4 มิ.ย. 2020 เวลา 15:06 • ธุรกิจ
Neuromarketing | ศาสตร์สะกดจิต-สะกิดใจ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ผมได้พบกับคุณ Paco Underhill นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง Why We Buy - The Science of Shopping ที่งาน Samsung Forum ที่จัดขึ้นที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเชีย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้ว่าโลกเรามีอาชีพแปลกๆ ที่เรียกว่า “นักสังเกตพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค” และก็เป็นครั้งแรกผมที่ได้ยินคำว่า “Neuroscience” ซึ่งหมายถึงศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ และการตัดสินใจของมนุษย์ ผ่านการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ มากมาย
1
ภาพการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยเครื่องมือ Eye Tracking วัดระยะเวลาการมองสิ่งต่างๆ
ซึ่งมีตั้งแต่การใช้วิธีการง่ายๆอย่างเช่น การให้ผู้บริโภคกรอกแบบสอบถาม, การสัมภาษณ์แบบ Focus Group, การใช้เครื่องมือจับสีหน้า Facial Action Coding, การเก็บข้อมูลการเดินเลือกซื้อสินค้า (Shopping Journey) ด้วยกล้องเซนเซอร์เพื่อสร้าง Heat Map, การจับระยะเวลาการมองสื่อต่างๆ ด้วย กล้องวัดการมอง (Eye Tracking), ไปจนถึงการวัดตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ด้วยการวัดชีพจร (Heart rate) หรือ คลื่นไฟฟ้าในสมอง (Electroencephalogram - EEG), หรือแม้แต่การทดลองเดิน Observation ติดตามลูกค้าจริง (ผมได้มีโอกาสร่วมการทดลองแบบนี้ครั้งหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทจะจ้างผู้บริโภคที่ตั้งใจจะซื้อสินค้าในเวลาอีก 6 เดือน และให้เราทำตัวเป็นเหมือนวิญญาณที่ลูกค้ามองไม่เห็น เดินตามจดพฤติกรรมต่างๆ ที่ลูกค้ามีต่อ การตกแต่งร้าน, การจัดวางสินค้า, Point of Sales Materials, หรือพนักงานขาย) เป็นต้น
ภาพการใช้การทดลอง Heat Map จับเวลาการมองรูปภาพและข้อความบนสื่อของผู้บริโภค
ตามทฤษฎี Neuroscience บอกว่าสมองของมนุษย์เราถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ภาพอธิบายสมองมนุษย์ จากหนังสือ The Neuroscience of Selling ของ John Asher
1. The New (Hominid) Brain - เป็นส่วนที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อ 3 - 4 ล้านปี ควบคุมการตัดสินใจด้วยเหตุและผล (Rational)
2. The Middle (Mammalian) Brain - ควบคุมการตัดสินใจด้วยอารมณ์ (Emotional)
3. The Reptilian Brain - เป็นสมองส่วนที่เก่าแก่ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 500 ล้านปีที่แล้ว เราไม่สามารถควบคุมได้ เป็น “จิตใต้สำนึก” ทำให้มนุษย์ตัดสินใจทำตามสัญชาตญาณ (Instinctual) โดยไม่รู้ตัว และมีอิทธิพลเหนือกว่าสมองทุกส่วนแบบ Always Win!
Neuroscientists พยายามทำความเข้าใจเรื่อง “จิตใต้สำนึก” นี้ จนทำให้ในปัจจุบันเราสามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรือทำให้คนหันมาสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราต้องการได้
เมื่อหลายปีก่อน มีคลิปวีดีโอ Viral บน YouTube ชื่อตอนว่า “Subliminal Advertising shows Advertisers the Power of Subliminal Messages” ของนักมายากลชื่อดัง Derren Brown แสดงการใช้ศาสตร์ Neuroscience มาจัดสิ่งแวดล้อมให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนในระดับ “จิตใต้สำนึก” คล้ายการสะกดจิต คลิ๊กที่นี่เพื่อชมคลิป
และด้วยเทคนิคเดียวกันนักการตลาดก็นำเอาศาสตร์นี้มาสร้างสรรค์สื่อการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจแบรนด์, สินค้า, หรือ บริการของตน เรียกว่า “Neuromarketing” ซึ่งหากทำได้ถูกต้อง ก็จะเหมือนเรา คลิ๊ก! โดนปุ่ม “ซื้อ” ในสมองส่วน “จิตใต้สำนึก” ของลูกค้าได้เลยทีเดียว ขอยกตัวอย่างของเทคนิคที่นำมาใช้ได้ผลอยู่เสมอ อาทิ
• เทคนิค ME, ME, and ME - มนุษย์เราสนใจในเรื่องของตัวเองเป็นที่สุด จึงให้ความสนใจรูปโฆษณาที่ถ่ายจากมุมมองสายตาของตัวเองมองออกไปด้วยความคุ้นชิน หรือ การเขียนสคริปท์สปอตโฆษณา Marketeers ก็มักใช้คำว่า “คุณ” ในการดึงดูดความสนใจคนฟัง
• เทคนิค Contrast - หากคุณเคยอ่านหนังสือที่ชื่อว่า Purple Cow ของ Seth Godin ที่พูดถึงความกล้าที่จะนำเสนอแบรนด์ในมุมที่แตกต่าง และโดดเด่นกว่าคนอื่น เหมือนเราขับรถผ่านทุ่งหญ้าแล้วเห็น “วัวสีม่วง” ยืนปะปนกับวัวทั่วไปลายด่างขาว-ดำ คนที่เห็นทุกคนคงรีบเลี้ยวรถกลับมาดูและถ่ายภาพไปโพสบนเฟสบุ๊คแน่นอน, หรือเรายังเห็นการใช้หลัก Contrast อยู่บ่อยๆ ตามนิตยสารหรือแบนเนอร์โฆษณา เช่นการขายยาลดความอ้วน หรือ ยาปลูกผม ที่เอารูป Before & After เทียบกัน เพื่อดึงดูดความสนใจคนดู เป็นต้น
ภาพโฆษณาที่ McDonald ให้เทคนิค Contrast ในการดึงดูดความสนใจผู้บร
• เทคนิค Beginning & Ending - การเน้นที่จะนำเสนอตอนต้นและตอนท้ายให้ประทับใจ เพราะสมองมนุษย์เรามักจำตอนกลางไม่ได้ เช่น การเริ่มต้นหนังในตำนานอย่าง Star Wars ด้วยการใช้เอฟเฟ็ค Title ที่เป็นเอกลักษณ์จนแฟนๆทั่วโลกจดจำได้ หรืออย่างในธุรกิจค้าปลีก ร้าน Marks & Spencer จัดโซนจำหน่ายดอกไม้ไว้หน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็นแล้วผ่อนคลายและอยากแวะเข้าร้าน ทั้งที่ลูกค้าจะซื้อดอกไม้หลังจากช็อปปิ้งเสร็จเท่านั้น หรือ Tops Supermarkets ก็จัดโซนเบเกอรี่อบขนมปังหอมกรุ่น จัดแสงสีอบอุ่น ไว้ด้านหน้าร้าน เพื่อดึงลูกค้าเข้าร้านเป็นต้น
• เทคนิค Visual - เหมือนบริษัทผลิตสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ที่พิมพ์รูปแมลงวันในโถปัสสาวะชาย ซึ่งสถิติพิสูจน์แล้วว่ามันช่วยลดการกระเด็นเปรอะเปื้อนได้ถึง 80% ได้ผลดีกว่าการติดสติ๊กเกอร์คำรณรงค์อย่าง “ยืนชิดๆ อย่าคิดว่าแม่น” เยอะ (ฮา)
• เทคนิค Emotion - การเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกคน เช่น การพิมพ์ภาพอวัยวะติดมะเร็งบนซองบุหรี่เพื่อให้คนกลัวและซื้อน้อยลง หรือ การที่ Starbucks บาริสต้า เขียนชื่อลูกค้าหรือรูปหน้ายิ้มลงบนแก้วกาแฟ เพื่อสร้างรอยยิ้มและความประทับใจ เป็นต้น
ภาพโฆษณาที่ใช้เทคนิค Emotion ในการดึงดูดความสนใจผู้คน
คนเราใช้เวลาเพียง 0.05 วินาที ในการตัดสินภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายของ Marketeers ทุกคนว่าจะทำอย่างไรให้เข้าใจและสร้างความประทับใจลูกค้าในโลกอันแสนวุ่นวายได้ภายในเสี้ยววินาทีแบบนี้ จึงมีแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์นำสิ่งที่เรียกว่า Sensory Marketing การสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสของมนุษย์ตรงไปยังสมองระดับ “จิตใต้สำนึก” มาใช้กับหน้าร้านและสื่อโฆษณาต่างๆ
1
และหนึ่งในนั้นคือแบรนด์ซัมซุงที่ผมเคยร่วมงานด้วย
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้รับ Guildbook สำหรับการบริหาร Brand Shop หรือ Experience Store เป็นหนังสือเล่มหนาส่งตรงมาจากสำนักงานใหญ่ที่อยู่เกาหลีใต้ ใน Guildlines ระบุถึง Corporate Identity ตั้งแต่ การใช้สี, โลโก้, font type, ใน Artworks ต่างๆ ไปจนถึง การตกแต่งหน้าร้านตามหลัก Sensory Marketing สื่อสารผ่านประสาทสัมผัสส่วนต่างๆของผู้บริโภค อาทิ
รูป
• เพราะสมองมนุษย์เข้าใจภาพที่ตาเห็นได้ดีกว่าตัวอักษรถึง 50% ในการสื่อสารแบรนด์ การเลือกใช้ภาพจึงมีความสำคัญ
• ภาพที่ใช้ในโฆษณาซัมซุง (ยุคแบรนด์แคมเปญ imagine) กำหนดให้ใช้ภาพถ่ายในแสงสีธรรมชาติ เป็นภาพ Lifestyle ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่บริษัทต้องการ
• นอกจากการใช้รูปแล้ว การเลือกใช้แสงในร้านก็มี Guildlines ให้ใช้สี Warm White ดูอบอุ่น และมีระดับความสว่างขั้นต่ำตามจำนวน Lux ที่กำหนด ผมมีประสบการณ์ตรงที่เจอกับตัวเอง ตอนนั้นซัมซุงเปิด Brand Shop ครั้งแรกของประเทศไทยที่ Siam Paragon ปรากฏว่าช่วงแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทาง MD ชาวเกาหลีจึงมอบหมายให้ผมไปวิเคราะห์หาสาเหตุและหาทางแก้ไข ผมไปนั่งเฉยๆอยู่ที่ห้างนี้หนึ่งวันเต็มๆ หนึ่งในสิ่งที่พบคือ แสงสว่างของร้าน Brand Shop ของโซนี่ (คู่แข่งอันดับ 1 ในยุคนั้น) ที่อยู่ตรงข้าม มีความสว่างโดดเด่น สะดุดตามากกว่า ทำให้มีลูกค้าเข้าร้านมากกว่า หลังจากนำปัญหามาแก้ไขโดยเพิ่มแสงสว่างให้ร้านก็ทำลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
• การดึงสายตาคนให้เห็นร้านเราด้วยป้ายไฟ, ไฟวิ่ง, หรือจอ LFD ขนาดใหญ่
1
การนำจอภาพเคลื่อนไหวขนาดใหญ่มาติดหน้าประตูเพื่อดึงความสนใจคนที่เดินผ่านไปมา
• การสร้างจุดโฟกัสของร้าน (Focal Point) ด้วย Brand Wall หรือ Digital Wall ขนาดใหญ่ที่ผนังด้านในสุดของร้าน การใช้พรมหรือเส้นทางเดินนำสายตา ช่วยดึงให้ลูกค้าเดินช็อปปิ้งไปทั่วร้านทุกตารางเมตร และเดินเข้ามาดูจนสุดร้าน
Apple สร้าง Focal Point จุดนำสายตาชักจูงให้คนเดินเข้าไปจนสุดด้านในของร้านเพื่อเพิ่มโอกาสขายสินค้า
• การรู้ว่าลูกค้าส่วนมาก จะเริ่มเดินเข้าชมร้านจากด้านขวามากกว่าด้านซ้าย ทำให้วาง Layout หรือ Planogram ของร้านได้เหมาะสม หรือการรู้ว่าลูกค้าจะหยุดซื้อหรือหยุดอ่านฉลากเมื่อมีคนเดินชนขั้นหลัง ก็ทำให้เรารู้ระยะห่างทางเดินที่เหมาะสม (>1.5 เมตร) ในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์, รวมถึงการจัดสินค้าสำคัญที่ต้องการขายในระดับสายตา ไม่สูง ไม่ต่ำจนเกินไป
การจัด Planogram ของร้านตามศาสตร์ Neuromarketing เพื่อสร้างบรรยากาศที่ลูกค้าให้ความสนใจที่จะเดินเข้าร้านและสบายใจในการช็อปปิ้ง
• การรู้จัก Decision-making Tree ของลูกค้า ซึ่งแตกต่างไปตามประเภทสินค้าที่ช็อปปิ้ง หากลูกค้าสบายใจในการเลือกสินค้าแบบใด เราก็แบ่งกลุ่มสินค้าและจัดแสดงสินค้าตามแบบนั้น เช่น แบ่งตามแบรนด์สินค้า, แบ่งตามประเภทสินค้า, แบ่งตามช่วงราคาสินค้า, หรือแบ่งตามไลฟสไตล์การใช้สินค้า เป็นต้น
ตัวอย่าง การจัด Planogram ให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายและประทับใจ
• การเลือกใช้สีกับแบรนด์ก็เป็นอีกศาสตร์ที่สำคัญ เช่น สีแดง ที่ Coca-Cola และ Virgin Group ใช้แทนพลัง ความกล้า มองเห็นได้ง่ายเพราะเป็นสีคลื่นยาวที่สุดในสเปกตรั่ม, สีน้ำเงิน ที่ ซัมซุง, IBM, facebook ใช้แทนความน่าเชื่อถือ และการสื่อสาร, หรือสีเขียว ที่ Starbucks ใช้แทน ความผ่อนคลาย สมดุล เป็นสีกลางสเปกตรั่ม เป็นต้น คนสนิทผมจะทราบดีว่า ผมมักเลือกสวมเสื้อสีโทนฟ้ากับสูทสีน้ำเงิน เวลามีประชุมสำคัญ และต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
กลิ่น
• ใน Guildbook ซัมซุงเล่มที่กล่าวข้างต้น จะมีก้อนคล้ายแผ่นยางลบใส่กลิ่น “แบรนด์ซัมซุง” แม้ว่าผมจำชื่อเรียกกลิ่นไม่ได้ แต่ผมก็จำกลิ่นได้อย่างแม่นยำแม้เวลาผ่านมาแล้วเป็นสิบปี มันเป็นกลิ่นน้ำหอมปนกลิ่นส้ม Mandarin อ่อนๆ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในการช็อปปิ้ง
• ตอนที่ร้าน Abercombie & Fitch มาเปิด Brand shop ครั้งแรกที่ถนน Orchard ประเทศสิงคโปร์ ภายในร้านใช้กลิ่นน้ำหอมที่บ่งบอกถึง Personality ของแบรนด์ที่ชัดเจนสร้างบรรยากาศการช็อปปิ้งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ใครๆก็จดจำได้
ภาพร้าน Abercombie & Fitch บนถนน Orchard ที่นำศาสตร์ Sensory Marketing มาใช้ในการตกแต่งร้าน
เสียง
• จากซีดีที่ให้มาใน Guidebook ซัมซุง ผมจำได้ว่า โน๊ตเพลงและ Beats จังหวะเพลง ที่ให้ใช้เปิดในร้าน จะทำให้หัวใจของลูกค้าที่เข้าร้านเต้นเป็นจังหวะ “ซัม-ซุง” กระตุ้นให้เราจดจำชื่อแบรนด์ในระดับจิตใต้สำนึกและกระตุ้นให้อยากซื้อสินค้า
• ผมเคยอ่านวิธีคล้ายๆกันนี้จาก รายการวาไรตี้ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการทดสอบว่า ในชีวิตจริง เวลาสาวๆประทับใจหนุ่มคนไหน หัวใจเธอจะเต้นแรง รายการจึงทดสอบโดยแบ่งกลุ่มหนุ่มสาวออกเป็น 2 กลุ่ม ให้ไปออกเดทกันครั้งแรก กลุ่ม A ให้ไปเดทที่สวนสนุกและต้องนั่งรถไฟเหาะด้วยกัน กลุ่ม B ให้ไปเดทที่สวนสาธารณะบรรยากาศสงบเงียบ หลังจากการทดสอบ รายการก็ทำการสัมภาษณ์สาวๆจากสองกลุ่ม ปรากฏว่า สาวๆ กลุ่ม A มีเกณฑ์ประทับใจหนุ่มสูงกว่า สาวจากกลุ่ม B อย่างเห็นได้ชัด เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการที่หัวใจที่เต้นแรงต้องนั่งรถไฟเหาะนั้น ทำให้สาวๆเชื่อมโยงไปถึงหัวใจที่เต้นแรงเมื่อประทับใจชายหนุ่มที่ตัวเองชอบในชีวิตจริงโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้เช่นนี้ผมเลยชวนสาวที่ชอบไปเดทที่สวนสนุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ฮ่า)
• นอกจากนี้เรายังเห็นการใช้จังหวะเพลง (Beats) อีกหลายรูปแบบ เช่น ห้างสรรพสินค้าเปิดดนตรีจังหวะช้าลง หรือลดอุณหภูมิลง 1 องศา เมื่อต้องการให้คนค่อยๆ เดิน ค่อยๆ ช็อปปิ้ง หรือ ร้านอาหารที่คนแน่นๆ เปิดเพลงจังหวะเร็วขึ้นเพื่อทำให้คนกินดื่มเสร็จเร็วขึ้น เป็นต้น
สัมผัส
• แบรนด์มือถือหลายแบรนด์นำวัสดุพรีเมียมดีไซน์โค้งมนจับแล้วสบายนุ่มมือมาใช้เพื่อให้ลูกค้าประทับใจตั้งแต่สัมผัสแรก
• ร้าน Apple ในยุคแรก, ซัมซุง หรือ หัวเว่ยในปัจจุบัน ใช้ เฟอร์นิเจอร์ที่โค้งมน วางไว้ที่ทางเข้าหน้าร้าน เพื่อรับ traffic flow ให้ลูกค้าอยากเดินไหลเข้าร้าน มากกว่าเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมุมเหลี่ยมแหลม
• แม้แต่การทำ Packaging เพื่อให้ลูกค้า สะดุดตา, อยากสัมผัส และอยากซื้อ แบบที่บริษัท Frito-Lay นำ Neuroimaging มาใช้ในการออกแบบซองขนม
Sensory Marketing ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพราะสถิติบอกอย่างชัดเจนว่า ยิ่งเราสามารถทำให้ลูกค้าใช้เวลากับร้านค้าของเรานานขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะมีโอกาสขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเท่าไหร่ ลูกค้าก็จะอยากซื้อของที่มีราคาแพงขึ้นและจำนวนมากขึ้นเท่านั้น
และนอกจากสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสไปยัง สมองระดับจิตใต้สำนึกแล้ว Neuromarketing ยังถูก Marketeers นำไปใช้ในอีกหลายรูปแบบ อาทิ
• การตั้งราคา (Sweet spot pricing) - ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นด้วยการตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 เช่น สินค้าราคา 299 บาท น่าซื้อกว่า สินค้าราคา 300 บาท จากประสบการณ์ตรงในการขายมือถือ สินค้าที่ตั้งราคา 9,990 จะ ขายดีกว่า สินค้าแบบเดียวกันที่ตั้งราคา 10,090 เป็นเท่าตัว หรือหลายเท่าตัว
• รวมถึงการตั้งราคาแบบ 3 ตัวเลือก สัดส่วน 6:4:3 เช่น ขายกาแฟ 3 ไซส์ แก้วใหญ่ “Venti” ราคา 120 บาท, แก้วกลาง “Grande” ราคา 80 บาท, และ แก้วเล็ก “Tall” ราคา 60 บาท จากสถิติลูกค้าจะซื้อแก้วกลางมากที่สุด และร้านค้าก็ตั้งใจเน้นขายแก้วกลางมากที่สุดเพราะมีกำไรสูงสุด
• การมีโปรโมชั่นเล็กน้อยทำให้ลูกค้าไม่เทียบรายละเอียดอื่นๆ เช่น โรงแรมราคาเท่ากัน ลูกค้าจะเลือกโรงแรมที่ให้บริการกาแฟฟรี โดยไม่เช็ครายละเอียดอื่นๆ
• การจำกัดการเขียน Unique Selling Points ของสินค้า บน Spec card ให้มีเพียง 3 - 4 ข้อ เพราะสมองคนเราจำได้ครั้งละ 3 - 4 อย่างเท่านั้น เหมือนเราจำเบอร์โทรศัพท์เมื่อแบ่งเป็น 3 ส่วนแบบ xxx-xxx-xxxx ได้ดีกว่า จำครั้งเดียวทั้ง 10 หลัก
และสิ่งที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ในศาสตร์ Neuromarketing ที่สุดนั่นก็คือ การศึกษาความแตกต่างของสมองอย่างสุดขั้วของผู้ชายกับผู้หญิง เหมือนเราอ่านหนังสือ Men are from Mars, Women are from Venus ยังไงอย่างนั้น ซึ่งหลายต่อหลายครั้งผมนำเอาความเข้าใจเหล่านี้มาใช้ในการ ขยายตลาด, เพิ่มยอดขาย, หรือการยืดอายุผลิตภัณฑ์ (Product Lifecycle) ในบางครั้งเมื่อเราพบว่าผู้ชายซื้อสินค้าเราเยอะ เราอยากขยายตลาดไปขายผู้หญิง เราสามารถนำสินค้าเดิม มาเปลี่ยนสีใหม่, ปรับ Media ใหม่, การสื่อสารใหม่, ปรับช่องทางการขายใหม่, หรือปรับวิธีการขายใหม่ เป็นต้น ผมขอสรุปไฮไลท์ ความแตกต่างระหว่าง Male vs. Female Marketing ไว้ดังนี้
ตัวอย่างความแตกต่างของภาพโฆษณาที่สื่อสารกับผู้ชาย vs. ผู้หญิง
สมองผู้ชาย
* ตอบสนองกับภาพโฆษณารูปคนถ่ายเดี่ยว, รักอิสระ, เป็นผู้นำ
* เห็นสีแบบแม่สี สีแดงคือสีแดง
* ไม่ชอบถามพนักงานขาย, ชอบข้อมูลแบบสรุป, ชอบแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
* ชอบ Technical, ซื้อของเพราะ Spec หรือ Features สินค้า
* ช็อปปิ้งเร็ว, เดินเร็ว สมองพัฒนามาจากหน้าที่นักล่าในอดีต
* ซื้อของไม่แพลน, ไม่ค่อยเช็คราคา
สมองผู้หญิง
* ตอบสนองกับภาพโฆษณาแบบรูปเป็นหมู่กับเพื่อนสาว, ชอบเข้าสังคม
* รับรู้ความแตกต่างของเฉดสี สีแดงมีหลากหลายเฉด
* เลือกที่จะถามพนักงานขาย, ชอบรายละเอียด, ชอบขอคำปรึกษา
* ซื้อของดูที่ประโยชน์ใช้สอย มากกว่า Spec
* จะซื้อของก็ต่อเมื่อได้รับประสบการณ์ที่ดี, ใช้เวลาช็อปปิ้งนานกว่า ละเอียดกว่า สมองพัฒนามาจากหน้าที่เก็บของป่าในอดีต
* วางแผนซื้อของล่วงหน้า, จะซื้อเมื่อราคาถูกใจไม่ใช่แค่ราคาถูก
1
มาถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนเห็นถึงประโยชน์อันมหาศาลของ Neuromarketing ศาสตร์แห่งการสะกดจิต-สะกิดใจลูกค้ากันแล้ว และไม่เพียงแต่เราจะนำมันมาใช้ในการสร้างแบรนด์ สร้างรายได้เท่านั้น ระหว่างที่ผมเขียนอยู่นี้ ผมก็หันไปมองคนที่นั่งข้างๆ แล้วก็รู้สึกเข้าใจเขามากขึ้นกว่าแต่ก่อน (สูดหายในเข้าปอดยาวๆครับ) ขอให้ผู้อ่านสนุกกับการอ่าน Ep. นี้นะครับ ทุกคน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา