25 มิ.ย. 2020 เวลา 10:22 • ประวัติศาสตร์
2475 ในกระแสปฏิวัติโลก!
คําอธิบายหลักของการปฏิวัติสยามในปี 2475 นั้น มุ่งอยู่กับเรื่องของการเมืองภายในเป็นด้านหลัก ซึ่งก็เป็นเพราะสถานะและเงื่อนไขการเมืองภายในของประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัย หรือที่กล่าวเป็นเชิงทฤษฎีได้ว่า ปัจจัยภายในคือสาเหตุพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของทุกประเทศ
แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ รัฐทุกรัฐมีทั้งบริบทภายนอกและภายในคู่ขนานกันตลอดเวลา และเป็นสภาวะคู่ขนานที่แยกออกจากกันไม่ได้ เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้การพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น อาจจะต้องทำความเข้าใจกับ "สภาวะคู่ขนาน" ดังที่กล่าวแล้ว เพราะปัจจัยภายนอกเป็นประเด็นสำคัญอีกส่วนที่เป็นแรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ
www.matichon.co.th
ฉะนั้น หากย้อนอดีตกลับไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามใน พ.ศ.2475 หรือ ค.ศ.1932 นั้น จะเห็นได้ว่าโลกที่ล้อมรอบสยามกำลังอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลง จนต้องเรียกในอีกมุมว่า โลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสของ "การปฏิวัติ" ใหญ่ และกระแสนี้ล้วนแต่มีนัยถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รออยู่เบื้องหน้า บางทีอาจจะต้องเรียกว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็น "ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง" อีกชุดหนึ่งของโลก และโลกชุดนี้เริ่มหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว โดยเริ่มจากปี 1919 และจบลงด้วยการกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ซึ่งในด้านหนึ่งอาจจะเรียกช่วงเวลานี้ได้ว่าเป็น "20 ปีแห่งความผันผวน" ของการเมืองโลก และการปฏิวัติสยามก็อยู่ในช่วงเวลาที่ผันผวนเช่นนี้ด้วย
ดังนั้น บทความนี้จะลองทบทวนอย่างสังเขปถึงสภาวะ "โลกล้อมรัฐ" ที่มีนัยถึงสภาวะแวดล้อมภายนอกของสยามในบริบทการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 (บทความนี้จะขอใช้ปี ค.ศ. ในการเปรียบเทียบ)
--กระแสปฏิวัติจีน
หากเราทดลองเอาการปฏิวัติสยามในปี 1932 เป็นตัวตั้ง และถอยเวลากลับสู่อดีตแล้ว การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองที่น่าจะมีผลกระทบต่อสยามทั้งในบริบทของทรรศนะทางการเมือง และจิตวิทยาทางการเมืองของชนชั้นนำสยามแล้ว ไม่มีอะไรจะ "น่ากลัวและน่ากังวล" มากเท่ากับ "การปฏิวัติซินไห่" ของ ดร.ซุนยัตเซ็น (The Xinhai Revolution) หรืออาจเรียกว่า "การปฏิวัติ 1911" (The 1911 Revolution) ที่เกิดขึ้นในปีดังกล่าว
ต่อมาในปี 1912 การปกครองแบบระบอบกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงในจีนได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ (20 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม) และขณะเดียวกันก็เป็นจุดกำเนิดของสาธารณรัฐจีน (Republic of China) และในอีกด้านก็คือ การจบลงของจักรวรรดิจีน (The Imperial China) ที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน มากกว่า 2,000 ปีในประวัติศาสตร์ ... ไม่น่าเชื่อเลยว่า จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในโลกของเอเชียไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ ไม่ว่าจะมองมุมภายนอกหรือภายใน หลายกลุ่มการเมืองในสังคมจีนที่เปิดการเคลื่อนไหว ล้วนมีวัตถุประสงค์เดียวกันที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกลุ่มเหล่านี้ความเห็นตรงกันว่า ระบอบการปกครองแบบเก่าล้าหลัง และไม่พร้อมที่จะพาประเทศจีนเดินไปสู่อนาคตข้างหน้าได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติการปกครองในระบอบเก่าที่รวมศูนย์อำนาจไว้กับฮ่องเต้ในพระราชวังต้องห้าม
แม้จีนจะไม่ถูกเจ้าอาณานิคมยึดครองเช่นที่หลายราชสำนักในเอเชียต้องเผชิญ แต่การพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งแรกในปี 1842 คือสัญญาณที่ชัดเจนว่า จีนอ่อนแอและล้าหลังเกินกว่าที่รับมือกับการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก และการแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่สองในปี 1860 ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการตอกย้ำสถานะแห่งความอ่อนแอของจีนอีกครั้ง แต่การเผชิญกับปัจจัยภายนอกของจักรวรรดิจีน แม้จะไม่ได้จบลงด้วยการตกเป็นอาณานิคม แต่ผลดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนเอง
ราชวงศ์ที่ปกครองจีนไม่ได้ล้มด้วยอำนาจของเจ้าอาณานิคม เช่นในกรณีของพม่า หรือเวียดนาม แต่กลับยุติลงด้วยการต่อสู้ของขบวนการเมืองภายในที่ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉากสุดท้ายปิดลงด้วยการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธที่อู่ชาง (The Wuchang Uprising) และตามมาด้วยการสิ้นสุดของราชวงศ์ใหญ่ของเอเชียในปี 1912
ในอีกด้านของการเมืองเอเชีย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในพื้นที่การปกครองรอบสยามนั้น ถูกโค่นล้มลงโดยเจ้าอาณานิคมไปก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัฐอาณานิคมแต่อย่างใด เพราะอำนาจรัฐถูกควบคุมโดยรัฐมหาอำนาจตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคม (ข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบของระบอบการปกครองในประเทศเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นในยุคหลังได้เอกราชแล้ว)
แน่นอนว่าราชสำนักที่กรุงเทพฯเฝ้าดู "การปฏิวัติจีน" ด้วยความกังวล แม้โลกาภิวัตน์ที่เป็นการเชื่อมต่อของโลกในแบบสมัยใหม่จะยังไม่เกิดในยุคสมัยนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสการปฏิวัติจีนได้เดินทางมาถึงสยาม ดังจะเห็นได้ว่า ดร.ซุนยัตเซ็นเองได้เคยเดินทางเข้ามาพบพี่น้องชาวจีนในสยามถึง 4 ครั้ง เพื่อแสวงหาความสนับสนุนให้แก่การปฏิวัติของเขา หรือหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ที่ออกเผยแพร่ในสยามก็มีเรื่องของการปฏิวัติจีนเป็นประเด็นสำคัญในการนำเสนอ
ดังนั้น ความสําเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงกลายเป็นหัวข้อข่าวสารที่สำคัญที่ผู้สนใจการเมืองในสยามติดตามด้วยความสนใจ และยิ่งเป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสําเร็จในจีนก็ถูกเฝ้ามองด้วยความสนใจจากผู้คนส่วนนี้ และพวกเขาเองก็มีความหวังว่า จะสร้างปรากฏการณ์อย่างเดียวกันในสยามให้ได้
น่าสนใจอย่างมากว่า แกนนำทางความคิดเป็น "กลุ่มทหารหนุ่ม" ที่ส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับร้อยตรีและร้อยโทเท่านั้นเอง และมีนายทหารยศร้อยเอกเป็นหัวหน้า แต่แล้วการเคลื่อนไหวนี้จบลงด้วยการถูกจับกุมในต้นปี 1912 การปฏิวัติในสยามครั้งแรกปิดฉากลงอย่างรวดเร็ว ... นักปฏิวัติจีนประสบความสำเร็จในการลุกขึ้นสู้ในปี 1911 และนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบเก่าในปี 1912 แต่ชีวิตของนักปฏิวัติสยามจบลงด้วยมหันตโทษในเรือนจำในปีเดียวกัน (นับเหตุการณ์ในสยามตามปีสากล)
--มองจีน เห็นสยาม
ดังนั้น หากเรากำหนดเส้นเวลาที่ปี 1932 และถอยกลับไปไกลแล้ว จะพบว่า 90 ปีก่อนการปฏิวัติสยามนั้น จักรวรรดิจีนที่เป็นดังรัฐมหาอำนาจใหญ่แห่งเอเชียแพ้สงครามให้กับกองทัพของมหาอำนาจตะวันตกในปี 1842 การพ่ายแพ้ครั้งนี้อาจไม่เกี่ยวโยงโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงในปี 1932 แต่ก็เป็นจุดที่ยืนยันให้แก่ผู้ที่เฝ้ามองอนาคตด้วยข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ระบอบการปกครองแบบเก่าไม่อาจรับมือกับการคุกคามของรัฐมหาอำนาจตะวันตกได้
สภาวะเช่นนี้ทำให้ "นักปฏิรูปสยามชุดแรก" ที่ประกอบด้วย 4 เชื้อพระวงศ์ และ 7 ข้าราชการประจำสถานทูตสยามในยุโรป ได้ทำข้อเสนอถึงรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการเมืองของสยามในปี 1885 (47 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง) อันเป็นจุดเริ่มต้นของความต้องการที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อให้ประเทศมีความทันสมัยมากพอที่จะเผชิญกับภัยคุกคามที่มาจากรัฐมหาอำนาจภายนอกได้ แต่ข้อเสนอนี้ก็มิได้มีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อย่างใด เพราะเป็นข้อเสนอแบบปฏิรูปที่มาจาก "ชนชั้นบน" ไม่ใช่เป็นแรงกดดันทางสังคมที่เป็นกระแสจาก "ข้างล่าง" ในแบบของการปฏิวัติ
ในสมัยรัชกาลที่ 6 กระแสความคิดเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง" เริ่มปรากฏตัวขึ้นจริง ดังที่กล่าวแล้วว่า ในต้นปี 1912 การจับกุมคณะนายทหารใน "เหตุการณ์ รศ.130" คือคำยืนยันถึงความต้องการจาก "ข้างล่าง" ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสยาม แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดครั้งนี้ต่างจากข้อเสนอของ "คณะปฏิรูป 1885" อย่างสิ้นเชิง เพราะ "คณะทหารหนุ่ม" ไม่ได้คิดในแบบนักปฏิรูป แต่มองว่า ถึงเวลาที่สยามต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังแล้ว และอาจจะต้องถือว่าคณะนายทหารชุดนี้เป็น "นักปฏิวัติสยามชุดแรก"
ดังนั้น หากพิจารณาข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดในปี 1912 (20 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง) แล้ว สัญญาณที่ชัดเจนในอีกด้านคือ นับจากนี้ไปราชสำนักที่กรุงเทพฯจะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มากขึ้นจากการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ และการเรียกร้องเช่นนี้จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แม้การต่อสู้เรียกร้องเช่นนี้ในสยามจะไม่ซับซ้อน
มากเท่ากับกรณีของจีน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า ราชสำนักที่กรุงเทพฯในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มเผชิญหน้ากับ "กระแสใหม่" ของยุคนั้นมาแล้ว ... กระแสข้างบนจาก "คณะปฏิรูป 1885" และกระแสข้างล่างจาก "คณะทหารหนุ่ม 1912" (คณะนายทหาร รศ.130)
แม้กระแสทั้งสองจะไม่สามารถนำพาการเมืองสยามไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเช่นที่ต้องการได้ และด้านหนึ่งสงครามโลกครั้งที่ 1 อาจจะเข้ามาเป็นตัวขั้นเวลา และในอีกด้านชัยชนะของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 เอื้อให้อำนาจของราชสำนักมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว สยามได้กลายเป็น "สมาชิกผู้ก่อตั้ง" สันนิบาตชาติที่กำเนิดขึ้นในปี 1919 ซึ่งเท่ากับการส่งเสริมสถานะของรัฐบาลกรุงเทพฯในเวทีระหว่างประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นครั้งแรกที่สยามนั่งในองค์กรระหว่างประเทศด้วยสถานะใหม่ที่เท่าเทียมกับเจ้าอาณานิคม และชัยชนะครั้งนี้ช่วยส่งเสริมและดำรงสถานะของของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ต่อไปได้
หลังจากความล้มเหลวของคณะทหารครั้งนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงไม่ปรากฏให้เห็นอีกในที่สาธารณะ แต่ในขณะเดียวกัน ความกังวลของราชสำนักกรุงเทพฯต่อความเปลี่ยนแปลงใน "ตัวแบบจีน" ไม่เคยหมดไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความผันแปรของการเมืองโลก และอีกส่วนเป็นผลจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่า การเมืองไทยในยุคหลังสงครามโลกจะผันแปรไปดังเช่นที่ความยุ่งยากของการเมืองโลกกำลังก่อตัวขึ้นในยุโรปขณะนั้นหรือไม่
ในเวทีโลกนั้น หลังการก่อตัวของสันนิบาตชาติในปี 1919 แล้ว ก็เห็นถึงการที่มุสโสลินีประกาศจัดตั้งพรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี และในปีต่อมา ก็เห็นถึงฮิตเลอร์เปิดการเคลื่อนไหวในเยอรมนี และหนึ่งในหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเมืองโลกคือ เหตุการณ์ "เดินขบวนสู่โรม" (March on Rome) ของมุสโสลินีในปี 1922 อันเป็นดังจุดเริ่มต้นของการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลฟาสซิสต์ในอิตาลี (10 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
ปี 1922 ยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกสองประเด็นคือ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชวงศ์เพราะการแพ้สงครามโลกแล้ว มุสตาฟา เคมาล ได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐขึ้นในตุรกี เช่นเดียวกับหลังการสิ้นสุดของระบอบการปกครองของพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย เลนินได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐสหภาพสังคมนิยมโซเวียต (USSR) อันเท่ากับเป็นสัญญาณว่า นับจากนี้ราชสำนักสยามอาจจะต้องปัญหาที่ต้องกังวลอีกประการคือ การมาของ "อุดมการณ์สังคมนิยม" ที่ก่อตัวขึ้นในเวทีโลกอันเป็นผลจากการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ซึ่งในมุมมองของฝ่ายรัฐสยามนับจากนี้แล้ว ความคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น จึงอาจถูกนำมาเชื่อมโยงกับลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ไม่ยากนัก
--สยามในโลกที่ผันผวน!
ฉะนั้นหากพิจารณาจากมุมมองภายนอกแล้ว ในเวลา 20 ปีก่อนการปฏิวัติสยาม ได้เห็นถึงความสําเร็จของ ดร.ซุนยัตเซ็น ในการจัดตั้งสาธารณรัฐจีนที่ปักกิ่ง ... 10 ปีก่อนสยามเปลี่ยน เห็นถึงความสําเร็จของเลนินในการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตที่มอสโก และบทบาทของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวทีโลก
ในขณะที่การขับเคลื่อนของกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวทีโลกก่อตัวเป็นคลื่นลูกใหญ่ และส่งผลต่อการเมืองภายในของสยามแล้ว คลื่นอีกลูกก็เข้ามากระแทก "รัฐนาวาสยาม" อย่างรุนแรง เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Recession) ในช่วงปี 1929/1930 ... สองปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในสยาม เศรษฐกิจโลกลากเศรษฐกิจสยามลงเหวไปด้วย
ฉะนั้นสภาวะของ "คลื่นสองลูกใหญ่" ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของกระแสโลก ที่ถาโถมซัด "รัฐนาวาลำเก่า" ของสยามเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า "เรือลำเก่า" น่าจะไปไม่ไหว และการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสยามน่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติสยาม ญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของเอเชียก็ตัดสินใจบุกแมนจูเรียในปี 1931 สงครามครั้งนี้เป็นโจทย์ของความผันผวนในเอเชียที่ส่งผลกระทบกับภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว สงครามของญี่ปุ่นย่อมกระทบกับอนาคตสยามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
แน่นอนว่าราชสำนักที่กรุงเทพฯกำลังมีความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นหลายเรื่องอย่างปฏิเสธไม่ได้ โลกที่ล้อมรัฐสยามไม่เพียงแต่ผันผวนเท่านั้น หากแต่ยังท้าทายต่อสยามอย่างมากด้วย ในขณะที่การเมืองภายในของสยามเองก็ผันผวนเช่นกัน และมีข่าวเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองมีอยู่ตลอดในช่วงเวลานั้น
แล้วในท่ามกลางความผันผวนดังกล่าว สามัญชน กลุ่มหนึ่งในนามของ "คณะราษฎร" ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 1932 ... ทอดเวลาห่างจากความล้มเหลวของ "คณะทหารหนุ่ม" เป็นเวลา 20 ปี ห่างจากการเปลี่ยนแผ่นดินในจีน 20 ปี ห่างจากการจัดตั้งระบอบฟาสซิสต์ในอิตาลี 10 ปี ห่างจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2 ปี และห่างจากการเปิดสงครามของญี่ปุ่นในเอเชียเพียง 1 ปี แต่ก็ก่อนการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมนี 1 ปี และความผันผวนเช่นนี้จะขยายตัวจนเป็นวิกฤตใหญ่ในเวลาต่อมาด้วยกำเนิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ในยุโรป และปี 1941 ในเอเชีย
ดังนั้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นจริงในสยาม เราจึงอาจกล่าวในมุมของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ว่า "กระแสปฏิวัติสยามคือกระแสปฏิวัติโลก" นั่นเอง เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยภายนอกดังที่กล่าวในข้างต้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ... ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง!
โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
โฆษณา