18 พ.ย. 2020 เวลา 04:33
RMF หนึ่งทางเลือก
สำหรับการวางแผนภาษีและการเตรียมเกษียณ
******NOTE (แทรก ณ วันที่ 29/12/63)******
เมื่อไม่นานผมได้รับข้อมูลคำแนะนำจากการสอบถามกรมสรรพากรว่า เรื่องการปรับยกเลิกเกณฑ์ขั้นต่ำ (อยู่ในบทความตอนที่ 1) ยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำว่าเพื่อป้องกันปัญหาจึงควรจะซื้อตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่มีอยู่ต่อไปก่อนจนกว่าจะมีการประกาศ เพื่อไม่ให้ผิดหลักเกณฑ์ของ RMF
วันนี้ผมลองเข้าไปเช็ค กฎกระทรวง และประกาศจากกรมสรรพากร พบการประกาศเรื่องกองทุน SSF กองทุน SSFX และการปรับหลักเกณฑ์การลดหย่อน SSF RMF แต่ไม่พบรายละเอียดการยกเลิกเกณฑ์ขั้นต่ำ (SSFX เป็นเรื่องที่เกิดภายหลัง พบว่ามีการออกกฎกระทรวงแล้ว) ก็เลยเห็นว่าคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ฯ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อต่ำกว่าเกณฑ์ที่มีอยู่
แม้จะเชื่อว่าภาครัฐคงจะหาแนวทางแก้ปัญหา แต่เพื่อความปลอดภัยในการซื้อตามเกณฑ์ขั้นต่ำ เราควรยึดหลักเกณฑ์เดิมก่อนครับ คือ ขั้นต่ำ 3% ของรายได้ หรือ 5,000 บาท (ยอดที่ต่ำกว่า)
เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณา หรือหากใครมีข้อมูลที่อัพเดตรบกวนแชร์ด้วยครับ
เข้าสู่กลางเดือนพฤศจิกายนอีกแล้ว เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษก็จะสิ้นปี 2563 หลายคนอาจจะกำลังเตรียมการสำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้ในปีนี้ สังเกตได้จากบทความที่ผมเคยลงไว้เกี่ยวกับ RMF ถูกแชร์หลายครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
Credit : Unsplash.com
เดิมผมตั้งใจจะทำสรุปรวมเรื่องลดหย่อนภาษีเงินได้ แต่ยังไม่มีเวลาพอจะสรุปรวมข้อมูลเป็นบทความ ขอใช้วิธีการรีโพสต์บทความเรื่อง RMF ที่ทำไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านแทนนะครับ เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนที่กำลังวางแผนลดหย่อนภาษีประจำปี 2563 ครับ
บทความเรื่อง RMF ของผม เขียนแยกไว้เป็น 2 ตอนนะครับ
ตอนแรก : RMF ของดีๆ ที่คนมักไม่เลือก
ตอนที่ 2 : เรื่องที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ RMF
ในบทความยังได้พูดถึงเรื่อง SSF ไว้เล็กน้อย (เวลานั้นกองทุน SSF ยังเพิ่งเปิดตัวไม่กี่กองทุน) แต่คงจะเพียงพอสำหรับนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนภาษี
สำหรับคนที่มีเงินได้ฯ ที่สามารถลดหย่อนได้ ลองเลือกซื้อ RMF และ SSF ตามความชอบและเงื่อนไขของแต่ละคนนะครับ
สิทธิลดหย่อนสรุปสั้นๆ ดังนี้
SSF ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ขณะที่ RMF ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินเช่นเดียวกัน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
แต่มีเงื่อนไขที่ต้องดูประกอบคือ เมื่อนำ กบข+กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ+ประกันบำนาญ+SSF+RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาทนะครับ (ไม่รวม SSFX)
บทความทั้งสองเขียนไว้เมื่อเก้าเดือนก่อน เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งก็พบว่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจากคำถามต่างๆ ของคนอ่าน ที่ทำให้มีข้อมูลเติมเต็มบทความให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ใครที่อ่านบทความจบแล้ว ขอแนะนำให้ลองอ่านความเห็นด้านล่างด้วยนะครับ
หวังอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา