9 มิ.ย. 2020 เวลา 08:42 • การศึกษา
มงคลที่ 19 งดเว้นจากบาป
Cr.kalyanamitra.org
ก่อนจะแต่งตัวให้สวยงาม
เราจำต้องอาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรกออกก่อนฉันใด
ก่อนจะปรับปรุงใจให้สะอาดบริสุทธิ์ มีคุณธรรมสูงขึ้น
เราก็จำต้องงดเว้นจากบาปทั้งปวงก่อนฉันนั้น
บาปคืออะไร ?
สิ่งของที่เสีย เรามีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น บ้านเสียเราเรียกบ้านชำรุด อาหารเสียเราเรียกอาหารบูด คำจำพวกที่ว่า บูด ชำรุด แตก หัก ผุ พัง เน่า ขึ้นเรา ถ้าพูดรวมๆ เราเรียกว่า เสีย หมายความว่า มันไม่ดี
อาการเสียของจิตก็เหมือนกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่า จิตเสีย ซึ่งสิ่งที่ทำให้จิตเสียนี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านใช้คำสั้นๆ ว่า บาป คำว่าบาปจึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเสียคือมีคุณภาพต่ำลงนั่นเอง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น
กำเนิดบาป
การกำเนิดของบาป ในทัศนะของศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ต่างกับของศาสนาพุทธอย่างมาก เช่น แนวคิดในศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดีสอนว่าบาปจะเกิดเมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระผู้เป็นเจ้าสั่งให้นึกถึงพระองค์อยู่เป็นประจำ ถ้าลืมนึกไปก็เป็นบาป หรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์สั่งไม่ให้เอ่ยนามพระองค์โดยไม่จำเป็น ถ้าใครเอ่ยนามพระเจ้าพร่ำเพรื่อก็เป็นบาป
ยิ่งไปกว่านั้นตามความเชื่อของเขา บาปยังมีการตกทอดไปถึงลูกหลานได้อีกด้วย เช่น ในศาสนาคริสต์เขาถือว่าทุกคนเกิดมามีบาป เพราะอาดัมกับอีวาซึ่งเขาถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ขัดคำสั่งพระเจ้า แอบไปกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ถูกพระเจ้าปรับโทษเอาเป็นบาป ลูกหลานทั่วโลกจึงมีบาปติดต่อมาด้วย โดยนัยนี้ศาสนาคริสต์เชื่อว่า บาปตกทอดถึงกันได้โดยสายเลือด
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกสมาธิมาอย่างดีเยี่ยมไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เป็นผลไม้ให้พระองค์ทรงเห็นและรู้จักธรรมชาติของกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้น ออกไปได้โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาด พระองค์ได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจนว่า
นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโล
บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป
ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๑
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอง
อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์
ขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๗
พระพุทธวจนะนี้ เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระองค์ว่า บาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกัน เปรียบเหมือนพ่อกินข้าวพ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กินลูกก็หิว หรือลูกกินข้าวลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กินพ่อก็หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้าน ลูกอยู่บนยอดเขาแล้วจะอิ่มไปด้วยเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได้
ดังนั้นตามความเห็นของพระพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเองคือเกิดที่ใจของคนทำ ใครไปทำชั่ว บาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพเศร้าหมองขุ่นมัวไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่น
วิธีล้างบาป
เมื่อทัศนะในเรื่องกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว วิธีล้างบาปในศาสนาที่มีพระเจ้ากับการแก้ไขพฤติกรรมในพระพุทธศาสนา จึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้าง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ ตรัสสอนว่า
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว
นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้
ขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๗
พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอดไปยังอีกคนหนึ่งได้ และปฏิเสธลัทธิที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้
ในพระพุทธศาสนามีวิธีการแก้ไขบาปอกุศลที่เคยพลาดพลั้งกระทำไป ได้อย่างมีเหตุผลดังนี้
สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ 1 แก้ว เมื่อคนให้ละลายแล้วลองชิมดู ผลเป็นอย่างไร
ก็เค็ม
ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงในถังน้ำแล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูเป็นอย่างไร
ก็แค่กร่อยๆ
ถ้าเอาน้ำในถังนี้ใส่ลงในแท็งก็น้ำฝนใบใหญ่ ชิมดูเป็นอย่างไร
ก็จืดสนิท
เกลือหายไปไหนหรือเปล่า
เปล่า ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม
แล้วทำไมไม่เค็ม
ก็เพราะน้ำในแท็งก์มีปริมาณมาก มากจนสามารถเจือจางรสเค็มของเกลือจนกระทั่งหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม ภาษาพระท่านเรียก อัพโพหาริก หมายความว่า มีเหมือนไม่มี คือเกลือนั้นยังมีอยู่แต่ว่าหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี
เช่นกัน วิธีแก้ไขบาปในพระพุทธศาสนาก็คือ การหยุดทำบาป แล้วตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาทำให้ผลบาปทุเลาลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่บาปแทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาทำให้บาปมีฤทธิ์น้อยลงหรือให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้
งดเว้นจากบาปหมายความว่าอย่างไร?
งด หมายถึง สิ่งใดที่เคยทำแล้วหยุดเสีย เลิกเสีย
เว้น หมายถึง สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ยอมทำเลย
งดเว้นจากบาป จึงหมายความว่า การกระทำใดก็ตามทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ความร้ายกาจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ก็จะงดเสียที่ยังไม่เคยทำก็จะเว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด
สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป
คือ อกุศลกรรมบถ 10 ได้แก่
1.ฆ่าสัตว์ เช่น ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงทรมานสัตว์
2.ลักทรัพย์ เช่น ลักขโมย ปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง คอร์รัปชั่น
3.ประพฤติผิดในกาม เช่น เป็นชู้ ฉุดคร่า อนาจาร
4.พูดเท็จ เช่น พูดโกหก พูดเสริมความ ทำหลักฐานเท็จ
5.พูดส่อเสียด เช่น พูดยุยงให้เขาแตกกัน ใส่ร้ายป้ายสี
6.พูดคำหยาบ เช่น ด่า ประชด แช่งชักหักกระดูก ว่ากระทบ
7.พูดเพ้อเจ้อ เช่น พูดพล่าม พูดเหลวไหล พูดโอ้อวด
8.คิดโลภมาก เช่น อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่น
9.คิดพยาบาท เช่น คิดอาฆาต คิดแก้แค้น คิดปองร้าย
10.มีความเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มี
อานิสงส์การทำงานไม่มีโทษ
คนทำงานมีโทษนั้น ได้กับเสียเป็นเงาตามตัว ยิ่งได้งานมากก็ทุกข์ใจมาก เข้าทำนอง อิ่มท้องแต่พร่องทางใจ ยิ่งรวยได้ทรัพย์มากเท่าไรโอกาสที่จะเสียคนมากเท่านั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ คุณความดีในตัวลดลงทุกที ส่วนคนที่ทำงานไม่มีโทษนั้น จะก้าวหน้าไปสู่ความสุขแท้และความเจริญแท้ ถึงเม้จะไม่รวยทรัพย์ แต่ก็รวยความดี
คนทำงานไม่มีโทษนั้นจะหลับก็เป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใคร ไม่ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์แก่โลกล้วนๆ ไม่มีโทษเข้าไปเจือปนเลย ชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณของโลกที่อาศัยเกิดมา เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะได้สันติสุขเป็นเครื่องตอบแทนไปชั่วกาลนาน
ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น
มีสติ มีการสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม ไม่ประมาท
ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘
มงคล 18 มงคลแรกนั้น เป็นเรื่องของหลักปฏิบัติเพื่อการดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ทำให้ตัวของเราเป็นคนดีที่ใครๆ หรือสังคมไหนๆ ก็ต้องการ
สำหรับมงคล 20 มงคลหลัง จะเป็นเรื่องของการฝึกคุณธรรมต่างๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ดังต่อไปนี้
Cr.พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ มงคลชีวิต 38 ประการ (ฉบับทางก้าวหน้า)
ศึกษามงคลที่ 20 สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ต่อ...
โฆษณา