5 มิ.ย. 2020 เวลา 01:00 • การศึกษา
"แจ้งการไล่ออกต่อทุกแผนก หมิ่นประมาทลูกจ้างหรือไม่?"
...การหมิ่นประมาท พูดกันให้เข้าให้คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง กล่าวคือ การแสดงข้อความ คำพูดให้ร้ายผู้อื่นต่อบุคคลที่สามนั่นเอง
...สำหรับการทำงานในองค์กร การหมิ่นประมาทก็มีขึ้นได้ทั่วไป โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น โดนนายจ้างตำหนิงานรุนแรง โดนด่าพ่อ ล้อแม่ พ่อแม่ไม่สั่งสอน ประจานต่อหน้าคนอื่นๆ เล่าความประพฤติเสื่อมเสียของลูกจ้างให้หัวหน้างานฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ลูกจ้างบางคนร้องห่มร้องไห้กันหลายวัน มองหน้ากันไม่ติดเลยก็มีครับ
"ต่อมความรู้สึกของคนเรา ไม่เท่าเทียมกันครับ"
"แต่ลูกจ้างก็เป็นคน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน"
...แต่ไม่ใช่ทุกกรณีจะเป็นการหมิ่นประมาทเสียหมด หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็น ข้อความด้วยความสุจริตเพื่อความเป็นธรรม ติชมด้วยความด้วยความเป็นธรรมตามวิสัย ก็ไม่ถือว่าลูกจ้างถูกหมิ่นประมาท
...คดีหนึ่ง ลูกจ้างเป็นผู้บริหาร ตำแหน่งผู้จัดการสำนักงาน ทำงานมานาน เงินเดือนเยอะ วันหนึ่งนายจ้างมีหนังสือเลิกจ้าง โดยระบุสาเหตุสำคัญว่า "ละเลยต่อหน้าที่และประพฤติตนไม่เหมาะสม" เนื่องจากนายจ้างส่งตัวไปฝึกอบรมที่สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ลูกจ้างแต่งกายไม่สุภาพ ชอบชักชวนพนักงานอื่นออกไปดื่มสุราหลังเลิกงานโต้รุ่งจนเช้า ทั้งที่ต้องนำเสนองานให้ลูกค้าในวันนั้น ไม่พร้อมทำงานและงานก็ยังไม่เสร็จด้วย
...ทั้งที่ ลูกจ้างมีประสบการณ์การอบรมที่ญี่ปุ่นสูง ควรเข้าใจวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นมากที่สุด กลับละเลยหน้าที่และประพฤติตนไม่เหมาะสมเสียเอง จึงแจ้งเลิกจ้างเป็นหนังสือแก่ลูกจ้างไป
...ต่อมานายจ้าง ให้ฝ่ายบุคคลส่งหนังสือเลิกจ้าง ให้ทุกแผนกรับทราบ ลูกจ้างทราบเรื่องจึงคิดว่าตนโดนประจาน ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียงที่สั่งสมมา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
...ศาลพิพากษาว่า การที่นายจ้างให้ฝ่ายบุคคลส่งหนังสือเลิกจ้าง ที่ระบุสาเหตุการเลิกจ้างลูกจ้างให้ทุกแผนกทราบนั้น เป็นการแสดงข้อคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความเป็นธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของนายจ้าง ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328)
...สาเหตุมาจากนายจ้างใช้สิทธิแจ้งเหตุการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และมีลูกจ้างทำงานมาด้วยกันนานและจำนวนมาก จึงต้องแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ไม่ต้องมีคำถามอีก...(พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย)
...ดังนั้น ลูกจ้างการที่ทำงานมานานจนขึ้นระดับบริหารแล้ว วุฒิภาวะควรจะสูงกว่าคนทั่วไป เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่ชักชวนพาลูกจ้างอื่นๆให้หย่อนยาน ควรใช้ประสบการณ์มาสร้างมาตรฐานในการทำงานที่ดี จะได้สมกับค่าเหนื่อยที่ตนได้รับครับ (ช่วยทำงานให้คุ้มค่าแรงครับ)
1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2560
"...ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการโดนเอาเปรียบจากสังคมแห่งแรงงาน..."
"...หากอยากให้กำลังใจผู้เขียน ช่วยกดติดตาม กดไลค์ หรือแชร์แก่ผู้อื่นเป็นวิทยาทาน ฯลฯ เพื่อจะได้สร้างสรรค์งานเขียนเช่นนี้ต่อไปครับ..."
CR : Khaleejtimes
โฆษณา