10 มิ.ย. 2020 เวลา 01:00 • การศึกษา
"ค้ำประกันการทำงาน ไม่จำกัดวงเงิน?"
...การทำงานในองค์กรนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน นายจ้างมักจะเรียกเงินค้ำประกัน หรือขอคนค้ำประกันจากลูกจ้างเสมอ โดยสร้างวิธีการเช่น หักจากเงินเดือน เรียกเก็บทั้งก้อน ให้พนักงานนำมาจ่ายเอง หรือให้หาคนมาเซ็นค้ำประกันให้ เป็นต้น
"ตามปกติ ลูกจ้างหากอยากได้งาน ก็ต้องยอมหามาใช่ไหมครับ?"
...นายจ้างน้อยคนจะรู้ว่า ตำแหน่งงานใดบ้างที่กฎหมายอนุญาตให้เรียกเงินค้ำประกันฯได้ บางรายนำเงินส่วนนั้นไปหาประโยชน์ พอถึงเวลาคืนก็ไม่ให้ดอกผลแก่ลูกจ้าง หรือถ่วงเวลาคืนช้ากว่ากำหนด ซึ่งปกติแล้วตรงนี้ผิดกฎหมายครับ
"แม้กระทั่งวงเงินค้ำประกันฯ นายจ้างบางคนก็ยังไม่ทราบก็มี"
...ท่านผู้อ่านหากเข้าทำงานในองค์กรและถูกเรียกเก็บเงินค้ำประกันฯ นายจ้างมักจะมีเอกสารเรียกเก็บเงินค้ำ หรือให้หาคนค้ำประกันมาเซ็น และส่งคืน ซึ่งท่านผู้อ่านหากได้ลองอ่านดูในสัญญาแล้ว ส่วนมากจะกำหนดแบบ "ไม่จำกัดวงเงิน"
"ตามกฎหมายแล้ว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันการทำงานนั้น ให้รับผิดได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของลูกจ้างนั้น"
...หากสัญญาค้ำประกัน กำหนดให้เรียกเก็บแบบไม่จำกัดจำนวน หรือให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแบบเป็นลูกหนี้ร่วม สัญญาค้ำประกันนั้นเป็นโมฆะ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด (ไม่ต้องจ่ายนั่นเอง)
...คดีหนึ่ง นายจ้างฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เนื่องจากลูกจ้างทั้งสอง (อัตราเงินเดือน 9,000 บาท) ได้ยักยอกเงินไปใช้โดยทุจริตเป็นเงิน 224,330.36 บาท ต่อมาลูกจ้างได้ตกลงขอผ่อนชำระและได้ชำระคืนไปแล้วเป็นเงิน 55,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 163,330.36 บาท ฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบ...
...ศาลพิพากษาว่า วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ (18,000 บาท) เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกำหนดให้การค้ำประกันการทำงานต้องกำหนดวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น...
...กฎหมายจึงไม่ได้ให้นายจ้างกำหนดวงเงินค้ำประกันเพียงใดก็ได้ เพื่อไม่ให้นายจ้างฉวยโอกาสเรียกร้องเกินกว่าวงเงินดังกล่าวจากผู้ค้ำประกัน การที่นายจ้างมีหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกันจ่ายค่าเสียหายเต็มวงเงินนั้น...
"แสดงให้เห็นว่านายจ้างมิได้สนใจปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันด้วยความเคารพต่อกฎหมาย สัญญาค้ำประกันจึงตกเป็นโมฆะ" (ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์หรือวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน พ.ศ.2551 ข้อ10)
...ได้อ่านเช่นนี้แล้ว ลองให้นายจ้างไปสำรวจสัญญาค้ำประกันของตนเสียใหม่ เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นครับ
ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2782/2560
"...ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการโดนเอาเปรียบจากสังคมแห่งแรงงาน..."
"...หากอยากให้กำลังใจผู้เขียน ช่วยกดติดตาม กดไลค์ หรือแชร์แก่ผู้อื่นเป็นวิทยาทาน ฯลฯ เพื่อจะได้สร้างสรรค์งานเขียนเช่นนี้ต่อไปครับ..."
CR : PSD Stamps
โฆษณา