20 มิ.ย. 2020 เวลา 10:59
พระพุทธศาสนา กับ หลักการโปรแกรมการเรียนรู้ของระบบประสาท : NLP
ฝึกระบบประสาทปรับวิธีการคิด เปลี่ยนจากแนวคิดลบเป็นแนวคิดบวก
NLP ย่อมาจาก Neuro-Linguistic Programming คือ “โปรแกรมภาษาสมอง” เป็นโปรแกรมการศึกษาเรียนรู้ของระบบประสาท ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การทำงานของสมองมีผลต่อพฤติกรรมของคนมากมายเลยทีเดียว
ระบบประสาทจะมีแขนขายื่นระโยงระยางออกไป เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เมื่อเราคิดซํ้าๆ พูดซํ้าๆ และทำซํ้าๆ สัญญาณประสาทก็จะวิ่งไปในเส้นทางเดิม ซึ่งจะมีการปรับตัวโดยมีปลอกโปรตีนมาหุ้มเส้นสัญญาณประสาทนั้น ทำให้สัญญาณประสาทวิ่งไปได้ง่ายและเร็วกว่าเดิมหลายสิบเท่า ดึงดูดให้เราอยากที่จะคิด พูด ทำ ซํ้าๆ อย่างนั้นอีก หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า “ติดนิสัย” นั่นเอง
ในการศึกษาเรียนรู้ยังพบว่า “นิสัย” คือตัวกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตของคน ยกตัวอย่างเช่น บางคนไปที่ไหนมักจะมีเรื่องมีราวกับคนอื่นเสมอ นั่นเป็นเพราะนิสัย เนื่องจากปฏิกิริยาในการคิด พูด ทำของเขาที่เป็นไปในรูปแบบเดิม คือ พอมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น เขาจะคิดในทางลบไว้ก่อน ผลที่ได้ก็คือ มองอะไรก็จะเป็นด้านลบไปหมด
ส่วนคนที่ทำอะไรก็สำเร็จ แม้จะเจอภัยพิบัติธรรมชาติที่ไม่คาดคิด จนเกิดความเสียหายมากมาย แต่ไม่นานเขาก็จะลงมือทำใหม่จนสำเร็จ เพราะวิธีการคิด พูด และทำของเขาเป็นวงจรบวกนั่นเอง
ดังสุภาษิตสอนใจที่กล่าวไว้ว่า
“Two men look out the same prison bars; one sees mud and the other stars... สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”
จึงมีนักวิทยาศาสตร์คิดค้นโปรแกรมในการฝึกระบบประสาท ปรับวิธีการใหม่ โดยจูนสมองของคนให้เปลี่ยนจาก...แนวคิดลบมาเป็นแนวคิดบวก...ปรากฏว่าทฤษฎีนี้สำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ
ศาสตร์ NLP ในมุมมองทางพระพุทธศาสนา
เราสามารถกล่าวได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ให้ศาสตร์แห่งการเรียนรู้เรื่องการทำงานด้าน NLP ไว้อย่างดีเยี่ยม เพราะจริง ๆ หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นการเปลี่ยนมุมมองที่ถูกต้องให้แก่ผู้คนทั้งหลาย
หลักธรรมที่เป็นแก่นกลางพระพุทธศาสนา ก็คือ “มรรคมีองค์แปด” หรือ “หนทางสู่ความพ้นทุกข์” นั้น ก็ถือได้ว่าเป็น NLP ชั้นยอด
มรรคมีองค์แปด
ข้อที่ 1 “สัมมาทิฏฐิ” เห็นชอบ
ข้อที่ 2 “สัมมาสังกัปปะ” ดำริชอบ
ข้อที่ 3 “สัมมาวาจา” เจรจาชอบ
ข้อที่ 4 “สัมมากัมมันตะ” ทำการงานชอบ
ข้อที่ 5 “สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีพชอบ
ข้อที่ 6 “สัมมาวายามะ” พยายามชอบ
ข้อที่ 7 “สัมมาสติ” มีสติชอบ
ข้อที่ 8 “สัมมาสมาธิ” มีสมาธิชอบ
ในประเทศอินเดียที่ผู้คนทั้งหลายอยู่ในระบบวรรณะ มีทั้งคนวรรณะตํ่าคนวรรณะสูง คนวรรณะจัณฑาลที่เกิดมาตํ่าต้อยตลอดชาติ ห่มผ้าสีดำๆ อยู่ในหมู่บ้านซอมซ่อ เกิดมาก็มีความรู้สึกว่าชาตินี้ทั้งชาติตนเองเป็นทาสรับใช้ผู้อื่น
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าไปปรับกระบวนการทางความคิด โดยให้โลกทัศน์ใหม่แก่พวกเขาว่า คนทุกคนล้วนเกิดมาเสมอภาคกัน ไม่มีใครเกิดมาจากโอษฐ์ของพระเจ้า หรือเกิดมาจากแขนจากขาของพระพรหมนั้นไม่มี ทุกคนล้วนเกิดจากครรภ์มารดาด้วยกันทั้งสิ้น จึงเสมอภาคกัน คนจะสูงหรือตํ่าขึ้นอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำสิ่งที่ดีก็เป็นคนสูง แต่ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นคนตํ่า
นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังทำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องของบุญบาป นรกสวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด โลกนี้โลกหน้า และการตรัสรู้ธรรมอีกด้วย ถือว่าพระพุทธศาสนาให้ภาพรวมของโลกและชีวิตที่ถูกต้องแก่ชาวโลก
สำหรับหลักการ NLP นักวิทยาศาสตร์แก้ไขการทำงานเพียงบางด้านบางมุมเท่านั้น แต่หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ให้หลักการภาพรวมครบทั้งวงจร ทั้งชาตินี้ชาติหน้า จนถึงขั้นบรรลุธรรม
พอผู้คนวรรณะศูทรและจัณฑาลในประเทศอินเดียเข้าใจหลักธรรมเหล่านี้ก็ปรากฏว่า หมู่บ้านที่เคยมอซอสกปรก ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสว่างไสว เพราะระบบความคิดของผู้คนได้รับการปรับเปลี่ยนแล้ว โดยเริ่มต้นจาก “ความเห็นถูกต้อง”
ต่อมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้แนวทางต่อไปในขั้นที่สอง คือ “ดำริชอบ” ได้แก่ คิดออกจากกาม คิดไม่พยาบาท และคิดไม่เบียดเบียน ซึ่งเหล่านี้คือแกนความคิด
ยกตัวอย่าง นักเลงที่มักจะมีเรื่องมีราว คิดแต่ว่าตนจะต้องทำร้ายคนที่บังอาจมาหมิ่นศักดิ์ศรีตน แค่เขามองหน้าหน่อยก็คิดว่าเขามาหมิ่นศักดิ์ศรีตัวเอง เอะอะก็จะไปชกต่อยกับเขา สุดท้ายต้องติดคุกติดตะราง ทั้งตนเองและครอบครัวต้องเดือดร้อนไปยาวนาน
ยิ่งถ้านักเลงคนนั้นพกปืนด้วย โบราณบอกว่าร้อนวิชา พอมีปืนก็เหมือนกับมีอำนาจ คิดไปว่า “เดี๋ยวเถอะจะจัดการยิงสักเปรี้ยงให้สะใจ” แล้วก็ถูกตำรวจจับติดคุกเป็นสิบ ๆ ปี ลำบากทั้งชาติเพราะระบบความคิดที่ไม่สมบูรณ์
แต่หลักธรรมของพระสัมมาพุทธเจ้าทรงกำกับไว้เลยว่า ให้คิดออกจากกาม คือ ออกจากเรื่องเกี่ยวกับเบญจกามคุณทั้ง 5 ซึ่งจะดำเนินไปเป็นขั้น ๆ เช่น เริ่มจากไม่เจ้าชู้ แล้วถึงเว้นขาดจากกามเป็นขั้นเป็นตอนไป
รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่โลภในทางที่ไม่สมควร ไม่ไปเบียดเบียนของคนอื่น เอาเฉพาะสิ่งที่เราได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรม ไม่รังแกผู้อื่นและมีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ผูกอาฆาตพยาบาทใครในใจ มีแต่ความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน ทั้งหมดนี้คือ “แกนความคิดที่ถูกต้อง”
พอเราปรับความเห็นและความคิดแล้ว ก็มาถึงเรื่องของวาจา คือ เจรจาชอบ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
พระสัมมาพุทธเจ้าทรงให้หัวใจหลักที่ครอบคลุมประเด็นหลักไว้หมดแล้วจึงค่อยแตกแขนงออกไป ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำหลักธรรมไปขยายใช้งานต่อได้เท่าใด
เราจะไปสอนคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” ความเห็นชอบ หรือยังไม่เข้าใจเรื่อง “สัมมาสังกัปปะ” ดำริชอบ คิดชอบ ให้มี “สัมมาวาจา” เจรจาชอบนั้นยาก เช่น เราจะไปสอนให้เขาพูดจาไพเราะ บางทีก็ยังเป็นลักษณะน้ำตาลเคลือบยาพิษ คือ เขาพูดไพเราะเพื่อหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่สำหรับคนพูดดีโดยพื้นฐานความเห็นถูกที่ส่งผลต่อเนื่องมาเป็นความคิดที่ถูกต้อง คำพูดที่ถูกต้องนั้น จะเกิดมาจากรากฐานของความจริงใจภายใน
เมื่อเราคิดดีและพูดดีไปแล้ว ต่อมาก็เป็นการลงมือปฏิบัติจริง คือ “สัมมากัมมันตะ” ทำการงานชอบ คือ ไม่ฆ่าเขา ไม่ลักขโมยของเขา ไม่ประพฤติผิดในกาม คือไม่ล่วงละเมิดสิทธิบุคคลของผู้อื่น
พอเรามีพื้นฐานทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานรองรับการเลือกอาชีพที่ถูกต้อง คือมี “สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีพชอบ เป็นสุจริตชน ไม่ทำอาชีพที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นบาป แต่จะเป็นบุญเป็นกุศล มีความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า
หลักข้อต่อไป คือ “สัมมาวายามะ” พยายามชอบ ประกอบความเพียร เมื่อเรามีความเห็นถูก และหลักการพื้นฐานมรรคมีองค์ 8 ทั้ง 5 ข้อข้างต้นและเมื่อเราทุ่มเทความวิริยะอุตสาหะเท่าไร ก็มีแต่จะนำความสุขความเจริญมาสู่ตัวเรา และสังคมรอบข้างเท่านั้น
ส่วน “สัมมาสติ” มีสติชอบ คือ ให้เราตั้งหลักให้ดี ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้มีสติเพิ่มขึ้น ๆ เราจะได้ไม่พลาดพลั้งเพราะเหตุที่ยังไม่หมดกิเลส
หลักข้อสุดท้าย “สัมมาสมาธิ” มีสมาธิชอบ คือ พอมีสติแล้วก็ควรทำสมาธิให้ใจนิ่ง เกิดเป็นวงจรบวกเสริม พอเราทำตามหลักได้ครบทั้ง 8 ข้อ วนซํ้าๆ อย่างนี้แล้ว “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นชอบก็จะหนักแน่นขึ้นไปอีก ความคิดที่ถูกก็หนักแน่นขึ้น
เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบก็จะลึกขึ้นไป ๆ เกิดความหนักแน่นขึ้นตามลำดับ ตอกยํ้าให้เส้นทางดำเนินชีวิตดีขึ้นเรื่อย ๆ
เหล่านี้คือกระบวนการปรับความคิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ส่งผลถึงคำพูดและการกระทำตั้งแต่ปัจจุบัน นำไปจนกระทั่งมุ่งสู่การพ้นทุกข์
เพราะฉะนั้น พวกเราชาวพุทธทั้งหลายขอให้ตั้งใจฝึกฝน “มรรคมีองค์แปด” ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างจริงจัง แล้วเราจะพบว่า จริง ๆ แล้วพวกเราทุกคนเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ทางปัญญา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ ซึ่งมีค่ามหาศาลเลยทีเดียว ขอเพียงเข้าใจและหยิบยกมาใช้ให้ได้เท่านั้น ก็จะนำความสุขมาสู่ตัวเรา ทั้งชาตินี้ชาติหน้าตลอดไป
เจริญพร
โฆษณา