24 พ.ค. 2020 เวลา 12:26
#ลาวแพน,#เกร็ดเพิ่มเติม
สวัสดีครับ เพื่อนๆ
สรุปผม ต้องแยกคลิปเพลง และเนื้อหาออกจากกัน ในสัปดาห์นี้นะครับ :)
เลยขออนุญาตเล่าเกร็ดประกอบเรื่องสั้นย้อนยุค ตอนที่ 4 ดังนี้ครับ:
คุณหลวงที่กำลังจับไม้ระนาดขึ้นลองไล่ลูก ก่อนจะขยับจัดท่าทางให้ผ่อนคลาย และยกไม้ระนาดชูขึ้นจรดหน้าผาก พนมมือระลึกถึงเทวาอารักษ์ แลครูบาอาจารย์ทางดนตรี…
จากนั้น คุณหลวงเริ่มตีทางหวาน เบาๆ ตามทำนองช้าๆ สอดรับกับ เสียงดังเป็นจังหวะของตะโพน และฉิ่ง…
สายตาของคุณหลวงทอดยาวไกลออกไป ในภวังค์ …คล้ายอยู่ในทิพย์วิมาน…
กระแสทางระนาดของคุณหลวง ในช่วงแรกถึงจะฟังหวาน แต่ก็แฝงด้วยความเศร้า คล้ายคำพร่ำพรรณาถึงความห่างไกลและการสูญเสีย อันไม่อาจหวนคืนมา…
ถ้อยคำทางดนตรี ที่พรั่งพรูออกมาจากผืนระนาด ช่างเต็มไปด้วยความรู้สึกอัดอั้น อันยากจะอธิบาย เต็มไปด้วยข้อสงสัย ความคิดถึงและเพ้อรำพึง… จนคุณหนูพา รู้สึกว่า มีน้ำตาอุ่นๆ ค่อยๆเอ่อล้น ขอบตาทั้งสองข้าง …เมื่อนึกถึง ถ้อยคำของหม่อมทินกรท่านบอก กับหนูพาว่า “ วันนี้ เจ้าคุณสันติจะรับ คุณพี่พิม คุณพี่พลอย และคุณเจ้าขา ไปฝากตัวกับเสด็จท่าน…” มันช่างเป็นความรู้สึกสูญเสีย ที่ยากจะเกินรับของหนูพา เสียนี่กระไร…
จากนั้นคุณหลวงก็เปลี่ยนจังหวะ เป็นตีเร็วขึ้น… ขับไล่ความทุกข์โศกนั้น ด้วยความเข้มแข็งหนักแน่นของน้ำหนักข้อมือ จนกลาย เป็นความรื่นเริงเข้ามาแทนที่ …
จังหวะนั้นยิ่งเร้งเร้าขึ้นอีก คล้ายเสียงคนวิ่งเล่น หยอกล้อ บางทีก็คล้ายเสียงหัวเราะ บางทีก็เปลี่ยนเป็น เสียงสกุณาร้องรับกัน คราเมื่ออรุณรุ่งมาเยือนอีกครา… เป็นถ้อยคำคล้ายดั่งความหวัง…
ว่า ที่สุดแล้ว วันหนึ่ง…เราจะได้พบกันใหม่…
ไม้ระนาดที่สะบัดเหวี่ยง รัวเร็ว เร่งกระชั้น…ทำให้ผู้ฟัง ทุกคน ณ ที่นั่น คล้ายจะถูกสะกด หยุดหายใจ… เงียบเสียงลงฟัง และ คล้ายจะโบยบิน ตามแสงสว่าง แห่งท่วงทำนอง แห่งความหวังนั้น…
เสียงฉิ่ง เสียงตะโพนเร่งดังเร้าใจตาม… ย้ำให้เห็น ท่วงทำนองของความสนุกและความชื่นชมยินดี ในลูกระนาดที่เปล่งเสียง…ว่า ยามเมื่อเรามาพบกันอีกครั้ง ด้วยความรื่นเริง..
.
.
“ นี่กระมัง คงจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า บุญญาธิการและณาณบารมี ในลักษณะ “เมตตาคุณ” ที่มักถูกกล่าวถึง ในเหล่าข้าหลวงของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง …ช่างน่าสนใจ อะไรเช่นนี้“
คุณไกรสรเอ่ย กล่าวกับเจ้าทองดี ก่อนที่จะเดินไปสมทบที่บริเวณหน้า หอนั่ง…
จบตอนที่ 4,
#เกร็ดเพิ่มเติม
#หอนั่งและชานเรือน
-หอนั่ง  
เป็นเรือนขวางกับเรือนนอนใช้เป็นหอนั่ง นิยมให้อยู่ด้านหน้าของบ้านใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนรับแขกและรับประทานอาหาร, นอกจากนี้ยังเป็นที่สำหรับทำบุญเลี้ยงพระในเวลาที่บ้านมีงานเลี้ยงได้ด้วย
-ชาน
เป็นส่วนเชื่อมเรือนทุกหลัง มีขนาดกว้างมากเปิดโล่งไม่มีหลังคา
#จางวางทองดี
ครูทองดี  ชูสัตย์ นักดนตรีอาวุโสแห่งสำนักดนตรีวัดกัลยาณมิตร โดยมีศักดิ์เป็นน้าชายของหลวงกัลยาณมิตตาวาส เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถรอบตัว ยกเว้นปี่ และจะชำนาญมากในเพลงหน้าพาทย์ที่สำคัญ
-ตลอดชีวิตครูทองดีจะเป็นครูผู้ถ่ายทอดที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีให้กับวงดนตรีต่าง ๆ ของฝั่งธนบุรี
#คณะนักดนตรีไทยไปอังกฤษ,
-ประเทศสยามให้ส่งดนตรีไปแสดงที่อังกฤษครั้งนั้น
ได้ส่งนักดนตรีไทยที่เป็นดนตรีของวังบูรพาภิรมย์แทบทั้งหมดซึ่งในการแสดงครั้งนั้นนำซอสามสายไปด้วยและเป็นเคราะห์นี้ที่มีมือดีได้บันทึกเรื่องราวคือนายคร้ามเป็นคนซอสามสายโดยนักดนตรีทั้ง 19 คนคือ
* จางวางทองดี (ครูทองดี)
* นายตาด
* นายยิ้ม
* นายเปีย
* นายนวล
* นายเนตร
* นายต่อง
* นายฉ่าง
* นายคร้าม
* นายชุ่ม
* นายสิน
* นายสาย
* นายแปลก
* นายเหม
* นายเปลี่ยน
* นายอ๋อย
* นายเผื่อน
* นายปลั่ง
* นายสังจีน
แต่เมื่อถึงอังกฤษมีคนเสียชีวิตคนหนึ่งคือนายสังจีนบรรเลงครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2428 เป็นเวลาสามเดือน,
-พระนางวิคตอเรีย พระราชินีแห่งอังกฤษ ทรงรับสั่งให้คณะนักดนตรีไทยมาแสดงต่อหน้าพระพักตร์ ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ณ พระราชวังชายทะเลแห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่าพระราชวังแก้ว คณะนักดนตรีไทยเล่นเพลง ก๊อต เซฟควีน เป็นเพลงแรกแล้วจึงเล่นเพลงอื่นตามโปรแกรม หลังจบการแสดงพระองค์รับสั่งขอบใจและเมื่อส่งเสด็จเรียบร้อย พนักงานเอาบุหรี่ซิกาแรตมาให้แจ้งว่า พระราชทานเป็นรางวัลแก่นักดนตรีทุกคน นอกจากนี้ยังพระราชทานของที่ระลึก คือ เหรียญรูปพระนางวิคตอเรีย, พระฉายาลักษณ์ลายเซ็นพระหัตถ์ และพระฉายาลักษณ์ปริ๊นส์อัลเบิร์ต ฯลฯ
#ลาวแพน,
-เพลงลาวแพนเป็นเพลงที่นิยมนำมาบรรเลงเป็นเพลงเดี่ยวอวดฝีมือกันมากเพลงหนึ่ง, เพลงนี้มีต้นเค้ามาจากเพลงที่นิยมร้องเล่นกันในหมู่เชลยชาวลาวที่ไทยกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทร์ในสมัยตอนต้นๆของยุครัตนโกสินทร์ ท่วงทำนองเพลงนี้มีทั้งความอ่อนหวานรำพึงรำพันและโศกเศร้าระคนกัน..
สวัสดี และขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงข้อมูล (T.Mon)
24/5/2020
ภาพและข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง: วิเชียร กุลตัณฑ์.“เมื่อประเทศสยามส่งคณะปี่พาทย์ไปแสดงที่ประเทศอังกฤษ ในรัชสมัยพระนางวิคตอเรีย”, ศิลปวัฒนรรม พฤษภาคม 2526, ขอบคุณเพลงลาวแพน จาก youtube คุณเติ้ลขลุ่ยไทย ด้วยนะครับ :)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา