28 พ.ค. 2020 เวลา 07:01 • ปรัชญา
เจตน์จำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา EP4
Free Will is Exist or is it just an Illusion
Episode 4
เครติตภาพ: https://www.kamonway.com
คนบางคนอาจจะมีลักษณะผู้นำ คือคนที่ค่อนข้างจะมีอุปนิสัยที่กล้าตัดสินใจด้วยตนเอง
บางท่านก็มีลักษณะเป็นผู้ตาม ทำนองว่า ถ้าพี่ว่าอย่างไร ผมก็ว่าตามกัน
ถ้าในทางอภิธรรมเราบอกว่า จิตและเจตสิกที่ประกอบด้วยไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีทั้งจิตที่ถูกชักนำ และจิตที่ไม่ถูกชักนำ เกิดขึ้นเอง โลภ โกรธ หลงก็เช่นกัน
เกิดขึ้นจากการถูกชักนำ และไม่ได้ชักนำอะไรเลย
เกิดขึ้นเองหรือมีโดยสันดาน จะทำให้ประกอบได้ทั้งกุศลและอกุศล จะเห็นว่า คนบางคนโลภด้วยตัวของเขาเอง ถ้ามนุษย์ไม่มี Free Will คงทำอะไรขนาดนี้ไม่ได้
แม้แต่การกระทำบางสิ่งบางอย่างยังตั้งข้อสังเกตได้ว่า เกิดจาก Free Will จริงหรือไม่ เพราะแม้แต่การเลือกแบบซาร์ต ก็ต้องมีคำอธิบาย
เช่น ข้อสังเกตกรณีพระโดนปล้นเมื่อสักครู่ (EP3) อาจจะอธิบายเหตุผลที่จะไม่ให้เงินกับโจรได้ว่า “ไม่ให้เงินเพราะเป็นเงินที่รับบริจาคมาจากญาติโยมเพื่อสร้างศาสนสถาน การกระทำการปล้นแบบนี้ทำไม่ถูกต้อง อาตมาไม่สนับสนุน” เมื่อพูดจบ โจรก็ยิงพระรูปนั้น แล้วก็เอาย่ามท่านไป
ข้อสังเกตก็คือ แม้แต่การกระทำนี้ก็อาจจะถูกตั้งคำถามได้ว่า Free Will จริงหรือ เพราะว่าFree Will ในทรรศนะของท่านยังคงต้องการคำอธิบายว่าอะไรเป็นตัวกำหนดให้ทำแบบนั้น
ยกตัวอย่างกรณีพระเวียดนามที่เผาตัวเองเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลการกระทำก็เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างให้กับรัฐบาลที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นมันเกินไปแล้วจนเป็นเหตุให้พระรูปนั้นต้องเผาตัวใช่หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด
เครดิตภาพ: https://www.silpa-mag.com
หรือว่าท้ายที่สุดแล้วจะเอนเอียงไปกับแนวคิดแบบฮอบส์ เหมือนว่าการเลือกล้วนๆด้วยเองไม่มีจริง การที่จะเผาตัวตายก็มีคำอธิบาย
ก็มีเหตุผลที่จะบอกว่าที่ทำเพราะสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวท่านคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธในเวียดนาม เวลานั้น
หรือการที่พระยอมให้โจรยิง เพื่อปกป้องถุงย่ามใส่เงินบริจาค เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้นึกถึงญาติโยมที่บริจาค ตามวัตถุประสงค์ในการสร้างโบสถ์ฯหรือศาสนสถาน ท่านจะต้องปกป้องเงินเหล่านี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้ท่านตาย (มรณภาพ) ท่านไม่ได้เลือกเองหรอก
ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าคิดทีเดียว
ข้อสงสัยอีกประการ เรื่องเจตสิก แบบไม่ต้องมีใครมาชวน
ถ้าเราสังเกตดูจิตมนุษย์มี เจตสิกอยู่ เช่นไม่โลภ อโลภะชนิดนี้
ต้องมีเพื่อนมาแจกซองทำบุญก่อนจึงจะทำบุญ จัดเป็นสสังขาริก
แต่บางคนไม่ต้องเห็นเพื่อนมาแจกซอง เห็นด้วยตาว่าหลังคาวัดชำรุด ก็เข้าไปขอบริจาคซ่อมหลังคาด้วยตนเอง
แต่ก็อาจมีการแย้งว่า ก็ยังมีการที่มองเห็นว่าหลังคาชำรุดนั่นแหละที่เป็นตัวผลักดันชักนำให้คิดอยากทำบุญ
หรือว่าบางพวกอาจบอกว่า ระดับความเข้นข้นของการมาชักนำนั้นต่างกัน
พุทธปรัชญาเถรวาทมีแนวคิดที่มีแนวโน้มเป็นปัจเจกนิยม Individualism ซึ่งต้องการอธิบายว่า มนุษย์เรามีความเป็นอิสระในการที่จะทำอะไรก็ได้ในวิถีของตนที่เห็นว่าเป็น ประโยชน์ต่อตนเอง
เครดิตภาพ: https://www.matichon.co.th
ดังคำที่กล่าวว่า “จงเตือนตนด้วยตนเอง” ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้แสดงให้เห็นถึง แนวคิดของความเป็นปัจเจกนิยม ที่จัดเป็นแนวคิดในการเน้นที่การบอก และการสอนตนเองเป็นหลักสำคัญ
“พุทธปรัชญาเถรวาทพยายามแสวงหาคุณค่าอันแท้จริงของมนุษย์ที่จะเป็นอิสระจากอัตตาและตัณหา”
ด้วยการกล่าวและแสดงถึงตัวตนอย่างชัดเจนจากตัวตัณหา และการสำนึกรู้ด้วยตัวเองตามแนวคิดอย่างอิสระ พุทธปรัชญาเถรวาทแสดงถึงอีกว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของเราได้” จะเห็นว่าการมีเสรีภาพของมนุษย์และขอบเขตของเสรีภาพของปัจเจกบุคคลโดยกล่าวถึงพระสัมมาพุทธเจ้าว่า “พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสสนะ”
ปัจเจกบุคคลในพุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวถึงความเป็นมนุษย์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะคือ “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมายาวนานและเป็นสิ่งที่พุทธปรัชญาให้ความสำคัญมากที่สุดเพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวเท่านั้น ที่สามารถบรรลุธรรมสูงสุดได้”
บทสรุป
คำถามที่สำคัญให้ชวนคิดคือคำสอนในทางพุทธปรัชญาเถรวาท เรื่องปฏิจจสมุปบาท และ อิทัปปัจยตา ถ้าหากตีความให้ดีก็เหมือนต้องการจะบอกว่า มนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี กับ คอนเซปต์ที่ว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” แล้วปฏิจจสมุปบาทนั้น คือคำอธิบายสภาพจิตใจของมนุษย์ ที่ผลักดันให้มนุษย์ คิด พูด และทำ
เครติตภาพ: https://www.kamonway.com
เพราะสิ่งนี้มี จึงมีสิ่งนี้ เป็นเพราะทำนี่เราจึงทำนั่น อะไรทำนองนี้ กฎในจักรวาลไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม พุทธปรัชญาจึงมีความเชื่อว่า ไม่มีคำว่า“บังเอิญ” อย่างแน่นอน
เพราะไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ โดยปราศจากที่มาและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่น ต่อไปอีก สรรพสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง อิงอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างความเป็นเหตุและอีกสิ่งหนึ่งเป็นผล ดังปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ตกลงว่ามนุษย์เราไม่ได้เลือกอะไรเลยใช่หรือไม่ ซึ่งทั้งทฤษฎีของฮอบส์ หรือของซาร์ต ต่างก็ให้แนวคิดที่มีเหตุและผล
แต่ท้ายที่สุดมนุษย์จะมีเสรีภาพและจิตเป็นอิสระ มีเจตน์จำนงเสรีหรือเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ทางสมองเท่านั้น เราก็ยังคงอยู่ในโลกนี้อาศัยภายใต้กลไกของรัฐ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม
และกฎหมายที่เป็นของจริง
"จวงจื่อ" ฝันว่าตัวเองเป็นผีเสื้อ
ซึ่งเราก็ต้องเจอและเผชิญกับมัน เพื่อกิน-อยู่-หายใจและใช้ชีวิตประจำวันกันไปจนตาย ดังนั้นเลือกคิดพูดทำอย่างมีสติรอบคอบในสิ่งที่ไม่ทำให้ตนเองและคนที่เรารักต้องเสียใจ ในภายหลัง สร้างหลักประกันเพื่อตัวเราเองไว้ ด้วยการละชั่ว,ทำดี, ทำใจให้ผ่องใส ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นเนืองนิตย์ ชีวิตที่มีอยู่ก็มีคุณค่า,คุ้มค่าและงดงาม.
เครดิตภาพ: https://www.sanook.com
แหล่งอ้างอิง
1.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
2.จำนง ทองประเสริฐ. ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่๒. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
3. วศิน อินทสระ. พุทธปรัชญาเถรวาท. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: ชวนพิมพ์, ๒๕๓๗.
4. สมภาร พรมทา. มนุษย์กับการแสวงหาความจริงและความหมายของชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สยาม, ๒๕๓๘.
5.คมชัดลึกออนไลน์. วันโลกตะลึง ทิจ กวาง ดึ๊ก หัวใจที่ไม่ได้ถูกเผา www.komchadluek.net/news
-วิรุฬหก-
โฆษณา