29 พ.ค. 2020 เวลา 04:49
ถ้าถูกให้ออกจากงานตอนนี้…
ในช่วงวิกฤตแบบนี้ หลายอุตสาหกรรมโดนผลกระทบอย่างหนักและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลดเงินเดือนผู้บริหารและพนักงานหรือหลายกรณีต้องลดจำนวนพนักงานลง ผู้ที่ถูกให้ออกจากงานจากอาชีพที่ทำมานานอย่างกะทันหันนั้น จะต้องเจอทั้งความรู้สึกตกใจ อับอายและมึนงง เพราะในสภาวะแบบนี้ การหางานใหม่ก็ไม่ใช่ง่ายๆ
แล้วเราผู้ถูกออกจากงานพอจะทำอะไรได้บ้างหรือไม่ควรทำอะไรบ้าง
ผมได้ไอเดียเบื้องต้นจากบทความ you’re not powerless in the face of layoff ของ harvard business review แล้วลองมานึกผสมจากประสบการณ์ตัวเองและคนที่เคยรู้จัก เลยอยากลองเขียนเป็นแนวทางไว้เผื่อเป็นไอเดียผ่อนหนักให้เป็นเบา เปิดโอกาสให้เข้ามามากขึ้น และไม่ทำให้ปัญหาที่หนักอยู่แล้วหนักขึ้นไปอีก
ข้อแรก ต้องกลืนเลือดให้ได้
ไม่ว่าการถูกให้ออกจากงานจะนำมาซึ่งความโกรธแค้น ความอยุติธรรม ความไม่แฟร์หรือความอับอายแค่ไหน อย่างมากเราก็ควรจะบ่นให้แค่คนสนิทจริงๆฟัง แต่ต้องหลีกเลี่ยงการโพสต์อะไรที่เป็นลบด้วยอารมณ์โกรธ ด่าที่ทำงานเก่าลง social media อย่างเด็ดขาด เพราะผลกระทบที่ตามมานอกจากที่ที่เราไปสมัครใหม่อาจจะดู facebook เราและเห็นสิ่งที่เราเขียนโดยไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางอะไร ก็จะพาลคิดไปได้ว่าถ้ารับมาแล้วอาจจะมาด่าที่ทำงานใหม่ได้เพราะที่ทำงานเก่ายังด่ามาแล้วก็อาจจะไม่กล้าพิจารณาเราได้ นอกจานั้นยังมีผลทำให้ที่ทำงานเก่า เจ้านายเก่าโมโหหงุดหงิด เวลามีคนมาขอ reference ก็อาจจะพูดทางลบ ลดคะแนนในการหางานเราไปอีก ไม่พูดถึงว่าในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ค่อนข้างแคบ การบอกต่อๆกันด้วยความโกรธก็จะยิ่งไม่เป็นผลดีกับเราเลย
การเขียนอะไรใน social media นั้นเปรียบเสมือนการที่เราขึ้นข้อความบนบิลบอร์ดพร้อมกันทั่วกรุงเทพ ถ้าเรากำลังจะเขียนอะไรด้วยความโกรธก็อยากให้นึกว่าเราโกรธขนาดจะขึ้นบิลบอร์ดหรือไม่ และผลที่ตามมาหลังขึ้นบิลบอร์ดคืออะไร ก็อาจจะทำให้เย็นลงได้บ้าง เพราะมันไม่มีผลดีอะไรเลยนอกจากสะใจแต่ผลเสียนั้นเหลือคณานับมาก
ข้อที่สอง ออกมาจากที่ทำงานเก่าด้วยภาพจำที่ดี
การที่ทำให้เจ้านายเก่า ที่ทำงานเก่ารู้สึกดีกับเรานั้นอาจจะส่งผลดีทั้งเวลาเราไปสมัครงานใหม่แล้วอาจจะได้ความช่วยเหลือที่ดี การพูดถึงที่ในแง่มุมที่มีประโยชน์กับนายจ้างใหม่ หรือแม้กระทั่งพอเหตุการณ์คลี่คลายลง หลายบริษัทก็มักจะตามพนักงานเดิมกลับไปทำงานถ้ารู้สึกดีๆต่อกัน
วิธีการออกอย่างดีและมีประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ออกเฉยๆโดยไม่มีใครจำอะไรได้หรือออกแบบร้ายกาจให้คนเกลียด เราจะต้องออกแบบประสบการณ์ตั้งแต่เราต้องตั้งใจส่งมอบงานที่ค้างคาให้เสร็จสมบูรณ์อย่างเต็มใจ ให้คนที่รับงานต่อจากเราทำงานได้สะดวกมากๆ ก่อนออกก็ควรเขียน email ร่ำลาด้วยข้อความที่ทุกคนอ่านแล้วรู้สึกดีว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากที่ทำงาน ทำให้เราเติบโตอย่างไร ชื่นชมหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แสดงถึงทัศนคติที่ดีแม้กระทั่งในยามพ่ายแพ้ จะทำให้ทุกคนจดจำเราในแง่มุมที่ดีไว้ เป็นต้นทุนในอนาคตของเราเอง
สองเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเจ้านายเก่า คุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอดีแทค มีช่วงหนึ่งคุณซิกเว่อยากทำงานเป็นซีอีโอคนเดียวหลังจากมีซีอีโอคู่มานาน แต่ในตอนนั้นคุณบุญชัย เบญจรงกุลไม่เห็นด้วย คุณซิกเว่โมโหและผิดหวังมากเลยตัดสินใจด้วยอารมณ์ ยื่นจดหมายลาออก แล้วในช่วงนั้นคุณซิกเว่นัดผมขอคำปรึกษาว่าจะเอายังไงต่อดี คุณซิกเว่โมโหขนาดว่าจะเรียกแถลงข่าว แล้วเปิดใจกับนักข่าวเลยด้วย
ในตอนนั้นผมห้ามคุณซิกเว่ไว้ ถามว่าคุณซิกเว่ยังอยากเป็นซีอีโอดีแทคอยู่รึเปล่า เพราะบอกว่าถ้าทำแบบนั้น ไปพูดจาลบๆในวงสาธารณะ จะต้องทำคุณบุญชัยโกรธมากแล้วก็จะไม่ได้กลับไปเป็นซีอีโอดีแทคอีกแน่ๆ ผมแนะนำให้คุณซิกเว่ใจเย็นๆ ไปหาคุณบุญชัยที่วัดที่คุณบุญชัยไปทุกอาทิตย์ ไม่ต้องพูดเรื่องซีอีโออีก ไปคุยดีๆ ถ้าจะออกก็ออกดีๆให้คุณบุญชัยคิดถึง ปรากฏว่าอีกไม่นานคุณบุญชัยก็คิดถึงจริงๆ แล้วก็ตามคุณซิกเว่กลับมาเป็นซีอีโอดีแทคอีกครั้ง ถ้าคุณซิกเว่ไม่กลืนเลือดในตอนนั้นก็คงหลุดออกนอกวงโคจรไม่เผาผีกันไปแล้ว ครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำหรับผมที่ได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน
พี่จิ๋มสุวภา เจริญยิ่งเคยเล่าเคสช่วงวิกฤตปี 40 ที่หลายบริษัทต้องลดคนไว้เคสหนึ่ง ตอนบริษัทจะลดคน พนักงานระดับล่าง แม่บ้าน คนรถมักจะโดนก่อน มีบริษัทหนึ่งหัวหน้าคนรถพอรู้ว่าถูกให้ออก ก็รวบรวมคนที่ถูกออกด้วยกันไปตั้งบริษัทแล้วขอให้เจ้านายช่วยจ้างบางส่วนและแนะนำลูกค้าให้บางส่วน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนตอนนี้หัวหน้าคนรถนั้นเป็นเจ้าของบริษัท outsource ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ที่ทำงานให้ออกก็จริงแต่ก็บางทีโอกาสต่อไปก็อาจจะอยู่แถวที่ออกมา ถ้ามองหาดีๆก็ได้นะครับ
ข้อที่สาม เริ่มบอกคนที่ควรบอกด้วยทัศนคติที่ดี
คนที่ควรบอกที่จะมีผลต่อการหางานใหม่มีหลายกลุ่ม อาจารย์ เจ้านายเก่า พาร์ตเนอร์ที่เคยทำงานด้วย คนทำงานในบริษัทที่เป็นคู่ค้า ลูกค้า หรือผู้ร่วมงานที่รู้สึกดีๆรู้จักความสามารถของเรา ฯลฯ โดยเราควรจะบอกถึงสถานะตัวเองผ่านเนื้อความที่แสดงทัศนคติที่ดี ขอบคุณประสบการณ์ดีๆที่เคยมีร่วมกันหรือให้โอกาสเรา และเล่าแผนงานในอนาคตสั้นๆ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาเหล่านั้นกำลังรับคนอยู่หรือไม่ เราอาจจะส่งไปในจังหวะที่เหมาะสมพอดีก็ได้ หรืออย่างน้อยเขาก็จะเก็บชื่อเราไว้ในใจ พอโอกาสเปิดเราก็อาจจะได้รับโอกาสนั้น และในหลายครั้งก็จะได้มีโอกาสเปิดบทสนทนาที่อาจจะนำไปสู่โอกาสบางอย่างก็ได้ ตอนที่ผมออกจากดีแทคครั้งแรกนั้น มีคู่ค้าที่ดีลงานด้วยตอนที่ทำงานอยู่ก็มาชวนไปทำงาน ถึงแม้ท้ายสุดจะไม่ได้ตกปากรับคำไปร่วมงาน แต่ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้รับจากคนรอบข้างเหมือนกัน
ข้อที่สี่ เริ่มสร้างเครือข่ายใหม่
ผมบังเอิญมีงานเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็พอจะรู้ว่า การเข้าไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นซึ่งมีเยอะพอสมควรในเมืองไทยนั้นเป็นประโยชน์มากเวลาเปลี่ยนงานหรือหางานใหม่ หลักสูตรในเมืองไทยนั้นมีทั้งเป็นหลักสูตรทางวิชาชีพ เช่นหลักสูตรอบรมสื่อสารมวลชน หลักสูตรของกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะหรือหลักสูตรที่เป็นการเรียนด้านต่างๆ เช่นด้าน e-commerce ด้าน SME ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะได้มีโอกาสเปิดโลกกับวิชาความรู้ให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นแล้วแล้ว การที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถ ความกระตือรือร้น และทัศนคติที่ดี หลายครั้งก็นำไปสู่การชักชวนกันทำธุรกิจหรือทำงานด้วยกัน หรือแนะนำเราต่อเมื่อมีโอกาสในฐานะเพื่อนที่รู้จักกันพอที่จะมั่นใจในนิสัยใจคออีกด้วย โดยรวมๆก็ทำให้เครือข่ายรอบตัวเราเพิ่มขึ้น โอกาสก็น่าจะเพิ่มตามไปด้วย ในฐานะคนที่ทำหลักสูตรอยู่ ผมได้เห็นความร่วมมือการชักชวนแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง
ข้อที่ห้า ต้องเริ่มสร้าง reputation ของตัวเอง
การสร้าง profile ของตัวเองผ่านโอกาสต่างๆให้เป็น portfolio ไว้นั้นจะมีประโยชน์อย่างมากในการหางาน รวมถึงเป็นการกระจายชื่อของตัวเองเผื่อโอกาสใหม่ๆที่เข้ามาอีกด้วย หลายคนเริ่มต้นง่ายๆด้วยการสอนหนังสือ รับบรรยายในเนื้อหาที่ตัวเองพอถนัด ได้สตางค์บ้างไม่ได้บ้างไม่ใช่ประเด็น หลายคนเริ่มเขียนบทความ เริ่มสร้าง channel ของตัวเองซึ่งสมัยนี้ทำได้ไม่ยากเลย การที่เราสามารถถ่ายทอดความรู้ที่เรามีนั้น เป็นมากกว่าการบอกถึงความรู้ความสามารถเรา แต่ยังเป็นการฝึกฝนตัวเองในโลกที่ storytelling มีความสำคัญไม่น้อยกว่างานจริงๆด้วยซ้ำ
ชื่อเสียงที่สร้างในช่วงตกงานนั้นยากกว่าตอนที่มีงานทำและมีตำแหน่งต่อท้ายอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป และเป็นการเปิดประตูอีกบานหนึ่งในหลายๆบานที่อาจจะเจอโอกาสที่จะได้เริ่มใหม่อีกครั้ง
การถูกให้ออกจากงานแล้วต้องอดกลั้น ต้องพยายามลุกขึ้นใหม่ให้ได้อีกนั้นไม่ง่ายเลยในสภาวะแบบนี้ แต่สำหรับคนที่ยังมีงานทำอยู่นั้น ถ้าลองคิดเสมือนหนึ่งว่าเราอาจจะถูกให้ออกจากงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แล้วเราก็อาจจะเริ่มเห็นแล้วว่าในขณะที่ยังมีงานทำอยู่ เราควรจะทำอะไรบ้าง เราควรเริ่มทำดีกับคนรอบข้าง ระวังการโพสต์โซเชียล สร้างผลงานให้ดี ทำงานให้เต็มที่ต่อคู่ค้าและลูกค้า สร้างชื่อเสียงตัวเองให้เมื่อถ้าเราต้องถูกออกจากงานจริงๆแล้วจะมีคนพูดถึงเราในทางที่ดีทั้งในและนอกบริษัท รวมถึงต้องเริ่มสร้างเครือข่ายของตัวเองในกว้างขวางขึ้นกว่านี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าเราต้องถูกให้ออกจากงานจริงๆ ก็จะช่วยเพิ่มพลังในการทำข้อหนึ่งถึงห้าได้ดีกว่าไม่ได้เตรียมตัวอะไรแน่ๆ
..to emerge stronger in the end บทความ HBR ว่าไว้อย่างนั้น…
โฆษณา