Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
25 มิ.ย. 2020 เวลา 13:55 • กีฬา
กุส ฮิดดิงก์ : ผู้นำที่ปรับโหมดเป็นได้ทั้งพ่อพระและปีศาจเพื่อสร้าง "ทีมเวิร์ก"
"อย่ารีดเลือดกับปู" ภาษิตไทยคำนี้หมายความว่าจงอย่าบีบคั้นหรือกดดันใครเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาไม่มีวันให้ได้ ...
นี่คือเรื่องราวของ กุส ฮิดดิงก์ กุนซือชาวดัตช์ที่พบว่า ก่อนที่จะเลือกวิธีดูแลและอบรมลูกน้องหรือนักเตะภายใต้การกุมบังเหียนนั้น จำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าขีดจำกัดของคนๆ นั้นมีอยู่แค่ไหน และเป้าหมายของทีมคืออะไร ซึ่งถ้าเลือกได้ถูกผลลัพธ์ที่ออกมาจะยอดเยี่ยมเกินคาด และบางครั้งอาจจะถูกกล่าวถึงในฐานะปาฎิหาริย์เลยก็เป็นได้
ติดตามการหาสมดุลระหว่างโหมดพ่อพระและซาตานของกุนซืออารมณ์ดี ที่เคยสงสัยในวิธีการทำงานของตัวเองได้ที่นี่
อดีตสอนใจ
สิ่งแรกที่ต้องยอมรับคือ กุส ฮิดดิงก์ เกิดมาเพื่อเป็นโค้ชอย่างแท้จริง เพราะหลังจากการค้าแข้งในลีกดัตช์เสียเป็นส่วนใหญ่ตลอด 15 ปี ฮิดดิงก์ ก็แขวนสตั๊ดและเริ่มไปเรียนใบประกอบวิชาชีพโค้ชฟุตบอลเป็นเวลาถึง 5 ปี จนสุดท้ายเขาได้งานในปี 1987 กับสโมสร พีเอสวี ไอน์โฮเฟ่น ซึ่งเป็นอดีตทีมที่เขาเคยค้าแข้งในช่วงสั้นๆ
Photo : @psveindhoven
ฮิดดิงก์ อธิบายถึงนิสัยและสิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดเมื่อเป็นเจ้านายเองคือ "ความสามัคคี" เขาต้องการรวบรวมนักเตะให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ก่อน หลังจากนั้นทุกอย่างจะตามมาเอง และการคุมทีม พีเอสวี ปีแรก ฮิดดิงก์ สามารถนำทีมคว้าแชมป์ลีกได้ทันที ทั้งๆ ที่ ณ เวลานั้นหากจะเทียบความยิ่งใหญ่แล้ว พีเอสวี ยังเป็นรองทั้ง อาแจ็กซ์ และ เฟเยนูร์ด 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
"ฮิดดิงก์ ไม่ใช่คนที่เอาเครดิตทั้งหมดไว้กับตัวเอง เขาถามหาความร่วมมือจากสตาฟฟ์และลูกทีมทุกคน เขาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งภายในทีม ความสามัคคี เขาพร้อมจะรับฟังผู้เล่นทุกคน เขาคือทีมเพลย์เยอร์ตัวจริง" แบร์รี่ ฟาน เอร์เล่ อดีตลูกทีมของเขากล่าวถึงเรื่องราวที่ได้พบจากการเป็นลูกทีมของ ฮิดดิงก์
ความสำเร็จและวิธีการทำงานแบบให้ใจกับทุกคน ทำให้ ฮิดดิงก์ ได้รับงานในต่างแดนทั้งที่ตุรกีกับสโมสร เฟเนร์บาห์เช่ และที่สเปนกับสโมสร บาเลนเซีย จนกระทั่งได้รับงานที่ท้าทายที่สุดในชีวิตในปี 1995 นั่นคือการได้กลับมายังเนเธอร์แลนด์อีกครั้งในนามกุนซือใหญ่ทัพอัศวินสีส้ม
Photo : EPA
งานที่ใหญ่มาพร้อมกับสิ่งที่เขาไม่เคยเจอ ฮิดดิงก์ เคยคุมทีม พีเอสวี ได้แชมป์ลีกด้วยวิธีที่ที่เอาใจทุกคน คุมห้องแต่งตัวให้อยู่ และทุกคนเท่ากัน แต่ที่ เนเธอร์แลนด์ ณ เวลานั้นทีมเป็นการรวมตัวของสตาร์ที่กำลังดังมากมาย ทั้งกลุ่มเด็กนรกชุดแชมป์ยุโรปจาก อาแจ็กซ์ และ เดนิส เบิร์กแคมป์ จาก อาร์เซน่อล
ปัญหาคือการทำงานของ ฮิดดิงก์ นั้นถือว่าผิดจริตกับการทำงานของ หลุยส์ ฟาน กัล กุนซือของ อาแจ็กซ์ ในเวลานั้น มีการเปรียบเทียบว่าหาก ฟาน กัล คือ "Iron Tulip" หรือ "ทิวลิปเหล็ก" ที่แข็งกร้าว ดุเดือด และไม่ฟังใคร ฮิดดิงก์ ก็เป็นเหมือน "Velvet Rose" ดอกกุหลาบแดงผู้อ่อนโยน กล่าวคือวิธีการทำงานของ ฟาน กัล นั้นคือการควบคุม แต่วิธีการทำงานของ ฮิดดิงก์ คือ ปล่อยวาง นั่นเอง
ฮอลแลนด์ ในช่วงเวลาที่ ฮิดดิงก์ คุมนั้นถือว่าเริ่มต้นได้ไม่ค่อยดีนัก ในยูโร 1996 เขาประสบปัญหาเอาลูกทีมไม่อยู่ เนื่องจากการเป็นคนที่ปล่อยนักเตะเกินไปทำให้เกิดการแข็งข้อขึ้น โดยแกนหลักที่ต่อต้านเขาคือ เอ็ดการ์ ดาวิดส์ จอมทัพจาก อาแจ็กซ์ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของ ฟาน กัล ที่มีปากเสียงกันหนัก และสุดท้าย ดาวิดส์ ก็ถูกไล่ออกจากทีมชุดดังกล่าวระหว่างทัวร์นาเมนต์เลยทีเดียว
ฮิดดิงก์ ประคับประคองทีมชุดนั้นไปต่อได้อีก 2 ปี โดยเขาเลือกที่จะยอมและลดความบาดหมางด้วยการเรียก ดาวิดส์ กลับมาติดทีมชาติอีกครั้งในฟุตบอลโลกปี 1998 ซึ่ง ณ เวลานั้น เนเธอร์แลนด์ ไปได้ไกลถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ก่อนที่พวกเขาจะแพ้ให้บราซิลในรอบรองชนะเลิศและจบอันดับ 4 ไป หลังจบทัวร์นาเมนต์นั้น ฮิดดิงก์ ก็ลาออก
Photo : www.uefa.com
"ฮิดดิงก์ ฟังความเห็นผู้เล่นคนอื่นมากเกินไป" ดาวิดส์ ว่าถึงเหตุผลที่เขาทะเลาะกับ ฮิดดิงก์ ในเวลานั้น ขณะที่ คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ นักเตะตำแหน่งกองกลางที่เป็นเพื่อนซี้กับ ดาวิดส์ ก็พยายามจะอธิบายในทิศทางเดียวกันว่า ฮิดดิงก์ "คลั่งความสามัคคี" มากเกินไป เขาพยายามจะมอบโอกาสลงสนามให้นักเตะทุกคน แต่กลับมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดในฟุตบอลระดับสูงไป นั่นคือการเลือกนักเตะที่ดีที่สุดลงสนามนั่นเอง
"เรามีเวลาเตรียมตัวก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มสามสัปดาห์ เราต้องสร้างรูปแบบการเล่น แต่ทุกอย่างผิดพลาดไปหมด เขาเลือกอุ่นเครื่องแค่เกมเดียว และในเกมนั้น (เจอกับ สวิตเซอร์แลนด์) ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไม ดาวิดส์ จึงต้องอยู่บนม้านั่งสำรอง (ลงสนามแค่ช่วง 10 นาทีสุดท้าย)" เซดอร์ฟ ว่าไว้
เรื่องดังกล่าวอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เหตุการณ์ในฟุตบอลยูโร 1996 คือช่วงเวลาที่ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ปั่นป่วนไปหมด ฮิดดิงก์ ประคองทีมไม่อยู่จนถึงขั้นที่มีข่าวเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในทีมชุดนั้น บ้างก็ว่าเขาไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เล่นผิวสีที่มีเชื้อสาย ซูรินาเม อย่าง ดาวิดส์, เซดอร์ฟ, พาทริก ไคลเวิร์ต และ มิเชล ไรซีเกอร์ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันลงเอยด้วยการเสียการควบคุมในห้องแต่งตัว และสุดท้ายต้องตามง้อนักเตะเสียเอง
"นักเตะที่ผมไม่ชอบที่สุด คือนักเตะที่ไม่จริงจังกับการทำงาน ตัวอย่างเช่นนักเตะที่รวดเร็วและมีทักษะดี กลับเล่นเพื่อตัวเองไม่ยอมส่ง พอตัวเองเล่นผิดพลาดก็เริ่มที่จะโทษเพื่อนร่วมทีม นักเตะพวกนี้น่าผิดหวังจริงๆ ผมมีชื่ออยู่ในหัวนะ สำหรับนักเตะพวกนี้ที่คิดว่าตัวเองเก่งเกินความเป็นจริง" นี่คุณสมบัตินักเตะที่ฮิดดิงก์ไม่ชอบ และถึงแม้ไม่บอกชื่อก็พอจะเดาออกว่า นักเตะที่กล้าทำแบบนี้กับเขาย่อมเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน
Photo : www.uefa.com
ฮิดดิงก์ ได้เริ่มงานใหม่ที่ เรอัล มาดริด หลังจากมีผลงานดีการันตีมาจากฟุตบอลโลก 1998 ซึ่งปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้น นั่นคือนักเตะระดับสตาร์ยังคงไม่มอบใจและพร้อมทำตามที่เขาบอกร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นมีผลอย่างมากต่อการทำลายปรัชญาการทำงานของเขา ...
"เมื่อนักเตะของคุณกระโจนขึ้นรถปอร์เช่ พวกเขาก็ไม่อยากจะเตะบอลแล้วล่ะ" ฮิดดิงก์ กล่าวถึงช่วงเวลานั้น ก่อนที่เขาจะคุมทีมได้ในระยะสั้นๆ ไม่กี่เดือนก็โดนไล่ออก และยังล้มเหลวต่อเนื่องในการคุม เรอัล เบติส เรียกได้ว่าปรัชญาการทำทีมของเขาเสียทรง จนแทบรู้สึกว่าการเป็นคนใจดี อาจจะไม่เหมาะกับการทำทีมฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จนัก แต่สุดท้ายความเชื่อนั้นก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาได้ไปคุมทีมชาติเกาหลีใต้ เพื่อสู้ศึกฟุตบอลโลก 2002 ที่ทัพโสมขาวเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น
ประเมินให้ดีก่อนจะเลือกวิธีปกครอง
ฮิดดิงก์ ได้งานที่ เกาหลีใต้ และมีเวลา 1 ปีก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม ช่วงแรกๆ เขาเป็นโค้ชยุโรปที่ถูกสื่อในประเทศมองว่ายังไม่ใช่โค้ชที่เหมาะสม เพราะในวันเปิดตัวที่สื่อมากันทั้งประเทศ ฮิดดิงก์ พาภรรยาของเขามาออกงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่วงรับประทานอาหารหรือช่วงให้สัมภาษณ์ ซึ่งจะด้วยวัฒนธรรมหรืออะไรก็ตาม ชาวเกาหลีใต้มองว่าเขาเป็นโค้ชที่ไม่มาเพื่อทำหน้าที่อย่างจริงจัง
Photo : dpgmedia.net
นอกจากนี้ผลงานก็ยังแย่มาก ในช่วงแรกพวกเขาอุ่นเครื่องแพ้ฝรั่งเศส 0-5 เอาชนะไม่ได้แม้กระทั่งคิวบา และ แคนาดา จนมีข่าวว่าเขาจะโดนไล่ออกก่อนฟุตบอลโลกเริ่มเลยด้วยซ้ำ แต่ช่วงเวลานั้น ฮิดดิงก์ เปิดเผยว่าเขาไม่เคยเจอกับสภาพการทำงานแบบนี้มาก่อน การมาทำงานโค้ชที่เกาหลีใต้ มีทั้งสิ่งที่เหมาะกับคนอย่างเขา และสิ่งที่เขาไม่เคยเจอที่ไหน
สิ่งที่แปลกคือระบบอาวุโสในทีม ซึ่ง ฮิดดิงก์ มองว่าเป็นระบบที่เกาะกินวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ทั้งในและนอกสนาม เขาจึงตัดสินใจเดิมพันด้วยปรัชญา "สร้างครอบครัวและความสามัคคี" เกิดขึ้นในทีม ด้วยการผลักดันนักเตะอายุน้อยที่มีแววเข้ามาติดทีม โดยเน้นไปที่ความฟิต อาทิ พัค จี ซอง เป็นต้น ซึ่งการดันเด็กชุดนั้นขึ้นมา ทำให้วิธีการทำงานแบบคนใจดีของเขามีประสิทธิภาพถึงขีดสุด เพราะไม่ว่าเขาจะบอกอะไร นักเตะจะทำตามโดยไม่มีข้อแม้
1
"พวกเขาเป็นเหมือนกับทหาร และผมเป็นผู้สั่งการ ไม่ว่าผมจะบอกอะไรพวกเขา พวกเขาจะทำตามสิ่งที่ผมบอก นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี พวกเขาคือก้าวแรกแห่งอนาคต" ฮิดดิงก์ ว่าไว้และเรียกกลุ่มนักเตะชุดนั้นว่า "สุนัขหนุ่ม"
Photo : english.hani.co.kr
ฮิดดิงก์ รู้ดีว่าเขาจะไม่ทำให้สุนัขหนุ่มของเขามีความรู้สึกในด้านลบโดยตรงเด็ดขาด เด็กๆ พวกนี้เคารพและเชื่อฟังเขาในแง่ของการเป็นโค้ชใจดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าตกยุคไปแล้วในตอนแรก แต่ปัญหาก็คือคุณภาพของนักเตะเหล่านี้โดน ฮิดดิงก์ ประเมินว่า ถ้าอยากจะไปไกลในฟุตบอลโลกจะต้องแก้ไขกันอีกเยอะ ฮิดดิงก์ เคยให้สัมภาษณ์กับ FourFourTwo ว่าการคุมเกาหลีใต้ให้ประสบความสำเร็จคืองานที่ยากที่สุดในชีวิตเขา เพราะมีความยากลำบากทั้งในแง่ขีดจำกัดของนักเตะ และการสื่อสารที่เขาต้องใช้ภาษาอังกฤษกับลูกทีม ดังนั้นจะต้องมีการด่า, การเตือน โดยทางอ้อมขึ้นมา เพื่อให้นักเตะรับรู้ได้โดยไม่ได้รับการกระทบโดยตรง
ฮิดดิงก์ วางแผนกับผู้ช่วยของเขาอย่าง ชุน ฮัน-จิน และ พัค ฮัง ซอ (ที่ในเวลาต่อมาได้เป็นเฮดโค้ชทีมชาติเวียดนาม) ว่า ต่อจากนี้เขาจะใช้จิตวิทยาด้วยการตีวัวกระทบคราด นั่นคือเมื่อนักเตะทำได้ไม่ดี ทำตามที่เขาสั่งไม่พอ เขาจะเลือกด่าไปที่โค้ชทั้ง 2 คนเอง เพื่อให้นักเตะรู้สึกว่าตัวเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้โค้ชโดนด่า เพราะแน่นอนว่าวัฒนธรรมของชาวเอเชียแทบจะทุกประเทศส่วนใหญ่นั้นนับถือรุ่น นับถือโค้ชในฐานะครูบาอาจารย์ทั้งนั้น ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้นักเตะเกาหลีใต้ทุ่มเทยิ่งกว่าเดิม เมื่อ 2 โค้ชโดนด่าแทนพวกเขา
Photo : www.espn.com
"บางครั้งเขายังชอบแกล้งโมโหและด่าผม เพื่อให้นักเตะเข้าใจว่าการที่พวกเขาไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของ ฮิดดิงก์ ทำให้ผมต้องตวาด เขามีเจตนาทำมันเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกผิด" ชุน ฮัน-จิน กล่าวยืนยันเรื่องนี้
การไม่ดุไม่ด่านักเตะโดยตรง และใช้การสอนเชิงจิตวิทยาเพื่อกลบจุดด้อยเรื่องฝีเท้า คือสิ่งที่ฮิดดิงก์ต้องคอยประคับประคองไม่ให้มันเกิดปัญหาซ้ำอีก แต่สุดท้ายนักเตะเกาหลีใต้ชุดนั้นก็ข้ามกำแพงของภาษา และเข้าใจสิ่งที่เขาจะสื่อ นั่นคือจงอย่ากลัวในการเจอกับคนที่เก่งกว่า และรู้หน้าที่ของตัวเองเสมอ
"ผู้เล่นของเกาหลีใต้ทั้งทีมคือคำเปรียบเทียบที่เหมาะกับคำว่า 'ทำงานหนัก' มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอ" ฮิดดิงก์ ว่าไว้เช่นนั้น และการเอาน้ำเย็นเข้าลูบก็ส่งผลให้เกาหลีใต้กลายเป็นทีมแรกในเอเชียที่เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ แม้ว่าที่สุดแล้วเรื่องราวระหว่างทางจะชวนให้กังขาขนาดไหน แต่การพาทีมโนเนมโชว์การเล่นแบบวิ่งสู้ฟัดกับทีมยักษ์ใหญ่ได้ ล้วนแต่เป็นเครดิตที่ ฮิดดิงก์ ควรได้รับอย่างแท้จริง
ตกผลึกจนทุกวันนี้
ชีวิตการทำงานของ ฮิดดิงก์ หลังจากกลายเป็นฮีโร่ของชาวเกาหลีใต้ เขาถูกแต่งตั้งให้เป็นพลเมืองผู้ทรงเกียรติของเกาหลีใต้ ได้รับเงินสดจำนวนมาก ได้ตั๋วบินฟรีตลอดชีวิตจากสายการบินนานาชาติ บ้านพักอากาศที่เกาะเซจู เรียกได้ว่า ณ เวลานั้น ฮิดดิงก์ มีเอฟเฟ็กต์กับธุรกิจกิจการต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก
Photo : AP
แต่สิ่งสำคัญที่สุดซึ่ง ฮิดดิงก์ ได้นั้น คือการตกผลึกถึงวิธีการทำงาน ก่อนหน้าจะมาคุมเกาหลีใต้ เขาเคยเป็นคนใจดีเกินไปจนเอาห้องแต่งตัวไม่อยู่กับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ แถมยังถูกหมางเมินจากลูกทีม เรอัล มาดริด ที่ไม่ให้ใจกับเขา แต่การมาคุมทีมชาติเกาหลีใต้ ทำให้เขาหาค่ากลางของการทำงานที่สมดุลได้อย่างแท้จริง
ฮิดดิงก์ เข้าใจลูกทีมมากขึ้น หากเขารู้ข้อจำกัดของนักเตะในทีม เขาก็จะกะเกณฑ์การสอนและการโยนความกดดันใส่ให้นักเตะคนนั้นไปถึงขีดสุดของตัวเองให้ได้ และเมื่อความสามารถในสนามเต็มกราฟแล้ว ก็ต้องเสริมสภาพจิตใจให้ได้ ให้นักเตะอยากจะลงเล่น อยากจะพิสูจน์ตัวเอง และสำคัญที่สุดคือการมีความสุขในการได้ทำงานในฐานะทีม
ปรัชญาของ ฮิดดิงก์ ได้รับการบอกเล่าผ่าน พัค จี ซอง ซึ่งได้ย้ายไปเล่นกับ พีเอสวี หลังจากที่ กุส ฮิดดิงก์ ชักชวน (หลังจากจบฟุตบอลโลก ฮิดดิงก์ กลับไปเป็นกุนซือ พีเอสวี อีกครั้ง) โดยบอกว่าเมื่อเขาได้ทำงานกับ กุส ที่ พีเอสวี เหมือนกับเขาเปลี่ยนเป็นคนละคน เพราะความใจดีที่เคยสอนนักเตะเกาหลีใต้ เปลี่ยนเป็นความโหดและเฮี้ยบ เคี่ยวทุกเม็ด ซึ่งแน่นอนว่ามันเกิดจากการประเมินที่รู้ดีว่านักเตะของ พีเอสวี ชุดนั้นมีศักยภาพที่สามารถเค้นได้อีก ดังนั้นการจริงจังกับการฝึกซ้อมคือทางออกที่ดีกว่าการเอาน้ำเย็นลูบนักเตะเหมือนตอนที่เขาคุมทีมเกาหลีใต้
ซึ่งปลายทางคือนักเตะของ พีเอสวี ชุดนั้นได้ไปเล่นในลีกใหญ่ๆ กับทีมใหญ่ๆ เกือบยกชุด ไม่ว่าจะเป็น พัค เอง, เอเรลโญ่ โกเมส, อเล็กซ์, วิลฟรีด บรูม่า, มาร์ค ฟาน บอมเมล, เจฟเฟอร์สัน ฟาร์ฟาน และ อิบราฮิม อเฟลลาย โดยนักเตะเหล่านี้พาทีม พีเอสวี เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2004-05 ก่อนจะแพ้อเวย์โกลให้ มิลาน ไปอย่างน่าเสียดาย
Photo : dpgmedia.net
ช่วงเวลาหลังจากนั้น ฮิดดิงก์ เป็นกุนซือมือดีที่ได้รับการว่าจ้างเสมอไม่ว่าจากทีมใหญ่ทีมเล็ก อาทิ ทีมชาติออสเตรเลีย, ทีมชาติรัสเซีย, ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงการได้คุมทีมสโมสรอย่าง เชลซี อีกถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลงานก็เป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด แม้อาจจะมีช่วงที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง และปัญหากระด้างกระเดื่องหรือการคุมห้องแต่งตัวไม่อยู่ก็ไม่เคยปรากฎกับเขาอีกเลย
ใจดีเกินไปก็ถูกมองข้าม ดุด่าว่ากล่าวมากเกินไปก็โดนต่อต้าน สุดท้ายแล้ว กุส ฮิดดิงก์ ก็ได้ค้นพบว่า สไตล์การคุมทีมที่เขาพยายามทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดไปเสียทั้งหมด เพียงแต่มันต้องประยุกต์ให้เข้ายุคเข้าสมัย เลือกใช้บางด้านกับคุณภาพเพื่อนร่วมงานและลูกน้องที่มี เมื่อนั้นคุณจะได้ทีมที่เป็นทีมจริงๆ ซึ่งเมื่อทีมเป็นทีมได้ ปาฎิหาริย์และผลการทำงานที่ดีเกินคาดก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอนั่นเอง ...
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2020/05/363_110145.html
http://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=1905811
https://www.fourfourtwo.com/features/guus-hiddink-q
https://sponsorcontent.cnn.com/2009/SPORT/football/04/17/guus.hiddink.profile/index.html
https://www.taegukwarriors.com/fuck-the-kfa-the-guus-hiddink-saga/
https://en.wikipedia.org/wiki/Guus_Hiddink
https://www.theguardian.com/football/blog/2012/feb/27/holland-euro-96-racism-england
https://www.irishtimes.com/sport/hiddink-sends-davids-home-1.58886
5 บันทึก
35
1
4
5
35
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย