22 มิ.ย. 2020 เวลา 07:02 • ประวัติศาสตร์
*** เกาะนรก Nazino ***
ท่านอาจเคยผ่านตาการ์ตูนและหนังเรื่อง Battle Royale ซึ่งกล่าวถึงรัฐบาลจับเด็กนักเรียนไปปล่อยเกาะร้าง ให้เข่นฆ่ากันเองเอาชีวิตรอด แต่รู้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ใกล้เคียงกันนี้เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตและเรื่องจริงนั้นน่าสยดสยองกว่าการ์ตูนมาก...
ก่อนที่ท่านจะเปิดอ่านต่อไป ผมขอเตือนว่านี่เป็นเรื่องราวอันน่าสยดสยองเรื่องหนึ่ง แม้ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพเปรียบเทียบ แต่ไม่ได้ลดความน่ากลัวของมันลงเลย
เรื่องนี้เกิดในปี 1933 ยุคนั้นฝ่ายคอมมิวนิสต์พึ่งปฏิวัติรัสเซีย ตั้งสหภาพโซเวียตขึ้นสำเร็จ พวกเขามีผู้นำคือ โจเซฟ สตาลิน
สตาลินคิดว่าจำเป็นต้องชะล้างประเทศจากพวกทุนนิยม ศักดินา และศัตรูของระบบ
สิ่งใดที่เขาเห็นว่าไม่ดีนั้น อาจถูกลบให้เลือนหายไปจากความเป็นจริงโดยง่าย
ในยุคนั้นโซเวียตแบ่งชาวนาในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสี่จำพวก ได้แก่เบดเนียก - ชาวนาจน, เซเรดเนียก - ชาวนาชั้นกลาง, คูลัก - ชาวนารวย และยังมี บัตรัก หรือชาวนาไร้ที่ดินซึ่งยากจนยิ่งกว่าพวกเบดเนียก
1
พวกเบดเนียก และบัตรักถือเป็นมิตรต่อระบบคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นพวกที่ถูกกลุ่มทุนนิยมศักดินากดขี่มานาน
พวกเซเรดเนียก เป็นพวกกึ่งๆ ที่ต้องสวามิภักดิ์ระบบเพราะจำยอม ยังต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด
พวกคูลักนั้นแม้เป็นชาวนา แต่เป็นชาวนาร่ำรวย ถือเป็นศัตรูของระบบ ต้องถูกกำจัดเช่นเดียวกับพวกพ่อค้า และขุนนาง
อนึ่งพวกคูลักนี้เกิดจากการปฏิรูปการเกษตรของจักรวรรดิรัสเซียก่อนถูกคอมมิวนิสต์โค่นล้ม กล่าวคือแต่โบราณรัสเซียมีแต่ไพร่ติดที่ดิน ต่อมาจักรวรรดิรัสเซียมีการยกเลิกระบบไพร่ แล้วสนับสนุนให้ชาวนาที่ขยันขันแข็งสามารถทำงานเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของที่ดินของตนเองได้ ดังนั้นจึงมีชาวนาบางส่วนร่ำรวยขึ้นมาด้วยการปฏิรูปดังกล่าว
ในทางปฏิบัติฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่มีคำนิยามของ "คูลัก" แน่ชัด มีแค่ไกด์ไลน์คร่าวๆ เช่นบอกว่าคือชาวนาครอบครัวใดที่มีวัวมากกว่าสามตัว มีม้ามากกว่าห้าตัว หรือมีที่ดินมากกว่าเพื่อนบ้านเกินห้าเอเคอร์
เมื่อกองทัพแดงเข้าไปในหมู่บ้าน พบคนไหนเป็นคูลักก็จะถูกยึดทรัพย์มาแจกเพื่อนบ้าน บางทีคนที่ไม่ยอมร่วมมือกับรัฐบาลก็อาจถูกตราหน้าเป็นคูลัก และถูกจับด้วย
ในลักษณะนี้ "ระบบทุนนิยมในนา" จึงถูกทำลาย ที่ดินถูกเอามาแจกจ่ายแก่มวลชนในลักษณะ "นารวม" ทำให้ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน
1
หากพวกคูลักโชคดีก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนารวม หากโชคร้ายจะถูกรัฐบาลกวาดต้อนไปเข้าค่ายแรงงาน "กูลัก" หรือหากโชคร้ายยิ่งกว่านั้นจะถูกส่งไปพัฒนาถิ่นทุรกันดาร (Kulak คือชาวนารวย กับ Gulag คือค่ายแรงงาน อ่านคล้ายๆ กันแต่คนละคำกันนะครับ)
มีพวกคูลักลักลอบเข้าเขตเมืองเพื่อหลบหนีการกดขี่จำนวนมาก สตาลินจึงสั่งให้กวาดล้างพวกคูลักในเขตเมืองใหญ่โดยเฉพาะมอสโก กับเลนินกราด
1
วิธีตรวจจับพวกคูลักคือพวกนี้ไม่มี "พาสปอร์ตภายใน" ซึ่งเป็นของที่โซเวียตออกให้เฉพาะชาวเมืองใหญ่สำหรับเดินทางภายในประเทศ พูดอีกอย่างคือพวกชาวนาในชนบทจะไม่มีพาสปอร์ต และไม่สามารถเดินทางข้ามเมืองได้โดยไม่ได้รับอนุญาต
แผนของรัฐบาลคือจับพวกคูลักในมอสโกกับเลนินกราดไปพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ รวมทั้ง "เกาะนาซิโน" ซึ่งเป็นเกาะแม่น้ำแห่งหนึ่งในไซบีเรีย
ตอนนั้นไกด์ไลน์ที่รัฐบาลให้คือ "ให้จับคนที่ไม่มีพาสปอร์ต"
ในทางปฏิบัตินอกจากคูลักหลบหนีแล้ว หน่วยจับกุมได้จับพวกนักโทษการเมือง, โจรผู้ร้าย, หรือใครก็ตามที่ไม่ฟิตกับระบบส่งไปไซบีเรียด้วย
แต่ตามบันทึกนั้น บางคนก็ถูกจับเพราะแค่ไม่มีพาสปอร์ตในเวลานั้น เช่น โนวอซคิลอฟ เป็นคนขับรถ มีลูกเมียอยู่ในมอสโก กำลังจะไปดูหนังกับเมียหลังเลิกงาน ขณะที่เมียแต่งตัวก็ออกมาสูบบุหรี่รอ และถูกจับ (ภาพเปรียบเทียบนะครับ ผมไม่มีภาพจริง)
กูเซวา เป็นชาวมูรอม มีสามีเป็นนายสถานีรถไฟมูรอม มีลูกเป็นผู้ช่วยคนขับรถไฟ กูเซวามามอสโกเพื่อซื้อชุดสูทให้สามี และซื้อขนมปัง แต่ถูกจับ (ภาพเปรียบเทียบนะครับ)
ปรากฏคนนับแสนถูกจับ (เป้าของรัฐบาลคือ 1,000,000 คน) พวกเขาถูกส่งกระจายไปที่ต่างๆ โดยแทบไม่มีการสอบสวน ครอบครัวพวกเขาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย
พวกเขาถูกจับขึ้นรถไฟ โดยมีอาหารเป็นเพียงขนมปัง 300 กรัมต่อคนต่อวัน ในจุดนี้พวกนักเลงอันธพาลเริ่มทำร้ายคนอ่อนแอ เพื่อแย่งอาหารและเสื้อผ้า
เมื่อไปถึงเขตปกครองทอมสค์ในไซบีเรีย เจ้าหน้าที่ที่ทอมสค์ต้องตกใจ เพราะไม่นึกว่าจะมีคนมาเยอะขนาดนี้
1
จริงๆ การกวาดล้างคูลักยุคนั้นทำให้โซเวียตขาดศักยภาพในการทำนา และเกิดทุพภิกขภัยใหญ่
เจ้าหน้าที่ที่ทอมสค์เองก็มีอาหารเหลือไม่มาก ทั้งยังขาดอุปกรณ์สำหรับให้เหล่านักโทษนี้ไปตั้งรกรากใดๆ ลงท้ายพวกเขาจึงให้อาหารจำนวนหนึ่ง แล้วผลักดันเหล่านักโทษออกไปจากความรับผิดชอบโดยเร็วที่สุด
มีการจับนักโทษ 5,000 คนลงเรือล่องแม่น้ำสี่ลำ ตอนนี้อาหารเหลือแค่ขนมปังคนละ 200 กรัมต่อคนต่อวัน เสบียงที่ได้มาสำหรับตั้งรกรากคือ "แป้งยี่สิบตัน" หรือเท่ากับคนละสี่กิโล ไม่มีอาหารอื่น และไม่มีอุปกรณ์ทำครัว
1
เหล่าผู้คุมที่มาคุมนักโทษมีห้าสิบสองคน ส่วนใหญ่เป็นพวกถูกเกณฑ์มาใหม่ ไม่มีรองเท้าและเครื่องแบบดีๆ ด้วยซ้ำ
1
กว่าจะถึงเกาะก็มีคนอดตาย ป่วยตายไป 27 คนแล้ว ...แต่คนพวกนี้ยังโชคดี...
พอปล่อยคนลงเกาะ พวกนักโทษก็ต่อสู้กันเพื่อแย่งแป้ง พวกผู้คุมยิงใส่นักโทษเพื่อคุมสถานการณ์ ต่อมาจึงลำเลียงแป้งไปส่งให้อีกจุดของเกาะ
พวกนักโทษสู้กันเอง จนนักเลงคนหนึ่งรวมพวกได้ประมาณ 150 คนตั้งแก๊งค์ขึ้น เขาใช้อิทธิพลเป็นตัวแทนมารับแป้งแล้วเอาไปกระจายแบบเล่นพวก
เนื่องจากไม่มีเตาอบขนมปัง นักโทษจำต้องผสมแป้งกับน้ำในแม่น้ำรับประทานสด ทำให้ท้องเสียตายมากมาย
นักโทษส่วนใหญ่เป็นชาวเมือง ไม่รู้วิชาดำรงชีพในป่า พวกเขาต่อสู้เข่นฆ่ากันทั่วไปเพื่อแย่งอาหารและเครื่องนุ่งห่ม
...และพอผ่านไปอาทิตย์หนึ่งพวกเขาก็เริ่มรับประทานเนื้อมนุษย์...
9 วันต่อมา มีเรือพานักโทษมาอีก 1,200 คน พวกนักโทษกลุ่มใหม่ถูกนักโทษที่อยู่ก่อนไล่ฆ่าเพื่อกินแทบจะทันที พวกเขาฆ่าคนป่วยทั้งที่ยังไม่ตาย หรือบางทีก็ตัดเนื้อน่อง หรือเต้านมของผู้หญิงกินทั้งๆ ที่ยังมีชีวิต
บางคนพยายามต่อแพหนี แต่ถูกผู้คุมยิงตาย บางกลุ่มแกล้งทำแพเพื่อล่อคนที่อยากอพยพด้วยมากิน
พวกผู้คุมเองก็ตั้งตัวเป็นแก๊งค์ๆ หนึ่ง ป้องกันตนจากความดุร้ายของนักโทษ มีผู้คุมหนุ่มคนหนึ่งหลงรักนักโทษสาวจึงพยายามปกป้องเธอ แต่พอคลาดสายตาไปนิดเดียวสาวคนนั้นก็ถูกจับไปมัด ตัดนม ตัดกล้ามเนื้อกิน ผู้คุมหนุ่มมาเจอเธอในสภาพร่อแร่ เขาพยายามช่วยแต่เธอเสียเลือดตายไปก่อน
ชาวเผ่าออสเทียกซึ่งเป็นชาวไซบีเรียนอาศัยอยู่แถบนั้น ได้ล่องเรือผ่านมาพบคนบนเกาะฆ่ากัน เอาเนื้อและเครื่องในแขวนต้นไม้ สร้างความสยดสยองเป็นอันมาก
มีบางคนที่หลุดรอดจากเกาะมาได้ มาพบพวกออสเทียก พวกเขาถามว่า "ทางรถไฟไปทางไหน? มอสโกไปทางไหน? เลนินกราดไปทางไหน?" พวกออสเทียกตอบว่า "เราไม่รู้ เราไม่เคยเห็นทางรถไฟ เราเป็นออสเทียก" ...พวกออสเทียกกลัวผู้คุมก็ไม่กล้าช่วยพวกนักโทษ ปล่อยให้พวกเขาหนีหายไปในหิมะ...
1
สถานการณ์เช่นนี้ผ่านไปสิบสามอาทิตย์ รัฐบาลจึงตัดสินใจว่าการตั้งรกรากบนเกาะนาซิโนนั้น "ไม่เวิร์ค" และมีคำสั่งให้ย้ายพวกนักโทษไปพัฒนาที่อื่น แต่กว่าจะถึงตอนนั้นพวกนักโทษ 6,000 คน ก็ล้มตาย และสูญหายไปมากกว่า 4,000 คนแล้ว และยังต้องทิ้งคน 157 คนไว้บนเกาะ เพราะสุขภาพแย่มากเคลื่อนไหวไม่ได้
มีการตั้งหน่วยสอบสวนขึ้นสอบสวนเรื่องนี้ แต่เนื่องจากมันแสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ไม่ดีของรัฐบาล ทำให้เรื่องนี้ถูกปิดเงียบ จนมาเปิดเผยในปี 1988 เมื่อโซเวียตมีนโยบายกลาสนอสต์ที่เน้นความโปร่งใสทางการเมือง
ไม่แน่ชัดว่าเรื่องนี้เป็นแค่การจัดการไม่ดี หรือเป็นความตั้งใจกำจัดกลุ่มคนที่ไม่พึงประสงค์ของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับโซเวียตในช่วงดังกล่าว
โศกนาฏกรรมนาซิโนเป็นหนึ่งในเหตุการณ์โหดร้ายมากมายของยุคสตาลิน ...มันเป็นเครื่องเตือนใจว่าคนเราเคยโหดร้ายต่อกันได้ถึงเพียงนี้ แค่เพราะฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ที่แปลกแยกจากแนวคิดทางการเมืองของตน
source:
historycollectionดอทco/the-nazino-affair-the-tragedy-of-cannibal-island/
::: ::: :::
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ The Wild Chronicles - เชษฐา https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat ได้เลยครับ
โฆษณา