17 พ.ค. 2020 เวลา 09:49 • สุขภาพ
เปิดข้อบังคับ 50 หน้า บุนเดสลีก้า วางมาตรการ New Normal วงการฟุตบอลป้องกัน Covid-19
บุนเดสลีก้า หรือฟุตบอลลีกของประเทศเยอรมัน เพิ่งกลับมาเปิดลีกดวลแข้งอีกครั้งในวันเสาร์ที่ผ่านมา ด้วยบรรยากาศเงียบเหงา เพราะไม่อนุญาตให้แฟนฟุตบอลเข้าชมในสนาม โดย เยอรมัน มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 175,000 คน ณ วันที่ 17 พฤษภาคม มากที่สุดอันดับ 8 ของโลก แม้ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังหลักร้อย แต่จำนวนก็ยังลดลงทุกวัน
แต่ทำไม รัฐบาลเยอรมัน ถึงอนุญาต ให้ฟุตบอล ที่ดูจะเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื่อ Covid-19 กลับมาแข่งขันได้ แล้วก็ต้องไปดูความพยายามของ DFL (Deutsche Fußball Liga) ที่เสนอมาตรการกว่า 50 หน้า ออกมาเป็นแนวทางในสโมสร นักฟุตบอล และทีมงานปฏิบัติ หลายๆ ข้อทุกคนอาจจะได้ยิน ได้เห็น เช่นห้ามดีใจแบบโดนตัวกัน ไม่มีผู้ชมเข้าชมการแข่งขัน ต้องอยู่แต่ในโรงแรม หรือกระทั่งจำกัดคนในสนามให้ไม่เกิน 300 คน
วันนี้เราไปค้นหา มาตรการ 50 ข้อที่ DFL ออกมาเป็นแนวทาง ให้ทุกคนได้เห็นว่า การป้องกันของ บุนเดสลีก้า เข้มงวดขนาดไหน ยิ่งบวกกับ เยอรมันมาตรฐาน ที่เป็นลักษณะนิสัยของคนเยอรมัน ทุกๆ อย่างจะถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และไม่มีข้อยกเว้น จนมีข่าวออกมาว่า โยอาคิม เลิฟ เฮดโค้ชทีมชาติเยอรมัน ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมในสนาม
DFL ออกมาตรการ โดยจะครอบคลุมการแข่งขัน บุนเดสลีก้า, บุนเดสลีก้า 2, เดเอฟเบ โพคาล, ฟุตบอลลีก และฟุตบอลถ้วยหญิง, เกมที่ชาติที่เล่นในเยอรมัน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และในระดับเยาวชน โดย มาตรการตัวนี้ DFL จะแบ่งออกเป็นข้อย่อยไล่ตั้งแต่ การจัดการภายในสนาม, ข้อปฏิบัติในวันที่มีการแข่งขัน, ข้อแนะนำในการปฏิบัติงานในวันแข่งขัน ทั้งของนักฟุตบอล เจ้าหน้าที่ทีม บุคลากร รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสด นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ข้อแนะนำและวิธีการปฏิบัติในช่วงเวลาฝึกซ้อม, การพักอาศัยในโรงแรม หรือภายในบ้าน การปฏิบัติตัวเวลาอยู่บ้านทั้งของนักฟุตบอล และบุคคลในครอบครัว ทั้งในเวลาปกติ และหากถูกกักตัว ทั้งหมดรวม 50 หน้า
ในส่วนแรก DFL จะให้ความสำคัญมากที่สุดคือในวันแข่งขัน โดยเริ่มจากทุกสนามที่ใช้ในการแข่งขันจะต้องมีการจัด โซน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 โซน ไล่แต่ตั้งแต่โซนภายในสนาม โซนอัฒจันทร์และที่นั่ง โซนโดยรอบสนาม โดย DFL จำกัดคนภายในการแข่งขันต้องใช้ไม่เกิน 300 คน และในแต่ละโซนจะต้องมีคนอยู่พร้อมกันไม่เกิน 100 คน โดยไม่มีการหักลบกัน เช่น โซน 1 มี 50 คน โซน 2 มี 150 คน แบบนี้ทำไม่ได้ โซนนึงจะต้องมีคนไม่เกิน 100 คนในช่วงเวลาเดียวกัน
แต่ DFL ยังเว้นช่องว่างไว้นิดหน่อยตรงที่ระบุว่า ตัวเลข 100 คน เป็นตัวเลขที่เกิดจากการประเมิณว่าการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ จะใช้คนจำนวนประมาณนี้ ซึ่งแต่ละสนามจะไม่เท่ากัน และอาจจะเกินไปนิดหน่อย แต่ DFL เน้นย้ำตรงที่ ต้องใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยแพลนที่ DFL ทำขึ้นมานั้นระบุไว้เลยว่า ณ เวลาช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งก่อนการแข่งขัน ภายในโซนหนึ่งจะมีใคร ทำอะไร ตำแหน่งหน้าที่อะไร อยู่จำนวนกี่คน รวมคนทั้งหมดในช่วงเวลานั้นมีกี่คน
เรามายกตัวอย่างแบบให้เห็นภาพกัน สมมุติว่าฟุตบอลเริ่มการแข่งขันในเวลา 15.30 น. การเตรียมงานจะเริ่มในเวลา 08.00 น. ผมจะยกตัวอย่างแบบละเอียดตามที่ DFL ระบุเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตามจำนวนคนหรือหน้าที่ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และตามรูปแบบของสนามได้ โดยห้ามเกิน 100 คนต่อโซน และ 300 คนต่อสนามตามที่ระบุไว้ข้างต้น
โซน 1
- เวลา 08.00 น. (เตรียมงาน) ผู้ดูแลสนาม 8 คน รปภ. 2 คน รวม 10 คน
- เวลา 10.00 น. (เตรียมงาน) ผู้ดูแลสนาม 8 คน รปภ. 2 คน เจ้าหน้าดูแลสัญญาณ+VAR+ข้อมูลต่างๆ 23 คน เจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ 5 คน รวม 38 คน
- เวลา 12.00 น. (เตรียมงาน) ทีมผู้ฝึกสอน 8 คน ผู้ดูแลสนาม 8 คน รปภ. 4 คน เจ้าหน้าดูแลสัญญาณ+VAR+ข้อมูลต่างๆ 23 คน เจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ 5 คน รวม 48 คน
- เวลา 14.00 น. (เริ่มกิจกรรม) นักฟุตบอล 22 คน ตัวสำรอง 18 คน ทีมผู้ฝึกสอน 20 คน ผู้ตัดสิน 5 คน เด็กเก็บบอล 4 คน ช่างภาพ 3 คน ทีมแพทย์ 4 คน เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ 3 คน รปภ. 4 คน เจ้าหน้าดูแลสัญญาณ+VAR+ข้อมูลต่างๆ 15 คน รวม 98 คน
- เวลา 15.30 น. (คิกออฟ) นักฟุตบอล 22 คน ตัวสำรอง 18 คน ทีมผู้ฝึกสอน 20 คน ผู้ตัดสิน 5 คน เด็กเก็บบอล 4 คน ช่างภาพ 3 คน ทีมแพทย์ 4 คน เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ 3 คน รปภ. 4 คน เจ้าหน้าดูแลสัญญาณ+VAR+ข้อมูลต่างๆ 15 คน รวม 98 คน
- เวลา 17.30 น. (จบการแข่งขัน) นักฟุตบอล 22 คน ตัวสำรอง 18 คน ทีมผู้ฝึกสอน 20 คน ผู้ตัดสิน 5 คน เจ้าหน้าที่ตรวจโด๊ป 2 คน ช่างภาพ 3 คน ทีมแพทย์ 4 คน เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ 3 คน รปภ. 4 คน เจ้าหน้าดูแลสัญญาณ+VAR+ข้อมูลต่างๆ 13 คน เจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ 6 คน รวม 100 คน
- เวลา 17.30 น. (จบกิจกรรม) นักฟุตบอล 4 คน ทีมผู้ฝึกสอน 8 คน เจ้าหน้าที่ตรวจโด๊ป 2 คน ผู้ดูแลสนาม 8 คน รปภ. 4 คน เจ้าหน้าดูแลสัญญาณ+VAR+ข้อมูลต่างๆ 13 คน เจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ 6 คน รวม 45 คน
ผมขอยกแบบละเอียดแค่โซนเดียวพอนะครับ ส่วนโซน 2 เจ้าหน้าที่ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจ, เจ้าหน้าที่สนาม, แขกทีมเหย้าทีมเยือน, นักข่าว และในโซน 3 จะเป็นพวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
และบวกความละเอียดไปอีกขั้น DFL ออกแบบ วางแผน โดยการดึงแผนผังสนาม และระบุตำแหน่งว่า เจ้าหน้าที่คนใด ตำแหน่งอะไร ควรประจำจุดไหนในสนาม โดยแผนทั้งหมด มีการแบ่งแยก บุนเดสลีก้า และบุนเดสลีก้า 2 อย่างชัดเจน ซึ่งหมายความว่า ลีกล่างอย่าง บุนเดสลีก้า 2 ไม่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนเยอะเท่าลีกสูงสุด
ถัดมาคือข้อปฏิบัติภายในสนาม เป็นข้อแนะนำและวิธีการปฏิบัติผมจะยกอันที่สำคัญๆ มาเป็นตัวอย่าง โดยส่วนนี้ระบุไว้กว่า 32 ข้อ ครอบคลุม ทุกอย่างในวันแข่งขัน ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ทีม พ่อครัว เด็กเก็บบอล การใช้ห้องอาบน้ำ หรือฟิตเนส หรือขวดน้ำดื่ม
- ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพ โดยเจ้าหน้าที่อนามัย
- ภายในสนามจะต้องมีจุดตรวจเป็นระยะ โดยแต่ละจุดจะมีที่วัดไข้ ผ่านทางหู และผู้ที่ผ่านจะต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส
- หน้าห้องจะต้องมีเจล หรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกห้อง
- ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อห้องต่างๆ
- เลี่ยงการสัมผัสกลอนประตู
- ทุกคนต้องสวมใส่แมส เว้นนักกีฬา และผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในสนามฟุตบอล (แต่โค้ช และตัวสำรอง และเจ้าหน้าที่ข้างสนามต้องใส่แมสด้วยเช่นกัน)
- ลูกฟุตบอลจะถูกฆ่าเชื้อก่อนการแข่งขัน และระหว่างการแข่งขัน
- อาหารของทีม จะต้องทำโดยพ่อครัวของทีมเท่านั้น และพ่อครัวจะต้องเป็นคนนำมาในสนาม ห้ามใช้บุคคลที่ 3 และเว้นระยะระหว่างการกินอาหาร 1.5 เมตร
ก่อนจะเข้าสู่ข้อกำหนดที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ
1. การเดินทางของเจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลเข้ามาในสนาม
- เจ้าหน้าที่ และนักฟุตบอล จะเดินทางโดย รถบัส หรือรถสโมสร หลายคัน ภายในรถจะต้องเว้นระยะห่าง 1.5 เมตรเป็นอย่างน้อย สวนหน้ากาก และรถต้องฆ่าเชื้อก่อนใช้งาน
- แนะให้ใช้รถส่วนตัวเดินทางมายังสนามได้ หากเป็นไปได้ แต่ต้องคนละคันเท่านั้น
- ทั้งสองทีมต้องมาถึงสนาม คนละเวลากัน ร่วมถึงใช้เส้นทางคนละเส้นทางในการเดินไปยังห้องแต่งตัว หรือใช้บริเวณที่เป็นพื้นที่กว้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละสนาม
2. ห้องแต่งตัว รวมห้องผู้ตัดสินด้วย
- ต้องเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ภายในห้องแต่งตัว หรือแบ่งเวลาการใช้ระหว่าง ผู้เล่น ตัวสำรอง และผู้รักษาประตู
- นักฟุตบอลจะต้องเปลี่ยนชุด และเตรียมตัวภายในห้องแต่งตัว ภายในเวลาที่น้อยที่สุด หรือประมาณ 30-40 นาที
- ทุกคนที่อยู่ภายในห้องแต่งตัวต้องสวมแมส
3. อุโมงค์
- ผู้เล่นจะต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งกันละกันตลอดเวลา รวมถึงในระว่างการ วอร์ม-อัพ การเดินลงสนาม พักครึ่ง หรือหลังจากเกมการแข่งขัน
- การใช้อุโมงค์ ใช้กฎว่าใครมาถึงก่อนใช้ก่อน ไม่ต้องรอครบทีม หรือรอผู้เล่นคนอื่น โดยสามารถปรับเปลี่ยนตามลักษณะอุโมงค์ได้
- การตรวจอุปกรณ์ต่างๆ ผู้ช่วยผู้ตัดสินจะเข้าไปตรวจสอบภายในห้องแต่งตัว โดยผู้ช่วยผู้ตัดสินจะต้องสวมแมส
4. การเดินเข้าสนาม
- ไม่มีการจูงเด็ก, ไม่มีมาสคอส, ไม่มีพิธีการพิเศษ, ไม่มีการจับมือ, ไม่มีการรวมทีม (คือการรวมกอดคอ เรียกกำลังใจ)
- ไม่มีการถ่ายรูปทีม (ช่างภาพจะต้องประจำตำแหน่งหลังโกล หรือรอบสนามตามที่จัดไว้เท่านั้น)
5. โซนเทคนิค หรือบริเวณข้างสนาม
- โดยรอบสนามต้องไม่มีใครเลยเว้นบริเวณ ม้านั่งสำรอง และบริเวณวอร์ม (เว้น บอลบอย, ตากล้องถ่ายทอดสด, เจ้าหน้าที่แพทย์, ผู้ตัดสินที่สี่ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย)
- การถ่ายทอดสดต้องใช้คน หรือใช้ตากล้อง น้อยที่สุด
- บริเวณม้านั่งสำรอง จะต้องเว้นทุกๆ 2-3 ที่นั่ง หรือแน่ใจว่าเว้นระยะห่างเกิน 1.5 เมตร โดยอนุญาติให้ทำการขยายหรือต่อเติมเก้าอี้นั่ง โดยจะปรับขึ้นไปบริเวณอัฒจันทร์ หรือขยายออกข้างๆ ก็ได้
6. พักครึ่งเวลาการแข่งขัน จะต้องสลับการเดินเข้าไปในอุโมงค์
7. Mix Zone
- ห้องแถลงข่าวและ Mix Zone จะไม่เปิดให้ใช้งาน โดยการแถลงข่าวจะทำด้วยระบบออนไลน์ และลดการสัมภาษณ์ให้น้อยที่สุด
ซึ่งที่ผมไล่ดูทาง DFL แทบจะไม่ระบุมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกฎกติการ การแข่งขันฟุตบอล หรือการเล่นฟุตบอลในสนามเลย ไม่มีการระบุว่า ห้ามดีใจโดนตัวกัน ห้ามเถียงผู้ตัดสิน แต่ทุกการกระทำในสนาม DFL ระบุเอาไว้ว่าจะต้องมีมาตรการการป้องกันพื้นฐานของ Covid คือ เว้นระยะห่าง สัมผัสตัวให้น้อย เลี่ยงการพูดคุยเป็นกลุ่ม ซึ่งผมอาจจะมองพลาดไป แต่ผมเข้าใจว่าทุกคนต้องคิดเอาไว้เสมอตลอดเวลา รวมถึงเวลาที่อยู่ในสนาม ว่าต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสาธารณะสุข ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ข้อถัดมาการการฝึกซ้อมของสโมสรทุกสโมสร
1. เจ้าหน้าที่อนามัย จะต้องแนะนำวิธีการดูและตัวเองขั้นพื้นฐาน เช่น การไอ จาม ระยะห่างระหว่างบุคคล
2. ทุกคนต้องใช้เวลาในห้องแต่งตัวน้อยที่สุด และเลี่ยงการสัมผัสเพื่อนร่วมทีม รวมถึงผู้ฝึกสอน
3. มีจุตรวจวัดไข้ และเช็คสุขภาพ ภายในสนามซ้อม โดยจะต้องตรวจนักกีฬา และโค้ช ทีมงานทุกคน
4. สนามซ้อมจะต้องไม่มีคนอื่น หรือผู้ชม
5. นักฟุตบอล และทีมงาน จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวสุขภาพต่างๆ เช่นไอ จาม อุณหภูมิร่างกาย ก่อนเข้าสนามซ้อม โดยจะต้องลงลายมือ และส่งให้เจ้าหน้าที่อนามัย
6. จุดล้างมือจะต้องมีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องมีในบริเวณหน้าห้องทุกคน
7. หลังฝึกซ้อมต้องมีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง
8. การประชุมทีม จะต้องเว้นระยะห่าง และจัดอยู่ในที่โล่งกว้างเท่านั้น
9. ทุกคนไม่สามารถรกินอาหารในสนามซ้อมได้ ต้องนำกลับบ้านเท่านั้น
10. การดื่มน้ำ ต้องดื่มจากขวดส่วนตัว ของใครของมันเท่านั้น
11. ห้องต่างๆ เช่นห้องแต่งตัวหรืออาบน้ำ สามารถใช้พร้อมกันเป็นกลุ่มเล็ก พร้อมเว้นระยะ 2 เมตร หรือแนะนำให้เปลี่ยนชุด และอาบน้ำที่บ้าน
12. การเล่นฟิตเนส จะต้องสวมแมส และใช้เป็นกลุ่มเล็กๆ
13. อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ จะต้องใช้แบบแยกนักเตะรายบุคคล รวมถึงฆ่าเชื้อ หรือเปลี่ยนทุกครั้งหลังใช้ หรือสัมผัสบุคคล
14. ก่อนการเริ่มการซ้อมวันแรก (หลังจากหยุดไปสองเดือน) ทุกคนที่จะต้องใช้สนามซ้อมจะต้องผ่านการตรวจ Covid-19 อย่างน้อยสองครั้ง และทางที่ดีไม่ควรตรวจเกิน 5 วันก่อนวันซ้อม
15. ทุกคนจะต้องถูกกักตัว และตรวจเชื้อ โดยการกักตัวจะต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วันก่อนเริ่มต้นฤดูกาล
16. จะต้องแยกซักผ้า และรองเท้า เฉพาะนักเตะคนนั้นต่อการซัก และผู้ดูแลจะต้องสวมชุดป้องกัน
การเลือกที่พัก
1. การเลือกจะต้องมีเจ้าหน้าอนามัยมาให้คำแนะนำระหว่างเลือกด้วย และติดต่อผ่านหัวหน้าของโรงแรม และจะต้องได้การรับรองจาก DFL
2. โรงแรมจะต้องกั้นบริเวณใช้งานโรงแรมทั้งหมด หรือทั้งชั้น สำหรับสโมสร หรือทีม โดยห้ามมีแขกอื่นเข้ามาโดยเด็ดขาด หรือจะต้องเตรียมทางเข้า หรือลิฟต์ เอาไว้าหรับทีมโดยเฉพาะ
3. ต้องมีเจลหรือที่ล้างมือในห้องทุกห้องที่ถูกใช้งาน
4. เจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลจะต้องสวมแมส ตลอดเวลาหากอยู่ภายนอกห้องของตน หรือห้องรับประทานอาหาร
5. ต้องมีการทำความสะอาดเป็นพิเศษ ร่วมถึงการฆ่าเชื้อ ก่อนทีมเดินทางมาใช้งานโรงแรม
6. แต่ระหว่างการใช้งาน จะต้องไม่มีการทำความสะอาดใดๆ ในบริเวณที่ทีมใช้งาน ตลอดช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นการเลี่ยงการสัมผัสต่อพนักงานทำความสะอาด
7. ห้องพักจะต้องมีการระบายอากาศที่เพียงพอ หรือแอร์จะต้องมีตัวเลือกการปรับความชื้นให้ใช้งาน
ส่วนการใช้ชีวิตประจำวัน นอกเหนือจะที่เราทราบดีอยู่แล้ว ก็จะมีข้อบังคับต่างๆ ที่นักฟุตบอลต้องทำตาม DFL คือ
การเว้นระยะห่าง ต้องไม่มีการติดต่อสัมผัสกับเพื่อนบ้าน ห้ามใช้ขนส่งสาธารณะ เวลาเดินหรืออากำลังกายต้องเว้นระยะห่างจากผู้คน 2 เว้น โดยทุกคนที่อาศัยอยู่ในบ้านจะต้องปฏิบัติตาม
ครอบครัวหรือบุคคลภายในบ้าน โดยจะต้องเลี่ยงการสัมผัสของเหลวจากบริเวณปาก คอ และบริเวณจมูก จากสมาชิกในบ้าน ซึ่งข้อนี้เป็นการระบุกลายๆ ว่าห้าม Sex รวมไปถึง ต้องทำความสะอาดของที่ใช้มือสัมผัสบ่อยๆ อย่างน้อยวันละครั้ง รวมถึงห้ามใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้แล้วว่าทาง DFL ออกมาตรการครอบคลุมเพียงใด ครอบคุลมไปถึงการใช้ชีวีตประจำวันของนักกีฬา และมีการลงโทษ ตัวอย่างเช่น ไฮโค แฮร์ริช กุนซือเอาก์สบวร์ก ที่ออกจากโรงแรมมาซื้อยาสีฟัน ในช่วงเวลากักตัว จนทำให้เจ้าตัวโดนแบนห้ามคุมสนามในเกมที่ผ่านมา พร้อมทั้งโดนกักตัวเพิ่มเติม 14 วัน และจะต้องรับการตรวจเชื้ออีก 2 ครั้งก่อนจะได้รับอนุญาตให้กับมาคุมทีมข้างสนามได้อีกครั้ง
ซึ่งผมก็อยากให้ลองมองกลับมายังประเทศไทย แน่นอนผมเห็นว่ามีหลายคนเรียกร้องให้ ไทยลีก กลับมาเปิดเร็วกว่ากำหนด ในเดือนกันยายน ลองดูมาตรการที่เยอรมัน วางไว้ แล้วลองคิดง่ายๆ ว่า ฟุตบอลไทย จะทำได้แบบนั้นได้หรือ สนามซ้อม และสนามกีฬาของเราพร้อมในการใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเคร่งครัด หรือไม่ แต่ทุกท่านต้องอย่าลืมว่า เหตุการณ์ Super-spreader หรือเหตุการณ์แผ่เชื้ออย่างหนักของประเทศไทย เกิดขึ้นมาจากสนามกีฬา
แต่ถ้าถามความเห็นผม ผมก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ ไทยลีก กลับมาเตะเร็วกว่าเดิมคือ ในเดือนกันยายน
ฉะนั้น อย่าพึ่งรีบเลยครับ
โฆษณา