14 มิ.ย. 2020 เวลา 02:29
แนวคิดทฤษฎีใหม่ กับ
การจัดสรรการลงทุนส่วนบุคคล
ในอดีตประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งกลายเป็นปัญหาที่กระทบกับเกษตรกรไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ระบบชลประทานเข้าไปไม่ถึง และต้องพึ่งพาฝนเป็นแหล่งน้ำหลัก และปัญหาน้ำคงจะเป็นปัญหาของประเทศไทยไปอีกหลายปี
2
ปี 2563 นี้ ผลของภัยแล้งยังคงมีต่อเนื่องจากปีก่อนๆ ปรากฎการณ์เอลนิโญกำลังอ่อน (Weak EI Nino) ที่เกิดขึ้นมาหลายปีทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 41% และปริมาตรน้ำในเขื่อนมีเพียง 29% ของความจุ โดยเฉพาะเขื่อนในภาคกลางที่มีปริมาตรน้ำเพียง 17% เท่านั้น
ปลายปี 2562ที่ผ่านมา รัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2 ล้านราย ตามด้วยเงินช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 อีก 7 ล้านราย สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไทย โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ทำให้ผมนึกถึง "(เกษตร)ทฤษฎีใหม่" ศาสตร์ของพระราชาที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
Credit : Unsplash.com
จุดเด่นสำคัญของศาสตร์ของพระราชาที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการนำความรู้ด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน และมีการทดลองจนเห็นผลเพื่อให้สามารถนำไปปฎิบัติได้จริง
บทความนี้จะนำแนวพระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" มาประยุกต์กับการวางแผนการเงิน เพื่อให้เห็นว่า หลักของ "ทฤษฎีใหม่" สามารถนำมาใช้กับทุกคนได้เช่นเดียวกัน
Credit : Pexels.com
🔷 ทฤษฎีใหม่
"(เกษตร)ทฤษฎีใหม่" เป็นการจัดสรรที่ดินที่มีจำกัดเพื่อทำให้เรามีอาหารต่างๆ สำหรับดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้และลดรายจ่าย หากเหลือก็นำไปขายเป็นเงินเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ที่ดินส่วนหนึ่งใช้เพื่อสะสมน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญทางการเกษตร เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ตลอดปี
เกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจาก
"ทฤษฎีใหม่"ขั้นพื้นฐาน
มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรพัฒนาตนเองจนสามารถ "พออยู่พอกิน"และพึ่งพาตนเองได้ โดยมีหัวใจหลักในการจัดสรรพื้นที่ที่มีขนาดจำกัดออกเป็น 4 ส่วน เพื่อการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันในสัดส่วน 30:30:30:10 ที่ยืดหยุ่นปรับให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่แตกต่างกัน
Credit : pexels.com
🔹พื้นที่ 30%
สำหรับขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้รองรับการใช้น้ำในช่วงนอกฤดู และใช้เลี้ยงปลา
🔹พื้นที่ 30%
สำหรับปลูกข้าว เพื่อเป็นอาหารให้เพียงพอตลอดปีสำหรับครอบครัว และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร
🔹พื้นที่ 30%
สำหรับปลูกพืชผักผลไม้ เพื่อเป็นอาหารประจำวัน และนำส่วนที่เหลือไปขายเป็นเงินเพื่อใช้จ่ายต่างๆ
🔹พื้นที่10%
สำหรับอยู่อาศัย โรงเลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ
เมื่อลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งจนได้ผล และ “พออยู่พอกิน” แล้ว เกษตรกรก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นที่สองคือ "ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง" ที่จะช่วยทำให้เกษตรกร “พอมีอันจะกิน” และขั้นที่สามคือ "ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า" ที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการเป็นเกษตรกรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
รายละเอียดของแนวทาง(เกษตร)ทฤษฎีใหม่ สามารถหาเพิ่มเติมได้ทั้งใน Blockdit และสื่อต่างๆ เพิ่มเติมครับ
Credit : Unsplash.com
🔷 แนวทาง "ทฤษฎีใหม่" กับ การจัดสรรการเงิน
การบริหารการเงิน มีหลักที่ไม่แตกต่างกับหลักของ "ทฤษฏีใหม่" คือ การจัดสรรสินทรัพย์ทางการเงินที่มีอยู่เพื่อใช้งานอย่างเหมาะสม
🔹เงินสำรองฉุกเฉิน ในรูปเงินสด และสินทรัพย์ที่หมุนเวียนได้เร็ว เปรียบเหมือน น้ำในสระที่เก็บสำรองเพื่อให้พอใช้ตลอดปี ในฤดูฝนน้ำฝนที่ไหลลงสระก็คือเงินออมที่เราเติมเข้าในงบดุลของเรา
ช่วงแรกที่เราเริ่มออมก็เหมือนช่วงแรกที่ขุดสระต้องอดทนรอให้ฝนช่วยเติมน้ำเข้าไปในสระจนพอใช้ ต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน และมีวินัยทางการเงิน
เมื่อมีน้ำในสระจนเพียงพอ เราก็มีความมั่นคงด้านอาหารและนำไปสู่การมีรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตร เช่นเดียวกับเงินออมที่เรามีมากขึ้นและนำไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
ในช่วงวิกฤติต่างๆ เงินสำรองฉุกเฉินส่วนนี้ ก็จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เช่นเดียวกับแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งนั่นเอง
Credit : pexels.com
🔹ที่ดินส่วนที่ปลูกข้าวและพืชผักผลไม้ เปรียบเหมือนสินทรัพย์ลงทุนที่แบ่งตามเป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายระยะยาว เราต้องแยกตามเป้าหมายด้านต่างๆ และจัดสรรพอร์ตการลงทุนตามสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อให้เงินเหล่านี้งอกเงยเพิ่มพูนตามเป้าหมายที่เราวางไว้ และยังช่วยให้เรามีเงินเพิ่มนอกจากรายได้ประจำด้วย
🔹สำหรับที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านพักอาศัย เปรียบเสมือนส่วนของสินทรัพย์ส่วนตัว ที่มีตามความจำเป็นเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพื่อนำไปใช้เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเราในระยะยาว
ปี 2563 นี้ เป็นปีที่คนไทยต้องประสบทั้งปัญหาภัยแล้ง พร้อมกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างไม่คาดฝัน ในสภาวะแบบนี้น้ำหรือเงินสดสำรองสภาพคล่องมีความจำเป็น หากเราได้มีการจัดการที่ดินหรือสอนทรัพย์ตาม แนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "ทฤษฎีใหม่" ก็น่าจะช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้อย่างไม่ลำบากนัก
ขอบคุณที่อ่านนะครับ
#ศาสตร์พระราชา
Credit : pexels.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา