24 มิ.ย. 2020 เวลา 14:27 • การศึกษา
ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้คนอื่นทำให้มีทรัพย์สินไม่พอใช้หนี้ เจ้าหนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร?
มีสิ่งหนึ่งที่เจ้าหนี้มักจะกังวลใจ นอกจากเรื่องที่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ซึ่งก็คือ..
การที่ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้
และที่แย่กว่านั้น
หากลูกหนี้ไม่ได้มีเจ้าหนี้เพียงแค่รายเดียวด้วยแล้วล่ะก็ ความหวังที่จะได้รับชำระหนี้ก็ยิ่งเลือนลางลงไปทุกที
ซึ่งประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ..
ถ้าลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย แต่มีทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมด และลูกหนี้เลือกที่จะโอนทรัพย์สินไปให้คนอื่น
หรือเลือกที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียงรายหนึ่งรายใด
ทำให้มีทรัพย์สินลดน้อยลงจนไม่พอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนอื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหนี้เหล่านั้นเสียเปรียบ
คำถามคือ บรรดาเจ้าหนี้ที่เสียเปรียบเหล่านั้น จะสามารถทำอะไรได้บ้างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?
ซึ่งทางกฎหมายก็พอมีทางออกอยู่บ้างสำหรับเหตุการณ์นี้ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า “เพิกถอนการฉ้อฉล”
การเพิกถอนการฉ้อฉล คือ การฟ้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้ทำลงไป เพื่อทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม
เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉล อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ซึ่งการจะฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วย..
1. นิติกรรมนั้น ลูกหนี้ได้ทำลงไปโดย “รู้” ว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
เช่น ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย แต่กลับโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่ง ทำให้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ ไม่ได้รับชำระหนี้ หรือ
ยอมขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือสละสิทธิรับมรดก เพราะไม่อยากให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เป็นต้น
2. คนที่ได้รับทรัพย์สินไปโดยเสียค่าตอบแทน (เช่น ผู้ซื้อ) จะต้อง "ไม่สุจริต"
คือ รู้อยู่แล้วในขณะทำนิติกรรมว่าจะทำให้เจ้าหนี้ (ของลูกหนี้) เสียเปรียบ
เช่น ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วว่าผู้ขาย (ลูกหนี้) มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้สินจำนวนมาก และไม่มีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้ได้ แต่ก็ยังไปรับซื้อทรัพย์สินจากลูกหนี้
ในทางกลับกัน หากคนที่ได้รับทรัพย์สินโดยเสียค่าตอบแทนนั้นสุจริต (คือ ไม่รู้ถึงภาระหนี้สินและทรัพย์สินของลูกหนี้)
เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถใช้วิธีการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้เช่นเดียวกัน
3. ข้อยกเว้น.. เรื่องความสุจริตจะไม่นำมาใช้กับการให้โดยเสน่หา (ให้เปล่าโดยไม่มีค่าตอบแทน)
กล่าวคือ ถ้าเป็นการให้โดยเสน่หาก็ไม่ต้องคำนึงว่าผู้ได้รับทรัพย์สินจะสุจริตหรือไม่
เพียงแต่อาศัยความ “รู้” ของลูกหนี้ตามข้อ 1. เพียงอย่างเดียว ก็สามารถฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้
3. เมื่อครบเงื่อนไขตาม ข้อ 1 และข้อ2 หรือข้อ 3 แล้ว เจ้าหนี้ที่เสียเปรียบจากการทำนิติกรรมของลูกหนี้ ก็สามารถฟ้องเพื่อเพิกถอนการฉ้อฉลได้
ย้ำอีกครั้ง.. การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้ได้ขาย หรือโอนไปแล้วนั้น กลับมาเป็นของลูกหนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ก็เพื่อเจ้าหนี้คนอื่น ๆ จะได้บังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าวโดยเท่าเทียมกันนั่นเองครับ
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวสารหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา