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ หลายครั้งที่คนบอกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยครั้งใหญ่ สร้างผลกระทบรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง
แต่ผมว่า ต้องมองโลกในแง่ดี ยามฟ้ามืด ต้องคิดถึงเมื่อยามสว่าง ผมมีนโยบายชัดว่า เราจะไม่ปลดคนงานจากปัญหาโควิด19 ผมเชื่อว่าเป็นแค่อัมพาตชั่วคราว แต่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังอยู่ รัฐต้องประคองบริษัทรายเล็ก รายน้อยให้อยู่รอดเมื่อพ้นวิกฤตต้องลุกมาวิ่งได้
ดังนั้นยามที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเทศไทยต้องคิดว่า จะต้องเตรียมความพร้อม อยู่รอดอย่างเดียวไม่พอ ต้องช่วยเขาปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคหลังโควิด(new normal) ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ถึงแม้ว่าธุรกิจอาหารจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ทำให้ซีพีในทุกประเทศต้องปรับตัว และต้องรวดเร็ว
1
ซีพีเริ่มต้นการลงทุนในประเทศจีนตั้งแต่เมื่อใด และกรณีอู่ฮั่น ที่ซีพีมีโรงงานกระทบมากน้อยเพียงใด?
ซีพีเป็นบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน หลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521 เราเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน อีกทั้งเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ดังนั้นหากพูดถึงโควิด-19 ซีพีก็ได้เรียนรู้ บทเรียนและประสบการณ์จากกรณีอู่ฮั่น ในประเทศจีน ซึ่งได้ถ่ายทอดสู่ประเทศไทย ในการรับมือกับการระบาดของไวรัส COVID-19
หากพูดผลกระทบต่อประเทศจีน ต้องถือว่าไม่มาก และปรับตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ที่มีการเชื่อมโยงชุมชนในการกระจายสินค้า และการดูแลด้านความปลอดภัยแบบครบวงจร ทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และ พนักงานทุกคน มีรถรับส่ง และมีที่พักภายในโรงงาน ทำให้มั่นใจได้ว่า จะผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง
ตลาดอเมริกาสำคัญกับซีพีขนาดไหน?
ทุกทวีปมีความแตกต่างกัน ซีพีไปทำธุรกิจประเทศไหน สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ จะทำประโยชน์ให้ประเทศนั้นได้อย่างไร และตามมาด้วยประชาชนของเขาจะได้ประโยชน์อย่างไร เราจึงต้องทำของดีราคาถูก ตลาดอเมริกามีศักยภาพมาก จำนวนประชากรถึง 325 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรโลก มีกำลังซื้อสูง
ประกอบกับยังมีมูลค่าธุรกิจอาหารมากกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารกินเล่นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีราว 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก ดังนั้น ซีพีจึงได้ให้ความสำคัญกับตลาดอเมริกา นอกจากนี้อเมริกาเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และ รีเสริซ ที่ซีพีต้องเรียนรู้ และนำมาใช้กับธุรกิจอีกมาก
ทำไมซีพีจึงเลือกผนึกรายใหญ่ “เบลลิซิโอฟู้ด” เพื่อเจาะตลาดอเมริกา?
เวลาซีพีไปลงทุนในประเทศอื่น ต้องถ่อมตน ให้คนในท้องถิ่นดูแล เพราะเขาจะเข้าใจประเทศนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับ บริษัทเบลลิซิโอที่มีคนเก่งและมีประสบการณ์ เราต้องให้โอกาสคนเก่งในประเทศที่ไปลงทุนบริหาร ส่วนเราดูแลด้านการเงินและยุทธศาสตร์หลัก ๆ หากย้อนไปช่วงปลายปี 2559 ซีพีซื้อกิจการของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ต้องถือว่าคุ้มค่า เพราะเขาเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา
เบลลิซิโอฟู้ด
และยังเข้ากับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่เบลลิซิโอเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบบ Single Serve ภายใต้แบรนด์ มิชิลิน่าส์ (Michelina’s) แอทคินส์ (Atkins) บอสตันมาร์เก็ต (Boston Market) ชิลีส์ (Chili’s) อีทติ้งเวล (EatingWell) และอีท (Eat!) รวมทั้งเป็นผู้ผลิตร่วมสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (Private Label) และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต่างๆ ซึ่งการประเดิมนำเข้าสินค้าแบรนด์บอสตัน มาร์เก็ต เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนด้วย ต้องถือได้ว่า บริษัทคนไทย ก็ได้ชูธงไทยไกลถึงอเมริกาในวันนี้
ซีพีขยายฐานในยุโรปด้านใดบ้าง?
ในยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีหลายประเทศที่ซีพีให้ความสำคัญ อาทิ การเข้าลงทุนในประเทศโปแลนด์ ถือเป็นก้าวแรกของซีพีที่เข้าไปดำเนินธุรกิจไก่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประเทศโปแลนด์เป็นประเทศที่เป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าสัตว์ปีกเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบ มีต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ต่ำ แต่หากพูดถึงในยุคนี้ ซีพีขยายตลาดในยุโรป ซื้อกิจการอาหารพร้อมรับประทาน "ท็อปส์ฟู้ดส์" ในเบลเยียม
นอกจากจะขยายฐานการผลิต-เสริมกระจายสินค้าในยุโรป Tops Foods ยังมีเทคโนโลยีถนอมอาหารที่ยอดเยี่ยม และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน โดยมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานจำนวนประมาณ 100,000 ถาดต่อวัน เพิ่มจุดแข็งการเป็นครัวของโลก ด้วยการขยายฐานการผลิตอาหารพร้อมรับประทานไปยังทวีปยุโรป เพื่อการจำหน่ายให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในแถบนั้นโดยโรงงานของ Tops Foods เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารพร้อมรับประทานด้วยไมโครเวฟที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน
โฆษณา