9 มิ.ย. 2020 เวลา 14:40 • ประวัติศาสตร์
รู้จัก ‘Edward Colston’ ทำไมรูปปั้นเขาถึงถูกโค่น?
“เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน” (Edward Colston) กลายเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม “Black Lives Matter” ในอังกฤษ หลังจากรูปปั้นของเขาถูกโค่นลงในเมืองบริสตอล แล้วชื่อของเขามาเกี่ยวข้องกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติได้อย่างไร
บทความโดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รู้จัก ‘Edward Colston’ ทำไมรูปปั้นเขาถึงถูกโค่น?
วันอาทิตย์ (7 มิ.ย.) ที่ผ่านมา รูปปั้นสำริดสูง 5.5 เมตรของ “เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน” ในเมืองบริสตอล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ถูกโค่นลงมาโดยกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ตามมาด้วยเสียงโห่ร้องดีใจ นับเป็นจุดจบของรูปปั้นที่ตั้งตระหง่านในย่านโคลส์ตัน อะเวนิวมานานกว่าศตวรรษตั้งแต่ปี 1895
สาเหตุที่ทำแบบนั้น เพราะกลุ่มผู้ประท้วงมองว่า รูปปั้นโคลส์ตันเป็นสัญลักษณ์ของ “พ่อค้าทาส” ในยุคที่ชาวแอฟริกันนับล้านคนถูกขายเพื่อใช้แรงงานและถูกกดขี่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างทารุณจนหลายคนต้องจบชีวิต
รูปที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นช่วงที่ผู้ประท้วง “Black Lives Matter” ใช้เข่ากดคอรูปปั้นโคลส์ตันเป็นเวลา 8 นาที เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” (George Floyd) ชายผิวดำไร้อาวุธที่ถูกตำรวจผิวขาวเมืองมินนิอาโพลิสของสหรัฐใช้เข่ากดคอเขาขณะจับกุมนาน 8 นาทีจนฟลอยด์ขาดใจเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา
หลังจากนั้น ผู้ประท้วงได้ช่วยกันจับรูปปั้นโคลส์ตันโยนลงน้ำใกล้กับอ่าวบริสตอล จากสะพานเพโรบริดจ์ที่ตั้งชื่อตาม “เพโร โจนส์” (Pero Jones) ทาสซึ่งอาศัยและเสียชีวิตในเมืองบริสตอลช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หลังถูกขายให้กับนายทาสคนหนึ่งขณะเขาอายุเพียง 12 ปี
ผู้ประท้วงได้ช่วยกันจับรูปปั้นโคลส์ตันโยนลงน้ำ
โคลส์ตันเป็นใคร
เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน เกิดในเมืองบริสตอลเมื่อปี 1636 ในตระกูลพ่อค้าที่มั่งคั่ง แต่ย้ายไปเรียนหนังสือและเติบโตในกรุงลอนดอน ก่อนจะตั้งตัวได้ในฐานะพ่อค้าเสื้อผ้าและขนแกะที่ประสบความสำเร็จ
จากนั้นในปี 1680 โคลส์ตันไปร่วมงานกับบริษัทรอยัล แอฟริกัน คัมพะนี (Royal African Company) หรือ RAC ซึ่งผูกขาดธุรกิจค้าทาสชาวแอฟริกันตะวันตกในยุคนั้น บริษัทนี้มีประธานเป็นพระอนุชาของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาในพระนามว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 2
ความโหดร้ายของบริษัท RAC คือ ทาสทุกคนซึ่งรวมถึงเด็กและสตรี จะถูกประทับตราชื่อย่อบริษัท (RAC) ด้วยเหล็กร้อนที่หน้าอก เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวทาส
เชื่อกันว่า บริษัท RAC ขายทาสชาวแอฟริกันตะวันตกในแถบแคริบเบียนและทวีปอเมริการาว 100,000 คนระหว่างปี 1672-1689 และธุรกิจค้าทาสนี้ทำให้โคลส์ตันร่ำรวยขึ้นอย่างมากและใช้กำไรที่ได้มาปล่อยเงินกู้
ต่อมาในปี 1689 โคลส์ตันขายหุ้นในบริษัทนี้ให้เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ หลังจากฝ่ายหลังก่อการปฏิวัติที่เรียกว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (Glorious Revolution) และโค่นล้มราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ได้สำเร็จในปีก่อนหน้า
เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน
ทำไมถึงต้องสร้างรูปปั้น
หลังเลิกทำธุรกิจค้าทาส โคลส์ตันเริ่มสร้างชื่อเสียงตัวเองในฐานะเศรษฐีใจบุญ โดยร่วมบริจาคเงินเพื่อประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ เช่น โรงเรียนโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และโบสถ์หลายแห่งในเมืองบริสตอลและกรุงลอนดอน
ต่อมา เขายังลงเล่นการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในนามพรรคขุนนาง (ปัจจุบันคือพรรคอนุรักษนิยม) ระหว่างปี 1710-1713 ก่อนเสียชีวิตในย่านมอร์ตเลค มณฑลเซอร์รีย์ ทางใต้ของกรุงลอนดอนเมื่อปี 1721 ด้วยวัย 84 ปี และทำพิธีฝังศพที่โบสถ์ออลเซนต์สในเมืองบริสตอล
ความใจบุญของโคลส์ตันทำให้ชื่อของเขากระจายอยู่แทบทุกแห่งในเมืองบริสตอล นอกจากมีรูปปั้นสำริดแล้ว ยังมีสถานที่ซึ่งตั้งชื่อโคลส์ตันด้วย เช่น โรงเรียน หอประชุม อาคารสำนักงาน ถนนสายรองและถนนสายหลัก
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มนักรณรงค์ถกเถียงถึงความเหมาะสมในการใช้ชื่อโคลส์ตันซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้าทาส และเรียกร้องให้สภาเมืองบริสตอลทบทวนการใช้ชื่อนี้ จนกระทั่งในปี 2018 สภาตัดสินใจแก้ไขป้ายจารึกใหม่ตรงฐานรูปปั้นของเขา และเพิ่มเรื่องกิจกรรมการค้าทาสของเขาไว้ในนั้นด้วย
โฆษณา