11 มิ.ย. 2020 เวลา 01:15 • ธุรกิจ
อยากซื้อ 'รถใหม่' ต้องรู้! 'ค่าใช้จ่าย' ที่อาจทำให้การเงินพัง ถ้าไม่วางแผน
โปรโมชั่นสุดพิเศษจาก "ค่ายรถยนต์" ที่แข่งกันทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าหลังตลาดรถยนต์ซบเซา ทว่าโปรโมชั่นที่ดูคุ้มค่าเหล่านี้อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในเวลาที่ยังต้องเผชิญกับวิกฤติ "โควิด-19" ที่อาจยืดเยื้อต่อไปได้ทุกเมื่อ และอาจกระทบเงินในกระเป๋าต่อไปแบบยากจะคาดเดา
แม้ปัจจุบันจะมีโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ ทั้ง "หั่นราคา" "ผ่อน 999/เดือน" "ขับฟรี 3 เดือน" "ผ่อน 0% 60 เดือน" "ดาวน์ 0%" ฯลฯ ตามเงื่อนไขของค่ายรถยนต์ต่างๆ แต่โปรโมชั่นเหล่านี้ครอบคลุมแค่ราคาตัวรถ ในการผ่อนชำระในแต่ละงวดเท่านั้น
2
แต่สิ่งที่ลืมคิดไปไม่ได้คือการซื้อรถยนต์ 1 คัน ไม่ว่าจะรถใหม่ป้ายแดง หรือรถมือสอง ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา ทั้งในทางตรง ทางอ้อมกันทั้งนั้น และรายจ่ายแฝงเหล่านี้ที่คนซื้อรถจะต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อวางแผนการเงินให้ไม่กระทบกับชีวิตประจำวัน และแผนการเงินอื่นๆ
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวมรายจ่ายที่จะตามมาเมื่อซื้อรถยนต์ไว้เรื่องหลักๆ ดังนี้
อยากซื้อ 'รถใหม่' ต้องรู้! 'ค่าใช้จ่าย' ที่อาจทำให้การเงินพัง ถ้าไม่วางแผน
1. เงินดาวน์
ค่าดาวน์รถ เงินก้อนแรกที่จะต้องถูกจ่ายไปก่อนที่จะซื้อรถยนต์ เป็นส่วนที่ไม่ถูกคิดดอกเบี้ย ยิ่งดาวน์ในสัดส่วนที่มาก เยอะยิ่งทำให้สามารถผ่อนชำระรายงวดได้ในจำนวนที่น้อยลง ซึ่งเท่ากับว่าช่วยให้เสียดอกเบี้ยน้อยลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ เงินดาวน์จะแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขของค่ายรถ และโปรโมชั่นต่างๆ
โดยปกติสัดส่วนของการดาวน์รถจะอยู่ที่ 30% ของราคารถ แต่หากมีโปรโมชั่นฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% นั่นหมายความว่าผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในส่วนนี้เลย แต่จะต้องแบกรับดอกเบี้ยที่มากกว่าในระยะยาว
เรื่องเงินดาวน์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนซื้อรถ เพราะหากเริ่มต้นการซื้อโดยปลอดเงินดาวน์ แล้วเงินที่ต้องชำระต่องวดสูงอาจส่งผลกระทบต่อการเงินโดยรวมได้เช่นกัน
2. ค่าผ่อนรถ
ปัจจุบันโปรโมชั่นออกรถ ขับก่อน ผ่อนทีหลัง นับเป็นข้อเสนอสุดจูงใจที่ทั้งสะดวก และสบายกระเป๋าในช่วงแรก เช่น ขับฟรี 3 เดือนแรก สำหรับค่าผ่อนชำระรถยนต์ มีตั้งแต่เริ่มต้น 3,000 บาทขึ้นไป ตามราคารถและระยะเวลาในการผ่อนชำระ ซึ่งถือเป็นรายจ่ายส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และเป็นภาระต่อเนื่องยาวนานซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ย 4-7 ปี
ตัวอย่างการคำนวณการผ่อนชำระจาก กรุงศรีออโต้ ในกรณีซื้อรถในช่วงมีโปรโมชั่นฟรีดาวน์ ราคารถยนต์รวม VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้วอยู่ที่ 600,000 บาท เลือกผ่อนชำระ 60 เดือน ไม่มีเงินดาวน์ ดอกเบี้ย 5% (ขึ้นอยู่กับไฟแนนซ์รถแต่ละบริษัท) เท่ากับว่าต้องผ่อนค่างวดต่อเดือน 10,834 บาท
เท่ากับว่าในแต่ละเดือนจะต้องเตรียมเงินสำหรับผ่อนชำระรถยนต์ราว 11,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้เมื่อรวมกับหนี้สินอื่นๆ ทั้งหมดที่มีไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ งยาวนานซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ย 4-7 ปี
3. ค่าเชื้อเพลิง
น้ำมัน หรือแก๊ส คือค่าใช้จ่ายที่ต้องตามมาอย่างแน่นอนเมื่อมีรถ ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับการใช้งาน เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง หากประเมินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเชื้อเพลิงคร่าวๆ สำหรับคนที่ใช้รถทุกวัน ค่าเชื้อเพลิงมักเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 3,000-5,000 บาท สำหรับรถคันเล็ก ส่วนรถคันใหญ่กว่า หรือรถที่มีอัตราบริโภคน้ำมันสูงกว่า ค่าเชื้อเพลิงอาจแตะถึง 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องนำมาพิจารณาในภาพรวมว่า ระหว่างการใช้รถยนต์ที่มีค่าน้ำมันต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการเดินทางโดยรถสาธารณะ รูปแบบไหนเหมาะกับเส้นทางหลักที่ต้องเดินทางเป็นประจำและคุ้มค่ามากกว่ากัน เพื่อให้การใช้รถยนต์ตอบโจทย์ทางการเงิน และเกิดประโยชน์สูงสุด
1
4. ประกัน พ.ร.บ.
ประกัน พ.ร.บ. ถือเป็นประกันภัยภาคบังคับที่รถทุกคันต้องมีไว้สำหรับคุ้มครองผู้ประสบภัยจากการขับขี่ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยประกัน พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองเฉพาะคนที่ประสบอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด (เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น ไม่รวมความเสียหายของยานพาหนะ) เพราะฉะนั้น เจ้าของรถทุกคันจึงจะต้องเตรียมเก็บเงินไว้จ่าย ประกัน พ.ร.บ. ปีละครั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันออกไปตามประเภทรถ รถเก๋ง/รถกระบะ 4 ประตู ประมาณ 600 บาท ส่วนรถกระบะ 2 ประตู ประมาณ 900 บาท
5. ค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี
เป็นอีกหนึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเป็นประจำทุกปี ซึ่งค่าภาษีของรถแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันออกไปตามขนาดและประเภทของรถ ความจุเครื่องยนต์ ไปจนถึงอายุการใช้งาน
ตัวอย่างการคำนวณภาษีรถยนต์เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี
คำนวณ 600 ซีซี แรก ซีซี ละ 0.5 บาท ดังนั้น 600 x 0.5 = 300 บาท
ส่วนตั้งแต่ 601-1,500 ซีซี ละ 1.50 บาท ดังนั้นเฉลี่ย (1,500–600) = 900 x 1.50 = 1,350 บาท
หมายความว่าค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปีของรถยนต์เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี รวมเป็นค่าภาษีทั้งหมด 300+1,350 = 1,650 บาท
โดยอัตราค่าภาษี ปีที่ 1–5 จะคงที่ ส่วนรถที่อายุการใช้งานเกิน 6 ปี จะลดภาษีลง 10% ไปจนสูงสุดถึง 50% ในปีที่ 10 และจะคงที่ 50% ในปีต่อๆ ไป และรถที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 7 ปี จะต้องจะต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพ ตรอ. จึงจะสามารถต่อภาษีได้
โฆษณา