Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2020 เวลา 08:06 • กีฬา
วิเคราะห์โมเดลธุรกิจฟุตบอลแบบ 50+1 ของเยอรมัน… จะเป็นอย่างไรถ้าไทยนำมาใช้บ้าง?
ฟุตบอลไทยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะหลัง หลายคนคงสัมผัสได้ว่า ฟุตบอลไทยเริ่มถึงทางตัน และเจอปัญหาหลายอย่างเข้ามารุมเร้า
สโมสรฟุตบอลหลายทีมเริ่มหมดเงิน หมดไฟ หมดใจ, ค่าเหนื่อย ค่าตัว นักเตะที่เคยเฟ้อขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการใช้เงินเกินตัวของหลายทีม กลับกลายมาเป็นผลเสียในระยะยาว รวมถึงการล้มหายตายจาก ของสโมสรฟุตบอล เนื่องจากเจ้าของมองว่าไม่ตอบโจทย์ กับการเสียเงินทำทีม และไม่ได้ซึ่งผลประโยชน์ที่ต้องการ
ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่นิมิตหมายที่ดี ของฟุตบอลไทย แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก หากเรามองถึงตัวอย่างของฟุตบอลเยอรมัน และลองเอาแนวทาง กฎ 50+1 กฎที่เปิดโอกาสให้แฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสร มาปรับใช้กับฟุตบอลไทย
แฟนฟุตบอลไทย อาจจะไม่คุ้นเคยกับกฎ 50+1 หรือการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล โดยแฟนบอลในสโมสรตัวเองมากนัก เพราะคนไทยคุ้นชินกับฟุตบอล พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ ไทยลีก ซึ่งมีระบบเจ้าของเป็นนักธุรกิจ หรือ นักการเมือง ดังนั้นเราจึงจะมาอธิบายกฎ 50+1 ให้เข้าใจกันเสียก่อน
กฎ 50+1 คือกฎที่เป็นเอกลักษณ์ของฟุตบอลเยอรมัน อันเป็นกฎที่เป็นข้อบังคับ กำหนดให้สโมสรฟุตบอลในเยอรมัน ต้องมีแฟนบอลถือหุ้นอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่า สโมสรฟุตบอลจะเป็นของแฟนบอล ไม่ใช่ของนายทุน
เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุน นำสโมสรไปใช้ค้าหากำไร หรือบริหารตามใจฉัน กลายเป็นของเล่นคนรวย จนนำมาสู่ผลเสียกับสโมสร เช่นติดหนี้ ล้มละลาย หรือใช้เป็นเครื่องมือหาเงินให้กับเจ้าของ ขณะที่แฟนบอลไม่ได้อะไรเลย
กฎนี้ถูกประกาศใช้กับฟุตบอลเยอรมัน ในปี 1998 โดยครอบคลุมกับสโมสรฟุตบอลอาชีพ (ยกเว้นบางทีมที่ได้รับการยกเว้น เป็นกรณีพิเศษ) เพราะในช่วงเวลานั้น สโมสรฟุตบอลเยอรมันจำนวนมาก ใช้เงินกันจนเกินตัว และนำไปสู่ปัญหาติดหนี้ เฉียดล้มละลาย โดนธนาคารเข้าควบคุมกิจการ ในเวลาต่อมา
เมื่อสโมสรฟุตบอล กลายเป็นของแฟนบอล ทำให้ในปัจจุบัน ฟุตบอลลีกของเยอรมัน คือฟุตบอลเพื่อแฟนบอลอย่างแท้จริง เพราะแฟนบอลมีส่วนร่วมในการบริหารทีม ทำให้ฟุตบอลเยอรมันถูกออกแบบมา เพื่อสนองผลประโยชน์สูงสุด ให้กับแฟนบอล
Photo : www.dailymail.co.uk
เช่น ค่าตั๋วถูก, ค่าขนม ค่าเครื่องดื่มในสนามถูก, แฟนบอลมีสิทธิ์เข้าชมทีมในสนามซ้อม, หรือมีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักเตะ และผู้บริหาร ไปจนถึงขั้นที่ว่า แฟนบอลมีสิทธิ์ที่จะเรียกนักเตะ มาตำหนิ หรือต่อว่า หากทีมผลงานไม่ดีด้วยซ้ำ ซึ่งนักเตะต้องรับฟัง เพราะแฟนบอลคือเจ้าของสโมสร
กฎ 50+1 ประสบความสำเร็จอย่างมากที่เยอรมัน เพราะประชาชนที่นั่นชื่นชอบกับแนวคิด การเป็นเจ้าของทีมของแฟนบอล จนหันมาให้การสนับสนุนฟุตบอลในประเทศอย่างล้นหลาม กลายเป็นลีกฟุตบอลที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมมากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ กฎ 50+1 ยังถูกวงการฟุตบอลสวีเดน นำไปใช้กับฟุตบอลลีกสวีเดน ในชื่อ “กฎ 51 เปอร์เซ็นต์” ด้วยเหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลสวีเดนต้องการรักษาให้กีฬาฟุตบอล เป็นกีฬาเพื่อประชาชน ไม่ใช่กีฬาเพื่อนายทุน หรือกีฬาเพื่อธุรกิจ
สโมสรฟุตบอลเพื่อแฟนบอล
สิ่งแรกที่ฟุตบอลลีกไทย จะเปลี่ยนแปลง หากนำกฎ 50+1 มาปรับใช้ นั่นคือเรื่องการเงินของสโมสรฟุตบอล ที่จะเปลี่ยนไป เพราะเป้าหมายแรกสุดของกฎนี้ ถูกออกแบบมาใช้เพื่อทำลายความสัมพันธ์ ระหว่างทีมฟุตบอล กับ นายทุนมหาเศรษฐี เพื่อให้สโมสรฟุตบอลบริหารงาน แบบองค์กรไม่แสวงผลกำไร
แฟนฟุตบอลชาวไทย อาจจะคุ้นชิน และชื่นชอบ แนวทางที่สโมสรฟุตบอล มีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนเศรษฐีมากกกว่า เพราะต้องยอมรับว่า การมีเจ้าของเป็นนายทุน สามารถเสกสรรค์ความสำเร็จ หรือ นักเตะชื่อดังได้ในพริบตา
Photo : www.sportbible.com
ดังนั้น เราจึงเห็นความสนใจจำนวนมากของแฟนบอลไทย ต่อข่าวการเทคโอเวอร์สโมสรต่างๆ ทั้งในไทย และ ต่างประเทศ เป็นความตื่นเต้นที่แฟนบอลไทยคอยติดตาม เพราะยิ่งมีทีมบอลรวยๆ มากเท่าไหร่ การซื้อขายย้ายตัวของผู้เล่น จะสนุกตามไปด้วย
แต่การมีเจ้าของทีมเป็นนายทุน ไม่ได้มีเเต่เรื่องดี ในทางกลับกัน ส่วนใหญ่มีแต่เรื่องแย่ๆ ... มีกรณีมากมาย จากสโมสรฟุตบอลทั่วโลก ที่มีเจ้าของเป็นนายทุน แล้วบริหารทีมตามอำเภอใจ จนทีมพังไม่เป็นท่า
เช่น ตอนเริ่มทำทีมใหม่ๆ มีไฟ มีกำลังใจ ก็ซื้อนักเตะราคาแพงๆ เข้ามาเสริมทีม แต่พอผ่านไป 2-3 ปี ทีมเริ่มทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในหรือนอกสนาม สุดท้ายก็ปล่อยทีมลอยแพ ขายนักเตะเอากำไรคืน บริหารทีมแบบไร้จุดหมาย และต้องการขายทีมทิ้ง เพราะว่าทีมฟุตบอลไม่ตอบสนองผลประโยชน์
หรือจะเป็นในกรณีที่ เจ้าของทีมเมื่อครั้งมีเงิน ก็ใช้เงินทุ่มซื้อนักเตะจนเกินตัว กลายเป็นขาดดุลทางธุรกิจ เวลาผ่านไป ต้องขายนักเตะที่ทีมเคยซื้อมา ออกจากทีมจนหมด
ฟุตบอลไทย อาจจะคุ้นเคยกับสโมสรท้องถิ่น ที่มีเจ้าของทีมเป็นนักการเมือง ที่ช่วงก่อนเลือกตั้ง หลายทีมพยายามสร้างผลงาน เพื่อเอาชนะใจคนท้องถิ่น แต่เมื่อการเลือกตั้งจบลง เหล่านักการเมืองก็ลอยแพทีมฟุตบอล ปล่อยไปตามยถากรรม
เราอาจจะจดจำความสำเร็จ การมีเศรษฐีมาเทคโอเวอร์ เป็นภาพติดตาจาก เชลซี ของ โรมัน อบราโมวิช, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ เปแอสเช จากกลุ่มทุนตะวันออกกลาง, การท่าเรือ เอฟซี ภายใต้การนำของมาดามแป้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีทีมใหญ่ไม่กี่ทีมที่ได้ประโยชน์ และมีทีมฟุตบอลจำนวนมาก ที่ต้องตกเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ ของนายทุน หรือนักการเมือง
กฎ 50+1 จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะการบริหารทีม จะมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือป้องกันไม่ให้เป็นองค์กรแสวงผลกำไร การใช้เงินจะต้องตรงไปตรงมา กับรายรับและรายจ่ายของทีม มีเท่าไหนใช้เท่านั้น ไม่ต้องกลัวว่าทีมจะเกิดปัญหาทางการเงิน ใช้เงินจนเกินรายได้ของสโมสร
นอกจากนี้ ทีมฟุตบอลที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของ ยังไม่ต้องกังวลกับปัญหา เจ้าของทีมหมดไฟ หรือทำทีมเอาแต่กำไร ไม่สนผลการแข่งขัน ... เพราะการมีเจ้าของเป็นแฟนบอล แฟนบอลย่อมต้องมองวิธี ที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ในสนามมากที่สุด
Photo : www.bundesliga.com
แม้จะไม่มีเงินทุนจากเจ้าของคอยหนุนหลัง แต่ไม่ต้องกลัวว่าสโมสรจะไร้งบประมาณ ไม่มีเงินมาเสริมทัพ หรือพัฒนาทีม เพราะสโมสรฟุตบอลอย่าง บาเยิร์น มิวนิค และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่เป็นสโมสรฟุตบอลมูลค่าอันดับต้นๆ ของโลก ได้ใช้โมเดล 50+1 เช่นเดียวกัน
โดยรายได้ของสโมสร มาจากการเก็บค่าสมาชิก ที่แฟนบอลคอยซื้อ เพื่อรับสิทธิ์เป็นผู้ถือหุ้นสโมสร ในทุกๆปี และนำเงินตรงนี้มาใช้จ่ายในสโมสร นอกจากนี้แต่ละทีม ยังต้องแข่งขันกัน พัฒนาผลงานในสนามให้ดี เพื่อดึงดูดสร้างฐานแฟนคลับ ให้เข้ามาเป็นสมาชิกของสโมสร และเมื่อมีสมาชิกสโมสรมาก สปอนเซอร์ก็จะตามเข้ามา เพิ่มรายได้ให้สโมสร
นอกจากนี้ จุดเด่นของการบริหารของทีมฟุตบอล ภายใต้กฎ 50+1 ยังทำให้สโมสรมีหนี้น้อยมากๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างจาก บาเยิร์น มิวนิค มีหนี้เพียง 6.9 ล้านยูโรเท่านั้น จากการเปิดเผยของ หน่วยงานทางการเงินของกีฬาฟุตบอล ในปี 2020 อย่าง Soccerrex ขณะที่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่มีหนี้แม้แต่ยูโรเดียว
ในทางตรงกันข้าม สโมสรยักษ์ใหญ่ทีมอื่น มีหนี้คงค้างอยู่ไม่น้อย เช่น ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส มีหนี้ 898 ล้านยูโร, ลิเวอร์พูลมีหนี้ 295 ล้านยูโร, ยูเวนตุสมีหนี้ 593 ล้านยูโร, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีหนี้ 800 ล้านยูโร
กฎ 50+1 จึงเข้ามา สร้างความแข็งแกร่ง และความมั่นคงทางการเงิน ให้กับสโมสรฟุตบอล หากสโมสรฟุตบอลไทย นำระบบนี้มาใช้ อย่างน้อยแฟนบอลจะมั่นใจได้ว่า สโมสรฟุตบอลจะถูกบริหารอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่มีการใช้เงินจนเกินตัว นำมาสู่การสร้างผลเสียระยะยาว กับทีมฟุตบอล
ทีมขนาดเล็กได้ประโยชน์
ไม่ใช่แค่ทีมขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ทีมขนาดเล็กได้ประโยชน์จากกฎ 50+1 เช่นเดียวกัน หรือต้องบอกว่า ทีมขนาดเล็กคือทีมที่จะได้ประโยชน์ กับกฎนี้มากกว่าทีมขนาดใหญ่เสียด้วยซ้ำ
Photo : www.espn.com
เพราะทีมขนาดเล็ก จะต้องพึ่งการอยู่รอดจากเจ้าของทีมเป็นหลัก เนื่องจากหารายได้จากสปอนเซอร์ หรือค่าของที่ระลึก ค่าเข้าชมได้น้อยกว่าทีมใหญ่ ดังนั้นสำหรับทีมเล็ก หากมีเจ้าของทีมที่ดี ถือว่าโชคดีไป แต่หากมีเจ้าของทีมที่ทำแล้วถอดใจ บอกได้แค่ว่าบรรลัยแน่นอน
สำหรับฟุตบอลไทย เราเห็นสโมสรฟุตบอลจำนวนมาก ทั้งทีมองค์กร และทีมท้องถิ่น ล้มหายตายจากไป เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง เจ้าของทีมเกิดรู้สึกว่า การทำทีมฟุตบอล ไม่คุ้มค่ากับการใช้เงิน หรือทุ่มงบประมาณลงไป ผลลัพธ์ที่ตามคือการยุบทีม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของฟุตบอลไทย
ไม่ได้หมายความว่า การมีเจ้าของเป็นแฟนบอล จะช่วยป้องกันปัญหายุบทีมได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย การมีเจ้าของเป็นแฟนบอล คือเครื่องรับประกันว่า สโมสรฟุตบอลจะอยู่คู่กับแฟนบอล ไม่มีการล้มหายตายจาก ตามความต้องการของเจ้าของทีม เพราะร้อยทั้งร้อย แฟนบอลย่อมต้องการให้สโมสร อยู่คู่กับแฟนบอลพันธุ์แท้ ที่รักทีมไปนานๆ
รวมถึงการมีแฟนบอลเป็นเจ้าของทีม ทำให้การใช้เงินของสโมสรขนาดเล็ก สามารถควบคุม จัดการได้ง่าย เพราะสิ่งแรกที่สโมสรต้องคำนึงถึง ไม่ใช่การคว้าแชมป์เพื่อสร้างชื่อเสียงให้เจ้าของทีม หรือการแสวงหาผลกำไร แต่เป็นการบริหารทีมให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืนไร้หนีสิ้น
Photo : www.pttrayongfc.net
เอสซี ไฟร์บวร์ก สโมสรขนาดเล็กในเยอรมัน คืออีกทีมที่ไม่มีหนี้สิ้นแม้แต่ยูโรเดียว จากการสำรวจในปี 2020 แม้ว่าทีมอาจจะไร้ความสำเร็จ แต่การบริหารแบบไร้หนี้ ช่วยให้สโมสรยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ในลีกบุนเดสลีกา และแฟนบอลก็มีความสุข ที่จะได้สนับสนุนทีม ที่จะอยู่คู่พวกเขาไปตลอด
นอกจากนี้ สโมสรขนาดเล็กมักเจอปัญหา ขาดการหนุนหลังจากแฟนบอล เพราะทีมเล็กๆ ส่วนใหญ่จะทำผลงานได้ไม่ดี เมื่อผลงานไม่ดีแฟนบอลก็ไม่เข้าสนาม ส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้สโมสร
แต่การที่ทีมมีเจ้าของเป็นแฟนบอล ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลกับสโมสรจะเปลี่ยนไป เพราะแฟนบอลไม่ได้เป็นแค่แฟน แต่เป็นเจ้าของสโมสร หากทีมผลงานแย่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะหันหลัง ไม่ให้การสนับสนุนสโมสรที่ตัวเองได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของ
Photo : www.bugaboo.tv
ขณะเดียวกัน สำหรับสโมสรขนาดเล็ก ซึ่งรายได้ทุกบาททุกสตางค์ ที่เข้ามาผ่านสโมสร มีความหมายกับทีมมาก การมีเจ้าของเป็นแฟนบอล คือเครื่องรับประกันได้ว่า ทุกรายได้ของสโมสร จะถูกนำมาใช้กับสโมสร
ไม่ใช่ว่ารายได้ของทีม ถูกนำไปหนุนให้กับธุรกิจบริษัทแม่ หรือนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจอื่น ดังเช่นกรณีของ สแตน โครเอนเก ที่นำรายได้ของสโมสร อาร์เซนอล ไปสร้างสนามใหม่ระดับพันล้าน ให้ทีมอเมริกันฟุตบอล ลอสแอนเจลิส แรมส์ ซึ่งเจ้าตัวเป็นเจ้าของเช่นกัน
สำหรับฟุตบอลไทยแล้ว การนำกฎ 50+1 มาใช้ อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด กับการช่วยเพิ่มโอกาสอยู่รอด และรักษาสโมสรฟุตบอลขนาดเล็กระดับท้องถิ่น ให้อยู่คู่กับฟุตบอลไทยไปนานๆ เพราะไม่มีท้องถิ่นไหน อยากจะเห็นสโมสรฟุตบอลของตัวเอง ต้องถูกยุบทีม หรือย้ายทีม ตามความต้องการของนักการเมือง หรือนักธุรกิจ และแฟนบอลจะทำทุกทางเพื่อปกป้องสโมสรของพวกเขาไว้
ความผูกพันกับแฟนบอลที่มากกว่า
หนึ่งสิ่งที่กฎ 50+1 มอบให้กับฟุตบอลเยอรมัน คือความผูกพันระหว่างสโมสรฟุตบอลกับท้องถิ่น เพราะในเมื่อสโมสรเป็นของคนในท้องถิ่น ทีมจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องสานสัมพันธ์กับทีม
Photo : Tomek Bo
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตั๋วถูก, ของที่ระลึกถูก, การจัดกิจกรรมบ่อยครั้งกับแฟนคลับ หรือการเปิดโอกาสให้แฟนบอล เข้าชมการซ้อมของทีม ติดขอบสนามซ้อมแทบทุกสัปดาห์ คือกลยุทธที่สโมสรสร้างความสัมพันธ์กับแฟนบอล ดึงดูดแฟนบอลให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับสโมสร
ปัจจุบัน เราเห็นปัญหาในวงการฟุตบอลไทย กิจกรรมสานความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอล กับสโมสรลดลงไปมาก เพราะสโมสรไม่ได้มองว่า แฟนบอลท้องถิ่นที่เข้าชมอยู่ที่สนาม คือช่องทางหลักในการสร้างรายได้ให้สโมสร และหันไปให้ความสำคัญ กับการทำกิจกรรมกับสปอนเซอร์ หรือโปรโมตทีมเพื่อเพิ่มยอดเรตติ้ง ในการถ่ายทอดสดมากกว่า
ผลลัพธ์ที่ตามมา คือจำนวนผู้เข้าชมในสนามที่ลดลง เพราะกิจกรรมที่น้อยลงกับแฟนบอล ไม่ว่าจะในวันที่มีการแข่งขัน หรือกิจกรรมทั่วไป ทำให้ความผูกพันระหว่างสโมสร กับแฟนบอลลดน้อยลง ความอิน ความสนุก ในการชมฟุตบอลก็ลดลง แฟนบอลไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปเชียร์เกม ทุกนัดในสนาม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทีมเล่นไม่ดี
ในขณะที่ฟุตบอลเยอรมัน ไม่ต้องพบเจอกับปัญหานี้ สโมสรมีแฟนบอลที่เหนียวแน่น เข้าชมเกมระดับหลายหมื่นในทุกแมทช์เดย์ เพราะสโมสรได้แสดงให้เห็นว่า ทีมฟุตบอลไม่ได้เป็นทีมกีฬา ให้แฟนบอลเสพชัยชนะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถมอบความสุขในรูปแบบอื่น แก่แฟนบอลได้ นอกเหนือจากผลการแข่งขัน
Photo : FC Schalke 04 FANS
หรือในช่วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 หลายๆ สโมสรได้ปรับตัว ทำกิจกรรมช่วยเหลือท้องถิ่นอย่างจริงจัง เช่น โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปรับเปลี่ยนให้สนามเหย้าของทีม กลายเป็นศูนย์ตรวจไวรัส โควิด-19 ที่ประชาชนในเมืองสามารถมาเข้ารับการตรวจได้
ด้านสโมสรแวร์เดอร์ เบรเมน ได้ทำอาหารแจกคนไร้บ้านภายในเมืองทุกวัน เพื่อช่วยเหลือชาวเมือง ในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง ... แน่นอนว่า สโมสรเบรเมนต้องเผชิญหน้าปัญหาทางการเงินเช่นกัน แต่การมอบน้ำใจเล็กน้อยแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรเลย กับการตอบแทนแฟนบอล และท้องถิ่น ที่อยู่คู่กับทีมมาตลอด
ไม่ใช่แค่สโมสรจะเป็นผู้ให้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อสโมสรยากลำบาก แฟนบอลจะกลับมาเป็นผู้ให้แก่สโมสร ดังในกรณีของ อูนิโอน เบอร์ลิน ที่แฟนบอลของทีมรวมตัวกัน ก่อสร้างสนามใหม่ให้กับทีม ด้วยเงินทุนและน้ำแรงของพวกเขาเอง
สุดท้ายแล้ว การมีเจ้าของเป็นแฟนบอล คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด ระหว่างสโมสรกับแฟนบอล ซึ่งจะนำมาสู่ความยั่งยืนของสโมสร
การสร้างทีมผ่านเยาวชน
ต้องยอมรับว่า หนึ่งในจุดอ่อนของกฎ 50+1 คือสโมสรฟุตบอลจะมีงบประมาณที่ไม่มาก หากไม่ใช่ทีมใหญ่ระดับหัวแถว ที่มีรายได้จากสปอนเซอร์คอยหนุน เพราะทีมขนาดเล็กต้องเน้นรายได้จาก ค่าสมัครสมาชิกของสโมสร, ค่าตั๋ว สินค้าที่ระลึก รวมถึงเงินจากการขายตัวผู้เล่นเป็นหลัก
Photo : www.rayburntours.com
เมื่อสโมสรไม่มีเงินจะไปซื้อนักเตะฝีเท้าเลิศ ค่าตัวหลายสิบล้านมาอยู่ในทีม สโมสรจึงต้องหาทางสร้างนักเตะที่ถูกที่สุด และมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งไม่มีทางไหนตอบโจทย์มากไปกว่า การพัฒนานักเตะเยาวชน
การสร้างนักเตะเยาวชน สามารถสร้างผลประโยชน์ได้หลายด้าน ให้กับทีมฟุตบอล ... ไม่ว่าจะเป็น ในแง่ของการดึงเด็กท้องถิ่น เข้ามามีโอกาส มีส่วนร่วมกับสโมสรฟุตบอลใกล้บ้าน ที่พวกเขาคุ้นชินตั้งแต่วัยเด็ก ปั้นนักเตะเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้เล่นของสโมสร สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และครอบครัว หรือจะโปรโมตเป็นความภูมิใจของท้องถิ่นก็ได้
คนเชียงรายล้วนภูมิใจ ที่มีนักเตะตัวหลัก เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข คนในจังหวัด อย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา, หรือคนบุรีรัมย์ ภูมิใจกับ ศศลักษณ์ ไหประโคน นักเตะจากบุรีรัมย์ ที่ประสบความสำเร็จไปกับสโมสร
แต่จะดีแค่ไหน หากทุกสโมสร มีนักเตะท้องถิ่น เป็นตัวชูโรง สร้างความภูมิใจให้ท้องถิ่น ดึงดูดคนเข้าสู่สโมสร และที่สำคัญสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชนรุ่นหลังในท้องถิ่น ที่อยากเป็นนักฟุตบอล ประสบความสำเร็จกับทีมบ้านเกิด ตามรอยรุ่นพี่
นอกจากนี้ การปั้นเยาวชน ยังตอบโจทย์กับการสร้างนักเตะเข้าสู่ชุดใหญ่ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณมาก เพียงแค่ลงทุนกับการสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนของทีม และค่าเลี้ยงดูนักฟุตบอล แต่สามารถปั้นเด็กขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้ในระยะยาว
รวมถึงทีมสามารถสร้างระบบ ฝึกนักเตะให้เล่นเข้ากับ แนวทางการเล่นของทีมชุดใหญ่ ได้ตั้งแต่ในระดับเยาวชน เมื่อขึ้นสู่ชุดใหญ่ นักเตะสามารถเล่นได้ทันที ไม่ต้องปรับตัวนาน
สำหรับสโมสรเล็ก นักเตะที่ทำผลงานได้ดี มีค่าตัว ทีมสามารถขายนักเตะ สร้างเงินหลายสิบล้าน เป็นรายได้ให้กับสโมสร นำไปพัฒนาทีมต่อไป
Photo : mgronline.com
อีกหนึ่งสิ่งที่จะได้รับประโยชน์ คือฟุตบอลทีมชาติ ทีมชาติเยอรมันประสบความสำเร็จ เป็นมหาอำนาจ เพราะเป็นชาติที่ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาเยาวชนอย่างมาก สโมสรทั่วประเทศ มีศูนย์ฝึกและแนวทางการพัฒนาเยาวชน อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทีมชาติมีเด็กมากมาย ที่มีฝีเท้า พร้อมเข้าสู่สารบบทีมชาติ
หากฟุตบอลไทย มีการพัฒนาเยาวชนในทุกๆ สโมสร เราจะสามารถดึงเพชรเม็ดงาม เข้าสู่วงการลูกหนังได้มากขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยการที่ทีมชาติไทย มีตัวเลือก มีผู้เล่นฝีเท้าดีมากยิ่งขึ้น
ท้ายที่สุด เราต้องยอมรับว่า กฎ 50+1 อาจเกิดขึ้นยากในไทย เพราะฟุตบอลลีกบ้านเรา ยังพึ่งพิงระบบการมีเจ้าของผ่านนักธุรกิจ และนักการเมืองท้องถิ่นอยู่มาก
แต่ไม่ใช่เรื่องผิด หากฟุตบอลไทยจะหันมาลองแนวทางใหม่ ให้ความสำคัญกับแชมป์ หรือ ธุรกิจน้อยลง เพิ่มความสำคัญของแฟนบอล และความยั่งยืนของสโมสรให้มากขึ้น
ไม่แน่ว่าฟุตบอลไทย อาจเจอทางออก ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เรากำลังตามหามาอย่างยาวนาน
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Sport, Outdoor Life and the Nordic World
หนังสือ Relationship Marketing in Sports
http://www.scottishsupporters.net/the-501-rule-in-swedish-footbal/
http://mysoccerex.com/Soccerex_Football_Finance_100_2020_Edition.pdf
https://www.theguardian.com/social-enterprise-network/2013/nov/27/fan-ownership-football-premier-league
https://www.alumniportal-deutschland.org/en/germany/sports/football-fanculture-germany/
5 บันทึก
19
1
5
5
19
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย