19 พ.ค. 2020 เวลา 01:02 • ธุรกิจ
จุดเด่นในการทำธุรกิจ ที่คนจีน "มี" แต่เรา มักไม่มี
กับคำถามที่หลายคนสงสัย
"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงหรือ?"
วันนี้อ้ายจงขอเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยข้อคิดและเรื่องราวการทำธุรกิจ จากประสบการณ์ของอ้ายจงที่มีโอกาสได้ร่วมงานและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์ในแวดวงต่างๆ กันบ้าง
เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์และผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับโลก กล่าวไว้ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"
เคยสงสัยหรือไม่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงหรือ?"
เรามักจะเห็นการหยิบยก จินตนาการสุดล้ำ-การคิดนอกกรอบ มาเป็นที่มาต้นกำเนิดของ "นวัตกรรม" ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย Facebook
Facebook เกิดจากจินตนาการ-ไอเดียที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาโดยมีภาพของ "ศูนย์กลางให้เพื่อนที่อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันได้รู้จักและคุยกันบนนั้น" ปรากฏว่า จินตนาการนั้นได้เกิดขึ้นจริง และยังไปไกลเกินกว่าที่จินตนาการไว้เสียอีก
หรืออย่าง Blockdit ที่เรากำลังอยู่บนพื้นที่นี้ ณ ขณะนี้ ที่มีไอเดียต้องการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ และเป็นสังคมแห่งปัญญาชน สร้างOriginal content แบ่งปัน พูดคุย อย่างมีคุณภาพ ซึ่งบอกตามตรงว่า ตอนที่ยังคงเป็นเพียง ไอเดีย คงมีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึก "นามธรรมสุดๆ อุดมคติมากๆ จะทำได้จริง?"
ก็นั่นแหล่ะครับ ถ้าเรามี จินตนาการ เพียงอย่างเดียว จะสำเร็จได้หรือ? คำถามนี้ คงมีหลายคนส่ายหน้า แล้วบอกว่า "ต้องลงมือทำ"
ใช่แล้วครับ หากมัวแต่คิด แต่ไม่ลงมือทำ มันก็คงเป็นแค่จินตนาการหรือไอเดียที่เพ้อฝัน "Idea is Cheap แต่ Action is expensive" นะครับ เพราะไอเดีย มันมีความน่าจะเป็นที่คนมากกว่า1คนจะคิดเหมือนกันได้ ใครลงมือก่อน นั่นคือคีย์
การลงมือทำถ้าอาศัยแต่เพียงเดินตามจินตนาการโอกาสที่จะสำเร็จ คงน้อยลงเยอะ ถ้าปราศจาก "ความรู้และทักษะความสามารถ" คุณคงไม่ปฏิเสธข้อนี้นะครับ เหมือนเวลาเรามีจินตนาการว่า เราขับเครื่องบินได้ หากจู่ๆไปขับเลย โดยไม่มีความรู้และทักษะในการขับ ก็มีแต่ตายกับตายอย่างเดียว แม้แต่ปาฏิหาริย์ยังอาจจะโบกมือลาขอเอาตัวรอดไปก่อนแบบพระรอด แต่คนไม่รอด
อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพอะไรไหมครับ?
ไม่ต้องคิดนาน ผมเฉลยเลยละกัน
ผมกำลังพรรณนาให้เห็นว่า จินตนาการและความรู้ มันไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าอะไร
"ทั้งสองสิ่งล้วนสำคัญ"
แต่ทำงานคนละสถานการณ์ และทำงานควบคู่กันไป
กล่าวคือ บางสถานการณ์เราจำเป็นต้องใช้ไอเดีย-จินตนาการที่บรรเจิด เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ฉีกแนวจากเดิม เพื่อเปิดตลาดใหม่ เอาตัวรอดจากยุค Disruption แต่พอคิดไอเดียได้แล้ว ขั้นตอนสำคัญที่ทำออกมาให้เป็นรูปธรรม หรือการ Implement ขั้นตอนนี้นี่แหล่ะ ที่ต้องมี "ความรู้" เข้ามาเกี่ยวข้อง
การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากเราโฟกัสแต่คิดไอเดียฉีกกรอบ ยึดติดแต่ไอเดียนั้น วิเคราะห์บนพื้นฐานความพอใจของเราเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากความรู้ ก็ต้องขอทำนายล่วงหน้าเลยว่า "เจ๊ง100%"
ตัวอย่างของความคิดสุดล้ำแต่เจ๊งไม่เป็นท่า มีให้เห็นอยู่ทุกวัน ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้น "จง Balance จินตนาการและความรู้ให้ดี" ที่สำคัญ "อย่ามัวแต่คิด แต่ลงมือทำ โดยเฉพาะหาความรู้เพื่อทำไอเดียของเราเป็นจริงขึ้นมา"
เรื่องราวนี้ อ้ายจง ฉุกคิดได้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำธุรกิจ และการทำDesign Thinking กับรุ่นพี่ที่อ้ายจงเคารพรักคนหนึ่ง "ดร.ทอย แห่ง DrToy สปอยส์ธุรกิจ บนFacebook"
และเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้แล้ว มันก็ทำให้อ้ายจงหวนนึกถึงประสบการณ์การดีลธุรกิจและทำงานร่วมกับคนจีน จึงได้เห็นจุดเด่นข้อหนึ่งของคนจีนเหล่านั้น
จุดเด่นที่ว่า ล้วนอยู่ในเรื่องราวที่อ้ายจงเล่ามาทั้งหมด
คนจีนจำนวนไม่น้อย "Balance ไอเดียและความรู้ ได้เป็นอย่างดี ด้วยการ ลงมือทำให้ไวที่สุด ตามสถานการณ์ที่เกิดตรงหน้า และมั่นใจว่า สามารถเริ่มได้จริงบนไอเดียนั้น"
ผมเคยคุยกับนักธุรกิจจีนหลายคน รวมถึงอ่านชีวประวัตินักธุรกิจจีนที่ประสบความสำเร็จมากมาย พบสิ่งที่เจอเหมือนๆกันจากคนกลุ่มนี้
"มีไอเดียแล้ว ประเมินความเป็นไปได้ (ประเมินความรู้ที่มี) แล้วลงมือทำเลย"
จากนั้นค่อยเรียนรู้และปรับแก้ไอเดียกันไป จากสิ่งที่ได้ระหว่างทางของการลงมือทำ
นี่คือเหตุผลว่า ทำไมจีนถึงผลิตสิ่งต่างๆออกมาได้ และตั้งนโยบาย Made in China 2025 เพราะเขากล้าที่จะลงมือทำทันที ควบคู่ไปกับการเรียนรู้และแก้ไข ปรับแก้ไอเดียที่คิดขึ้นในขั้นแรก จนงานออกมาได้จริง
และนี่ก็เป็นเหตุผลอีกล่ะว่า ทำไมเมื่อก่อนนี้ เรามักบอก "สินค้าจีนไม่มีคุณภาพ แต่จีนออกสินค้าแต่ละชิ้นมาได้ไวมาก และล้ำหน้ามากด้วย แต่พอผ่านไปสักระยะ คุณภาพก็ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด"
สาเหตุไม่มีอะไรมากไปกว่า "มีไอเดีย ประเมินความรู้ว่าทำได้ไหม ลงทือทำเลย แล้วเก็บเกี่ยวความรู้เพิ่ม+แก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้นระหว่างการทำ"
พอย้อนมองมาที่ตัวผมเอง หรือคนรอบข้างหลายคน มักมีแต่ "ไอเดีย" หรือ "มีแต่ความรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นทฤษฎี ที่ไม่รู้ทำได้จริงไหม" ก็เลยไม่กล้าลงมือทำ เพราะมักมีข้ออ้าง ข้อขีดแย้งไปมาระหว่าง "ไอเดีย" และ "ความรู้" อยู่เสมอ
อ่านจบแล้ว ผมหวังว่าทุกคนจะกล้าลงมือทำและBalance จินตนาการ-ไอเดีย กับ ความรู้ ของตนเอง ได้ดีขึ้นนะครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #เล่าธุรกิจ
2
โฆษณา