22 พ.ค. 2020 เวลา 08:24 • การศึกษา
มงคลที่ 11 บำรุงบิดามารดา
ต้นไม้ที่ได้รับการดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย ไปบำรุงลำต้นจนสมบูรณ์ เมื่อถึงเวลาแล้ว ย่อมออกดอกออกผลให้แก่เจ้าของฉันใด คนที่ได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ เมื่อมีโอกาสย่อมตอบแทนคุณพ่อแม่และผู้มีอุปการคุณฉันนั้น ทองคำแท้หรือไม่ โดนไฟก็รู้ คนดีหรือไม่ ให้ดูตรงที่เลี้ยงพ่อแม่ ถ้าดีจริงต้องเลี้ยงพ่อแม่ ถ้าไม่เลี้ยงแสดงว่าดีไม่จริง เป็นพวกทองชุบ ทองเก๊
พระคุณของพ่อแม่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่บนบ่านั้น ป้อนข้าวป้อนน้ำและให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้นเสร็จ แม้บุตรจะมีอายุถึง 101 ปี และปรนนิบัติท่านไปจนตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าตอบแทนพระคุณท่านไม่หมด
ยังมีผู้อุปมาไว้ว่า หากเราใช้ท้องฟ้าแทนกระดาษ ยอดเขาพระสุเมรุแทนปากกา น้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่ จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมด น้ำในมมหาสมุทรเหือดแห้งก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด
บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ
1.เป็นต้นแบบทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลายในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ก้อนดินเหนียวธรรมดา ถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตา ก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมา เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้ หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีก เช่นแบบเป็นพระพุทธรูป ดินเหนียวก้อนนี้ก็จะทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ผู้คนได้กราบไหว้บูชาจะเห็นได้ว่า คุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแบบที่พิมพ์นั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใดก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ โชคดีที่เราได้เกิดเป็นคน ได้โครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เหมาะในการทำความดีทุกประการ เราจึงสามารถใช้ความรู้ความสามารถประกอบคุณความดีได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีพ่อแม่เป็นต้นแบบทางกายให้นั่นเอง
2.เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอมอบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาท ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูก
พระคุณของพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา ก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้ว ยิ่งท่านอบรมเลี้ยงดูเรามา เป็นต้นแบบทางใจให้ด้วย ก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกอนันต์
สมญานามของพ่อแม่
สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม 4 ประการ ได้แก่
1.มีเมตตา คือมีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด
2.มีกรุณา คือหวั่นใจในความทุกข์ของลูก และคอยช่วยเหลือเสมอไม่ทอดทิ้ง
3.มีมุทิตา คือเมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วยความจริงใจ
4.มีอุเบกขา คือเมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็ไม่มีวุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษาให้เมื่อลูกต้องการ
พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรก(บุรพเทพ)ของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ
พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เพราะสั่งสอนอบรมทั้งคำพูดและกิริยามารยาทให้ลูกก่อนคนอื่นๆ
พ่อแม่เป็นวิสุทธิเทพของลูก เพราะมีคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่
1.ไม่ถือสาในความผิดของลูก แม้ว่าบางครั้งลูกจะพลาดพลั้งล่วงเกิน ก็ให้อภัยเสมอ
2.ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปรารถนาให้ลูกได้ดี มีความสุข
3.เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นผู้ที่ลูกควรทำบุญต่อตัวท่าน
4.เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก
คุณธรรมของลูก
เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน คุณธรรมของลูกเริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่ คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีก คือ ตอบแทนคุณท่าน ในทางพระพุทธศาสนา ได้บรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างไรสั้นๆ แต่เก็บความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า กตัญญู กตเวที คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน 2 คำนี้
กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าท่าน คือเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญาว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาวๆ ไปเท่านั้น
คุณของพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้างที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่วๆ ไป เมื่อจะอุปการะใคร เขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าอุปการคุณของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้น เป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้มองถึงหลักประกันใดๆ เลย เราเองก็เกิดมาตัวเปล่าไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็มเล่มเดียว ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกายจะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้วยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียว โตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ ไม่รู้ทั้งนั้น หนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มี แต่ทั้งๆ ที่ไม่มี ท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผล อย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณธรรมของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละเรียกว่า กตัญญู เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูกยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้นเท่านั้น
กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ 2 ประการ คือ
1.ประกาศคุณท่าน
2.ตอบแทนคุณท่าน
การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยูมากเหมือนกัน แต่ส่วนมากไปทำตอนงานศพ คือเขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจก การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนัก ถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น ยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือที่ตัวเรานี่เอง
คนเราทุกคนคือตัวแทนของพ่อแม่ตนทั้งนั้น เลือดก็แบ่งมาจากท่านเนื้อก็แบ่งมาจากท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี่แหละ จะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างชัดแจ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่หนังสือแจกว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมา คอร์รับชั่นทุกครั้งที่มีโอกาส ศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษาก็ผิดที่ไป สดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อย แต่ตัวเราผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลงกลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์ แสดงกตเวทีแทนแล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ชาวบ้านว่าพ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกได้ไม่ดี
พ่อแม่ของใครๆก็รัก เมื่อรักท่านก็จงประกาศคุณความดีของท่านสิ ประกาศด้วยความดีของตัวเราเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่งส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่ พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้ว นั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ดจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร
ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่านหรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา คิดเอาเองก็แล้วกันว่า เราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเราด้วยเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะใจดำถึงกับประจานผู้บังเกิดเกล้าด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเรและประพฤติต่ำทราม
การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
1.เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย
2.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว ยังนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำดังนี้
1.ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้
2.ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้
3.ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้
4.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้
เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนาเป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ปฏิบัติเองทั้งในภพนี้ภพหน้า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือเป็นหนทางไปสู่นิพพาน
3
อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา
1.ทำให้เป็นคนมีความอดทน
2.ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ
3.ทำให้เป็นคนมีเหตุผล
4.ทำให้พ้นทุกข์พ้นภัย
5.ทำให้ได้ลาภโดยง่าย
6.ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน
7.ทำให้เทวดาลงรักษา
8.ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ
9.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า
10.ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี
11.ทำให้มีความสุข
12.ทำให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละโลกไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
ขุ. ชา. สตฺตติ ๒๘/๑๖๒/๖๗
1
Cr.พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ มงคลชีวิต 38 ประการ (ฉบับทางก้าวหน้า)
ติดตามมงคลชีวิต มงคลที่ 12 เลี้ยงดูบุตร ต่อ...
โฆษณา