28 พ.ค. 2020 เวลา 11:42 • สุขภาพ
วัคซีน COVID-19 จะมีประสิทธิภาพต่ำและผลข้างเคียงที่ไม่ทราบแน่ชัด อีกแง่มุมที่ต้องทำความเข้าใจ
วัคซีน COVID-19 จะมีประสิทธิภาพต่ำและผลข้างเคียงที่ไม่ทราบแน่ชัด : pixabay
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่มากมายเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน ไม่ว่าจะมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกาโดยบริษัท Moderna เจ้าของวัคซีนต้นแบบ mRNA-1273ซึ่งผลของวัคซีนก็เป็นดังคาด สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีความปลอดภัย
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายจะตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการป้องโรค
ขณะที่ฝั่งจีนเองภายใต้ความร่วมมือของ CanSino และสถาบันไบโอเทคปักกิ่งก็ได้ตีพิมพ์ผลทดสอบวัคซีน Ad5-nCoV ลงในวารสารทางวิชาการ " The lancet "
ซึ่งนับว่าเป็นรายงานฉบับทางการของวัคซีน COVID-19
ฉบับแรกของโลก
แต่มีข้อจำกัดหลายอย่างของการวิจัยที่กำลังดำเนินไปด้วยความ "เร่งรีบ"
1. ประสิทธิภาพของวัคซีนจะต่ำ แต่เราจำเป็นต้องใช้
การขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีนใดๆก็ตามเพื่อให้ใช้ในมนุษย์จำเป็นต้องมีข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งคือประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำหลังจากได้รับวัคซีน
สำหรับกรณีวัคซีนป้องกัน COVID-19 สเปคที่ WHO กำหนดมี 2 ข้อ...
1) ต้องมีประสิทธิภาพป้องกันโรคอย่างน้อย 70% โดยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีนต้องคงอยู่ " อย่างน้อย 1 ปี "และหากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงหรืออยู่ในพื้นที่ระบาดวัคซีนต้องออกฤทธิ์เร็วภายใน 2 สัปดาห์
2) ประสิทธิภาพขั้นต่ำที่ยอมรับได้สำหรับประชากรทั่วไปต้องไม่น้อยกว่า 50 % และการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้อง "คงอยู่ 6 เดือน" เป็นอย่างต่ำ
ลักษณะของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่กำหนดโดย WHO : WHO
เกณฑ์ขั้นต่ำนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานวัคซีนทั่วไปที่ต้องมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งอันที่จริงแล้วเพียงเท่านี้มันอาจเพียงพอสำหรับป้องกันบุคลากรด่านหน้า แต่ต้องบอกว่า "ไม่พอ" ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรค
อีกอย่างถ้าหากต้องฉีดวัคซีนบ่อยถึง 2 ครั้งต่อปี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพออาจเป็นสิ่งที่ยุ่งยากจนเกินไป
2. ผู้ป่วยเริ่มลดลงและมีโอกาส 50% ที่การทดสอบวัคซีนจะล้มเหลว
เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากพอ จำนวนอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดสอบวัคซีนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ราย ซึ่งจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือได้รับวัคซีนและได้รับยาหลอก (Placebo)
ศาสตราจารย์ Adrian Hill หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีน ChAdOx1 nCoV-19ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หนึ่งในวัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่ในระยะที่ 2 ในขณะนี้ให้ข้อมูลว่า
การระบาดที่ลดลงในตอนนี้อาจทำให้การศึกษาวัคซีนระยะที่ 3 มีโอกาสแค่ 50% ที่จะสำเร็จและแน่นอนว่ามีโอกาสพอๆกับที่จะไม่ทราบผลลัพธ์ที่แน่ชัด
Adrian Hill หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีน ChAdOx1 nCoV-19 : Reuter
เป็นเพราะว่าเมื่อฉีดวัคซีนที่ต้องการทดสอบและให้อาสาสมัครออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ผลที่ตามมาคาดว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับยาหลอกจะมีโอกาสได้รับเชื้อน้อยกว่า 50 ราย
ซึ่งในจำนวนนี้หากมีผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อจริงน้อยกว่า 20 ราย ผลการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพจะฟ้องว่าการทดสอบนั้นไร้ประโยชน์ เพราะอาสาสมัครมีโอกาสได้รับเชื้อจากสังคมภายนอกไม่เพียงพอจะแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับวัคซีน
ทำให้บอกชัดเจนไม่ได้ว่าฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนแบบไหนดีกว่ากัน ?
การทดลองระยะที่ 3 ต้องมีโอกาสให้อาสาสมัครได้รับเชื้อที่มากพอจะแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับวัคซีน : Stat
3. ผลข้างเคียงที่ยังคลุมเครือและบทเรียนจากการเร่งผลิตวัคซีน
บทเรียนอย่างหนึ่งที่เราได้รู้จากความผิดพลาดในอดีตคือ การใช้วัคซีนที่ไม่ได้ศึกษาผลข้างเคียงมากพอทำให้ส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวผลักดันให้แนวคิดการต่อต้านวัคซีนดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้
กรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วสำหรับวัคซีนป้องกันโปลิโอ โรคติดเชื้อไวรัสที่ผู้ป่วยจะมีภาวะแขนขาลีบซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายขาด
ย้อนกลับไปช่วงปี 1950 ที่อเมริกามีการระบาดของโรคโปลิโออย่างหนัก มีการทุ่มเททรัพยากรค้นหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างเต็มที่
โจนัส ซอล์ก (Jonas Salk) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสชาวอเมริกันเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนเป็นคนแรกซึ่งวัคซีนที่เขาเลือกใช้เป็นแบบเชื้อตายด้วยการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ (inactivated polio vaccine)
โจนัส ซอล์ก แพทย์ผู้ค้นพบวัคซีนโปลิโอชนิดแรกของโลก : Karsh.org
การทดลองครั้งนั้นเต็มไปด้วยความเร่งรีบและถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากทั้งประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเด็กๆในอเมริกากว่าล้านคนก็ได้รับวัคซีนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น...
บริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับอนุญาติผลิตวัคซีนตามสูตรของซอล์กได้ผลิตและแจกจ่ายวัคซีนที่มีการปนเปื้อนเชื้อโปลิโอที่ยังมีชีวิต ส่งผลให้เด็กกว่า 70,000 รายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและ 164 รายเป็นอัมพาตอย่างถาวร ที่น่าเศร้าก็คือมีเด็ก 10 คนต้องเสียชีวิตจากการได้รับวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐาน
สถานการณ์ในปัจจุบันก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แม้วิทยาการจะก้าวหน้าไปมากจนคาดว่าวัคซีนที่ได้จะมีความปลอดภัยตามทฤษฎี
แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าความกดดันทางการเมืองนั้นมีส่วนเร่งให้ขั้นตอนการวิจัยสั้นลง หลายอย่างถูกข้ามขั้นตอนไปโดยเฉพาะในอเมริกาที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 1
ท่ามกลางการแข่งขันว่าใครจะเป็นผู้คิดค้นวัคซีนได้เป็นลำดับแรกของโลก
บางทีเราอาจต้องการวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าความเร็วของการพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือการเมือง
เพราะมีโอกาสที่เรากำลังเดิมพันไปกับความเสี่ยงครั้งใหญ่โดยที่เราไม่รู้ตัว...
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม คอมเม้นต์ทักทาย กดไลค์ กดแชร์
เพื่อเป็นกำลังใจให้กันได้นะครับ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา