Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศาสตรโนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ .-THUMMANIT NIKOMRAT
•
ติดตาม
18 มิ.ย. 2020 เวลา 11:49 • การศึกษา
เอกลักษณ์โนราการพัฒนาคุณค่าสู่สังคมไทย
เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
สาขาวิชาศิลปะการแสดง (เอกโนรา)
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา
ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทย ปรากฏเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงสอดคล้องอยู่กับวิถีชีวิตของสังคมไทย อันเนื่องด้วยศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้คิดออกแบบสร้างสรรค์งานและจัดการแสดงโดยศิลปินพื้นบ้าน ดังนั้นจึงสื่อถึงเอกลักษณ์ที่สอดคล้อง วิถีชีวิต สำเนียง ภาษา ลีลาท่ารำที่ใช้การขับร้องควบคู่กับดนตรีในท้องถิ่นหรือชุมชนจนเกิดเอกลักษณ์เป็นที่นิยมและแสดงกันจนเกิดความชำนาญแต่ละท้องถิ่นที่ต้องจัดให้มีการแสดงขึ้นในโอกาสและงานสำคัญของสังคม ชุมชน และหมู่บ้าน เพื่อสร้างความภูมิใจในเอกลักษณ์ทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดสร้างสรรค์กันมา
ลงโรงขับขาน
ภาคใต้ของประเทศไทย ร่ำรวยในด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะในด้านนาฏศิลป์ มีหลายอย่างเช่น ลิเกป่า มะโย่ง รองเง็ง โนรา ฯลฯ โนราได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นนาฏศิลป์ที่เป็นตัวแทนของชาวภาคใต้ ซึ่งมีลีลาและคีตลักษณ์บอกถึงความแข็งกร้าว บึกบึน ฉับไว และเด็ดขาด เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ เป็นการสื่อสารที่ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือและใช้การเคลื่อนไหวอันเป็นไปอย่างมีจังหวะ โดยมีความสัมพันธ์ระหว่างความคิด และจิตวิญญาณของผู้แสดง ซึ่งเมื่อผสมผสานกับลีลาดนตรีที่ประโคมควบคู่กับลีลาท่ารำและบทร้องแล้ว จะบอกถึงความหนักแน่น เฉียบขาด ฉับพลัน และอึกทึกเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง โนราจึงเป็นการแสดงที่ไม่ใช่เพียงเพื่อความบันเทิงหรือเป็นเพียงกิจกรรมนันทนาการเพื่อผู้ชมเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อชีวิตชาวบ้านเกือบทั้งชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากศิลปินได้ใช้การแสดงโนราเป็นเครื่องแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและต่อปัญหาสังคม โนราจึงอาจนับได้ว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม
(ชวน เพชรแก้ว. ๒๕๕๙ : ๙)
การแสดงโนราเมื่อมีการยอมรับและให้ความสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางสังคมภาคใต้ ย่อมแสดงให้ทราบว่าโนรามีความสมบูรณ์แบบเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีองค์ประกอบความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างหลากหลาย จึงสามารถสร้างเอกลักษณ์โนราให้เกิดขึ้นปรากฏอย่างเด่นชัด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
การแสดงโนราในอดีตผู้ชมสามารถชมได้ทั้งสี่ทิศ โดยโรงโนราอยู่บานลานดิน (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2560)
เปิดม่านประสานศิลป์
โนรา คือ การแสดงประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมภาคใต้ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพบูชา และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การบนบานศาลกล่าวขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเคราะห์ร้าย เพื่อต้องการที่พึ่งทางจิตใจ การรักษาการเจ็บป่วยบางโรคที่ไม่อาจรักษาได้จากหมอแผนปัจจุบัน และการสร้างศิลปินโนราให้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองรับใช้สังคมในด้านการแสดง ซึ่งในกระบวนพิธีกรรมดังกล่าว จะต้องใช้ศิลปินและคณะโนราเป็นผู้ดำเนินการและจัดการในพิธีกรรมทุกประเภทที่จะต้องมีการขับร้องและเจรจาในภาษาถิ่นใต้ การร่ายรำประกอบพิธีกรรม การขับร้อง การบรรเลงดนตรีที่เกิดจากการประดิษฐ์และสร้างจังหวะทำนอง สำเนียงภาคใต้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้นำประกอบพิธีกรรม ซึ่งเรียกว่าโนรานั้น จะต้องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ เรียกว่า “การแต่งกายแบบเครื่องต้น” สมบูรณ์แบบในการประกอบพิธีกรรม อันได้แก่ เทริด สังวาล สร้อย ผ้านุ่ง สนับเพลา ผ้าห้อย ผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้าง กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน เล็บ ปีก ทับทรวง ปั้นเหน่ง ปีกนกแอ่น จำยาม และพระขรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเสื้อของชุดเครื่องต้นจะต้องใช้ลูกปัดหลากสีร้อยโยงร่วมกันจนเป็นตัวเสื้อ ได้แก่ ไหล่ ๒ ข้าง รัดอก ปิ้งคอ ปิ้งสะโพก รวมถึงสร้อย และสังวาล จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นเครื่องแต่งกายเครื่องต้น จึงเรียกว่า เครื่องแต่งกายโนรา หรือชุดโนรา ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่เหมือนกับเครื่องแต่งกาย การแสดงพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ ของไทยหรือเหมือนกับการแสดงพื้นบ้านอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งนับได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นโนราของภาคใต้
การแต่งกายแบบเครื่องต้น (ที่มา : ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์, 2560)
นอกจากเอกลักษณ์ของการแต่งกายโนราที่โดดเด่นแล้ว ขนบนิยมของการแสดงโนราที่ใช้ประกอบพิธีกรรม เรียกว่า โนราโรงครูและแสดงเพื่อความสนุกสนาน เรียกว่า โนราบันเทิง การแสดงโนราทั้งสองประเภทนั้นต่างก็มีขนบนิยมและวิธีการแสดงแตกต่างกัน ศิลปินโนรา และคณะโนรา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนได้มีการสืบสานออกแบบและถ่ายทอดการแสดงโนราโรงครู และการแสดงโนราบันเทิงให้ปรากฏอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
การแสดงโนราโรงครู จะมีการกำหนดระยะวันเวลาในการแสดงประกอบพิธีกรรมเป็นจารีตโดยเฉพาะคือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน วันที่แสดงจะเริ่มด้วยวันพุธถึงวันศุกร์ และอาจเลื่อนถึงวันเสาร์หากวันศุกร์เป็นวันพระ ในการแสดงโนราโรงครูจะมีรายละเอียดแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1. การแสดงโนราโรงค้ำหรือการแสดงโนราค้ำครู จะแสดงเพียงย่อ ๆ 1 คืน คือ วันพุธและเสร็จสิ้นวันพฤหัสบดี เพื่อยืนยันว่าลูกหลานยังเคารพบูชาและจะจัดแสดงโนราโรงครู เมื่อมีความพร้อมตามสัญญาที่ได้บนบานและบอกกล่าวไว้
2. การแสดงโนราโรงครูแบบโรงใหญ่ คือ การแสดงโนราโรงครู จำนวน 2 คืน 3 วัน และในพิธีกรรมดังกล่าวจะมีการตัดจุก ผูกผ้าหรือครอบครูโนราแก่ศิลปินโนรารุ่นใหม่ พร้อมกับมีการรำคล้องหงส์ และแทงจระเข้
3. การแสดงโนราโรงครูแบบธรรมดา คือ การแสดงโนราประกอบพิธีกรรม จำนวน 2 คืน 3 วัน แต่ไม่มีการรำคล้องหงส์และแทงจระเข้ หรือการตัดจุกผูกผ้าครอบครูโนรา เป็นเพียงการแก้บน เซ่นสรวงบูชาและการประทับทรงของบรรพบุรุษ
ซึ่งการแสดงโนราโรงครูทั้งสามประเภทจะต้องแสดงในโรงโนรา ที่มีการสร้างขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะ ไม่แสดงในโรงพิธีลักษณะอื่น ๆ การปลูกโรงพิธีและวัสดุประกอบการทำโรงพิธี จึงเป็นภูมิปัญญาและธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งต่อกันมาอย่างเข้มแข็ง
การแสดงโนราบันเทิง เป็นการแสดงโนราที่พัฒนาการมาจากการแสดงโนราโรงครู จะมีลักษณะพิเศษ 3 รูปแบบ คือ
1. การแสดงโนราบันเทิงแบบโบราณ มีการปลูกโรงแบบเวทีบันเทิงที่สร้างมาในอดีต เวทียกพื้นหลังคาเพิงหมาแหงน มีพื้นที่แสดงด้านหน้าและที่แต่งตัวนักแสดงด้านหลัง โดยใช้ม่านและหลืบแบบต่าง ๆ กันไว้โดยเฉพาะ โดยจัดแสดง 1 คืน หรือมากกว่า 1 คืน ขึ้นอยู่กับการว่าจ้างของผู้ชมการแสดงในแต่ละโอกาส
โรงเวทีการแสดงโนราโรงครู จังหวัดตรัง (ที่มา : ศุกภร กังแฮ, 2558)
2. การแสดงโนราเป็นบันเทิงแบบประยุกต์ มีการแสดงโนราบนเวทีดนตรีลูกทุ่ง โดยทั่วไปเวทีขนาดใหญ่เปิดกว้างไม่มีหลังคาหรืออาจจะใช้หลังคาในรูปแบบต่าง ๆ ตามยุคสมัย มีการแสดงโนราและวงดนตรีลูกทุ่ง หรืออาจจะแสดงละคร เวลาในการแสดงขึ้นอยู่กับโอกาสและการว่าจ้างของผู้รับเหมา หรือผู้ติดไปแสดงอย่างน้อยครั้งละ 1 คืน
การแสดงโนราเป็นบันเทิงแบบประยุกต์ (ที่มา : ไข่เหลี้ยม วิเชียรศรชัย, 2561)
3. การแสดงโนราบันเทิงในโอกาสต่าง ๆ เป็นการแสดงโนราในชุดต่าง ๆ แบบสั้น ใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ ของเวทีสาธารณะทั่ว ๆ ไป โดยใช้การแสดงโนราทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับโอกาสและการนำไปใช้ เวลาในการแสดงอย่างน้อย 10 นาที หรืออาจจะถึง 1 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของงานหรือเจ้าภาพในการติดต่อประสานงานโนราไปร่วมแสดง
การแสดงโนราในพิธีเปิดปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน 2560 (ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2560)
กินริน รำร่าย
ศิลปะการแสดงโนราเป็นแหล่งรวมของศิลปะและหัตถกรรมแขนงต่าง ๆ ที่ช่วยกันสร้างเป็นองค์ประกอบให้โนรามีคุณค่าต่อสังคมภาคใต้ อันได้แก่ ศิลปินโนรา ครูโนรา ช่างประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เทริด ชุดลูกปัด เครื่องเงิน ผ้านุ่ง หน้าผ้า กำไล นอกจากนี้ ช่างทำหน้าพราน เครื่องดนตรี เวทีโรงครู ฉากม่าน รวมไปถึงบุคลากรในคณะ เช่น คนทรง หมอประจำคณะ และ แม่ยกโนรา ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ขับเคลื่อนพัฒนาโนราให้ยืนหยัดอยู่ในสังคมมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เมื่อเอกลักษณ์และคุณค่าโนราได้ปรากฏไปอย่างกว้างขวาง ทำให้มีหน่วยงานสถาบันต่าง ๆ ช่วยกันโอบอุ้มดูแลไปพร้อม ๆ กัน จนสามารถทำให้โนราเป็นที่นิยมแพร่หลายกว้างขวาง มีแนวทางในการอนุรักษ์สืบทอดชัดเจน เช่น สถาบันการศึกษาในภาคใต้ทุกระดับที่มีการเรียนการสอน ศิลปะการแสดงโนรา หรือสถาบันระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร มีการศึกษาค้นคว้าศิลปนิพนธ์และวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการแสดงโนรา นอกจากนี้สถาบันทางศาสนา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ วัดและองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ได้สนับสนุนงบประมาณให้ศิลปินหรือครูโนราได้ถ่ายทอด ศิลปะการแสดงโนราและดนตรีให้กับเยาวชนทั่วไป รวมไปถึงศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายโนราเพื่อสร้างองค์ความรู้ สร้างรายได้เสริมจากการแสดงหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายโนรา การส่งเสริมที่สำคัญคือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการขึ้นทะเบียนโนราเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ เพื่อสร้างความตระหนักและภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงโนราอันเป็นมรดกของชาติของคนภาคใต้ และของคนทุก ๆ คนที่ชื่นชอบรักในศิลปะการแสดงโนรา สามารถสืบสาน สนับสนุน ส่งเสริม เป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาโนราร่วมกันได้ ดังนั้นจึงมีนโยบายให้เกิดการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมโนราแต่ละจังหวัดในภาคใต้ และแต่ละจังหวัดรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์โนราแห่งประเทศไทย ผู้ขับเคลื่อนในนโยบายนี้คือ คุณสุนันทา มิตรงาม ผู้ตรวจการด้านวัฒนธรรมของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ปัจจุบันท่านเกษียณอายุราชการ แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อนศิลปะการแสดงโนราสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของโลกในลำดับต่อไป ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามกันทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อความเข้มแข็งของวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยที่อุตส่าห์อนุรักษ์และสืบทอดต่อมาเป็นเวลายาวนานและปัจจุบันเผยแพร่เปิดกว้างไปสู่สาธารณะประเทศทั่วโลก ความเป็นนักเลง โนราไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงคนภาคใต้เท่านั้น คนทั่วโลกสามารถเป็นนักเลงโนราได้เช่นเดียวกัน
กินริน หมายถึง กินนรเพศหญิง
นักเลง หมายถึง ศิลปินผู้มีน้ำใจกว้างขวาง (สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2525 : 181)
งานมหรสพสมโภช งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศจำลอง บริเวณสระบัว จังหวัดสงขลา ปี 2560 (ที่มา : สำนักงานงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา, 2560)
สืบสายต่อยอด
ความเป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่าในการแสดงโนราที่มีประวัติศาสตร์การแสดงและอนุรักษ์สืบทอดมายาวนาน แสดงประกอบพิธีกรรมและบันเทิง มีเครื่องแต่งกายและดนตรีที่โดดเด่นใช้สำเนียงภาษาถิ่นใต้ที่มีจังหวะกระชับ ไพเราะ อ่อนหวาน คลุกเคล้ากันไปด้วยตัวศิลปินโนราและคณะทุกคน มีความอิสระในการสร้างสรรค์และยึดมั่นในอัตลักษณ์ของสายตระกูลแต่ละสายที่เก่าแก่ ทำให้ โนราในภาคใต้ มีความหลากหลาย โดดเด่น แตกต่างกันไป ศิลปินโนราจะมีชื่อเสียงแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโอกาสการเผยแพร่ ผู้สนับสนุน และความงดงามของศิลปะโนราที่ปรากฏอยู่ในตัวศิลปิน ที่สามารถบอกถึงสายตระกูลของตนเองได้อย่างเด่นชัด จึงจะเรียกว่ามีอัตลักษณ์อย่างแท้จริง ดังตัวอย่าง สายตระกูลโนราต่อไปนี้ เช่น สายตระกูลขุนอุปถัมภ์นรากร สายตระกูลหมื่นระบำบันเทิงชาตรี สายตระกูลวันเฒ่า สายตระกูลเลื่อน ทะเลน้อย สายตระกูลตุ้ง-เติม สายตระกูลแปลกท่าแค สายตระกูลแป้น เครื่องงาม เป็นต้น ดังนั้นโนราทุกคณะที่สืบสายมาจะต้องรักษาเอกลักษณ์สายตระกูลและรู้จักครูโนราของตนให้ชัดเจนแท้จริง ความเป็นโนราจะไม่สูญหาย เมื่อมีเอกลักษณ์ของครูชัดเจน การสืบทอดต่อยอดไม่ว่าจะกว้างไกลภายในประเทศ หรือต่างประเทศ โนราก็จะปรากฏยืนหยัดได้อย่างชัดเจน สืบสาวมาหาต้นตอได้อย่างถูกต้อง
โนราคล้องหงส์ (ที่มา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2560)
สังคมศิลปะการแสดงของไทย จะต้องพบปะกับศิลปะที่หลากหลายในยุคปัจจุบัน การสื่อสารเรียนรู้แลกเปลี่ยนไม่ได้จำกัดจากครูเท่านั้น สื่ออินเตอร์เน็ต สามารถนำโนราไปสู่โลกกว้างอย่างรวดเร็ว ได้เรียนรู้ร่วมกัน การรู้จักปรับตัวและนำความทันสมัยของสื่อมาใช้ร่วมกับศิลปะการแสดงโนราเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การบันทึกการแสดง การเผยแพร่ การประชาสัมพันธ์ การจัดการด้านธุรกิจการแสดง เพื่อสร้างรายได้ การสร้างกลุ่มเครือข่าย เป็นการเรียนรู้สำคัญที่โนราทุกคนจะต้องนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ด้านโนราและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเข้มแข็งของศิลปะการแสดงโนรา และเป็นฐานสำคัญในการออกไปสู่สังคมออนไลน์ที่รวดเร็วและกว้างไกล
ศิลปินโนราและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโนราทุกคนในแต่ละด้าน เช่น นักดนตรี ช่างทำดนตรี ช่างทำชุดลูกปัดเครื่องแต่งกาย ครูหมอ คนทรง ผู้ออกแบบฉาก ม่าน ช่างทำเครื่องเงินโนรา เมื่อแต่ละกลุ่มมีความรู้ความสามารถเต็มที่ เข้าใจในศาสตร์ศิลป์ตนเองและปรับปรุงให้ทันกับยุคสังคมปัจจุบัน การส่งเสริมต่อยอดก็จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตแต่ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศาสตร์ศิลป์ของโนรา เช่น การนำบทร้องโนราไปประยุกต์ใช้กับดนตรีลูกทุ่งให้คนทุกคนร้องบทโนราได้ การแสดงละครเวทีที่มีการนำท่าทางเรื่องราวโนราไปสอดแทรกในศิลปะการแสดงละครร่วมสมัย การนำท่ารำโนรา จังหวะบางจังหวะไปประยุกต์เป็นการแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ การแสดงแสงสีเสียงเกี่ยวกับเรื่องราวตำนาน บุคคลสำคัญของโนรา งานออกแบบสถาปัตยกรรม ตามอาคารบ้านเรือน ที่ประดับตกแต่ง ด้วยวัสดุที่พัฒนามาจากเอกลักษณ์ ชุดลูกปัดโนรา และการประกวดแข่งขันการแสดงโนราที่มีการประยุกต์ประดิษฐ์ พัฒนารูปแบบ ท่ารำ สีสัน เครื่องแต่งกาย จำนวนนักแสดง รวมไปถึงเวทีประกวดหนุ่มสาวอันเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น การประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ มิสเตอร์แต่ละจังหวัด ก็จะมีการออกแบบชุดสำหรับสวมใส่ การประกวดที่เน้นการออกแบบและพัฒนามาจากศิลปะการแสดงท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคใต้ ก็จะมีเอกลักษณ์ชุดโนราไปปรากฏในการประกวดทุกเวที
ศิลปหัตกรรม “เทริดโนรา” (ที่มา : ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์, 2561)
ศิลปหัตกรรม “เทริดโนรา” (ที่มา : ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์, 2561)
หัตถกรรมลูกปัดโนรา (ที่มา : เนติพงศ์ ไล่สาม, 2560)
ศิลปินโนรามิใช่สืบทอดถ่ายทอดเพียงแต่ประเทศไทย ผู้คนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นประเทศใกล้เคียง มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมไปถึงแดนไกล ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ล้วนได้รับการเรียนรู้ ถ่ายทอดศิลปะการแสดงโนรามาแล้วเช่นกัน จากการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนของศิลปินของหน่วยงาน กระทรวงวัฒนธรรม และส่วนราชการ องค์กร เอกชนที่เกี่ยวข้องที่มีโอกาสไปเผยแพร่การแสดงโนรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอกลักษณ์ คุณค่าของโนราสามารถพัฒนาให้ยั่งยืนและกว้างไกล ไม่มีพรมแดนของวัฒนธรรม
Workshop : Nora, Singapore (Da:ns Festival, 2557)
สอดสร้อยลาโรง
ศิลปะการแสดงโนรา จะมีบรรพบุรุษ ครูโนรา ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญามาสู่ลูกหลานและสืบสายผ่านกลุ่มคนมากมายหลายยุคสมัยมาเป็นเวลานาน มรดกภูมิปัญญา อันล้ำค่าจึงมีการบันทึกถ่ายทอด เผยแพร่จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการภาคใต้มาร่วม 50 ปี จนสามารถตั้งเป็น สถาบัน คณะ สมาคม กระทรวงต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ดูแล สนับสนุนส่งเสริมศิลปะการแสดงโนราขึ้นมาได้
ดังนั้น ศิลปินโนราแต่ละสายตระกูลที่มีความเข้มแข็งจะต้องศึกษาใฝ่รู้ มีความเป็นนักเลงปักษ์ใต้เหมือนในอดีต แต่มีพื้นที่ที่ต้องทำหน้าที่เดินทางกว้างไกลหลายร้อยเท่า ถ้าหากภูมิปัญญาไม่เพียงพอ ความเข้มแข็งทางจิตใจไม่พอเพียง ก็จะเสี่ยงในการนำเอกลักษณ์และความมีคุณค่าของโนราไปถ่ายทอดและสืบสานให้กับคนอื่นได้อย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นศิลปินและแสดงความเป็นนักเลงให้ปรากฏออกมาได้ ดังนั้นจะต้องอาศัยหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มาเรียนรู้และนำมาใช้ควบคู่กันในฐานะผู้รักษามรดกภูมิปัญญาของชาติ อย่าให้ขาดสายหรือสูญหายในสมัยของคนไทย ยุคสื่อเทคโนโลยีกว้างไกล ที่สามารถนำศิลปะพื้นบ้านไทย ในโนราพัฒนาและแสดงคุณค่าได้อย่างยั่งยืน
ประติมากรรมโนรา พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา-สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อ.เมืองสงขลา (ที่มา: เชิดชัย อ่องสกุล. สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2554)
บรรณานุกรม
ชวน เพชรแก้ว. (2559). โนรา:การอนุรักษ์พัฒนา อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2559, นครศรีธรรมราช: หจก. กรีนโซนอินเตอร์ 2001.
สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (2525), พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้. พุทธศักราช 2525. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข้อมูลโนรา ในเชิงวิชาการ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย