21 พ.ค. 2020 เวลา 02:45
มาลองเขียน manifesto ของบริษัทกัน
เวลาบริษัทส่วนใหญ่จะคุยกันเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เรามักจะมีท่ามาตรฐานคล้ายๆกัน คือพยายามหาคำสามสี่คำที่เป็น value ของบริษัทที่เราอยากให้พนักงานเป็น เช่น customer, innovative, effective, fairness อะไรประมาณนี้ แล้วถ้าเอาตัวอักษรแรกมาเรียงกันเป็นคำได้ก็จะยิ่งเก๋ แล้วก็ไล่หา action ทำกันของแต่ละคำ เช่น innovative ก็ตั้งรางวัลประกวด innovation award กัน มีเปิดตัวกันใหญ่โต หวังว่าคำเหล่านี้จะเป็นเครื่องเตือนใจให้พนักงานยึดถือปฏิบัติ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรอันเข้มแข็งได้ บางคำก็ทำโปสเตอร์แล้วเอาผู้บริหารมาถ่ายแล้วแปะไว้ตามลิฟท์ แต่กิจกรรมประเภทนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ประกวดอะไรครั้งสองครั้งก็เลิก กลับไปทำอะไรเหมือนเดิม
มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว บริษัทที่ผมเคยอยู่ก็เคยทำอะไรแบบนี้ หาคำมาสี่คำที่เรียงกันได้ประมาณ easy ผมจำได้ลางๆว่า s คือ sincere และ y คือ yours ตอนเปิดตัวสี่คำนี้ก็เล่นใหญ่มาก ตามพนักงานทุกคนไปที่อิมแพควันอาทิตย์แปดโมงเช้า มีการเฉลยตัวอักษรแต่ละตัวอย่างยิ่งใหญ่ เป็นคอนเซฟท์ฮีโร่ ผมจำได้ว่าตอนท้ายมีเฉลยด้วยการแจกแผ่นพับแล้วเปิดมาข้างในเป็นกระจกเล็กๆ แล้วบอกว่าฮีโร่คือพวกเราทุกคนนนนนนน…
ที่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาคือแก้วที่มีคำสี่คำ กับเสื้อยืดไว้ใส่หนึ่งตัว หลังจากนั้นก็มีการบังคับให้จำ จำไปก็งงไปว่า yours นี่มันคืออะไรนะ sincere ต้องทำอย่างไรเหรอ คุยกันซักพัก ทุกอย่างก็จางหายไป เหลือไว้แต่แก้วกาแฟหนึ่งแก้วที่โต๊ะ กับป้ายตรงห้องโถงหนึ่งอัน ไม่ได้มีผลอะไรหรือเปลี่ยนความคิดอะไรใครได้เลย
….
องค์กรที่ได้ชื่อว่ามี culture ที่แข็งแรงและชัดเจนที่ผมเคยได้ยิน หลายองค์กรเขียนเป็น “ความเชื่อ” ที่ชัดเจนมากๆ เหมือนกับเป็นเผ่า (tribe) ที่มีความเชื่อความศรัทธาในค่านิยมอะไรบางอย่างร่วมกัน ชัดเจนจนขนาดตั้งแต่คนมาสัมภาษณ์งานจนถึงวันปฐมนิเทศ น้องใหม่เข้ามาฟังแล้วรู้เลยว่าเราเหมาะกับที่นี่หรือไม่ เข้ามาแล้วต้องทำตัวอย่างไร อะไรทำไม่ได้แน่ๆ ..ชัดขนาดนั้น
ผมเคยได้ยินเรื่องราวของหัวเหว่ย ที่มีวัฒนธรรมองค์กรสุดโหดที่เรียกว่า wolf culture พนักงานใหม่ที่เข้ามาวันแรกจะถูกบอกเลยว่า we are wolf…we are bloodthirsty and we hunt by pack! คนที่เข้ามาทำงานหัวเหว่ยวันแรกก็รู้เลยว่าหลังจากนี้จะต้องบุกแหลก ต้องสู้ตาย และต้องอดทนอย่างมาก ผมเคยเจอคนหัวเหว่ยที่มาทำงานเมืองไทยปีสองปีถึงได้กลับบ้านที ทำงานหนักเป็นบ้าเป็นหลัง กัดไม่ปล่อย ทำทุกวิถีทางให้ได้งาน เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สุดโต่งมาก
ที่มานี้มาจากผู้ก่อตั้งที่เป็นทหารมาก่อนแล้วตั้งใจจะสร้างองค์กรที่หิวกระหาย ทำทุกอย่างเพื่ออยู่รอด ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้นแม้แต่สถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงการทำงานอย่างหนักและเป็นทีม กิน นอนรวมกันที่ทำงานเหมือนหมาป่ากระหายเลือดจรงิๆ ซึ่งความเชื่อของหัวเหว่ยที่มีร่วมกันนี้ ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนอย่างมหาศาลจากบริษัทเล็กๆจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของโลกในเวลาไม่กี่ปี ไปจนถึงขนาดนั้น แต่แน่นอนว่าก็มีเรื่องราวอื้อฉาวอะไรอยู่ในระหว่างทางด้วย
การกำหนด “ความเชื่อ” ที่ทุกคนในองค์กรเชื่อเหมือนกันนั้นทรงพลังอย่างมาก ตอนที่ดีแทคตกต่ำสุดๆ ในช่วงที่คุณซิกเว่คุณวิชัยสองซีอีโอเข้ามากอบกู้ ความเชื่อขององค์กรในตอนนั้นคือเราเป็นมวยรอง (underdog) แค่เชื่อเรื่องนี้ด้วยกัน การกระทำหลังจากนั้นทั้งองค์กรรู้เลยว่าต้องทำอะไรไม่ทำอะไร เช่นเราจะไม่ทำเหมือนคู่แข่งเพราะทรัพยากรน้อยกว่า ต้องสู้แบบมวยรอง ประหยัด อดทน ต้องเหนื่อยกว่า ถ้ามีทางยากต้องเลือกทางยากเพราะทางง่ายไม่มีทางสู้เบอร์หนึ่งที่มีเงินมากกว่าได้ ต้องไปในที่ที่เบอร์หนึ่งไม่ไป เล็กๆน้อยๆต้องเก็บให้หมด ความเชื่อที่แข็งแรงนั้นเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางให้ทุกคนเดินไปได้เร็วและไม่หลง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนเป็นเผ่าเดียวกันได้
เรื่องการใช้ความเชื่อเป็นเข็มทิศนำทางนี้ บริษัทระดับโลกหลายแห่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มข้นโดยสร้างจากความเชื่อที่แข็งแรงอยู่หลายแห่ง ที่ได้จำแม่นๆอันนึงคือ google เคยเขียนว่า we can b rich without being evil ซึ่งถ้ามองถึงความสำคัญที่ google มีต่อโลกแล้ว ความเชื่อนี้สำคัญมากๆ ซึ่งก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเชื่อ google ด้วยก็ได้เพราะทั้งบริษัทเขาเชื่อและทำแบบนั้น เพราะธุรกิจหลักของ google นั้นอยู่บน trust ของลูกค้าที่เชื่อว่า google จะไม่ทำอะไรชั่วร้ายจากข้อมูลที่เขามี ดังนั้นทุกส่วน ทุกคนของ google จะต้องไม่ทำให้เกิดรูรั่วแม้แต่เพียงนิด และ google ยังต้องพยายามคิดบริการอะไรใหม่ๆตลอดเวลาอีกด้วย ความเชื่อร่วมกันจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าการ audit จับผิดมากมายนัก
1
ตัวอย่างความเชื่อที่แข็งแรงที่ทำให้บริษัทผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการถูก disruption ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งมาได้นั้น ไนกี้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ผมเอาแผ่นกระดาษที่เป็นเหมือน manifesto เป็นอุดมการณ์ของบริษัทตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไนกี้ใช้และยึดถือมาตั้งแต่สมัยยังเป็นบริษัทเอสเอ็มอีเล็กๆ มาเป็นรูปประกอบในบทความนี้ซึ่ง manifesto นี้ไนกี้เขียนไว้ตั้งแต่ยุค 70 แต่ทุกข้อที่อ่านก็ยังใช้ได้ร่วมสมัยจนวันนี้
ผมลอกมาไว้อ่านตรงนี้อีกซักรอบนะครับ
1. Our business is change
2. We’re on offense. All the time
3. Perfect result count — not perfect process. Break the rule fight the law
4. This is as much about battle as about business
5. Assume nothing.
Make sure people keep their promises
Push yourselves push others
Stretch the possible
6. Live off the land
7. You job isn’t done until the job is done
8. Dangers : Bureaucracy, Personal ambition, Energy takers vs energy givers, knowing our weaknesses. Don’t get too many things on the platter
9. It won’t be pretty
10. If we do the right thing we’ll make money damn near automatic
อ่านแล้วเหมือนแบรนด์ไนกี้ที่สะท้อนออกมาอย่างต่อเนื่องในหลายสิบปีนี้ยังไงยังงั้น…
ในหลายข้อนี้ ผมชอบข้อ 7 ที่สุด และคิดว่าเหมาะกับการทำงานช่วงโควิดและหลังโควิดมากๆ ถ้าแปลแบบไทยๆก็คือทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เสร็จ ทำงานเสร็จเฉพาะส่วนของตัวเองโดยที่ไม่ได้สนว่างานรวมๆสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นค่านิยมที่ขัดขวางกระบวนการทำงานในช่วงวิกฤตและต้องทำงานจากบ้านมาก ถ้าเราให้ค่าและเชื่อกันว่า งานที่สำเร็จเท่านั้นถึงจะเรียกว่าโอเค ไซโลในบริษัทก็จะสลายหายไปได้ การทำงานเป็นทีมถึงจะเกิดขึ้น
ผมลองหาความเชื่อชัดๆของ amazon กับ netflix มาประกอบในรูปด้วยเผื่อมีคนสนใจ มีข้อหนึ่งของ netflix เรื่อง high performance ที่มีความชัดเจนและน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง netflix เชื่อว่า we are sport team not family แค่ประโยคนี้ก็มีผลอย่างมากต่อการดูแลพนักงาน เวลาเราบอกว่าเราทำงานกันเหมือนครอบครัว ก็คือการส่งสัญญานว่าเราจะดูแลกันและกันต่อให้ทำงานห่วยแค่ไหนก็จะดูแลถ้าไม่โกงหรือทำผิดร้ายแรง แต่ถ้าเราทำงานเหมือนทีมกีฬา ความหมายก็จะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะการทำงานแบบทีมกีฬาคือเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง ใครเล่นไม่ดีก็ต้องไปนั่งข้างสนาม ใครขาดซ้อม ถ่วงเพื่อนก็จะถูกทำโทษ แล้วการทำงานต้องทำงานเป็นทีม เก่งคนเดียวก็ไม่ได้ ความเชื่อตั้งต้นขององค์กรจึงสำคัญมากและเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ การกระทำและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันตามความเชื่อด้วยซ้ำ.
ในโลกที่เปลี่ยนไปเร็วขนาดนี้ และจะมี new normal อะไรใหม่ๆมาเยอะ อุดมการณ์ ความเชื่อในองค์กรแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับโลกใหม่ ที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตได้ การรวมเผ่า (tribe) ให้มีศรัทธาและเข้าใจในเรื่องเดียวกัน ปฏิบัติเหมือนกันมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อสร้างทีมให้ไปได้สุด ทุกคนเห็นทิศที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยกัน เราตกลงเรื่องอุดมการณ์ จะเขียนความเชื่อและทำในสิ่งที่เชื่อด้วยกันได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่น่าคิดสำหรับทุกบริษัทในตอนนี้นะครับ
…….
ในวงการการเงินไทย บริษัทภัทรเป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องมาหลายสิบปีในความเก่ง มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงมาก ภัทรนอกจากจะมีบุคลากรเก่งๆมากมายแล้ว ยังมีภาพลักษณ์ที่ดีมากๆในวงการการเงินที่ต้องการ trust อย่างสูง ภัทรมีความโดดเด่นอย่างมากด้าน wealth management ทำให้ลูกค้ารวยและพนักงานก็มีรายได้ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก โดยที่ภัทรก็สามารถรักษาความตรงไปตรงมา มี ethic ที่แข็งแรงคู่กันไปได้เป็นอย่างดีตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอีกด้วย
พี่เตา บรรยงค์ พงษ์พานิช พี่ใหญ่แห่งภัทรเคยเล่าถึงความเชื่อร่วมกันของชาวภัทรที่แปะอยู่ข้างฝา น้องใหม่ที่ภัทร เดินเข้ามาอ่านป้ายนี้ก็จะเข้าใจได้ชัดเจนเลยครับ ว่าทำอะไรได้ทำอะไรไม่ได้ .. เป็นความเชื่อขององค์กรที่ชัดเจนและทรงพลังมากๆ
ประโยคบนข้างฝานั้นเขียนว่า “ เราจะอ้วนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องเหี้ย “ ครับ
โฆษณา