17 มิ.ย. 2020 เวลา 10:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ความเหงาฆ่าคนได้อย่างไร ?
มีใครกำลังรู้สึกเหงาอยู่บ้างไหมครับ?
ถ้ามี รู้ไหมครับว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเหงา
ทุกวันนี้มีคนที่รู้สึกเหงาอย่างเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมเมืองจน ความเหงากลายเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 เช่นนี้ จำนวนคนที่รู้สึกเหงาก็เหมือนจะเพิ่มขึ้น
ความเหงาเป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและพบได้เกือบทั่วโลก จนถึงขนาดว่ามีหมอจำนวนหนึ่ง ตั้งคำถามว่า
ถึงเวลาที่เราควรจะมองว่า ความเหงาเรื้อรัง เป็น “โรค" ที่บุคคลากรทางการแพทย์ควรจะให้ความสนใจเหมือนโรคอ้วน หรือหรือความดันโลหิตสูงได้แล้วหรือยัง?
1
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมความเหงาเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่ฟังดูธรรมดาๆ จึงควรจัดว่าเป็นโรค?
คำตอบสั้นๆคือ เพราะความเหงาเรื้อรัง เพิ่มโอกาสเสียชีวิต ไม่ต่างไปจากโรคอื่นๆอย่าง โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคไขมันในเลือดสูง
และยังพบว่าคนที่เหงานานเป็นเดือนๆ จะมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่างๆหลายโรคเพิ่มขึ้นเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เส้นเลือดในหัวใจหรือในสมองตีบตันหรือแตก อัลไซเมอร์
ก่อนอื่นเลยต้องบอกก่อนนะครับว่า ความเหงาเรื้อรังปัจจุบันยังไม่จัดว่าเป็นโรค และยังไม่มีนิยามที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เรื้อรัง ในที่นี้ คือนานแค่ไหน
แต่ส่วนใหญ่ก็จะยอมรับว่าถ้า ความเหงาเกิดขึ้นนานเป็นเดือนๆถึงเป็นปี ก็ถือว่าไม่ปกติแล้ว
ความเหงาเรื้อรังยังอาจจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้ด้วย
คำถามสำคัญคือ ความเหงาเรื้อรัง ฆ่าคนได้อย่างไร?
คำตอบของคำถามนี้ผมจะขอแยกตอบเป็น 2 คำอธิบายด้วยกัน
หนึ่งเป็นคำอธิบายในระดับกลไกในร่างกาย (ที่เรียกว่า proximate)
สองจะอธิบายในระดับที่เรียกว่า ultimate cause หรือ อธิบายผ่านมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการ
คำอธิบายในแง่กลไกของร่างกาย คือ เมื่อคนเรารู้สึกเหงา จะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี ฮอร์โมนต่างๆเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานเพิ่มขึ้น คือ ตื่นตัวมากขึ้น เหมือนเตรียมพร้อมจะรับมือกับภาวะติดเชื้อ
ซึ่งภาวะที่เซลล์ต่างๆในระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ทางการแพทย์จะเรียกในชื่อสั้นๆว่า การอักเสบ หรือ การอักเสบเรื้อรังในกระแสเลือด
สำหรับใครที่ชอบอ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพ น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า การอักเสบ นี้ดี เพราะเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ภาวะการอักเสบในเลือดที่พูดถึงนี้ คือ การอักเสบในระดับน้อยๆแต่เรื้อรังนานเป็นปีๆ และการอักเสบในเลือดเรื้อรังนี้จะมีผลให้ความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น โรคอ้วนลงพุง เบาหวาน โรคเส้นเลือดหัวใจแตกหรือตีบตัน โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ
นั่นเป็นคำอธิบายในระดับกลไกของร่างกายคร่าวๆนะครับ คราวนี้ผมจะอธิบายในมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการบ้างว่าทำไมความเหงาจึงทำให้ร่างกายตอบสนองเช่นนี้
คำตอบสั้นๆคือ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ในธรรมชาติสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากจะอาศัยอยู่เป็นสังคมหรืออยู่เป็นฝูง
การอยู่เป็นฝูงหรืออยู่เป็นสังคมนั้นมีข้อดีหลายอย่าง
หนึ่งในข้อดีนั้น คือ การอยู่เป็นฝูง จะช่วยกันระวังภัยหรือต่อสู้กับผู้ล่าได้ดีกว่า
สัตว์ที่อยู่ในสังคมจึงมีแนวโน้มจะปลอดภัยกว่า
เมื่อใดก็ตามที่สัตว์สังคมหลงออกจากฝูง หรือโดนขับไล่ออกจากฝูง โอกาสที่จะโดนผู้ล่าทำร้ายหรือฆ่าจะเพิ่มมากขึ้น
สมองและร่างกายจึงออกแบบให้รับรู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกโดดเดี่ยว กลไกความเครียดทางจิตใจและร่างกายจะทำงานเพิ่มขึ้น สมองจะเข้าสู่โหมดระวังภัย
สัตว์ที่ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวจึงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ ตื่นกลัวง่าย มีท่าที่เหมือนไม่ไว้ใจใคร เตรียมพร้อมรับมือกับภัยอันตราย
การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่พฤติกรรมเท่านั้น แต่กลไกต่างๆภายในร่างกายก็ยังเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับอันตราย หรือรับมือกับการบาดเจ็บไปด้วย คือ ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับบาดแผลและเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้ามาทางบาดแผลนั้น การทำงานของร่างกายเช่นนี้
โดยสรุปจะเห็นว่า ความเครียด ความกังวล ความไม่ไว้ใจใคร รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันที่ตื่นตัวและพร้อมจะโจมตีขอเพียงแค่มีอะไรมากระตุ้นเพียงเล็กน้อย จึงเป็นการปรับตัวของร่างกายเพื่อให้เหมาะกับ สภาวะของการหลุดจากฝูง หรือถูกโดดเดี่ยว
เมื่อเข้าใจสภาวะโดดเดี่ยวในธรรมชาติแล้ว เราก็กลับมามองที่มนุษย์กันบ้าง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างไปจากสัตว์คือ มนุษย์สามารถที่จะคิดหรือจินตนาการได้ ดังนั้น แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่เราก็สามารถที่จะรู้สึกไม่เข้าพวก และเกิดความเหงาขึ้นมาได้
ความรู้สึกเหงานี้ จริงๆแล้วเป็นกลไกสำคัญของสมอง ที่จะทำให้เราหาทางเลี่ยงความเหงา ไม่ต่างไปจากความหิว หรือความเจ็บทางกาย
สมองทำให้เรารู้สึกหิว เพราะต้องการให้เรามีพฤติกรรมที่จะเสาะหาอาหารมากิน สมองทำให้เราเจ็บ เราจะได้เลี่ยงหรือหลบมาจากสิ่งที่เป็นอันตรายนั้น ดังนั้นเราอาจจะเทียบง่ายๆได้ว่า ความเหงาก็เหมือนความหิว แต่เป็นความหิวทางสังคม คือ ต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อดับความหิวทางสังคมนี้
ความรู้สึกเหงาจึงเป็นกลไกธรรมชาติที่ทำให้เราอยากเข้าหาคนอื่น เพื่อให้ความเหงานั้นหมดไป
แต่ความเหงาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่างไปจากความเหงาที่เกิดขึ้นในยุคหิน
ในสังคมที่มนุษย์วิวัฒนาการมา เราอาศัยอยู่ในเผ่า ที่คนในเผ่าทุกคนรู้จักกันหมด แต่สังคมทุกวันนี้โดยเฉพาะสังคมในเมืองใหญ่ หลายคนต้องจากถิ่นฐานหรือผู้คนที่คุ้นเคย มาเรียน ทำงาน กับผู้คนที่มีความหลากหลาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวกกับสังคมใหม่ที่ตัต้องมาอาศัยอยู่ ความรู้สึกเหงาจึงเกิดขึ้น
ความเหงานี้ไม่ได้ขึ้นกับจำนวนเพื่อนที่มี แต่ขึ้นกับคุณภาพของความเป็นเพื่อนมากกว่า คนบางคนดูเหมือนมีเพื่อนเยอะแต่ไม่ได้รู้สึกสนิทกับใครจริงจัง ไม่รู้สึกว่ามีใครที่สามารถคุยเปิดอกได้ทุกเรื่องจริงๆ ก็อาจจะเป็นคนที่รู้สึกเหงาได้
ในทางตรงกันข้าม คนบางคนมีเพื่อนน้อยมาก เหมือนเป็นคนสันโดษ แต่เขาอาจจะไม่รู้สึกเหงาเลยก็เป็นได้ ดังนั้น จะเห็นว่า ความเหงาไม่ได้ขึ้นกับจำนวนเพื่อนที่มี แต่ขึ้นกับคุณภาพของความเป็นเพื่อน
สำหรับวิธีการเอาชนะความเหงา จริงๆแล้วทำได้มากมายหลายวิธี ลองกูเกิ้ลดูก็จะมีบทความดีๆที่เขียนถึงหลายบทความ แต่ผมอยากจะขอยกตัวอย่างที่คิดว่าน่าสนใจและไม่ค่อยเห็นมีเขียนถึงบ่อย สักสามข้อนะครับ
1
ถ้าคุณคิดว่าคุณเหงาเรื้อรัง จนไม่น่าจะดีแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ รับรู้ว่า ตอนนี้เรากำลังเหงาอยู่ และรับรู้ว่าความรู้สึกนี้เป็นแค่อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ปัญหาของความเหงาคือ เมื่อเรารู้สึกว่าเราเหงา เรามีแนวโน้มจะหาคำอธิบายว่าทำไมเราจึงเหงา และคำอธิบายมักจะออกมาในรูปแบบของการบอกตัวเองว่า เราไม่ดีอย่างไร เช่น เราคุยไม่เก่ง มุกเราฝืด หน้าตาเราไม่ดี เราทำงานไม่เก่ง ฐานะเราไม่ดี เราแต่งตัวเชย ฯลฯ เราจึงไม่ค่อยมีเพื่อน
ประเด็นสำคัญคือ ให้ตระหนักไว้ว่า ความเหงาเป็นแค่อารมณ์หรือความรู้สึกเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าเราไม่มีเพื่อน ไม่ได้บอกว่าเราไม่มีคนรัก เหตุผลต่างๆที่เราคิดทางลบนั้น เราคิดขึ้นมาเองซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นจริงตามนั้น
2
เมื่อเรารู้สึกเหงาเรื้อรัง จะเกิดภาวะการอักเสบเล็กๆในเลือด แล้วสารเคมีที่เกี่ยวกับภาวะอักเสบเหล่านี้มัน สามารถไปมีผลต่อสมอง ทำให้เรามีความคิดและพฤติกรรมที่จะทำให้เราระแวง หรือกังวลมากขึ้น (เหมือนสัตว์หลงฝูงที่จะกลัว กังวล และไม่ไว้ใจใคร) ซึ่งจะมีผลให้เราไม่กล้าที่จะออกไปพบหรือพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้นไปอีก เราก็จะยิ่งเหงาขึ้นไปอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
1
ดังนั้น การจะฝืนออกไปทักทาย ส่งข้อความไปคุย หรือไปพบปะผู้คน จะยิ่งยากขึ้น เหมือนค่อยๆดำดิ่งลงกับความเหงาลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรารู้และเข้าใจว่า ความกลัวเหล่านี้มันเกิดจากอะไร เราก็สามารถฝืนและต่อสู้กับความไม่มั่นใจที่จะไปคุยกับคนอื่นๆได้ดีขึ้น
3
วิธีการแก้ความเหงาที่ดีมากวิธีหนึ่งคือ การอาสาสมัครไปทำงานที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น วิธีการนี้นอกเหนือไปจากการได้พบปะผู้คนใหม่ๆ (ซึ่งมักจะนิสัยดี) แล้ว การที่เราช่วยเหลือคนอื่น จะทำให้เราคิดถึงเรื่องของตัวเองน้อยลง และเมื่อความคิดเราไม่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ความรู้สึกเหงา ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองไร้ค่าก็มีแนวโน้มจะลดลง
ก็สรุปแบบสั้นๆนะครับ
หวังว่าจะทำให้เข้าใจเรื่องของความเหงามากขึ้น
การเอาชนะความเหงาไม่ใช่เรื่องง่าย ใครไม่เคยเหงากับตัวเองจริงๆคงยากจะเข้าใจ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะเอาชนะความเหงาไม่ได้ครับ
1
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเหงาอยู่นะครับ
โฆษณา