21 มิ.ย. 2020 เวลา 14:21 • ธุรกิจ
cut losses and let profits run!!
คุณปวดใจกับตลาดหุ้นมาไม่รู้กี่ครั้ง
ไม่ว่าจะอ่านตำรามาแล้วกี่เล่มก็ตาม
ถึงคราวหุ้นขึ้น รีบขายเลยดีกว่า
พอหุ้นลง ถือต่ออีกสักหน่อยแล้วกัน
สักหน่อยแล้วกัน อีกสักหน่อย จนได้ถือยาวววว
ผ่านไปสองวัน หุ้นที่คุณรีบขายไปนั้น พุ่งทะยานเป็นพลุแตก
คุณปลอบใจตัวเองทันทีว่า “ได้กำไรนิดหน่อย ก็ดีกว่าขาดทุน(วะ)”
1
พอเหลือบดูพอร์ตของตัวเอง คุณพระ!! แดงเถือก
มันก็เป็นแค่ unrealized gains/losses หรอกน่า เป็นการขาดทุนแบบปลอม ๆ ไม่ต้องคิดมาก
เพราะเมื่อคุณยังไม่ขาย คุณก็ไม่ขาดทุนเป็นเงินจริง
หุ้นบางตัวอนาคตริบหรี่มาก แต่คุณก็หวังว่าขอกินปันผลก็ยังดี หรือหวังว่าจะมีขาใหญ่มาลากราคาสักครั้งสองครั้ง
แม้จะเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ก็ตาม
ท้ายที่สุดคุณก็ยังไม่ขาย
นับเป็นความผิดพลาดถึงสองครั้งซ้อนเลยนะครับ
1. คุณขายหุ้นที่ดูดีมีอนาคตเร็วเกินไป ได้กำไรน้อยนิด
2. คุณถือหุ้นที่ไร้อนาคตยาวไป พอร์ตแดงเถือก แต่ว่า “ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุนนี่นา”
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับพฤติกรรมอันน่าฉงนนี้
ลองมาทำความเข้าใจกับสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนผู้เปี่ยมไปด้วยเหตุผลกัน
ในสถานการณ์ที่บีบบังคับมากยิ่งขึ้น สมมติเดือนนี้ผมถังแตกหนักมาก ถึงเวลาต้องขายหุ้นกินแล้วล่ะ
สมมติพอร์ตของผมมีหุ้นแค่สองตัว A กับ B
สมมติอีกว่ามูลค่ารวมของแต่ละตัวตอนซื้อมาเท่ากันเป๊ะ
หุ้น A ได้กำไร และแนวโน้มดูดี
หุ้น B ขาดทุน และแนวโน้มอนาคตเหมือนจะริบหรี่
เมื่อผมต้องขายหุ้นกิน ก็ควรจะขาย B ออกจากพอร์ตไปซะ เพราะถ้าถือต่อไป อนาคตของผมก็คงจะริบหรี่ไปด้วย
ใช่ครับ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะถือ B ต่อไป!!!
แต่ “disposition effect” บอกว่า เราจะไม่ทำอย่างนั้นหรอก
สุดท้ายผมตัดสินใจขายหุ้นที่มีอนาคตทิ้งไป แล้วถือหุ้นไร้อนาคตไว้แทน!!!
หมดสภาพนักลงทุนผู้เปี่ยมไปด้วยเหตุผลกันเลยทีเดียว
ความมีเหตุผลเหมือนจะฟังดูดีครับ แต่อารมณ์มักจะนำการตัดสินใจอยู่เสมอ
เรามักจะรับไม่ได้กับการสูญเสีย รู้สึกไม่ดี ถ้าต้องขายสิ่งที่รู้ว่าขาดทุนแน่ ๆ มันจะปวดร้าวเข้าไปในใจ
แต่จะดีใจ ปลื้มปิติ ถ้าขายสิ่งที่กำไรชัวร์ ๆ
ถ้าเราตามอารมณ์ก็จะออกมาแบบนี้แหละครับ
สิ่งที่ตำราพร่ำสอนก็คือ ต้องข้ามอารมณ์ไปให้ได้ ควรไปจดจ่ออยู่กับความมีอนาคตหรือไม่มีอนาคตของหุ้นที่เราถือ
ไม่ใช่คิดแค่ว่าการขายครั้งนี้ เราจะเป็น “ผู้แพ้” หรือ “ผู้ชนะ”
อย่างว่าแหละครับ มนุษย์ย่อมอยากเป็น "ผู้ชนะ" อยู่แล้วโดยธรรมชาติ
เอ๊ะ.. เหมือนเราชอบที่จะได้กำไรชัวร์ ๆ ไม่ยอมเสี่ยงกับโอกาสที่จะได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่พอตอนขาดทุนชัวร์ ๆ เรากลับไม่ชอบ และขอลองเสี่ยงดูหน่อยดีกว่า แม้จะมีโอกาสขาดทุนหนักเข้าไปอีก
เหตุการณ์ประเภท “ได้เงินชัวร์ ๆ” กับ “เสียเงินชัวร์ ๆ” อะไรพวกนี้ จะมี “prospect theory” มาเกี่ยวข้องอีกครับ
แล้ว “prospect theory” คืออะไร?
ไว้ติดตามกันต่อนะครับ
พรุ่งนี้วันจันทร์ตลาดหุ้นเปิดแล้ว อย่าลืมนึกถึง “disposition effect” นะครับ
เรามาอยู่กับหุ้นที่ดูดี มีอนาคต
แล้ว let profit run กันดีกว่า!!!
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน**
อ้างอิง
- หนังสือ Thinking, Fast and Slow, Daniel Kahneman
เฮ้อออ.. มนุษย์นี่เข้าใจยากจริงเชียว ต้องหาอะไรมาอธิบายตัวเองเยอะแยะไปหมด บทจะมีเหตุผลก็มีเหตุผลจ๋า บทจะไม่มีเหตุผลก็ไร้เหตุผลจ๋าเลยอีก
ติดตามความมีเหตุผลจ๋าของมนุษย์ผ่านทฤษฎีเกม
ติดตามความไร้เหตุผลผ่าน “default option”
และ “sunk cost fallacy”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา