12 มิ.ย. 2020 เวลา 01:13
สู่จุดหมายความสุข...เป้าหมายเกษียณกับ กบข
สมาชิก กบข เมื่อเกษียณอายุจะได้รับทั้งเงินบำนาญรายเดือนจากภาครัฐและเงินก้อนที่ถูกหักสะสมบวกกับเงินสมทบของรัฐบาลและผลประโยชน์จากการลงทุน เท่ากับว่ามีแหล่งที่มาของเงินได้หลังเกษียณใน 2 รูปแบบ หากจะบอกว่า...มีโอกาสการเกษียณสุขมากกว่าคนในสายอาชีพที่ไม่มีระบบรองรับการเกษียณ...ก็คงจะไม่ผิด
แต่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร ปัจจัยสำคัญ...ที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายการเกษียณ..ไม่แตกต่างกัน ประกอบด้วย
- จำนวนเงินที่เราออม
- ระยะเวลาออม และ
- อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
อาชีพต่างกัน มีแหล่งที่มาของรายได้ต่างกัน มีระยะเวลาการทำงานต่างกัน รูปแบบการบริหารจัดการปัจจัยทั้ง 3 เพียงแค่แตกต่างกันไป
3 ปัจจัยเหล่านี้สัมพันธ์กันอย่างไร ดูได้จากภาพข้างล่างนะครับ
นาย ก เริ่มทำงานราชการเมื่อจบการศึกษา รับเงินเดือน 15,000 บาท/เดือน นาย ก จ่ายเงินสะสมเข้า กบข ตามอัตรามาตราฐานที่ 3% หากแผนการลงทุนของ กบข แต่ละกองมีอัตราผลตอบแทน 3% 5% และ 7%
เมื่อเกษียณ เงินสะสมและผลประโยชน์ที่นาย ก จะได้รับ คือ
ผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ได้รับเงิน 333,704 บาท
ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ได้รับเงิน 511,242 บาท
ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ได้รับเงิน 810,475 บาท
นาย ก เห็นว่าแผนลงทุนที่ตนเองยอมรับได้คือ แผนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% และนาย ก ตัดสินใจเพิ่มเงินสะสมอีก 6% (รวมเป็นสะสม 9%) เมื่อเกษียณ นาย ก จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์คืนเป็นเงิน 1,533,725 บาท นอกจากนี้นาย ก จะได้รับเงินสมทบและเงินชดเชยพร้อมผลประโยชน์ อีก 852,069 บาท
เท่ากับว่านาย ก จะได้รับเงินจาก กบข ณ วันเกษียณรวมทั้งหมดเท่ากับ 2,385,794 บาท (ตัวอย่างนี้ยังไม่ได้นำเรื่องการเพิ่มเงินเดือนเข้ามาคำนวณนะครับ)
เห็นได้ว่า ทั้ง 3 ปัจจัยมีผลให้ นาย ก มีเงินก้อนเมื่อเกษียณที่แตกต่างกัน เราสามารถบริหารหรือควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน มาดูกัน....
📊 ปัจจัยแรก :
จำนวนปีที่ออมและลงทุน
วันที่เราเข้ารับราชการและวันที่เราเกษียณอายุ เป็นตัวกำหนดจำนวนปีที่เราจะออมและลงทุนผ่าน กบข เพราะวันที่เริ่มเข้ารับราชการคือวันที่เริ่มเป็นสมาชิก กบข และเริ่มส่งเงินสะสม 3% ปัจจัยนี้จึงเป็นปัจจัยที่แทบถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่เราจะกำหนดได้คือจำนวนปีที่เราจะส่ง"เงินสะสมเพิ่ม"
📊 ปัจจัยที่สอง :
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
กองทุนจะแสดงผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และสมาชิกจะนำผลตอบแทนนั้นมาเป็นผลตอบแทนคาดหวังสำหรับอนาคต เมื่อถึงเวลาผลตอบแทนจริงอาจไม่เป็นไปตามผลตอบแทนที่เคยคาดหวัง
การเลือกแผนลงทุนเป็นการที่เลือกคาดหวังผลตอบแทนจากแผนลงทุนที่ต่างกัน แผนที่มั่นใจว่าจะได้ผลตอบแทนที่แน่นอน ก็คือการเลือกแผนที่มีความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่ำๆ ในขณะที่แผนลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนได้สูงก็จะมีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามนั้นได้สูง
แผนการลงทุนแต่ละแผนมีระดับความเสี่ยงต่างกันและมีอัตราผลตอบแทน"คาดหวัง"ที่แปรไปในทิศทางเดียวกับระดับความเสี่ยง คือ เสี่ยงน้อยได้น้อย เสี่ยงมากควรได้มาก ขึ้นอยู่กับว่าแผนลงทุนมีสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงอยู่เท่าไหร่
การเลือกแผนลงทุนต้องเลือกให้เหมาะสมกับเรา ต้องมีการทบทวนแผนเป็นประจำ และเมื่อเข้าใกล้การเกษียณอายุ ก็ควรจะลดความเสี่ยงของแผนที่จะเลือกสำหรับอายุราชการไม่กี่ปีที่เหลือเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากผลการลงทุน
จากบทความตอนแรก กบข ให้ข้อมูลว่าสมาชิกกว่า 97% เลือกแผนหลักโดยไม่เคยเปลี่ยนแผน ไม่เคยทบทวนแผน และกว่า 69% ของสมาชิกมีแผนลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่าระดับที่เหมาะสม
ซึ่งก็คงจะหมายถึงกลุ่มข้าราชการที่มีอายุราชการสูง เป็นกลุ่มข้าราชการที่มีสัดส่วนสูงมาก ที่ยังคงอยู่ในแผนหลักในช่วงอายุใกล้เกษียณ
ข้อสังเกตที่พบเสมอคือ สมาชิกส่วนหนึ่งมักมีคำถามเรื่องอัตราผลตอบแทนจากกองทุนของตนเอง เมื่อลองหาข้อมูลผ่านแหล่งโซเชียล พบว่าส่วนมากไม่ค่อยมีความเข้าใจในการลงทุนระยะยาว
ขณะที่สมาชิกส่วนหนึ่งแทบไม่เคยดูใบรายงานของตัวเอง แต่สมาชิกบางคนกลับดูยอดสะสมอัพเดตแบบรายวัน แล้วเกิดอาการวิตกในบางวันเมื่อจำนวนเงินเปลี่ยนแปลงทางลบ
สมาชิก กบข หลายคนยังมีภาพจำของอัตราผลตอบแทนติดลบที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งในปีเดียวกันนั้น อัตราผลตอบแทนของกองทุนหรือสินทรัพย์ลงทุนมีการติดลบเช่นกัน
ข้อมูลในภาพข้างบน เป็นข้อมูลเท่าที่ผมหาได้ในตอนนี้ โดยเป็นข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของ แผนลงทุน กบข แต่ละแผน กับ RMF ประเภทต่าง ๆ ในช่วงเวลาเดียวักน โดยข้อมูล RMF เป็นข้อมูลของกองทุน RMF รวมทุกกองในประเภทเดียวกัน จีงมีทั้งกองที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และกองที่ผลตอบแทนต่ำกว่า หากสนใจจะลงทุนใน RMF ก็สามารถศึกษาข้อมูลกอง RMF ที่ให้ผลตอบแทนดีเพิ่มเติม
ภาพนี้บอกเราเพียงคร่าวๆ ซึ่งดูจากข้อมูลกองทุน กบข แต่ละแผน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปี ที่ดีกว่ากองทุน RMF ในประเภทที่ใกล้เคียงกัน โดยอัตราผลตอบแทน RMF นี้เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุน RMF ทั้งหมดในแต่ละประเภท ข้าราชการที่ต้องการลงทุนเพิ่มในกองทุน กบข ดูข้อมูลนี้แล้วคงพอจะทำให้สบายใจที่จะลงทุนเพิ่มได้นะครับ เพียงแต่ต้องเลือกแผนลงทุนให้เหมาะกับเราครับ
📊 ปัจจัยที่สาม :
จำนวนเงินออม
ปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้มากที่สุด อัตราเงินสะสมที่กำหนดไว้ขั้นต่ำคือ 3% เราสามารถออมเพิ่มได้สูงถึง 15% และหากเรายังสามารถออมเพิ่มได้ก็มีทางเลือกอื่นๆ ให้เลือก รวมทั้ง RMF อีกด้วย
หากเรารับความเสี่ยงได้น้อย เราก็ต่องออมเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย ตัวอย่างของ นาย ก แสดงให้เห็นว่าในภาวะที่แผนลงทุนให้ผลตอบแทนที่ลดลง วิธีการออมเพิ่มช่วยให้เรามีเงินเมื่อเกษียณได้มากกว่าวิธีการเพิ่มความเสี่ยงด้วยการเลือกแผนลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจนเกินระดับที่เหมาะสมกับเรา
ดูจากข้อมูลของ กบข สัดส่วนสมาชิกที่ออมเพิ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในปี 2562 สัดส่วนมีเพียง 5.28% ถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่ต่ำ
การออมเพิ่มนั้น เราไม่จำเป็นต้องออมเพิ่มใน % ที่คงที่ตลอดอายุราชการของเรา แต่เราสามารถปรับให้เหมาะสมกับงบดุลและงบรายรับรายจ่ายของเราในแต่ละช่วงเวลา
ช่วงอายุน้อย เงินเดือนยังไม่สูง เราอาจมีภาระผ่อนบ้าน และการศึกษาของลูก การออมเพิ่มจะทำได้ค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีภาระที่ลดลงก็ควรจะออมเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดทันที
การออมเพื่อเป้าหมายการเกษียณของสมาชิก กบข จึงควรเป็น
📈 ออมเพิ่มให้เร็วที่สุด และออมเพิ่มมากที่สุด
ควบคู่กับ
📈 เลือกแผนลงทุนที่เหมาะกับเราในแต่ละช่วงเวลา
การออมของ กบข เป็นรูปแบบการออมระยะยาว ไม่ใช่การเก็งกำไร การเลือกแผนลงทุนที่เหมาะกับเรา ทำให้เราไม่ต้องเครียดเกินไปและเราก็ไม่เสียโอกาสการลงทุนด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาชิก กบข ทุกคน จะไปถึงจุดหมายการเกษียณอย่างมีความสุขนะครับ
Credit : Pexels.com
แนวทางเหล่านี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกคนทุกอาชีพ สิ่งสำคัญคือการเริ่มลงมือทำให้เร็วที่สุดครับ
ปัญหาการเกษียณที่ยังไม่พร้อมด้านการเงินจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ในอดีตที่ผ่านมาแหล่งเงินของคนเกษียณส่วนใหญ่มาจากลูกหลาน แต่โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป คนที่เกษียณอายุในอนาคตจะต้องพึ่งตนเองมากขึ้นครับ
บทความเกี่ยวกับ กบข คงปิดจบลงตามนี้ ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตอนท้ายของบทความครับ มีความเห็นสามารถแชร์แลกเปลี่ยนได้ครับ
แหล่งอ้างอิงของข้อมูล :
รายงานประจำปี กบข 2556 - 2562
www.thaipvd.com กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
หมายเหตุ :
ไม่สามารถนำข้อมูลไปอ้างอิง เนื่องจากเป็นการทำข้อมูลระดับเบี้องต้นไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยทั้งหมด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา