24 พ.ค. 2020 เวลา 03:55 • การศึกษา
มาตรฐานวิชาชีพครู
มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา เป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมทางการศึกษา ตั้งแต่ วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการ อันถือเป็นเป้าหมายหลักของการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องศึกษาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพให้สมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูงและได้รับการยอมรับ
คุรุสภา ดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ. ศ. 2546 มาตรา 9 วงเล็บ 1 คุรุสภามีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ มาตรา 9 วงเล็บ 11 กำหนดให้คุรุสภามีหน้าที่ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ. ศ. 2546
มาตรา 49 กำหนดให้มาตรฐานวิชาชีพ 3 ด้าน โดย คุรุสภาเป็นผู้กำหนด ประกอบด้วย (รู้ + งาน + ตน)
1 มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ
2 มาตรฐานการปฏิบัติงาน
3 มาตรฐานการปฏิบัติตน
กำหนดเป็นจรรยาบรรณของวิชาชีพ 5 ด้าน 9 ข้อ
โดยจรรยาบรรณของวิชาชีพได้มีการกำหนดแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อประมวลพฤติกรรมที่เป็นตัวอย่างของการประพฤติปฏิบัติ ประกอบด้วย พฤติกรรมที่พึงประสงค์ และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา คือข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ โดย คุรุสภาเป็นผู้กำหนด
ผู้ประกอบวิชาชีพครู ต้องมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพดังต่อไปนี้
1 มาตรฐานความรู้ มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภา รับรอง
2 มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมิน ปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ดังต่อไปนี้
2.1 การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน
2.2 การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ
1 มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารวมทั้งผู้ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีเพียงพอที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้
มาตรฐานความรู้มี 6 มาตรฐาน
ประสบการณ์วิชาชีพมี 2 มาตรฐาน
ฉบับแก้ไขใหม่ พ. ศ. 2562
(ก) มาตรฐานความรู้ 6 มาตรฐาน ต้องมีความรอบรู้และเข้าใจในเรื่องดังต่อไปนี้
1 การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก สังคม และแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2 จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
3 เนื้อหาวิชาที่สอน หลักสูตร ศาสตร์การสอน และเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้
4 การวัด ประเมินผลการเรียนรู้ และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน
5 การใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
6 การออกแบบและการดำเนินการเกี่ยวกับงานประกันคุณภาพการศึกษา
(ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ มี 2 มาตรฐาน
ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแก้ไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ดังต่อไปนี้
1 การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน
2 การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ
2 มาตรฐานการปฏิบัติงาน หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือการแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติงานและการพัฒนางาน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารวมทั้งผู้ที่ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษา รวมทั้งต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีทักษะหรือความชำนาญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มาตรฐานการปฏิบัติงาน
มี 3 ด้าน 15 มาตรฐาน
ฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2562
(ก) การปฏิบัติหน้าที่ครู
1 มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู
2 ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
3 ส่งเสริมการเรียนรู้ เอาใจใส่ และยอมรับความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละบุคคล
4 สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้และผู้สร้างนวัตกรรม
5 พัฒนาตนเองให้มีความรู้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
(ข) การจัดการเรียนรู้
1 การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ สื่อ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
2 บูรณาการความรู้และศาสตร์การสอนในการวางแผนและจัดการเรียนรู้ ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีปัญญารู้คิดและมีความเป็นนวัตกรรม
3 ดูแลช่วยเหลือและพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลตามศักยภาพสามารถรายงานผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างเป็นระบบ
4 จัดกิจกรรมและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนโดยตระหนักถึงสุขภาวะของผู้เรียน
5 วิจัย สร้างนวัตกรรม และประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
6 ปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมใน กิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพ
(ค) ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน
1 ร่วมมือกับผู้ปกครองในการพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์
2 สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีศักยภาพของผู้เรียน
3 ศึกษา เข้าถึงบริบทของชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานความแตกต่างทางวัฒนธรรม
4 ส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
3 มาตรฐานการปฏิบัติตน
นำไปกำหนดจรรยาบรรณของวิชาชีพ 5 ด้าน 9 ข้อ (กำหนด + สอดคล้อง + ครอบคลุม)
มาตรฐานการปฏิบัติตน หมายความว่า จรรยาบรรณของวิชาชีพที่กำหนดขึ้นเป็นแบบแผน ในการประพฤติปฏิบัติตน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมทั้งผู้ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียง และฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้รับบริการและสังคมอันจะนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
หากผู้ประกอบวิชาชีพผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นจนได้รับการร้องเรียนถึงคุรุสภาแล้ว ผู้นั้นอาจจะถูกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1 ยกข้อกล่าวหา
2 ตักเดือน
3 ภาคทัณฑ์
4 พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี
5 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาตรา 54
ยก ตัก ภาค พัก เพิก
มาตรฐานการปฏิบัติตน กำหนดเป็น จรรยาบรรณของวิชาชีพ 5 จรรยาบรรณ คุรุสภาเป็นผู้กำหนด (ตน + ชีพ + รับ + ร่วม + คม)
1 จรรยาบรรณต่อตนเอง
2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
3 จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
5 จรรยาบรรณต่อสังคม
โฆษณา