3 ก.ค. 2020 เวลา 05:15
เป้าหมายแรกที่ควรมีของแผนการเงิน
จากประสบการณ์การให้การวางแผนการเงินแบบองค์รวม ในทุกๆแผนการเงิน มีแผนหนึ่งที่ทุกๆคนมักตั้งเป้าหมายเป็นลำดับแรกๆของแผนการเงิน คือ เงินสำรองฉุกเฉิน
ผมขออธิบายนิยามหรือคำจำกัดความของเงินสำรองฉุกเฉินก่อนนะครับ
เงินสำรองฉุกเฉิน คือ เงินสำรองที่เราตั้งขึ้น เพื่อใช้ในโอกาสที่ไม่คาดคิด เช่น ต้องใช้เงินเร่งด่วน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ตกงาน หรือเจ็บป่วยไม่สบายกระทันหัน ทั้งกับตนเอง และบุคคลสำคัญในครอบครัว เช่น พ่อแม่ หรือลูกของเรา
โดยส่วนมากเงินสำรองฉุกเฉิน เรามักมีการออมกันผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อยู่แล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง และมักเป็นบัญชีเดียวกับบัญชีเงินเดือน หรือบัญชีใช้จ่าย
ต่อมาคือเงินสำรองเราควรตั้งเป้าหมายที่เท่าไหร่ดี
Cr. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผมขออ้างอิงตามทฤษฎีการวางแผนการเงินส่วนบุคคลก่อนนะครับ ในชีวิตจริงอาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ได้นะครับ สำคัญคือตัวเลขที่เราตั้งขึ้นเป็นตัวเลขที่เราสบายใจหรือไม่ หากมีเหตุต้องใช้เงินก้อนนี้จริงๆ เมือมีเหตุฉุกเฉินเข้ามา
ตามทฤษฎีการวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้น เงินสำรองฉุกเฉินที่เราควรมี คือ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ถ้าในแต่ละเดือนเราใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท เงินสำรองที่เราควรตั้งเป้าหมายไว้ ควรอยู่ประมาณ 90,000 - 180,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ขึ้นกับอาชีพด้วย เช่น บางอาชีพมีรายได้ไม่แน่นอน อาจตั้งเป้าหมายเท่ากับ ค่าใช้จ่าย 1 ปี ก็ได้ครับ
แต่หากใครมีภาระหนี้ระยะสั้นที่ไม่เกิน 1 ปี หรือมีแผนที่จะมีภาระ อาจเพิ่มเงื่อนไขว่าเงินสำรองที่มี ให้มากกว่าภาระหนี้ก้อนนั้นก็ได้ เช่น มีแผนจะซื้อ Macbook ราคา 60,000 บาท เลือกซื้อโดยบัตรเครดิต แล้วทยอยผ่อนรายเดือน ผ่านโปรโมชั่น 0% เงินสำรองที่เราควรตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นก็ควรมากกว่า 60,000 บาท เป็นต้น
ซึ่งปัญหาที่พบเจอเป็นประจำในการให้การวางแผนการเงิน คือ เงินสำรองฉุกเฉินมักเป็นบัญชีเดียวกับบัญชีเงินเดือน หรือใช้จ่ายประจำเดือน
แล้วทำไมถึงเป็นปัญหา?
เนื่องด้วยธรรมชาติของคนเราเมื่อเห็นเงินในบัญชีมาก มักมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เงินเดือนมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเก็บเงินได้ นี่คือปัญหาที่มักเกิดขึ้นกัน 😂😂
แล้วเราแก้ยังไงดี?
ง่ายมากเลยครับ เมื่อเราเห็นเงินในบัญชีใช้จ่ายเยอะ เราก็แยกเงินก้อนนี้ไปไว้อีกบัญชีที่เราตั้งขึ้นมาเป็นเงินสำรองฉุกเฉินโดยเฉพาะ
แล้วควรใช้บัญชีอะไรดี?
มีหลายทางเลือกมากครับ แต่หลักการสำคัญ คือ เป็นบัญชีที่เราไม่ได้มีไว้สำหรับการใช้จ่ายประจำเดือน เช่น
1. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้ครับ แต่เปิดบัญชีใหม่เพิ่มครับ
ข้อดี คือ สภาพคล่องสูง เมื่อต้องการใช้ สามารถโอนเงินหรือใช้จ่ายได้ทันที
ข้อเสีย คือ ดอกเบี้ยน้อยไปนิด คือ 0.5% ต่อปี (แต่ไม่ใช่เหตุผลสำคัญ) และมีโอกาสที่อาจนำเงินก้อนนี้ไปใช้อย่างอื่น พูดละมันเศร้า เจ็บมาเยอะ 🤣😢
2. กองทุนรวม แต่เป็นบัญชีที่แยกจากเป้าหมายอื่นนะครับ ไม่รวมกับเป้าหมายอื่นๆ เช่น เงินดาวน์รถ หรือ เกษียณ
ข้อดี คือ โอกาสในการใช้ด้วยเหตุไม่ฉุกเกินจะน้อยลง เพราะการถอนออกมีระยะเวลา 1- 2 วัน หลังส่งคำสั่งขาย และเเยกเงินเป็นหมวดหมู่ชัดเจน พร้อมโอกาสในการลุ้นผลตอบแทนขึ้นมานิดนึง
ข้อเสีย คือ เราต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนในเบื้องต้น เพราะกองทุนมีหลายประเภทมาก กองทุนที่เหมาะสำหรับเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ต้องเป็นกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำ และลงทุนในตราสารหนี้ (ระยะสั้นมาก - สั้น) หากเราลงทุนผิดกอง ชีวิตอาจเปลี่ยนได้ เช่น กองทุนหุ้น เพราะมีความผันผวนสูงมาก
3. บัญชี Cash Balance
เหมาะสำหรับคนที่ลงทุนในหุ้นเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องเปิดบัญชีเพิ่ม และหากต้องการซื้อหุ้นเร่งด่วน สามารถทำได้ทันที ส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับจะเท่ากับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ มีจุดที่ต้องระวัง คืออาจนำเงินไปซื้อหุ้นเกินเงินสำรองที่เราตั้งขึ้นได้
สุดท้ายเงินสำรองที่เราตั้งขึ้นอาจจะมากกว่า/น้อยกว่า ตัวเลขเชิงทฤษฎีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสบายใจและความจำเป็น เป้าหมายสำคัญ คือ เงินที่เรามีเพียงพอ หากต้องใช้จริงๆ
แต่...หากใครยังมีเงินสำรองฉุกเฉินไม่ได้ตามเป้าหมาย การทำบัตรเครดิตไว้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในระหว่างการทยอยออมเพื่อเป้าหมายนี้ เพราะหากมีเหตุฉุกเฉิน ก็ยังพอมีทางเลือกให้บ้าง ไม่ต้องไปหยิบยืมใคร
แต่...ถ้ามีมากไป การเริ่มต้นลงทุนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน หมั่นศึกษาหาความรู้ด้านลงทุน
เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ ✌✌✌
Ref. หนังสือวางแผนการเงินส่วนบุคคล ชุดวิชาที่ 1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา