19 มิ.ย. 2020 เวลา 01:00 • การศึกษา
"สัญญาห้ามเป็นลูกจ้างกิจการประเภทเดียวกัน ทำได้ไหม?"
...วันนี้ขณะเขียนบทความ ผมนึกถึงประเด็นหนึ่งที่ถามกันมาค่อนข้างมาก ว่ากรณีที่นายจ้างกำหนดในสัญญาว่า "ห้ามเป็นลูกจ้างในกิจการเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน" ทำได้หรือไม่?
...สัญญาประเภทนี้ หากท่านผู้อ่านสังเกตให้ดี จะมีระบุอยู่ในข้อท้ายๆของสัญญาจ้างแรงงานปกติ ที่ท่านได้เซ็นตอนเริ่มงานนั่นเอง
...เช่น ห้ามเข้าเป็นลูกจ้างในกิจการเครื่องมือแพทย์ เป็นระยเวลา 3 ปี เป็นต้น ลูกจ้างได้อ่านแล้ว ก็มักจะอ้างความจำเป็นต้องเซ็น ไม่งั้นก็ไม่ได้งาน
...สัญญาประเภทนี้เป็นสัญญาประเภทรักษาประโยชน์ทางธุรกิจการค้า หากไม่ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระเกินสมควรอันพึงคาดหมายได้ตามปกติ ย่อมใช้บังคับได้ครับ
...คดีหนึ่ง นายจ้างจ้างลูกจ้างทำงานในตำแหน่งพนักงานตกแต่งรูปภาพ โดยมีข้อสัญญากันว่า "จะไม่รับจ้างหรือเป็นลูกจ้างให้กับนายจ้างที่ประกอบธุรกิจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันกับนายจ้าง ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับแต่สัญญาสิ้นสุด ภายในรัศมี 100 กิโลเมตร"
"หากฝ่าฝืน มีต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 12 เดือนของค่าจ้างอัตราสุดท้าย"
...นับแต่วันเซ็นสัญญาลูกจ้างทำงานมา 6 ปีเศษ (1 กุมภาพันธ์ 2550 - 30 มิถุนายน 2556) ได้ขอลาออก ต่อมาลูกจ้างได้ไปทำงานในธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับของนายจ้าง นายจ้างจึงฟ้องเป็นคดีต่อศาล
..ศาลพิพากษาว่า สัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นสัญญาที่จำกัดประเภทธุรกิจไว้ชัดเจน ไม่ได้ห้ามประกอบอาชีพหรือปิดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จำกัดพื้นที่ภายในรัศมี 100 กิโลเมตรจากที่ตั้งของนายจ้าง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาประโยชน์ในเชิงธุรกิจ จึงไม่เป็นโมฆะ (ใช้บังคับได้)
2
...ค่าเสียหายที่ขอมา 12 เดือนนั้น ศาลเห็นสมควรกำหนดให้เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 5 เดือน
"ในความรู้สึกของลูกจ้าง ย่อมรู้สึกว่าสัญญานี้ไม่เป็นธรรม เนื่องจากโดยปกติแล้วใครที่เติบโตในสายงานไหน ก็ย่อมอยากทำงานในธุรกิจหรือสายงานเดิม เช่น เป็นเซลล์ขายเครื่องมือแพทย์ เขาก็ย่อมมีความชำนาญด้านงานเครื่องมือแพทย์ โอกาสสร้างรายได้จากเครื่องมือแพทย์จึงมีมากกว่าการขายสินค้าชนิดอื่นๆ เพียงแค่บริษัทไหนให้ค่าตอบแทนสูงก็เปลี่ยนไปทำงานให้"
"ถ้าไม่เซ็นสัญญา ก็ไม่ได้งาน"
...แต่ศาลมองว่า ท่านจะไม่เซ็นตั้งแต่แรกก็ได้ แต่ถ้าเซ็นลงไปแล้ว ท่านต้องรับผิดชอบต่อสัญญานั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2560
"...ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการโดนเอาเปรียบจากสังคมแห่งแรงงาน..."
"...หากอยากให้กำลังใจผู้เขียน ช่วยกดติดตาม กดไลค์ หรือแชร์แก่ผู้อื่นเป็นวิทยาทาน ฯลฯ เพื่อจะได้สร้างสรรค์งานเขียนเช่นนี้ต่อไปครับ..."
CR : Freepik
โฆษณา