18 พ.ค. 2020 เวลา 10:34 • ประวัติศาสตร์
ทำไมคำศัพท์ภาษาไทยบางคำ จึงมีเสียงพ้องกับคำในภาษาอังกฤษ
1
1.
ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจจะเคยสงสัยกันว่า
ทำไมคำในภาษาไทยหลายคำจึงมีเสียงที่คล้ายๆ กับคำในภาษาอังกฤษ
และไม่ใช่คล้ายแค่เสียงแต่ยังมีความหมายที่คล้ายกันด้วย
ยกตัวอย่างเช่น
คำว่า ไตร ที่แปลว่า สาม เช่น กีฬากับคำว่า tri เช่นใน triathlon (ไตรกีฬา) ในภาษาอังกฤษ
คำว่า นาม กับคำว่า name ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ชื่อ
คำว่า สัป(ดาห์) กับคำว่า Septa ที่แปลว่าเจ็ดในภาษาอังกฤษ
คำว่า อัฎฐ(บริขาร)แปด กับคำว่า Octa ที่แปลว่า 8 (ในคำว่า October หรือ Octopus) ในภาษาอังกฤษ
คำว่า นาวี, นาวา, นาวิกโยธิน กับคำว่า naval, navigator เป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับทะเลและเรือ
คำว่า กรกฎ ที่แปลว่าปู กับคำว่า cancer (แคนเซอร์ แต่เดิมออกเสียงว่า แคนเกอร์) ซึ่งก็แปลว่าปูเหมือนกัน (ก่อนจะมีความหมายว่ามะเร็ง)
คำว่า นาสิก ที่แปลว่าจมูก กับ nose และ nasal ในภาษาอังกฤษ
คำว่า หทัย ที่แปลว่า หัวใจ กับคำว่า heart ในภาษาอังกฤษ
คำว่า มรณะ ที่แปลว่าตาย กับคำว่า mortal ในภาษาอังกฤษ
คำว่า เทวะ กับคำว่า deva, divas, divine ที่แปลว่าเทพเจ้าหรือพระเจ้า
คำว่า ทันต์หรือทันตะ กับคำว่า dental หรือ dentist ที่เกี่ยวกับฟัน
และคำอื่นๆอีกมากมาย
คำตอบสั้นๆบ้านๆ คือ เพราะคำเหล่านี้เป็นญาติกัน หรือมีบรรพบุรุษร่วมกัน
 
แต่ไม่ได้แปลว่าภาษาไทยเป็นญาติกับภาษาอังกฤษนะครับ
แต่เป็นเพราะคำหลายคำในภาษาไทยเรานำคำในภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้
1
แล้วทั้งภาษาบาลีและสันสกฤตก็มีรากมาจากภาษาที่เก่ากว่านั่นก็คือ
ภาษาสันสกฤตแบบที่ใช้ในคัมภีร์ฤคเวท หรือ Vedic Sanskrit อีกต่อหนึ่ง
(ที่มาของบาลีบางส่วนก็มาจาก Vedic Sanskrit เช่นกัน แต่ไม่ทั้งหมด)
 
และทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษก็มีบรรพบุรุษ(ของภาษา)ร่วมกัน
หรือวิวัฒนาการมาจากภาษาเดียวกัน
ปัจจุบันเรารู้จักภาษานั้นว่า ภาษา Proto-Indo-European หรือย่อว่า PIE ....
2.
เรื่องราวของภาษา PIE เริ่มต้นขึ้นเมื่อชายชาวอังกฤษคนหนึ่งถูกส่งตัวไปที่อินเดียเมื่อ 200 ปีก่อน
เซอร์ วิลเลียม โจนส์ (William Jones) เป็นนักกฎหมายที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับตำแหน่งผู้พิพากษาที่อินเดียในช่วงเวลาที่อินเดียวยังเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ
Sir William Jones
ก่อนที่จะมาเรียนด้านกฎหมาย เซอร์โจนส์ในวัยเด็กชอบเรียนภาษามาก
นอกจากภาษาอังกฤษแล้วเขายังมีความรู้ในภาษากรีก ละติน ฝรั่งเศส เปอร์เซีย อารบิก ฮิบรู และภาษาจีนนิดหน่อย
ในยุคนั้นชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยดูถูกวัฒนธรรมอินเดียวว่าป่าเถื่อน ไม่เจริญเท่าวัฒนธรรมของยุโรป จึงไม่สนใจที่จะเรียนรู้หรือเข้าใจวัฒนธรรมของอินเดีย
แต่เซอร์โจนส์ คิดต่างไปดังนั้นเมื่อเดินทางมาถึงอินเดียเขาจึงพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของอินเดียด้วยความตื่นเต้น
และไม่ได้ศึกษาแค่ผิวเผินแต่ลงลึกไปถึงรากที่มาของภาษาฮินดี (Hindi) ซึ่งก็คือภาษาบาลีและสันสกฤตด้วย
และนั่นทำให้เขาพบกับบางอย่างที่แปลกและน่าสนใจ
 
วันที่ 2 กุมภาพันธุ์ ค.ศ. 1786
1
ที่งานประชุมประจำปีเกี่ยวกับเอเชียศึกษา หรือ Discourse to the Asiatic Society
เซอร์โจนส์ได้บรรยายสิ่งที่เขาพบให้ที่ประชุมฟัง
ตอนหนึ่งของการบรรยาย เขาบอกว่า
ภาษาสันสกฤตมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายกับภาษากรีกและละติน อย่างมาก
คล้ายทั้งคำนาม คำกริยา รวมไปถึงไวยกรณ์
ความคล้ายกันนี้มันมากเสียจนไม่น่าจะเกิดจากความบังเอิญ
ถ้าคิดด้วยเหตุและผล
คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ
ภาษากรีก ละติน และสันสกฤตน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากภาษาเดียวกัน
ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาษาที่เป็นต้นกำเนิดของภาษาทั้งสามนี้ได้หายสาบสูญจากโลกนี้ไปแล้ว
1
ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วเซอร์โจนส์เองไม่ใช่คนแรกที่สังเกตเห็นความคล้ายกันของภาษาต่างๆในยุโรป กับภาษาของชาวตะวันออกอย่างภาษาอิหร่านและภาษาอินเดีย
ก่อนหน้านั้นชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยเชื่อกันมานานแล้วว่าหลายภาษาในยุโรปเป็นญาติกัน
นอกจากนั้นก็เคยมีคนสังเกตว่า คำหลายคำในภาษาของชาวยุโรปมีความคล้ายกับคำในภาษาอิหร่านและภาษาของอินเดีย
แต่การสังเกตเหล่านี้เกือบทั้งหมดจบลงแค่นั้น คือไม่ได้มีการศึกษาต่ออย่างจริงจัง
แต่การบรรยายของเซอร์ วิลเลียม โจนส์ในวันนั้น ก่อให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาเปรียบเทียบภาษาต่างๆในโลกกันอย่างจริงจัง
การบรรยายของเขาในวันนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิชา ภาษาศาสตร์ยุคปัจจุบัน (modern linguistic) ที่ศึกษามาจนถึงทุกวันนี้
และในเวลาต่อมานักภาษาศาสตร์ก็เชื่อว่าในอดีตน่าจะมีภาษาที่เหมือนจะเป็นภาษาแม่ของภาษาต่างๆ เหล่านี้อยู่
และเรียกภาษานั้นว่า ภาษา Indo-European หรือ Proto-Indo-European (ย่อว่า PIE)
3.
คำว่า Proto-Indo-European ฟังดูเหมือนจะน่ากลัวหรือฟังดูยาก
แต่จริงๆ แล้วก็มีแค่คำว่า Proto ที่แปลว่า ก่อน อินโดก็คือ อินเดีย ยูโรเปียนก็คือ ยุโรปเท่านั้น
ซึ่งความหมายของชื่อภาษานี้กว้างๆ ก็คือ เป็นภาษาที่เป็นต้นกำเนิดของหลายภาษาที่ใช้ในอินเดียไล่ยาวไปจนถึงยุโรปนั่นเอง
ตัวอย่างของภาษาปัจจุบันที่มีรากมาจากภาษาของ PIE ก็เช่น
ภาษาฮินดี (ซึ่งก็มาจากภาษาสันสกฤต)
ตระกูลภาษาอิหร่านทั้งหลาย (ส่วนใหญ่พูดภาษาฟาร์ซี)
ภาษากรีก
ภาษาที่มาจากภาษาละตินของชาวโรมันทั้งหลาย (เลยเรียกว่าภาษา Romance) เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน
ภาษาในตระกูลเยอรมันหรือ Germanic ทั้งหลาย (เช่นภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ ภาษาดัตช์)
ภาษาอัลเบเนีย (Albania)
ภาษาตระกูลสลาวิกทั้งหลาย (ภาษารัสเซีย ภาษาโปแลนด์ ภาษาเช็ค)
และภาษาอื่นๆ อีกเป็นร้อยๆ ภาษา
1
4.
คำถามที่เชื่อว่าหลายท่านอาจจะสงสัยคือ
แล้วภาษาโบราณอย่างภาษา PIE ที่ไม่มีใครใช้มานานหลายพันปี
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เขาพูดว่าอะไรกันบ้าง?
แล้วคนที่ใช้ภาษา PIE นี้เขาเป็นใครอยู่ที่ไหน ?
คำตอบจริงๆ คือเราไม่มีทางรู้ครับ
แต่เราสามารถเดาอย่างมีหลักการได้
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแม้ว่าภาษา PIE จะหายสาบสูญไปนานแล้ว
แต่ภาษาลูกหลานยังมีชีวิตอยู่ทั่วไปทั้งในยุโรปและเอเชีย
และเมื่อนักภาษาศาสตร์ศึกษาคำที่มีชีวิตอยู่ทั้งหลาย
รวมถึงคำในภาษาที่ตายไปแล้วอย่างภาษาฮิตไทต์ หรือภาษาโทคาเรี่ยน
ก็จะเห็นแบบแผนบางอย่างที่พอจะเดากลับไปได้ว่า
เสียงที่เปล่งออกมาของคำในภาษา PIE นั้น ควรจะมีเสียงประมาณว่าอย่างไร
คำที่นักภาษาศาสตร์สร้างขึ้นมาจากข้อมูลที่ได้นั้น
นักภาษาศาสตร์จะใส่เครื่องหมายดอกจันไว้ด้านหน้า เช่น *ker เพื่อให้รู้ว่าคำนี้เป็นคำที่สร้างขึ้นมา
สำหรับคำถามว่า คนที่ใช้ภาษา PIE เป็นใครมาจากไหนนั้น
คำใบ้ก็มาจากภาษาที่พวกเขาใช้กันครับ
โดยเราดูว่าภาษาที่พวกเขาใช้นั้นมีคำว่าอะไรอยู่บ้าง เช่น
ภาษา PIE ไม่มีคำว่าทะเล ทำให้เชื่อว่าคนที่ใช้ภาษานี้อาศัยอยู่ในดินแดนที่ไม่ติดทะเล
พวกเขาไม่มีคำว่าต้นโอ๊ค ซึ่งบอกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่แถวยุโรป
พวกเขาไม่มีคำว่าองุ่น ซึ่งบอกว่าพวกเขาไม่น่าจะอยู่แถวเมดิเตอร์เรเนียน
พวกเขาไม่มีคำว่าต้นปาล์ม แสดงว่าไม่ได้อยู่แถวที่มีต้นปาล์ม
พวกเขามีคำว่าหิมะ แสดงว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีหิมะตก
พวกเขามีคำว่าหมาป่าแสดงว่าถิ่นที่อยู่ของเขามีหมาป่าอาศัยอยู่
เป็นต้น
คำเหล่านี้พอจะใช้เป็นคำใบ้ให้ รู้ว่าถิ่นที่อยู่ของพวกเขาน่าจะแถวไหน
ภาษาของพวกเขายังบอกเล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมของพวกเขาได้ด้วย เช่น
คำศัพท์ของพวกเขายังมีคำที่หมายถึง การฝังศพ
ทำให้รู้ว่าวัฒนธรรมของพวกเขาฝังศพไม่ใช่เผาศพ
มีคำว่าม้าและมีคำว่าล้อ แสดงว่าวัฒนธรรมของเขามีการใช้ล้อและอาจจะใช้ม้าในการลากพาหนะที่มีล้อนี้
จากนั้นนักภาษาศาสตร์ นักโบราณคดี นักชีววิทยา ฯลฯ
ก็ทำงานร่วมกัน เพื่อชี้จุดไปว่าบริเวณที่น่าจะเป็นถิ่นกำเนิดของภาษา PIE นั้นอยู่ที่ไหน
ปัจจุบันนี้นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรม PIE นี้
น่าจะตรงกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักในชื่อ มนุษย์วัฒนธรรมเคอร์แกน (Kurgan)
ซึ่งคนเหล่านี้เคยอาศัยอยู่ในบริเวณซึ่งเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลทางตอนเหนือของทะเลดำ (Black Sea) ทางตอนใต้ของรัสเซีย (แถว ๆ ยูเครนและคาซัคสถานปัจจุบัน)
ภาพแสดงพื้นที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรม Kurgan
5.
คิดแล้วก็ไม่น่าเชื่อนะครับ
ทุกวันนี้เมื่อเราใช้คำภาษาไทย ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย
เมื่อคนอเมริกันใช้ภาษาอังกฤษในประเทศอเมริกา
แต่เสียงที่เราเปล่งออกมาหลายคำ มีรากที่มาร่วมกัน
แล้วยังคล้ายกับเสียงคนที่ขี่ม้าล่าสัตว์ในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ แถวคาซัคสถาน เมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้วอีกด้วย ....
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ถ้าชอบประวัติศาสตร์และรากที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษแบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller ของผม 2 เล่ม
ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ
ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา