6 ก.ค. 2020 เวลา 11:48 • ประวัติศาสตร์
“4 ทันสมัย (4 Modernization)” นโยบายปลุกพญามังกรจีนจากการหลับไหล
“ประธานเหมามีทฤษฎีที่คิดเอาไว้อย่างน่าสนใจ คือ ทฤษฎี 3 โลก ซึ่งประกอบไปด้วย โลกที่หนึ่ง คือ โลกของมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุด โลกที่สอง คือ โลกของประเทศที่พัฒนาแล้ว และโลกที่สาม คือ โลกของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเราต่างคิดว่าจีนอยู่ในประเทศโลกที่สามนี้” เติ้ง เสี่ยวผิง
นี่คือคำประกาศทฤษฎี 3 โลก ที่ UN โดยเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว...
คำประกาศที่แสดงจุดยืนของจีนว่าเป็นประเทศที่ยังล้าหลัง...
คำประกาศที่แสดงให้เห็นว่าจีนยังต้องพัฒนาอีกยาวไกล...
1
และเป็นคำประกาศที่บ่งบอกว่าจะมีการสร้างจีนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง...
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวของพญามังกรตัวหนึ่ง...
พญามังกรที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตกาล...
พญามังกรที่เคยโดนอัศวินจากตะวันตกรุมกระหน่ำอย่างบอบช้ำ...
พญามังกรที่เคยโกรธแค้นแล้วดันทำร้ายตัวมันเอง...
พญามังกรที่หลับไหลเหมือนใกล้ตายเพราะความบอบช้ำและความเหนื่อยล้า...
และแล้วพญามังกรตัวนั้นก็ได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งโดยพลังของชายร่างเล็กคนหนึ่ง...
ชายร่างเล็กที่ชื่อว่า “เติ้ง เสี่ยวผิง” และเขามาพร้อมกับพลังที่ชื่อว่า “4 ทันสมัย”
พลังที่จะปลุกพญามังกรจากการหลับไหลอีกครั้ง
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
จีนนั้นถือได้ว่าเป็นดินแดนที่สำคัญและผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนเลยล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นการที่เคยเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคสมัยอดีตกาล แต่ก็ต้องมาดรอปลงไปในสมัยราชวงศ์ชิงเพราะความอ่อนแอและถูกมหาอำนาจอื่นๆอย่างอังกฤษและญี่ปุ่นเข้ามากอบโกยผลประโยชน์
เมื่อราชวงศ์ชิงอ่อนแอจึงถูกโค่นล้มไปตามระเบียบใน ค.ศ.1911 จากการปฏิวัติซินไฮ่ แล้วจีนก็ถูกเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐจีน ที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย ซึ่งก็เหมือนจะไปได้ดี แต่ทว่าก็ได้มีแนวคิดหนึ่งที่เริ่มบูมขึ้นมานั่นคือ คอมมิวนิสต์
คอมมิวนิสต์ในจีนที่นำโดยเหมา เจ๋อตงได้เริ่มขยายตัวขึ้น ทำให้ขัดแย้งกับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียง ไคเช็ก
เมื่ออุดมการณ์และความคิดต่างกันจึงต้องตีกันเพื่อแย่งกันเป็นใหญ่ในที่สุด...
แต่เจียงกับเหมาตีกันยังไม่ทันรู้ผล ก็โดนญี่ปุ่นเข้ามารุกรานซะก่อนใน ค.ศ.1937 กลายเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ทั้งเจียงและเหมาจึงหันมาจับมือกันเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไป (แต่ส่วนใหญ่ก็ยังตีกันเองมากกว่าจะตีญี่ปุ่น) สุดท้ายญี่ปุ่นก็ได้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ถอนตัวออกไปจากจีน
คราวนี้เมื่อไม่มีตัวสอดแล้ว เจียงกับเหมาจึงกลับมาตีกันอย่างเต็มรูปแบบเหมือนเดิม จนในที่สุดฝ่ายที่ชนะก็คือ เหมา เจ๋อตงนั่นเองครับ
เจียงและก๊กมินตั๋งจึงหนีหัวซุกหัวซุนไปที่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) แล้วไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่นั่น
ฝ่ายเหมาที่ได้รับชัยชนะก็ได้ตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา แล้วเปลี่ยนจีนเป็นคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ.1949
แต่การปกครองของเหมานั้นเรียกได้ว่า ล้มเหลวแบบสุดๆ ถึงขนาดฉุดจีนให้ลงไปในหลุมเลยล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคอมมูน ซึ่งให้ที่ดินทุกผืนบนจีนเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล และวัตถุดิบทุกอย่างที่ประชาชนผลิตได้ต้องส่งให้รัฐ 100% แล้วรัฐจะให้ค่าจ้างประชาชนทุกคนเท่ากันทั้งหมด ไม่เกี่ยงว่าใครผลิตได้มากได้น้อย
บวกกับการใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล ที่ให้คนจีนเพิ่มกำลังผลิตแบบทวีคูณ อีกทั้งเป็นเวรกรรมหรือความซวยก็ไม่รู้นะครับ เมื่อจีนในตอนนั้นดันเกิดภัยแล้งแบบรุนแรงขึ้น
ผลคือ จากนโยบายของเหมาและภัยแล้ง ทำให้คนจีนเสียชีวิตไปกว่า 20 ล้านคนเลยล่ะครับ และที่สำคัญคือ เศรษฐกิจจีนก็พังพินาศย่อยยับลงไป
จากความผิดพลาดนี้ทำให้เครดิตของเหมาลดลงไป จึงเปิดโอกาสให้อัศวินขี่ม้าขาวสองคนได้ก้าวเข้ามาแก้สิ่งที่เหมาได้ทำเละเอาไว้ใน ค.ศ.1960
อัศวินที่ว่า คือ หลิว เส้าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง...
ภาพจาก The Nation (การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ.1949)
หลิว เส้าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิงได้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจีนที่กำลังย่อยยับ โดยใช้ “สามเสรี หนึ่งประกัน” คือ ยอมให้ประชาชนผลิตอย่างเสรีในแปลงเล็กๆ และสามารถเอาผลผลิตจากแปลงเล็กๆนั่นแหละไปขายเป็นกำไรตัวเองได้ (เพิ่มแรงจูงใจในการผลิตของประชาชน)
ทั้งสองคนนั้นได้นำพาจีนไปสู่ “ระบบสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด” ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาทีละนิดครับ แต่ทว่าก็มีพวกที่ไม่พอใจหลิวและเติ้ง โดยเฉพาะพวกแก๊งสี่คนที่นำโดยเจียงชิง ซึ่งเป็นภรรยาของเหมา พยายามที่จะเสี้ยมให้เหมากำจัด 2 คนนี้ออกไปซะ! พร้อมกับฟื้นอำนาจของเหมาขึ้นมาอีกที...
1
ด้านหลิวและเติ้งก็ไม่ได้สนใจครับ ก้มหน้าก้มตาพัฒนาประเทศต่อไป จนใน ค.ศ.1964 โจว เอิ้นไหล ได้คิดว่าจีนกำลังเข้าที่เข้าทาง จึงมีการเสนอแผนพัฒนาจีนขึ้นมาร่วมกับหลิวและเติ้ง
1
ใช่แล้วครับ แผนที่ว่า คือ “4 ทันสมัย” นั่นเอง...
แต่ไม่ทันที่จะได้ใช้ แก๊งสี่คนได้ทำการปลุกระดมเยาวชนนักศึกษาที่เรียกว่า เรดการ์ด ให้ทำลายอำนาจหลิวและเติ้ง โดยบอกว่า “หลิวและเติ้ง กำลังจะนำพาจีนไปสู่ลัทธิแก้ ซึ่งเป็นแนวทางของทุนนิยม โดยเป็นการหยามหน้าท่านประธานเหมาที่ยิ่งใหญ่ของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เด็ดขาด!”
ว่าแล้วพวกเรดการ์ดก็ได้ทำการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมาใน ค.ศ.1966 ซึ่งเป็นการทำลายจีนแบบย่อยยับพอๆกับนโยบายก้าวกระโดดไกลเลยล่ะครับ!
พวกเรดการ์ดมีจุดมุ่งหมายคือการทำลาย 4 เก่า ได้แก่ ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า นิสัยเก่า และประเพณีเก่า พูดง่ายๆคือ เป็นการทำลายรากเหง้าทุกอย่างของจีน “อะไรที่เป็นสิ่งแปลกปลอมจากประธานเหมา จะถูกทำลายจนหมดสิ้น!”
1
ด้านหลิวและเติ้งก็ถูกโค่นลงจากอำนาจ ทั้งยังถูกพวกเรดการ์ดทรมานแล้วลากไปประจานกลางถนน และสุดท้ายหลิว เส้าฉีก็เสียชีวิตใน ค.ศ.1969 ส่วนเติ้ง เสี่ยวผิงก็ถูกเนรเทศไปเป็นคนงานซ่อมรถแทรกเตอร์ที่เมืองหนานชาง
เหมา เจ๋อตงกลับขึ้นมามีอำนาจสูงสุด พร้อมๆกับการถอยหลังลงไปในหลุมของจีนอีกครั้งเช่นเดียวกัน...
ภาพจาก The New York Times (การทรมานและประจานของเรดการ์ดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน)
การปฏิวัติวัฒนธรรมได้ดำเนินไปอย่างรุนแรง จนใน ค.ศ.1973 ก็เริ่มผ่อนคลายลง เหมาจึงได้คิดทบทวนย้อนกลับไปครับว่า “เราทำอะไรลงไป แล้วตอนนี้กำลังนำพาจีนไปสู่รูปแบบไหน?”
ด้านโจว เอิ้นไหลที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเห็นท่าทีของเหมา จึงพยายามโน้มน้าวเหมาว่า “ให้นำเติ้งและพรรคพวกกลับมาอีกครั้ง” แต่เหมาก็ยังไม่ยอมทำตามและระแวงอยู่ในตอนแรก
โจว ก็ได้ทำการฟื้นฟูประเทศที่ถูกทำลายไปขึ้นมาเพียงลำพัง จนในที่สุดก็ล้มป่วย...
เมื่อเหมาเห็นโจวล้มป่วยลง จึงได้ตัดสินใจว่า “เอาก็เอาวะ!” แล้วนำเติ้งกลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้องของโจวในที่สุดครับ...
เหมาได้นำเติ้งกลับมาแล้วให้ตำแหน่งที่สูงพอสมควร คือ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ของเติ้งนั้น ทำให้เติ้งมีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหน้าคณะจีนไปประชุมที่ UN แล้วเติ้งได้นำเอาทฤษฎี 3 โลกของเหมาไปเผยแพร่
1
และเมื่อกลับประเทศจีน เติ้งก็ได้รับความนิยมสูงมาก! อีกทั้งใน ค.ศ.1976 โจว เอิ้นไหลก็ได้เสียชีวิตลง เต้ิงจึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมๆกับที่เหมาแต่งตั้งให้เติ้งเป็นทายาททางการเมืองของตัวเอง (เรียกได้ว่าอวยแบบสุดฤทธิ์เลยล่ะครับ)
แต่ฝ่ายที่ไม่พอใจสุดๆ คือ แก๊งสี่คน พวกนี้จึงทำการโจมตีเติ้ง พร้อมทั้งเสี้ยมเหมา จนเหมาหวาดระแวงเติ้งอีกครั้ง แล้วก็ปลดเติ้งออกจากตำแหน่ง ทำให้เติ้งต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปทางจีนตอนใต้...
3
แต่หลังจากนั้นไม่นานเหมาก็เสียชีวิตลง แล้วฮว่า กว๋อเฟิงก็ได้อ้างตัวเป็นทายาททางการเมืองของเหมา ทำให้แก๊งสี่คนไม่พอใจอีก จึงเกิดการตีกันระหว่าง 2 กลุ่มนี้
ทางด้านฮว่า ต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากเย่ เจี้ยนอิง จนในที่สุดก็สามารถทำลายอำนาจแก๊งสี่คนจนราบคาบ จึงถือว่าเป็นการสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม ในค.ศ.1976 นั่นเองครับ...
และแล้วก็เหลือฮว่า กว๋อเฟิงและเย่ เจี้ยนอิงที่มีอำนาจสูงสุด แล้วเย่ เจี้ยนอิง ก็ได้นำเติ้ง เสี่ยวผิง กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เพราะเย่คิดว่า “ไม่มีใครเหมาะที่จะเป็นผู้นำจีนไปมากกว่าเติ้งอีกแล้ว”
เติ้งจึงได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง แล้วก็ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างเติ้งและฮว่า แต่ก็เป็นการต่อสู้กันแบบเงียบๆครับ ไม่ได้มีความรุนแรง เติ้งได้ค่อยๆกำจัดอำนาจของฮว่าไปเรื่อยๆจนหมด (การกำจัดฮว่าค่อนข้างง่ายครับ เพราะเติ้งมี power ที่สูงมากเป็้นทุนเดิมอยู่แล้ว)
1
แล้วเติ้งก็ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในจีน แล้วก็ได้นำเอานโยบายที่ได้พับไปเมื่อ 10 ปีก่อนของโจว เอิ้นไหล อย่าง 4 ทันสมัย กางขึ้นมาอีกครั้ง
เพราะเติ้งคิดว่า “ได้เวลาที่จะปลุกพญามังกรให้ตื่นขึ้นมาแล้ว”
ภาพจาก Britannica (เติ้ง เสี่ยวผิง)
จีนหลังปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นประเทศที่ล้าหลังสุดๆ เศรษฐกิจแทบพังพินาศ แถมยังถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอีกด้วย
1
เมื่อเติ้งขึ้นมามีอำนาจสูงสุดแล้ว เติ้งได้คิดไว้ตั้งนานแล้วครับว่า “สิ่งที่ทำลายจีนและหยุดชะงักให้จีนไม่พัฒนาไปไหน คือ ลัทธิการบูชาตัวบุคคลและการอยู่ในแนวทางของคอมมิวนิสต์แบบสมบูรณ์”
เติ้งจึงเปลี่ยนแนวคิดเดิมของจีนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยล่ะครับ โดยอันดับแรกคือการพยายามทำลายแนวคิดการบูชาตัวบุคคลโดยเฉพาะเหมา เพราะการบูชาเหมาได้ทำให้จีนย่อยยับเพราะปฏิวัติวัฒนธรรมมาแล้ว
ต่อมาคือการละจากแนวทางของคอมมิวนิสต์ครับ โดยเติ้งได้ยกเลิกนโยบายที่จะเผยแพร่ หรือให้เงินสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ แล้วเอาเงินส่วนนั้นมาพัฒนาประเทศตัวเองแทน (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในหลายๆประเทศล่มสลายรวมถึงไทย)
จากนั้นเติ้งก็ได้นำ 4 ทันสมัย เข้ามาปฏิรูปจีนแบบถึงรากถึงโคน...
4 ทันสมัยที่เติ้งนำมาใช้ ประกอบด้วยเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ
3
โดยในส่วนของเกษตรกรรมเติ้งได้ทำการยกเลิกระบบคอมมูน (ที่ใครผลิตได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องส่งให้รัฐและได้ค่าจ้างเท่ากัน) เพราะเติ้งมองว่าคอมมูนทำให้คนขี้เกียจ ประเทศเลยไม่พัฒนาไปไหน จึงยกเลิกคอมมูนซะ! แล้วนำเอาระบบความรับผิดชอบเข้ามาใช้ คือ การให้ประชาชนผลิตแล้วส่งให้รัฐตามโควต้าที่กำหนด แล้วส่วนที่เหลือจากการส่งให้รัฐ ประชาชนสามารถนำไปขายอย่างเสรีได้ ซึ่งทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการผลิตมากขึ้น เพราะรายได้สูงขึ้น ชีวิตและเศรษฐกิจของจีนก็ดีขึ้นไปเรื่อยๆในที่สุดครับ
ในส่วนของอุตสาหกรรมก็ได้ใช้ระบบความรับผิดชอบเช่นกัน แล้วเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งยังปล่อยให้การผลิตเป็นไปตามกลไกของตลาด รัฐไม่เข้ามายุ่งหรือควบคุมเหมือนแต่ก่อน
ในส่วนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เติ้งให้ความสำคัญสูงมาก! เพราะความหมายของคำว่า “ทันสมัย” ของเติ้งนั้น คือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่แหละครับ จึงมีการทุ่มงบประมาณในการสร้างบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สูงมากๆ ทำให้เกิดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่ส่วนของอุตสาหกรรม
และในส่วนของการป้องกันประเทศ เติ้งได้ทำการปลดทหารที่มีอายุออก เพราะคิดว่า “เปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ สู้เอาคนหนุ่มเข้ามาแทนที่จะดีกว่า” อีกทั้งยังตัดงบทางด้านทหารออกเพื่อไปทุ่มให้กับเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วจะได้เอาส่วนนี้กลับมาพัฒนากองทัพให้ทันสมัยในภายหลังนั่นเองครับ
1
เติ้งยังคิดอีกว่าแค่ 4 ทันสมัย ยังไม่สามารถปลุกพญามังกรตัวนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จึงทำการฉีดยาแรงเข้าไปอีกเข็ม นั่นก็คือ นโยบายเปิดประตูประเทศ (Open door policy)
1
ภาพจาก ResearchGate (เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน)
เติ้งคิดว่าการที่จะใช้ 4 ทันสมัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คือต้องมีการเปิดประเทศ โดยมีจุดประสงค์ 2 ข้อ คือ...
1) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
2) เพื่อให้คนจีนเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ
เติ้งจึงได้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ขึ้นมา เพื่อเป็นเมืองที่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะและเป็นโมเดลในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของจีน และเติ้งก็ได้เลือกเมืองประมงเล็กๆเมืองหนึ่งขึ้นมาเมืองแรก เพื่อกะจะให้เป็นเมืองทดลอง โดยเมืองที่ว่า คือ เซินเจิ้น
1
เมื่อจีนเปิดประเทศและเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว แน่นอนว่าจากการที่เป็นประเทศใหญ่ ประชากรมหาศาล จึงสามารถดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาติดหนึบมากมายเหมือนกาวตราช้างเลยล่ะครับ
เมื่อต่างชาติเข้ามา เติ้งก็ให้เซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีของต่างชาติ โดยวิธีการเรียนรู้ของจีน ก็คือ การก๊อปปี้นั่นเองครับ...
โดยเติ้งคิดว่า “จีนยังอ่อนหัดในเรื่องเทคโนโลยี วิธีที่จะพัฒนาด้านนี้ได้อย่างรวดเร็วที่สุดคือการเรียนรู้จากการก๊อปปี้ต่างชาตินี่แหละ” โดยมีการเรียกวิธีนี้ว่า Copy and Development พร้อมทั้งผลิตโดยเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
แน่นอนว่าจีนก็โดนดูถูกเหยียดหยามจากต่างชาติว่า “ประเทศขี้ก๊อป ผลิตแต่ของโหล ไม่รู้จักคิดเอง!” แต่พี่จีนก็ไม่ได้สนใจเสียงนกเสียงกา ก็ยังก้มหน้าก้มตาพัฒนาตามแนวทางของตัวเองต่อไปพร้อมกับยิ้มมุมปากว่า “เดี๋ยวพวกเอ็งก็รู้”
จากความสำเร็จของเซินเจิ้น ทำให้เติ้งได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น เทียนจิน ต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงปอ ฟูโจว เจิ้นโจว ชิงเตา เป๋ยไห่ กว่างโจว จ้านเจียง หนานตง เหยียนไถ่ เหลียนหยุนกัง และชิงหวงเต้า
1
เมืองเหล่านี้ก็ต่างดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างไม่หยุดหย่อนเหมือนกับเซินเจิ้น (จำนวนประชากรที่มหาศาลทำให้ตลาดของจีนใหญ่มาก ถือเป็นข้อได้เปรียบเลยล่ะครับ)
ภาพจาก The New York Times (เหตุการณ์เทียนอันเหมิน ค.ศ.1989)
แน่นอนครับว่าการใช้ 4 ทันสมัย ย่อมมีผู้ที่ไม่พอใจ ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนจีนจากหน้ามือเป็นหลังมือในระยะเวลาอันสั้น จึงเกิดอุปสรรคและปัญหาขึ้นมามากมาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ การคอร์รัปชัน(ข้อนี้โดนโจมตีแรงมาก) ความเหลื่อมล้ำของเมืองทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของจีน
อีกทั้งการเปิดประเทศ ทำให้คนจีนรับเอาข่าวสาร ความคิด และค่านิยมจากต่างชาติเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้อัดอั้นไว้จนระเบิดกลายเป็นวิกฤติทางการเมือง คือ เหตุการณ์เทียนอันเหมินใน ค.ศ.1989 (ผมจะไม่เล่ารายละเอียดเหตุการณ์เพราะได้เคยเล่าไปแล้วในอีกบทความ)
แต่รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ผ่านพ้นวิกฤตินั้นแล้วยังคงปกครองและพัฒนาจีนตามแนวทางของตัวเองต่อไปจนปัจจุบัน
มาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านอาจสงสัยว่า “ตกลงจีนยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่รึเปล่า?”
คำตอบ คือ “ไม่เป็นแล้วครับ”
อย่างที่ได้เล่าไปว่า การใช้ 4 ทันสมัย จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนจีนออกจากแนวทางของคอมมิวนิสต์ไปสู่แนวทางของทุนนิยม จึงจะทำให้จีนพัฒนาไปได้
มรดกที่หลงเหลืออยู่ที่แสดงว่าเป็นแนวทางของคอมมิวนิสต์มีเพียง 2 สิ่งครับ คือ การปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวในประเทศ และ กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดของจีนเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์
พูดง่ายๆคือ ทางการเมืองจีนปกครองโดยเผด็จการพรรคเดียว และทางเศรษฐกิจถูก move โดยสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด
แต่มรดกของคอมมิวนิสต์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ทำให้จีนนั้นพิเศษกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางการมืองที่สูงมาก เพราะปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว
อีกทั้งกรรมสิทธิ์ที่ดินในจีนทั้งหมดเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ไม่มีใครในแผ่นดินจีนทั้งคนจีนและต่างชาติที่เป็นเจ้าของที่ดิน
จุดนี้นี่แหละครับที่ถึงแม้จะเปิดให้บริษัทเอกชนสามารถบริหารตัวเองได้ แต่รัฐบาลจีนก็มีอำนาจแทรกแซงบริษัทเหล่านี้ได้ตลอดเวลาเพราะตัวเองเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องพัฒนาไปตามแนวทางของรัฐบาลจีน ซึ่งหากเอาใจรัฐบาล บริษัทก็สามารถเติบโตได้ไม่ยาก แต่หากไปขัดแข้งขัดขารัฐบาลเข้าล่ะก็ เตรียมตัว Say goodbye ได้เลย!
ภาพจาก Hunter Luxury (เซินเจิ้นใน ค.ศ. 1980 และปัจจุบัน)
4 ทันสมัย ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างจีนให้ทันสมัยตามแนวคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง
และในวันนี้ผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว จีนได้กลายเป็นประเทศที่ทันสมัยยิ่งกว่าที่เติ้งได้คิดเอาไว้ซะอีก!
โดยเฉพาะอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เติ้งได้ทุ่มลงไป ก็เห็นผลอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
จากการพัฒนาโดยการก๊อปปี้เมื่ออดีตจนทำให้จีนสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีของต่างชาติได้อย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดจนแซงหน้าประเทศที่เคยก๊อปเหล่านั้นขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี
จาก Copy and Development ได้กลายเป็น Research and Development สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่ 5 ได้บอกว่า “จีนได้เรียนรู้จากการก๊อปปี้มามากพอแล้ว ในตอนนี้เรามีความรู้และความสามารถมากพอที่จะสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมา”
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เมืองเซินเจิ้น ที่เมื่อ 40 ปีก่อนเป็นเพียงเมืองประมงเล็กๆ หรือถูกเหยียดหยามว่าเป็นเมืองของก๊อป แต่ปัจจุบันนี้เซินเจิ้นกลายเป็นเมืองเจ้าแห่งเทคโนโลยีและเป็นเมืองที่มีสายพานการผลิตที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในโลก!
พร้อมๆกับการที่จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน...
และแล้วพลังที่ชื่อว่า “4 ทันสมัย” ของชายร่างเล็กที่ชื่อว่า “เติ้ง เสี่ยวผิง” ก็ได้ปลุกพญามังกรจีนที่หลับไหลจากการบอบช้ำให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง...
พญามังกรตัวนั้นเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็เจียมเนื้อเจียมตัวเพราะคิดว่าตัวเองยังอ่อนหัด จึงพยายามเรียนรู้ เลียนแบบ และพัฒนาตัวเองจากสิ่งต่างๆรอบตัว...
แล้วพญามังกรก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ...
จากความเจียมเนื้อเจียมตัวได้แปรเปลี่ยนเป็นความทะเยอทะยานที่อยากขึ้นไปถึงจุดสูงสุด...
และบัดนี้ ห้วงเวลาแห่งอำนาจและความยิ่งใหญ่ได้เริ่มขึ้นแล้ว...
ห้วงเวลาที่เมื่อพญามังกรตัวนี้เคลื่อนไหว...
โลกทั้งโลกก็จะต้องเคลื่อนไหวตาม...
ภาพจาก Financial Times
อ้างอิง
พศวีร์ เทียบคุณ. (2548).  บทบาททางการเมืองของเติ้ง เสี่ยวผิง ค.ศ.1949-1997. สารนิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฆ.
วรศักดิ์ มหัทโนบล. เศรษฐกิจการเมืองจีน. กรุงเทพฯ : openbooks, 2557.
Baum, Richard. China's Four Modernizations: The New Technological Revolution (Westview Special Studies on China and East Asia). London : Westview Press, 1980.
Fannin, Rebecca. China's Tech Sector is challenging the world by innovating faster, working harder, and going global. London : Nicholas Brealey, 2019.
Kroeber, Arthur. China's Economy: What Everyone Needs to Know. Oxford : Oxford University Press, 2015.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา