14 มิ.ย. 2020 เวลา 06:43 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Series แผนการทำทางคู่ติดระบบไฟฟ้า (Railway Electrification) EP.1 พื้นที่ และเส้นทาง
วันนี้ขอเปิด Series ใหม่อีก 1 เรื่อง คือแผนการทำทางคู่ติดระบบไฟฟ้า (Railway Electrification) ตามแผน กันยายน 59
แต่ขอแบ่งเป็นตอนๆ เพราะรายละเอียดเยอะและน่าสนใจมาก ทำโพสต์เดียวคงไม่หมด และไม่หนำใจเพื่อนๆ
วันนี้ขอเปิด EP.1 ด้วยเส้นทางโครงการ และ งานเส้นทางที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้รองรับการเดินรถไฟด้วยไฟฟ้า รวมถึงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot)
เรามารู้จักคำว่าทางคู่ติดระบบไฟฟ้า (Railway Electrification) ก่อนครับ
*** เป็นการปรับรูปแบบแหล่งพลังงานของรถไฟ ***
จากการใช้น้ำมันดีเซล มาปั่นไฟ และจ่ายลงมอเตอร์ไฟฟ้า ของหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เกือบทุกรุ่น
มาเป็นการรับไฟฟ้าจากจากสายส่งไฟฟ้าเหนือหัว (OCS) หรือจากราง 3 (3rd Rail) ที่มีแรงดันไฟฟ้าต่างๆ เช่น 25 K VAC ของรถไฟฟ้าสายสีแดง หรือ 750 VDC ของรถไฟฟ้าในเมือง เช่น BTS และ MRT
ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้ามาที่หัวรถจักร(EL) หรือขบวนรถไฟฟ้า ชุด (EMU) ซึ่งทั้ง 2 อย่างที่ว่ามา ก็จะมีแบบที่ใช้ แหล่งพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว หรือแบบที่ใช้แหล่งพลังงานได้ท้ง 2 แบบ คือไฟฟ้า และ ดีเซล ที่หลายคนเรียกว่า Bi-Mode นั่นแหละครับ
ใครไม่รู้จักระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือตัวรถ (OCS) ดูตามลิ้งค์นี้ครับ
เส้นทางที่มีการศึกษาติดตั้งระบไฟฟ้าบนทางคู่ คือระยะ 250 กิโลเมตร จากกรุงเทพ
ตามเส้นทางคู่ใหม่ 4 สาย ได้แก่
- สายเหนือสิ้นสุดที่ สถานีปากน้ำโพ (นครสวรรค์)
- สายใต้สิ้นสุดที่ สถานีหัวหิน
- สายอิสานสิ้นสุดที่ สถานีนครราชสีมา
- สายตะวันออกสิ้นสุดที่ สถานีพัทยา
ในโครงการได้ทำการศึกษาและรวมรวมโครงการที่จะพัฒนาในเส้นโครงการหลายๆโครงการเพื่อจะรวบรวม ส่วนที่ขาดมาใส่ในโครงการนี้
ซึ่งในพื้นที่ชั้นใน และปริมณฑล จะทับซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งโครงการ ตั้งแต่ นครปฐม - บางซื่อ- ฉะเชิงเทรา และ บ้านภาชี - อยุธยา - บางซื่อ - กรุงเทพ (หัวลำโพง)
ส่วนพื้นที่เลยไป จะแบ่งเป็น 4 สายทางคือ
- สายเหนือ
ช่วง บ้านภาชี-ลพบุรี จะทับซ้อนกับ เส้นทางคู่เดิม (ต้องปรับปรุงเส้นทางและอาณัติสัญญาณให้สอดคล้องกับมาตรฐาน)
ช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ จะทับกับทางคู่ใหม่ (กำลังก่อสร้าง) ซึ่งออกแบบให้รองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว
- สายใต้
ช่วง นครปฐม-หัวหิน จะทับกับทางคู่ใหม่ (กำลังก่อสร้าง) ซึ่งออกแบบให้รองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว
- สายอิสาน
ช่วง บ้านภาชี-มาบกะเบา จะทับซ้อนกับ เส้นทางคู่เดิม (ต้องปรับปรุงเส้นทางและอาณัติสัญญาณให้สอดคล้องกับมาตรฐาน)
ช่วง มาบกะเบา-นครราชสีมา จะทับกับทางคู่ใหม่ (กำลังก่อสร้าง) ซึ่งออกแบบให้รองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว
แต่ในช่วง คลองขนาดจิตร-ชุมทางถนนจิระ ยังติดขัดกับปัญหาทางยกระดับกลางเมืองโคราช ซึ่งทางคนโคราชต้องการให้ยกระดับ เลยต้องมีการแก้ไขแบบใหม่ทั้งหมด อาจจะเริ่มงานช้าไปอีก 1-2 ปี
- สายตะวันออก
ช่วงฉะเชิงเทรา-พัฒนา จะทับกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ เส้นทาง (อยู่ในช่วงออกแบบ และของบประมาณ) ซึ่งออกแบบให้รองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว
ซึ่งการติดตั้งระบบไฟฟ้าในทางคู่ จะมีความต้องการพื้นที่ในการติดตั้งระบบต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม
เนื่องจากจะต้องมีการติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าไฟฟ้าเหนือหัว (OCS) รวมถึงการปรับปรุงอาณัติสัญญาณ และทำให้ทางรถไฟเป็นระบบปิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเพิ่มความเร็วในการเดินรถ
พื้นที่ปลอดภัยใหม่ของทางรถไฟมีรายละเอียดตามนี้
- ด้านความสูง ต้องมีอย่างน้อย 5.9 เมตร
- ด้านกว้าง ต้องมีอย่างน้อย 3.7 เมตร
โดยการทำทางรถไฟระบบปิด ปลอดจุดตัดรถไฟ และทางลักผ่าน 100%
ซึ่งในโครงการทำการสำรวจเส้นทางเพื่อรองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้า
พบว่ามีโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมในการติดตั้งระบบไฟฟ้าหลายจุด เช่น
- หลังคาสถานี
- สะพานข้ามถนน ซึ่งมีความสูงไม่เพียงพอ
- สายไฟต่างๆที่ข้ามทางรถไฟ
ดูรายละเอียด ได้จากในรูปครับ
ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ในโครงการ
ในโครงการจะมีรูปแบบ ของศูนย์ซ่อมบำรุง เป็น 4 แบบ คือ
1. โรงซ่อมบำรุงหลัก จะอยู่ที่สถานีพระแก้ว
2. โรงตรวจไฟฟ้า อยู่ที่สถานีโคกกระเทียม, นครสวรรค์, ชุมทางถนนจิระ, ดอนสีนนท์, พัทยา และ ห้วยทรายใต้
3. ย่านจอดรถไฟฟ้า อยู่ที่สถานีเชียงราก, โคกกระเทียม, ชุมทางฉะเชิงเทรา, ชุมทางศรีราชาและ ต้นสำโรง
4. อาคารซ่อมบำรุงทาง อยู่ที่สถานีนครสวรรค์, ชุมทางถนนจิระ, พัทยา และห้วยทรายใต้
ซึ่งจุดสำคัญที่สุดในโครงการ คือ โรงซ่อมบำรุงหลัก ที่สถานีพระแก้ว
- เพื่อจะรองรับหัวรถจักรไฟฟ้า (EL) 40 คันในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 168 คัน ในอีก 25 ปี
- ขบวนรถไฟฟ้าชุด (EMU) 79 คัน ในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 99 คัน ในอีก 25 ปี
ซึ่งจะมีรายละเอียดการซ่อมบำรุงได้ตามในรูปครับ
อันนี้ขอเป็นการปูพื้นในรายละเอียด ลงลึกในโพสต์ต่อๆไปอีกทีครับ
โฆษณา