28 มิ.ย. 2020 เวลา 08:13 • การศึกษา
"ผู้สูงอายุติดเตียงทำพินัยกรรมได้หรือไม่"
ผู้เขียนได้เคยเขียนเรื่อง "เคล็ดลับพินัยกรรมอย่างง่ายทำได้ด้วยตัวเอง" ไปแล้วซึ่งได้กล่าวถึงการทำพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญคือเจ้ามรดกที่จะทำพินัยกรรมต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนส่วนใหญ่ตอนร่างกายแข็งแรงดีจะไม่คิดเรื่องทำพินัยกรรม มักจะมาคิดทำตอนอายุมากที่รู้สึกตัวว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งอยู่ได้อีกไม่นานซึ่งตอนนั้นบางคนแม้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีพูดคุยรู้เรื่องแต่ก็อยู่ในสภาวะไปไหนมาไหนเองไม่ได้เรียกว่าอยู่ในสภาวะติดเตียง บางคนมีอาการแขนขาอ่อนแรงเซ็นชื่อไม่ได้ จึงมักจะมีคำถามว่าแล้วหากอยากทำพินัยกรรมจะทำได้หรือไม่
ผู้เขียนขอตอบว่าตราบใดที่ผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พูดคุยรู้เรื่องดี ไม่ได้อยู่ในอาการหลง ๆ ลืม ๆ คือจำได้ว่าลูกชื่ออะไร มีทรัพย์สินอะไรบ้าง อยากจะยกให้ใคร ย่อมทำพินัยกรรมได้ แต่จะทำอย่างไรให้พินัยกรรมไม่เป็นโมฆะหรือถูกคัดค้านว่าแอบทำโดยเจ้ามรดกไม่มีสติสัมปชัญญะ
โดยผู้เขียนมีคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่เขียนหนังสือไม่ได้รวมทั้งที่มีอาการติดเตียงแต่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ให้ดำเนินการดังนี้
1. ให้ผู้ที่ไว้วางใจได้เป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์พินัยกรรมให้ตรงตามความประสงค์ของเจ้ามรดก โดยวิธีการจัดทำให้อ่านรายละเอียดเรื่อง "เคล็ดลับพินัยกรรมอย่างง่ายทำได้ด้วยตัวเอง" ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5ebd84e441ccb1156b4d546c แล้วใช้การประทับลายนิ้วหัวแม่มือแทนการเซ็นชื่อ โดยระบุให้ชัด เช่น ลายนิ้วหัวแม่มือขวา แล้วมีพยานเซ็นรับรองลายนิ้วมือเพื่อให้การรับรองว่าลายนิ้วมือนี้เป็นของเจ้ามรดกจริง
นอกจากนี้ยังต้องมีพยานเซ็นรับรองในพินัยกรรม 2 คนพร้อมกันอีกต่างหากด้วยซึ่งพยานที่เซ็นรับรองพินัยกรรมนี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดตามที่ได้กล่าวรายละเอียดไว้แล้วในบทความข้างต้น
2. ต้องมีแพทย์เซ็นเอกสารรับรองการมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
3. มีคลิปวิดีโอขณะเจ้ามรดกประทับลายนิ้วมือโดยเจ้ามรดกต้องพูดคุยตอบโต้ แสดงความเข้าใจเนื้อหาในพินัยกรรมด้วย ไม่งั้นจะถูกคัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมที่แอบทำโดยเจ้ามรดกไม่มีสติสัมปชัญญะจะกลายเป็นโมฆะได้ ผู้อ่านสามารถอ่านเรื่อง "วิดิทัศน์ขณะทำพินัยกรรมจำเป็นเพียงใด"
ไหน ๆ จะทำพินัยกรรมทั้งทีต้องทำให้รัดกุมที่สุดไม่ให้ถูกคัดค้านได้ว่าเป็นโมฆะ ถ้าทรัพย์สินมีมากและมีแววว่าจะเกิดความขัดแย้งในหมู่ทายาทแนะนำว่าควรปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความจะดีกว่า
หลักกฎหมายเรื่องการลงลายมือชื่อ อ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9
"เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่"
ตัวอย่างฎีกาที่มีการคัดค้านพินัยกรรมศึกษาได้จาก
ฎีกาที่ 4698/2552 ย่อสั้น
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก
ส่วนย่อยาวจะมีรายละเอียดเรื่องการประทับลายนิ้วมือแทนการเซ็นชื่อตอนทำพินัยกรรมที่โรงพยาบาลด้วย อ่านได้ที่ https://deka.in.th/view-502741.html
เป็นกำลังใจให้นักเขียนด้วยการกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามด้วยค่ะ
#ทนายน้อยหน่า
28 มิถุนายน 2563
#FinanceAndLaw
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
โฆษณา