20 มิ.ย. 2020 เวลา 05:04 • ข่าว
Insight : วิกฤตความเหลื่อมล้ำทางด้านอาหารในสหรัฐฯ กำลังรุนแรงขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันของคลื่นการระบาดรอบใหม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่านี่คือคลื่นแห่งการปฏิวัติในสหรัฐฯ อเมริกา
ความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่ไม่เท่าเทียมกันของชาวอเมริกันนั้นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานก่อนที่จะเกิดการระบาดขึ้นเสียอีก ซึ่งเมื่อการระบาดเกิดขึ้นมาจริง ๆ มันจึงยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้น
ภาพที่ผู้คนต่อคิวกันเป็นแถวยาวเพื่อรับอาหารจาก Food Bank เหมือนในยุค The Great Depression เกิดขึ้นอีกครั้ง ณ ปัจจุบันนี้ แม้สหรัฐฯ จะได้ชื่อว่าเป็น 1 ในประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารมากที่สุดในโลก
ประชากรหลายล้านคนกำลังประสบปัญหาในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่มีผิวสี ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดอย่างรุนแรงที่สุด
แม้แต่ New York City ที่กล่าวกันว่าเป็น "มหานครเอกของโลก" และเป็นเมืองที่เจริญที่สุดในโลก แต่ทุก ๆ วันในขณะนี้ ผู้คนหลายพันคนจำเป็นต้องยืนเข้าแถวต่อคิวเพื่อรอรับอาหารจาก Food Bank
สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่าโดยรวมในปี 2020 จะมีชาวอเมริกันอีกประมาณ 17 ล้านคนภายในประเทศ ที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งจะทำให้ตัวเลขโดยรวมของผู้ที่มีสถานะ "Food Insecure" พุ่งขึ้นเป็น 54 ล้านคน
โดยตัวเลข 54 ล้านคนนี้ หากนำมาเปรียบเทียบก็จะพบว่ามีสัดส่วนถึง 1 ใน 6 คนเลยทีเดียว โดยในนั้นแบ่งเป็นเด็กถึง 18 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กชาวงอเมริกันทั้งหมด
ก่อนเกิดการระบาดขึ้นนั้น สถิติของ USDA ระบุเอาไว้ว่ามีประชากรถึง 37.2 ล้านคนที่ประสบปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่งในนั้นแบ่งเป็นเด็กประมาณ 11.2 ล้านคน จึงสรุปได้ว่า Coronavirus ไม่ได้เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องนี้ แต่มันเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นอย่างมาก
อ้างอิงจากรายงานการศึกษาของ FEEDING AMERICA ซึ่งระบุว่าการระบาดของ Coronavirus นั้นมีผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงอาหารของผู้คนทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันมีหลายรัฐที่ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้น
(ภาพด้านล่างจะแสดงให้เห็นตัวเลขสรุปของรายงานดังกล่าว)
เมื่อเจาะข้อมูลให้ลึกลงไปมากขึ้น เราก็จะพบว่าชาวอเมริกันผิวดำนั้นมีอัตราการขาดแคลนอาหารสูงกว่าชาวอเมริกันผิวขาวถึง 2.5 เท่า และสำหรับชาวละตินอเมริกันนั้นก็มีอัตราขาดแคลนอาหารสูงกว่าชาวผิวขาวถึง 2 เท่า
ตัวเลขดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างมากของระบบพื้นฐานที่มีอยู่เดิมในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระบบที่มีรากฐานมาจากการเหยียดเชื้อชาติในสมัยก่อนอีกทีหนึ่ง
Angela Odoms-Young รองศาสตราจารย์สาขากายภาพและโภชนาการแห่งมหาลัย Illinois ในรัฐ Chicago กล่าวว่า
"นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ถึงแม้เราจะเห็นว่า COVID-19 ได้เพิ่มความไม่มั่นคงทางด้านอาหารไปทั่วประเทศก็ตาม และดูเหมือนว่าผู้คนผิวสีจะได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมอีกครั้ง"
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่าประชากรที่ถูกจัดอยู่ภายใต้เส้นความยากจน (Poverty Line) มีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่าที่จะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารรุนแรงกว่าเดิมถึงเกือบ 2 เท่า
คำว่า Food Insecurity หรือความไม่มั่นคงทางด้านอาหารนั้น จะให้ความหมายถึงภาวะที่ครัวเรือนไม่สามารถจัดหาอาหารได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีสุขภาพดี นั่นจึงรวมถึงการขาดแคลนอาหาร หรืออาจมีอาหารอยู่ แต่ขาดวัตถุดิบจำพวกผัก ผลไม้ ฯลฯ ที่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่
ที่สำคัญคือ 8 ใน 10 เมืองที่มีความไม่มั่นคงทางด้านอาหารมากที่สุดนั้นมีประชากรกว่า 60% เป็นคนผิวดำ ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องอาหารแล้ว มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่พูดถึงเรื่องรายได้
นอกจากจำนวนประชากรผิวดำซึ่งอยู่ใต้เส้นความยากจนมากกว่าประชากรผิวขาวประมาณ 2 เท่า พวกเขาก็ยังปราศจากความมั่งคั่งทางทรัพย์สมบัติ รวมถึงไม่มีเงินเก็บสำรองอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่นใน Minneapolis ซึ่ง George Floyd ได้เสียชีวิตลง ค่ามัธยฐานหรือค่ากลางของรายได้จากครัวเรือนผิวดำอยู่ที่ 1 ใน 3 ของครัวเรือนผิวขาว ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 77,224 ดอลลาร์/ปี/ครัวเรือน
(1/3 ของ 77,224 = 25,741 ดอลลาร์/ปี/ครัวเรือน)
Seth Carpenter หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ UBS Securities LLC กล่าวถึงเรื่อง Wealth Gap เอาไว้ว่า
"คุณเริ่มต้นด้วยความไม่เท่าเทียมกัน และพวกมันแผ่ขยายตัวตามธรรมชาติอย่างง่ายดาย ขณะที่พวกคุณกำลังผสานความไม่เท่าเทียมกันนี้กับกฏหมายที่โดยทั่วไปแล้วป้องกันไม่ให้พวกเขาสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น"
และนอกจากพวกเขาจะขาดความเท่าเทียมกันในการซื้อสินค้าแล้ว Wealth Gap เหล่านี้ยังบ่งบอกอีกว่าพวกเขามีเงินน้อยมากสำหรับป้องกันความเจ็บป่วยและภัยพิบัติทางด้านสุขภาพ
Bloomberg รายงานว่า Coronavirus ได้คร่าชีวิตผู้คนผิวดำในสหรัฐฯ ไปมากกว่าคนผิวขาวถึง 2.4 เท่า ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนนึงก็มาจากคนเหล่านี้ขาดแคลนเงินที่จะไปรักษาในโรงพยาบาล
สำหรับ Wealth Gap นั้น เมื่อลองดูข้อมูลจากทั้งประเทศก็พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างประชากรผิวดำและผิวขาว โดยในปี 2016 นั้น ครัวเรือนผิวขาวมีรายได้มากกว่าครัวเรือนผิวดำถึง 10 เท่า โดยมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 171,000 ดอลลาร์/ปี ส่วนทางฝั่งครัวเรือนผิวดำอยู่ที่ 17,150 ดอลลาร์/ปี
ส่วนอัตราว่างงานหรือ Unemployment Rate นั้นก็พบว่าสัดส่วนคนผิวดำที่ว่างงานมีมากกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ มาเป็นเวลากว่าทศวรรษ โดยอยู่ที่ 16.7% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เกือบ 21% ของคนผิวดำในสหรัฐฯ ถูกจัดอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าคนผิวขาวถึง 2 เท่า และเมื่อปัญหานี้ลุกลามไปในระยะยาว ก็กลายเป็นว่าคนพวกนั้นถูกกำหนดให้ต้องเกิดและเติบโตในย่านที่ยากจน ห่างไกลความเจริญ และไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้
ส่วนความสามารถในการเข้าถึงอาหารนั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพและรายได้ประจำ โดยหลังจากมีคนตกงานเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ Bloomberg ก็ได้เปิดเผยสถิติซึ่งแสดงให้เห็นว่า
"การขาดแคลนเงินสำหรับซื้ออาหารนั้นเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในเมืองที่มีประชากรผิวดำและชาวละตินอเมริกาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก"
ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือส่วนใหญ่จากรัฐบาล เช่นมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ก็เอนเอียงผลประโยชน์ไปยังกลุ่มคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำและชาวละตินอเมริกัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน
อนึ่งแล้ว ก่อนเกิดการระบาดเราพบว่ามีประมาณ 21% ของครัวเรือนผิวดำ และ 16% ของครัวเรือนชาวละตินอเมริกันที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร ส่วนครัวเรือนผิวขาวนั้นมีสัดส่วนอยู่เพียง 8% เท่านั้น
Comment : ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางด้านอาหารและรายได้นี้ กำลังถือเป็น 1 ในประเด็นหลักของการประท้วงในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ซึ่งปัจจุบัน World Maker มองว่า Momentum ของการประท้วงครั้งนี้ บวกกับปัญหาด้านการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายที่มีมาอย่างยาวนาน (อันนี้ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ) จะเป็นพลังซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ หรืออาจจะนานาชาติ อย่างเป็นรูปธรรม เช่นข้อกฏหมายได้เลยทีเดียวครับ
หรือบางที นี่อาจจะเป็นเหตุการณ์ America Spring เช่นเดียวกับ Arab Spring ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ได้ ? ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังเป็นความสนใจของผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าสหรัฐฯ อเมริกา อาจกำลังเผชิญกับคลื่นลูกแรกแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ ๆ คือหลังจากนี้จะยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกมากมายตามมา ซึ่งอยากให้ผู้อ่านรอติดตามกันต่อไปยาว ๆ ครับ เพราะ World Maker มองว่าความเคลื่อนไหวภายในปี 2020 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ สิ่งที่ใหญ่เกินกว่านี้มากครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
โฆษณา