17 พ.ค. 2020 เวลา 12:56 • ธุรกิจ
News Chin คนจีนรวยขึ้นจริงหรือไม่?
จากการที่ประเทศจีนได้พัฒนาทางเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และจากความพยายามของภาครัฐที่ต้องการจะยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรให้สามารถปรับขึ้นมาอยู่ในฐานะประเทศที่ประชาชนมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น หากคิดจากตัวเลขของจีดีพี แม้ว่าจะมีหลายกระแสที่ออกมาบอกว่าตัวเลขนี้ไม่สามารถที่จะชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ดีได้
 
จากสถิติการสำรวจของธนาคารประชาชนจีนในเดือนเมษายน 2020 แสดงให้เห็นว่า คนจีนแต่ละครอบครัวในเขตเมือง
ถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ยมูลค่า 3,179,000 หยวน (ประมาณ 15,895,000 บาท) แม้ว่าจะพบว่าคนวัยหนุ่มสาวจนกลางคนนั้นมีความกดดัน หน้าที่ความรับผิดชอบสูงมาก
 
นอกจากนี้ จากสถิติที่สำรวจในปลายปี 2019 ยังพบว่า การ
กระจายทรัพย์สินของผู้คนยังไม่ดีนัก เพราะช่องว่างความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่ยังคงมีมาก จนพบว่าสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่มโดยจากลุ่มที่มีทรัพย์สินน้อยไปมากคือ ไม่เกินร้อยละ 20 มีจำนวนทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนทรัพย์สินเพียงร้อยละ 2.6 ของทรัพย์สินทั้งหมด ระดับทรัพย์สินที่ร้อยละ 20-40  มีจำนวนทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนทรัพย์สินเพียงร้อยละ 6.2 ของทรัพย์สินทั้งหมด ระดับทรัพย์สินที่ร้อยละ 40-60  มีจำนวนทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนทรัพย์สินเพียงร้อยละ 10.3 ของทรัพย์สินทั้งหมด
ระดับทรัพย์สินที่ร้อยละ 60-80 มีจำนวนทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนทรัพย์สินร้อยละ 17.8 ของทรัพย์สินทั้งหมด ระดับทรัพย์สินที่ร้อยละ 80-90 มีจำนวนทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนทรัพย์สินร้อยละ 15.5 ของทรัพย์สินทั้งหมด ส่วนระดับทรัพย์สินที่ร้อยละ 90-100  มีจำนวนทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนทรัพย์สินสูงถึงร้อยละ 47.5 ของทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าคนจีนในเมืองส่วนมากนั้นมีทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก หรือเรียกได้ว่าคนในเขตเมืองนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับดี มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ในระดับสูง
อีกทั้งยังพบว่ามีครอบครัวจำนวนร้อยละ 41.5 ที่มีบ้านมากกว่า 2 หลังขึ้นไป โดยเมื่อดูจากสถิติการสำรวจพบว่าการครอบครองอสังหาฯ ของคนจีนในเขตเมืองนั้นมีอัตราสูงถึงร้อยละ 96.0 คิดเป็นคนที่มีอสังหาฯ แห่งเดียวร้อยละ 58.4 คนที่มีอสังหาฯ 2 แห่งร้อยละ 31.0 และคนที่มีอสังหาฯ ตั้งแต่ 3 แห่งขึ้นไปร้อยละ 10.5 ซึ่งเฉลี่ยแล้วทำให้ทุกครอบครัวมีค่าเฉลี่ยการครอบครองอสังหาฯ สูงถึง 1.5 หลัง
 
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 43.4 ของครอบครัวจีนนั้นก็ยังคงต้องมีภาระผูกพันกับการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งส่วนมากเงินที่ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านก็ยังคงเป็นรายจ่ายหลักของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ยังพบว่าคนหนุ่มสาวและวัยกลางคนจะเป็นกลุ่มที่มีความกดดันสูง เพราะเป็นกลุ่มที่มีภาระมาก ไม่ว่าจะเป็นภาระในค่าใช้จ่ายในครอบครัว การผ่อนบ้าน การจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ การสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก ค่าเล่าเรียนลูก ภาษีสังคม การสร้างตัว ฯลฯ
ในขณะที่ข้างของกลุ่มผู้สูงอายุนั้นกลับเป็นกลุ่มที่จะต้องจัดการกับทรัพย์สินเพื่อสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุน การซื้อพันธบัตร ประกันชีวิต การซื้อหุ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง จากการสำรวจพบว่าคนที่อายุสูงกว่า 65 ปีขึ้นไปมีการลงทุนเหล่านี้เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยสูงถึง 239,000 หยวน (ประมาณ 1,195,000บาท) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยอื่นแล้วถือเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนสูงสุด แม้ว่าผู้สูงอายุเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีที่มาของรายได้ หรือต้องการเงินลงทุนเหล่านี้เป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง ซึ่งก็นับเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงทีเดียว
 
ซึ่งเมื่อรายงานฉบับนี้ได้แถลงออกมา ทำให้ชาวเนตจีนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายว่าตัวเลขเกินจริงไปมาก บ้างก็ว่า ช่วยบอกหน่อยว่าอสังหาฯของฉันอยู่ที่ไหน แค่กระต๊อบก็ยังดี หรือบอกหน่อยว่าทุกครั้งของการสำรวจทำไมฉันจึงตกสำรวจตลอด หรือแม้ว่าบอกว่าช่วยแจ้งรายละเอียดว่าไปสำรวจที่ใด เมืองใด มณฑลใด บ้างถึงกับอุทานว่า โอ! ไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองจริงๆ เลย
 
ก็คงไม่น่าแปลกของทุกประเทศ ที่เมื่อการสำรวจหรือโพล
ออกมา ก็มักจะสงสัยว่าเราตกสำรวจหรือตกโพลไปได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ไม่แตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เพียงแต่ใครจะมากกว่า น้อยกว่า หรือหนักหนาสาหัสไปกว่ากัน แต่ที่แน่คือบางครั้งตัวเลขของจีดีพีก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนความสุขของคนในประเทศเสมอไป
หากผู้อ่านชื่นชอบบทความ อย่าลืม กด like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจดีๆสำหรับผู้เขียนด้วยนะครับ สามารถ Comments แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา