30 พ.ค. 2020 เวลา 01:32 • ปรัชญา
อภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา
Metaphysics in Buddhism
1
เครดิตภาพ: https://sites.google.com/site/xphiprachya01/
ในการศึกษาเกี่ยวกับอภิปรัชญา
เกิดมีทฤษฎีอภิปรัชญาขึ้นมากมาย แต่ก็อยู่ในลักษณะของ 3 ทฤษฎีหลักคือ
ทฤษฎีสสารนิยม (Materialism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะยอมรับเรื่องของวัตถุ หรือสสารเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง จึงพยายามหาความจริงเกี่ยวกับสสาร
ทฤษฎีจิตนิยม (Idealism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอะไรคือธาตุแท้ของมนุษย์ โดยเน้นไปที่เรื่องของจิต เพราะยอมรับว่า จิต เท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
1
ทฤษฎีธรรมชาตินิยม (Naturalism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติว่า อะไรเป็นผู้สร้าง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีลักษณะเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสร้างโลก ควบคุมโลก และทำลายโลก เหล่านี้เป็นต้น
คำว่า อภิปรัชญา เป็นศัพท์บัญญัติภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติขึ้นแทนคำ Metaphysics ในภาษาอังกฤษ พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้บทนิยามไว้ว่า
"เป็นปรัชญาสาขาที่ว่าด้วยสิ่งเป็นจริง เช่น พระเป็นเจ้า (God) โลก (World) วิญญาณ (soul) สาระ (Substance) เจตจำนงเสรี (free will)"
คำว่า สิ่งเป็นจริง (reality) พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาที่อ้างถึงข้างต้น ให้บทนิยามว่า ได้แก่ "สิ่งที่มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง
ซึ่งอาจรู้ได้หรือไม่อาจรู้ได้ทางประสาทสัมผัส"
หมายความว่า สิ่งเป็นจริงนั้นมีลักษณะ ๒ อย่าง
คือ มีอยู่จริง และ เป็นอยู่จริง ฉะนั้น การจะถือว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเป็นจริง
ก็ต้องดูว่า สิ่งนั้น มีอยู่จริง และเป็นอยู่จริงหรือไม่
การจะรู้ว่า สิ่งใด มีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง
ให้ศึกษาจาก ความมีอยู่ (existence) ของสิ่งนั้น
1
เช่น ศึกษาว่า พระเป็นเจ้า (God) มีอยู่จริงหรือไม่
ถ้ามีอยู่จริง มีอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร
พวกเทวนิยม (theists) จะตอบคำถามนี้ว่า พระเป็นเจ้ามีอยู่เอง เป็นอยู่เอง คือ เกิดเอง ไม่มีเหตุปัจจัยภายนอก จึงไม่ถูกจำกัดด้วยกาละ = นิรันดร
ไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ = แพร่อยู่ทั่วไป ทั้งในโลกนี้
ที่เรียกตามศัพท์ทางวิชาการว่า อัพภันตรภาพ (immanent) และแพร่เลยโลกนี้ออกไปด้วยที่เรียกว่า อุตรภาพ (transcendent)
การจะรู้ว่า สิ่งใดเป็นอยู่จริงหรือไม่ ให้ศึกษาจากความเป็นอยู่หรือความเป็น (essence) ของสิ่งนั้น
เช่น ศึกษาว่า พระเป็นเจ้า คือใคร มีคุณลักษณะอย่างไร พวกเทวนิยมจะตอบคำถามนี้ว่า พระเป็นเจ้า คือ ผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง
บางพวกพรรณนาว่า มีรูปร่างลักษณะเป็นบุคคล (personal)
บางพวกพรรณนาว่า ไม่มีรูปร่างลักษณะเป็นบุคคล (impersonal)
1
และพรรณนาคุณลักษณะว่าเป็นสัพพัญญู (omniscient)
สรรพวิภู (omnipresent) สรรพพลานุภาพ (omnipotent) เป็นต้น
3
กล่าวโดยสรุป อภิปรัชญา คือ สาขาปรัชญาที่ศึกษาหาความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายโดยใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือ หรือเรียกสั้นๆว่า
เป็นวิชาที่ว่าด้วยการคาดคะเนความจริงด้วยเหตุผล ไม่ยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรหรือเกสปุตตสูตร
อภิปรัชญากับศาสนา
อภิปรัชญากับศาสนามีความคล้ายคลึงกันในลักษณะต่อไปนี้
๑. อภิปรัชญาและศาสนามีวัตถุประสงค์ขั้นต้นตรงกัน คือ เพื่อศึกษาหาความแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังของโลกหรือของเอกภพ เพราะถือว่า โลกหรือเอกภพเป็นเพียงภาพปรากฏ (appearance) หรือปรากฏการณ์ (phenomenon) ของสิ่งเป็นจริง หรือความแท้จริง (reality)
๒. ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาพยายามที่จะก้าวไปให้พ้นภาพปรากฏหรือปรากฏการณ์ซึ่งเป็นเสมือนม่านปิดบังความแท้จริงของโลกที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลาย ผู้ที่ก้าวพ้นปรากฏการณ์เหล่านี้ไปเท่านั้นจึงจะมองเห็นความแท้จริงได้
1
๓. ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาเน้นถึงการฝึกจิตว่า เป็นวิธีที่จะนำไปสู่การบรรลุสัจธรรมหรือความแท้จริงได้ (ยกเว้นอภิปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยม)
๔. ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาเชื่อในความสามารถของจิตมนุษย์ว่า สามารถสัมผัสสัจธรรมโดยตรงได้ (ยกเว้นอภิปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยม)
๕. ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาประเมินค่าของปรากฏการณ์ว่า ต่ำกว่าค่าของสัจธรรมที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้น ๆ
๖. ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ของชีวิต ซึ่งทั้งสองยอมรับว่า ชีวิตนั้นมีอยู่จริง และพยายามทำให้บริสุทธิ์และดียิ่ง ๆ ขึ้นได้
อภิปรัชญากับศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายเทวนิยมมีความต่างกันในลักษณะต่อไปนี้
๑. อภิปรัชญาและศาสนาแตกต่างกันในปัญหาเรื่องวิธีการ กล่าวคือ อภิปรัชญา (บางสำนัก) ใช้วิธีการอุปนัย (induction = พิจารณาจากข้อเท็จจริงไปหากฎ เช่น สังเกตพบว่า คนแต่ละคน เช่น นาย ก นาย ข นาย ค มีอันต้องตาย จึงสรุปลงเป็นกฎว่า มนุษย์ทุกคนต้องตาย) ส่วนศาสนาใช้วิธีการนิรนัย (deduction = พิจารณาจากกฎไปหาข้อเท็จจริง เช่น สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คนเป็นสังขาร เพราะฉะนั้น คนจึงไม่เที่ยง)
๒. อภิปรัชญาใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตระ ส่วนศาสนาใช้วิธีมอบกายถวายชีวิต (ภักดี) ต่อสภาพธรรมนั้น
๓. อภิปรัชญามีฐานะเป็นวัตถุวิสัยหรือปรวิสัย (objective) มาก่อน คือ ถือว่า สิ่งเป็นจริง เป็นสิ่งมีอยู่จริงภายนอกตัวเรา ที่ใคร ๆ ก็สามารถรู้ตรงกันได้ ส่วนศาสนามีฐานะเป็นจิตวิสัยหรืออัตวิสัย (subjective) คือ ถือว่า สิ่งเป็นจริง มีอยู่ในตัวเรา เป็นเรื่องเดียวกับจิตวิญญาณของเรา
๔. อภิปรัชญาเห็นว่า การค้นคว้าด้วยเหตุผลเท่านั้นจะบรรลุถึงความรู้แจ้งสัจธรรมได้ ส่วนศาสนากลับเห็นว่า ความภักดีและศรัทธาในพระเป็นเจ้าเท่านั้น จะนำผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสัจธรรมได้
1
๕. อภิปรัชญาไม่มีศรัทธาล่วงหน้าในสิ่งที่จะศึกษาค้นคว้า แต่ศาสนาเริ่มต้นด้วยศรัทธาในพระเป็นเจ้าที่เขารักเคารพและเชื่อถืออยู่ก่อน
๖. อภิปรัชญามีขอบเขตที่จะต้องศึกษากว้างขวางกว่า
คือว่าด้วยความแท้จริงเกี่ยวกับโลกทั้งมวล
ส่วนศาสนาว่าด้วยเรื่องพระเป็นเจ้าในส่วนที่สัมพันธ์กับมนุษย์เท่านั้น
๗. อภิปรัชญามีเนื้อหากว้างขวาง รวมถึงธาตุประกอบของจิตมนุษย์ทั้งหมดหรือการับรู้อารมณ์ (Knowing) การเสวยอารมณ์หรือความรู้สึกสุขทุกข์ (feeling) และความตั้งใจหรือเจตนา (willing) ส่วนศาสนาเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้สึกหรือการเสวยอารมณ์ ซึ่งในที่สุดกลายเป็นศรัทธา
๘. อภิปรัชญามุ่งเน้นเรื่องจักรวาลเป็นสำคัญ (cosmocentric) ส่วนศาสนามุ่งศึกษาเรื่องตัวตนเป็นสำคัญ
๙. อภิปรัชญาศึกษาเพื่อรู้ความจริงเท่านั้น
ส่วนศาสนามุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงความจริง
๑๐. อภิปรัชญาศึกษาเพื่อให้ความต้องการทางพุทธิปัญญา (intellectual) บรรลุผลสำเร็จ ส่วนศาสนาศึกษาเพื่อให้ความต้องการทางอารมณ์ (emotional need) บรรลุผลสำเร็จ
๑๑. อภิปรัชญาเป็นเรื่องของสมอง แต่ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ
พระพุทธศาสนากับปัญหาทางอภิปรัชญา
เป็นที่ทราบกันดีในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาทางอภิปรัชญา ได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวกันอันตคาหิกทิฏฐิ (ความเห็นที่ยึดถือที่สุด) ๑๐ ประการ คือ
๑. โลกเที่ยง ใช่ไหม
๒. โลกไม่เที่ยง ใช่ไหม
๓. โลกมีที่สุด ใช่ไหม
๔. โลกไม่มีที่สุด ใช่ไหม
๕. ชีวะ (วิญญาณ) กับสรีระ (ร่างกาย) ไม่ต่างกัน ใช่ไหม
๖. ชีวะ กับ สรีระ ต่างกัน ใช่ไหม
๗. ตถาคต (สัตว์) ตายแล้ว เกิดอีก ใช่ไหม
๘. ตถาคต ตายแล้ว ไม่เกิดอีก ใช่ไหม
๙. ตถาคต ตายแล้ว เกิดอีก ก็มี ไม่เกิดอีก ก็มี ใช่ไหม
๑๐. ตถาคต ตายแล้ว จะว่าเกิดอีก ก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก ก็มิใช่ ใช่ไหม
1
ถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาทางอภิปรัชญาเหล่านี้
มีการตีความท่าทีของพระพุทธองค์ต่อปัญหาเหล่านี้ไว้ต่างกัน
ฝ่ายเถรวาท ตีความว่า ที่ไม่ทรงตอบ เพราะไม่เป็นประโยชน์
กล่าวคือ จะทรงตอบหรือไม่ทรงตอบก็ไม่ได้ช่วยผู้ฟังให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
แต่ฝ่ายมหายานตอบว่า อาการที่ทรงนิ่งไม่ตรัสตอบปัญหาทางอภิปรัชญาออกมาเป็นภาษาพูดนั้นเป็นการตอบที่ถูกต้องที่สุด
เพราะถ้าทรงตอบด้วยภาษาพูดของมนุษย์จะตอบได้ ๒ อย่าง คือ ตอบรับว่า "ใช่" และตอบปฏิเสธว่า "ไม่ใช่" ถ้าทรงตอบรับ
จะตรงกับทิฏฐิของสมณพราหมณ์ฝ่ายหนึ่งซึ่งรู้กันอยู่แล้ว ถ้าทรงตอบปฏิเสธ ก็จะตรงกับทิฏฐิของสมณพราหมณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรู้กันอยู่แล้วเช่นกัน
และทรงเห็นว่า เรื่องเหล่านี้ลึกซึ้งกว่าที่สมณพราหมณ์เหล่านี้รู้กัน คำตอบของสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ถูกต้อง สรุปว่าที่ไม่ทรงตอบนั่นแหละถูกที่สุด เพราะเรื่องเหล่านี้พูดไม่ได้ อยู่เหนือคำพูดของมนุษย์
แหล่งอ้างอิง
มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ศาสตราจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ
-วิรุฬหก-
โฆษณา